‘รองนายทะเบียนสหกรณ์’ ออกคำสั่ง ‘ยับยั้ง’ มติคณะกรรมการดำเนินการ ‘สอ.จฬ.’ ระดมเงินฝาก-เงินลงทุน 3 พันล้าน ซื้อ 'ตึกยูทาวเวอร์' จาก 'สคจ.' ชี้ขัดวัตถุประสงค์การจัดตั้ง ‘สหกรณ์ออมทรัพย์’ ขณะที่ คณะกรรมการ 'สอ.จฬ.' จ่อยื่นอุทธรณ์
....................................
จากกรณีที่คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สอ.จฬ.) มีมติอนุมัติโครงการแก้ปัญหาหนี้สิน สอ.จฬ. โดยให้ สอ.จฬ. ระดมเงินฝากจากสหกรณ์เจ้าหนี้ของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น (สคจ.) ในวงเงินไม่ต่ำกว่า 3,500 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้ออาคารยูทาวเวอร์ของ สคจ. และต่อมาวันที่ 17 ส.ค.2565 สอ.จฬ. ลงนามบันทึกข้อตกลงกับ สคจ. ในการเข้าซื้ออาคารยูทาวเวอร์ นั้น (อ่านประกอบ : ร้อง‘นายทะเบียน’เร่งรัดสอบคุณสมบัติกก.‘สอ.จฬ.’-ท้วงซื้อตึกยูทาวเวอร์ 3.5 พันล.ส่อขัดกม.)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา นายปรัชญา ดิลกสัตยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 (สสพ.1) กรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะรองนายทะเบียนสหกรณ์ ได้ลงนามคำสั่งรองนายทะเบียนสหกรณ์ ที่ (สพพ.1) 2/2565 เรื่อง การยับยั้งการดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ โดยสั่งให้ยับยั้งการดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ สอ.จฬ. ที่มีมติอนุมัติโครงการแก้ปัญหาหนี้สิน สอ.จฬ. เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวขัดต่อวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์
สำหรับคำสั่งของรองนายทะเบียนสหกรณ์ฉบับดังกล่าว มีเนื้อหาว่า ด้วยปรากฏตามรายงานผลการตรวจสอบกิจการและฐานะการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด (สอ.จฬ.) พบว่าที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ชุดที่ 62 ครั้งที่ 1348 (8/2565) เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ระเบียบวาระที่ 16.3 ได้มีมติอนุมติในหลักการ จัดทำโครงการบัญหาหนี้สินของ สอ.จฬ. เพื่อทำข้อตกลงร่วมกับสหกรณ์เจ้าหนี้ของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด (สคจ.) และนำมาเสนอขอมติที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ เพื่อขออนุมัติในการจัดทำโครงการดังกล่าว
รวมทั้งที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ชุดที่ 62 ครั้งที่ 1349 (9/2565) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565ระเบียบวาระที่ 3.6.1 ได้มีมติอนุมัติโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สิน สอ.จฬ. โดยให้เปิดรับเงินฝากจากสหกรณ์อื่น จำนวน 2,700 ล้านบาท ระยะเวลา 7 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 และมอบหมายให้ ประธานกรรมการรองประธานกรรมการ เหรัญญิก และเลขานุการ ทำสัญญาจะซื้อจะขายตามโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของ สอ.จฬ. โดยจัดทำ MOU รวมทั้งอนุมัติให้ สอ.จฬ. ลงทุนเป็นจำนวน 300 ล้านบาท
รองนายทะเบียนสหกรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้ดังกล่าวของ สอ.จฬ. เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ ตามมาตรา 33(1) แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 เนื่องจาก สอ.จฬ. เป็นสหกรณ์ประเภทออมทรัพย์ มีวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมการออมของสมาชิก และให้บริการสินเชื่อแก่สมาชิก มิใช่มีวัตถุประสงค์ในการซื้อขายที่ดินระหว่างสหกรณ์ด้วยกัน
ประกอบกับการที่ สอ.จฬ. ทำหน้าที่ระดมเงินฝากจากสหกรณ์เจ้าหนี้ของ สคจ. เพื่อนำไปซื้ออาคารยูทาวเวอร์ในราคาที่สูงกว่าหนี้ที่มีต่อกัน แล้วให้ สคจ. นำเงินมาชำระหนี้ต่อ สอ.จฬ.ทั้งหมด รวมทั้งต้องจ่ายค่าเช่าอาคารดังกล่าวล่วงหน้า เพื่อให้ สอ.จฬ. นำเงินค่าเช่าไปจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากร้อยละ 1.5 ต่อปี เป็นระยะเวลา 7 ปี
การดำเนินการดังกล่าว แม้ว่า สอ.จฬ. จะได้รับชำระหนี้คืนทั้งหมดก็ตาม แต่ สอ.จฬ. ก็มีความเสี่ยงซึ่งอาจจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงขึ้นในอนาคตได้ หากเมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามโครงการฯ แล้ว (7 ปี) สคจ. ไม่สามารถซื้อคืนอาคารยูทาวเวอร์ และ สอ.จฬ. ก็ไม่สามารถที่จะขายอาคารยูทาวเวอร์ได้ในราคาที่ซื้อมาตอนเริ่มโครงการ ซึ่ง สอ.จฬ. จะต้องรับภาระหนี้เงินรับฝากพร้อมดอกเบี้ยของสหกรณ์เจ้าหนี้ที่นำเงินมาฝาก
รวมทั้งค่าเสื่อมราคาอาคารยูทาวเวอร์โดยไม่จำเป็น เนื่องจากหาก สอ.จฬ. ไม่ดำเนินโครงการดังกล่าว สอ.จฬ. ก็สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีและบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์จำนองอันเป็นหลักประกันหนี้ดังกล่าวซึ่งเป็นหนี้บุริมสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้ร้ายอื่นอยู่แล้ว
ดังนั้น การดำเนินการโครงการดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นการดำเนินโครงการที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ ตามมาตรา 33 (1) รวมทั้งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสหกรณ์และสมาชิกของ สอ.จฬ. ในมูลค่าในมูลค่าความเสียหายที่สูงในอนาคตได้ ประกอบกับ สอ.จฬ. อยู่ระหว่างตรวจสอบลักษณะต้องห้ามของกรรมการดำเนินการสหกรณ์ชุดปัจจุบัน ให้เป็นไปตามกฎกระทรวง การดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ.2564 ข้อ 9(7)
ฉะนั้น จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ประกอบคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ ที่ 1/2562 เรื่อง แต่งตั้งรองนายทะเบียนสหกรณ์สั่ง ณ วันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ยับยั้งการดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด ชุดที่ 62 ครั้งที่ 1348 (8/2565) เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ระเบียบวาระที่ 16.3
และยับยั้งการดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด ชุดที่ 62 ครั้งที่ 1349 (9/2565) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 ระเบียบวาระที่ 3.6.1 จนกว่ารองนายทะเบียนสหกรณ์จะได้พิจารณาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องในกรณีดังกล่าว รวมทั้งการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการดำเนินการสหกรณ์จะได้ดำเนินการแล้วเสร็จ
“อนึ่ง ผู้ที่มีส่วนได้เสียมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวข้างต้น โดยยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ (กรมส่งเสริมสหกรณ์ เลขที่ 12 ถนนกรุงเกษม เทเวศร์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200) ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง ตามมาตรา 128/4 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปสั่ง ณ วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2565” คำสั่งรองนายทะเบียนสหกรณ์ ที่ (สพพ.1) 2/2565 เรื่อง การยับยั้งการดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ระบุ
ด้าน นายประเสริฐ บุญสมบูรณ์สกุล รองประธานกรรมการดำเนินการ สอ.จฬ. กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า ขณะนี้คณะกรรมการฯ สอ.จฬ. อยู่ระหว่างทำหนังสืออุทธรณ์คำสั่งรองนายทะเบียนสหกรณ์ กรณีมีคำสั่งให้ยับยั้งการดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะกรรมการฯ สอ.จฬ. ซึ่งได้อนุมัติโครงการแก้ปัญหาหนี้สิน สอ.จฬ. และจนถึงปัจจุบันคณะกรรมการฯ สอ.จฬ. ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับโครงการแก้ปัญหาหนี้สิน สอ.จฬ. เนื่องจากยังไม่มีรับรองมติที่ประชุมดังกล่าว
“โครงการนี้ (โครงการแก้ปัญหาหนี้สิน สอ.จฬ.) ยังเป็นแค่แนวโครงการฯที่ได้นำเสนอให้คณะกรรมการ สอ.จฬ.อนุมัติ และมติดังกล่าวคณะกรรมการ สอ.จฬ. ก็ยังไม่ได้รับรองเลย อีกทั้งมีอีกหลายขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ เช่น ต้องเสนอโครงการฯให้ที่ประชุมใหญ่วิสามัญพิจารณา หากที่ประชุมใหญ่เห็นชอบ ก็จะส่งให้นายทะเบียนสหกรณ์อนุมัติก่อน จึงจะดำเนินการได้ ดังนั้น ตอนนี้ สอ.จฬ. จึงยังไม่ได้ดำเนินการอะไรในโครงการฯนี้เลย” นายประเสริฐ กล่าว
นายประเสริฐ ยังระบุด้วยว่า หนังสืออุทธรณ์ฯที่คณะกรรมการ สอ.จฬ. อยู่ระหว่างจัดทำนั้น จะมีการเสนอข้อมูลเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียระหว่างกรณีที่ สอ.จฬ. ทำโครงการแก้ปัญหาหนี้สิน สอ.จฬ. และกรณีที่ สอ.จฬ. ได้ฟ้อง สคจ. เพื่อเรียกหนี้คืน 1,291 ล้านบาท ให้รองนายทะเบียนสหกรณ์รับทราบด้วย (อ่านประกอบ : ประเสริฐ บุญสมบูรณ์สกุล : แจงปมร้อน ‘สอ.จฬ.’ ระดมเงินฝาก ซื้อ ‘ที่ดิน-ตึกยูทาวเวอร์’)
ส่วนกรณีที่คำสั่งรองนายทะเบียนสหกรณ์ระบุว่า การดำเนินการโครงการแก้ปัญหาหนี้สิน สอ.จฬ. ซึ่งจะมีการระดมเงินฝากจากสหกรณ์เจ้าหนี้ของ สคจ. เพื่อนำไปซื้ออาคารยูทาวเวอร์ เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ นั้น นายประเสริฐ กล่าวว่า ในประเด็นนี้ หากรองนายทะเบียนสหกรณ์บอกว่าทำไม่ได้ แต่เหตุใดคณะกรรมการฯ สอ.จฬ. ชุดที่ 61 (พ.ศ.2563-64) จึงทำได้ โดยตอนนั้นมีการนำเงินของ สอ.จฬ. ไปซื้อที่ดิน 2 แปลง
“คณะกรรมการฯ สอ.จฬ. ชุดที่แล้ว (ชุดที่ 61) เคยนำเงินของ สอ.จฬ. ไปซื้อที่ดินจากลูกหนี้ 2 แปลง ซึ่งเหมือนกับกรณีของ สคจ.เลย ดังนั้น ถ้าบอกว่าคณะกรรมการ สอ.จฬ. ชุดปัจจุบัน (ชุดที่ 62) ทำผิด คณะกรรมการฯ สอ.จฬ. ชุดที่แล้ว ก็ต้องทำผิดด้วย” นายประเสริฐ กล่าว
นายประเสริฐ กล่าวถึงความคืบหน้ากรณี สพพ. 1 มีคำสั่งให้ สอ.จฬ. ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการ สอ.จฬ. ว่า เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการ สอ.จฬ. ได้ตรวจสอบคุณสมบัติกรรมการฯทุกคนแล้ว พบว่าทุกคนมีคุณสมบัติครบถ้วน ส่วนกรณีที่กรรมการ 5 คน เป็นจำเลยตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น นั้น ไม่ได้เป็นลักษณะต้องห้ามตามนัยกฎกระทรวงการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ.2564 ข้อ 9(7)
ทั้งนี้ เนื่องจากลักษณะต้องห้ามตามนัยกฎกระทรวงฯ ข้อ 9(7) นั้น ต้องเป็นลักษณะที่ว่ากรรมการฯ ไปกู้เงินจากสหกรณ์ฯ แล้วไม่ยอมชำระหนี้เงินต้นหรือดอกเบี้ย ซึ่งกรณีอย่างนี้จึงจะเข้าลักษณะต้องห้ามตามนัยกฎกระทรวงฯ ข้อ 9(7) แต่กรณีการละเมิดฯ ไม่ถือว่าเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามตามนัยกฎกระทรวงฯ ข้อ 9(7) ขณะที่กรรมการ สอ.จฬ. ดังกล่าว ก็ไม่ได้มีการกระทำทุจริตต่อ สอ.จฬ. แต่อย่างใด
อ่านประกอบ :
ร้อง‘นายทะเบียน’เร่งรัดสอบคุณสมบัติกก.‘สอ.จฬ.’-ท้วงซื้อตึกยูทาวเวอร์ 3.5 พันล.ส่อขัดกม.
ประเสริฐ บุญสมบูรณ์สกุล : แจงปมร้อน ‘สอ.จฬ.’ ระดมเงินฝาก ซื้อ ‘ที่ดิน-ตึกยูทาวเวอร์’
'สอ.จฬ.'โชว์ราคาประเมินตึกยูทาวเวอร์พุ่ง 3.5 พันล.-บอร์ดฯรับลูกสอบ'ลักษณะต้องห้าม'กก.
เปิดบันทึก‘นายทะเบียน’ ชี้ ปธ.-4 กรรมการ‘สอ.จฬ.’พ้นตำแหน่ง ก่อนเคาะซื้อตึกยูทาวเวอร์
ร้อง'นายทะเบียน' ลงโทษกก.'สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ' ปมอนุมัติซื้อตึกยูทาวเวอร์ 2.5 พันล.