เปิดคำสั่ง ‘นายทะเบียนสหกรณ์’ พบ ‘ประธาน-4 กรรมการ ‘สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ’ พ้นตำแหน่ง ก่อนบอร์ดฯ 'สอ.จฬ.' มีมติเสียงข้างมาก ไฟเขียวแผนเข้าซื้อตึก ‘ยูทาวเวอร์’ 2.5 พันล้าน
................................
จากกรณีที่สมาชิกของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สอ.จฬ.) จำนวนหนึ่ง เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ เพื่อขอให้นายทะเบียนสหกรณ์พิจารณาใช้อำนาจสั่งการลงโทษประธานและกรรมการดำเนินการ สอ.จฬ. ชุดปัจจุบัน เนื่องจากมีพฤติการณ์ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายให้กับ สอ.จฬ. และสมาชิกของสหกรณ์ฯ
ทั้งนี้ หนังสือร้องเรียน ระบุถึงพฤติการณ์ของคณะกรรมการฯ สอ.จฬ. ชุดดังกล่าว ว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2565 คณะกรรมการฯ สอ.จฬ. เสียงข้างมาก มีมติอนุมัติให้ สอ.จฬ. เข้าซื้ออาคารยูทาวเวอร์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น (สคจ.) ในราคาประมาณ 2,500 ล้านบาท สูงกว่าราคาประเมินซึ่งอยู่ที่ 2,048 ล้านบาท จึงอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับ สอ.จฬ. ได้ นั้น (อ่านประกอบ : ร้อง'นายทะเบียน' ลงโทษกก.'สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ' ปมอนุมัติซื้อตึกยูทาวเวอร์ 2.5 พันล.)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ก่อนที่คณะกรรมการฯ สอ.จฬ. ชุดปัจจุบัน จะมีมติเสียงข้างมากอนุมัติให้ สอ.จฬ. เข้าซื้ออาคารยูทาวเวอร์ของ สคจ. เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2565 นั้น ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2565 อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะนายทะเบียน ได้มีคำวินิจฉัยว่า ประธานและกรรมการดำเนินการ สอ.จฬ. ชุดปัจจุบัน รวม 5 คน มีลักษณะต้องห้ามในการเป็นกรรมการสหกรณ์ฯ ตามกฎกระทรวงการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ.2564 ข้อ 9 (7)
โดยนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะนายทะเบียน ได้มีหนังสือบันทึกข้อความที่ กษ 1115/3293 เรื่อง ขอหารือเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติตามกฎกระทรวงการดำเนินงานและกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ.2564 ลงวันที่ 6 มิ.ย.2565 แจ้งไปยังผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 ซึ่งมีเนื้อหาว่า
ตามหนังสือสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 ที่ กษ 1109/1130 ลงวันที่ 19 เมษายน 2565 ขอหารือกรณีกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจำกัด ถูกสหกรณ์ฯ ฟ้องร้องดำเนินคดีในฐานกระทำการให้สหกรณ์ได้รับความเสียหาย เนื่องจากอนุมัติให้นำเงินไปฝากหรือให้เงินกู้กับสหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจ จำกัด ซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้ชดใช้ความเสียหายต่อสหกรณ์ฯ
แต่กรรมการดำเนินการสหกรณ์ยังมิได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่สหกรณ์ฯ โดยอ้างว่าคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาการยื่นอุทธรณ์ต่อศาล ซึ่งคดียังไม่ถึงที่สุด จะถือว่ากรรมการดำเนินการที่เกี่ยวข้องมีลักษณะต้องห้ามของกรรมการ ตามกฎกระทรวงการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ.2564 ข้อ 9(7) หรือไม่ อย่างไร นั้น
กรมส่งเสริมสหกรณ์ พิจารณาแล้วเห็นว่า
1.คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ซึ่งเป็นผู้แทนสหกรณ์นั้น ย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามที่ข้อบังคับสหกรณ์ได้กำหนดเอาไว้ ซึ่งหากคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์กระทำการใด โดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนือจากอำนาจ จำต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสหกรณ์
ดังนั้น จากข้อเท็จจริงตามคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด ชุดที่ 52 และ 53 ได้นำเงินไปฝากสหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจ จำกัด อันเป็นการกระทำการหรืองดเว้นกระทำการในการปฏิบัติหน้าที่ของตนตามข้อบังคับสหกรณ์ จนเป็นเหตุให้สหกรณ์ฯ ไม่สามารถถอนคืนเงินฝากได้ ซึ่งทำให้สหกรณ์และสมาชิกเสื่อมเสียผลประโยชน์
ถือได้ว่าการกระทำของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ เป็นการละเมิดต่อสหกรณ์ อันทำให้สหกรณ์ได้รับความเสียหาย คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สหกรณ์ ซึ่งเป็นไปตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
2.เมื่อคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ได้กระทำละเมิดจนเป็นเหตุให้สหกรณ์ได้รับความเสียหาย ย่อมต้องชดใช้ค่าเสียหายกลับคืนมายังสหกรณ์ ซึ่งการชดใช้ค่าเสียหายของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์นั้น ถือว่าเป็นหนี้ (หน้าที่) ที่เกิดจากมูลละเมิด
โดยคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ (ผู้ที่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย) มีฐานะเป็นลูกหนี้ อันมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่สหกรณ์ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 ได้กำหนดว่า “ในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด”
ฉะนั้น การที่คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ ได้กระทำการใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อบังคับหรือระเบียบสหกรณ์ และเป็นเหตุให้สหกรณ์ได้รับความเสียหาย ถือได้ว่าคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดทันทีนับตั้งแต่วันละเมิด ดังนั้น สหกรณ์ในฐานะเจ้าหนี้สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทน (ความเสียหาย) จากคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ (ลูกหนี้ผู้ทำละเมิด) พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดได้ตั้งแต่เวลาที่ทำละเมิด
อีกทั้ง เมื่อคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ ไม่ชดใช้ค่าเสียแก่สหกรณ์ ย่อมก่อให้เกิดการโต้แย้งสิทธิขึ้น ต่อมาเมื่อนำคดีขึ้นสู่ศาล และศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง คู่ความฝ่ายที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) นั้น มีความผูกพันที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล แม้คำพิพากษายังไม่ถึงที่สุดก็ตาม เว้นแต่ศาลได้อนุญาตให้มีการทุเลาการบังคับไว้ ซึ่งเป็นไปตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ประกอบมาตรา 231
และเมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษามิได้ปฏิบัติตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดี ภายใน 10 ปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ตามความในมาตรา 274 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาล หาใช่เหตุที่ทำให้มูลหนี้ระงับสั้นไป ตามความในหมวด 5 ความระงับหนี้ แห่งประมวลกฎหมายแพงและพาณิชย์
ฉะนั้น เมื่อกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากมูลหนี้ละเมิดที่ถือว่าผิดนัดมาแต่เวลาทำละเมิด โดยที่คำพิพากษายังมีผลผูกพันให้ต้องปฏิบัติตาม และการยื่นอุทธรณ์ไม่ใช่เหตุแห่งการทุเลาการบังคับคดีตามคำพิพากษา กรณีย่อมถือได้ว่า มีลักษณะต้องห้ามตามนัยกฎกระทรวงฯ ข้อ 9 (7) จึงต้องถือปฏิบัติในการแจ้งเหตุในการพ้นจากตำแหน่งกรรมการทันทีตามกฎกระทรวงฯ ข้อ 11 ต่อไป
อ่านประกอบ :
ร้อง'นายทะเบียน' ลงโทษกก.'สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ' ปมอนุมัติซื้อตึกยูทาวเวอร์ 2.5 พันล.