ถึงคิว! 'พิพัฒน์ รัชกิจประการ' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกโรงยันคัดเลือกบ.รับทำประกันแรงงานต่างด้าว มูลค่า 5 พันล้าน โปร่งใส-ตั้งเกณฑ์สูงป้องกันซ้ำรอยโควิด-19 ต้อง safe ที่สุด ทำตามคำแนะนำ คปภ.
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้ากรณีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานใหม่ในการคัดเลือกบริษัทประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยที่จะรับประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะขอรับใบอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 ว่า บริษัทจะต้องมีคุณสมบัติและเงื่อนไขตามที่กำหนด 13 ประการ แจ้งความประสงค์จะเข้าร่วมการดำเนินการประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ภายในวันที่ 19 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาอนุญาตให้เชื่อมโยงข้อมูลหลักฐานการซื้อประกันสุขภาพต่อไป
ขณะที่ตัวแทนบริษัทประกันภัยกลุ่มหนึ่ง ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีข้าราชการกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ออกหลักเกณฑ์เอื้อประโยชน์บริษัทประกันภัยบางบริษัท ให้มีสิทธิเข้ารับการประกันสุขภาพของคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 24 ก.ย. 2567 และกีดกันบริษัทประกันภัยอื่น ๆ โดยกำหนดคุณสมบัติเรื่องทรัพย์สินรวมที่ต้องมีทรัพย์สินรวม ณ สิ้นปี 2566 จำนวนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท และต้องมีอัตราส่วนความเพียงพอของการดำรงเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (Car Ratio) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 200 ณ สิ้นปี 2566 ซึ่งทำให้เหลือบริษัทประกันภัยที่สามารถเข้าร่วมประกันภัยเพียง 2 บริษัท จากเดิม 17 บริษัทประกันภัย ขณะที่ตัวเลขการทะเบียนแรงงานต่างด้าว ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 3 ล้านคน ตัวเลขมูลค่าวงเงินประกันที่จะเกิดขึ้นประมาณ 5 พันล้านบาท
- 17 แห่งเข้าได้แค่ 2! ร้อง ป.ป.ช.สอบเงื่อนไขคัดเลือก บ.รับทำประกันแรงงานต่างด้าว 5 พันล.
- พร้อมให้ป.ป.ช.สอบ! อธิบดี กกจ.ยันคัดเลือกบ.รับทำประกันแรงงานต่างด้าว 5 พันล. โปร่งใส
- ไม่ยุติธรรม! เอกชนโต้ กกจ.กำหนดมาตรฐานเลือกบ.รับทำประกันต่างด้าว - คปภ.เคยค้านแล้ว
- ว่าด้วยมติ ครม. 24 ก.ย.67! ผ่าแผนคัดเลือก บ.รับทำประกันต่างด้าว 5 พันล.โปร่งใสจริงหรือ?
ล่าสุด นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ว่า มติครม.ไม่ได้กำหนดมาตรฐานการคัดเลือกบริษัทประกันภัย แต่เป็นคำแนะนำของคปภ.ที่ให้ต่อกรมการจัดหางาน เนื่องจากเหตุการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา บริษัทประกันภัยประสบปัญหามากพอสมควร
"ในขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวหลักล้านคน เชื่อว่ากรมการจัดหางานไม่อยากเสี่ยง จึงทำตามคำแนะนำของคปภ. ว่าควรตั้งเกณฑ์มาตรฐานอย่างไร ซึ่งทุกอย่างสามารถตรวจสอบได้" นายพิพัฒน์ระบุ
เมื่อถามว่า แต่ทางคปภ.ระบุว่า คปภ.ไม่ได้ให้กำหนดมาตรฐานว่าจะบริษัทประกันภัยจะต้องมีสินทรัพย์รวม 3 หมื่นล้าน และดูค่า Car Ratio 140% แต่ทางกรมการจัดหางานประกาศใช้ Car Ratio 200% จะเป็นการกีดกันทางการค้าหรือไม่
นายพิพัฒน์ ตอบว่า "ไม่เป็นการกีดกัน แต่เป็นการป้องกันความปลอดภัย ถ้าเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ก็ตามขึ้น เช่น เหตุการณ์ในช่วงโควิด-19 ที่บริษัทประกันปิดตัว เป็นต้น ทางกรมการจัดหางานไม่สามารถรับผิดชอบได้ สิ่งใดที่ป้องกันความเสี่ยงได้สูงสุดเราจึงเลือกตรงนั้น"
เมื่อถามว่า จะมีการหยุดดำเนินการคัดเลือกหรือไม่ เนื่องจากมีบริษัทประกันภัยหลายแห่งไปร้องเรียนหลายหน่วยงาน และบริษัทประกันภัยยังระบุอีกว่าสถานการณ์ในปัจจุบันมีความแตกต่างจากช่วงโควิด-19 ระบาด
นายพิพัฒน์ ตอบว่า "เหมือนกันหรือไม่เหมือนกัน ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอุบัติเหตุ เกิดขึ้นได้เสมอ เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่าไม่มีโอกาสเกิด โควิด-19 ก็ไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้น แต่ก็เกิดจนได้ ฉะนั้นอย่าไปคิดว่าไม่เกิด ต้องคิดว่าทุกสิ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ฉะนั้นผม หรืออธิบดีกรมการจัดหางานต้องทำอะไรที่ safe ที่สุด"
"เราไม่ต้องการเอาผู้ประกันตนที่รับประกันไปแล้วอยู่ในภาวะเสี่ยง ซึ่งเราจะเห็นว่าวันนี้ก็ไม่สามารถเคลมเงินจากโควิด-19 ได้ ฉะนั้นเราไม่ต้องการเหตุการณ์เช่นนั้นอีกแล้ว อะไรที่ safe ที่สุดเราต้องทำในส่วนนั้น"
@ พิพัฒน์ รัชกิจประการ
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ด้านกฎหมายและตรวจสอบ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีข้างต้นเป็นทางการ
นายอดิศร ยืนยันกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราว่า คปภ.ไม่ได้ร่วมการคัดเลือกกรณีนี้ แต่ก่อนหน้านั้นหน่วยงานมีการเชิญ คปภ.ไปสอบถามหลักเกณฑ์การพิจารณา ว่ามีเกณฑ์อย่างไรในการพิจารณาความปลอดภัยและมั่นคงของบริษัทประกันภัย ซึ่งทาง คปภ. ก็ให้ข้อมูลไปหมดแล้ว โดยระบุว่าดูพฤติกรรมการกระทำผิดของบริษัท และ Car Ratio เป็นหลัก
"Car Ratio คือ อัตราส่วนสินทรัพย์ต่อหนี้สิน ที่มีเกิน 100% ก็รับประกันได้ แต่เพื่อความสบายใจก็ใช้ 140% ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับทุนจดทะเบียนหรือจำนวนสินทรัพย์ ซึ่งถ้าหากทางหน่วยงานจะมีการกำหนดคุณสมบัติอื่นเพิ่มเติมก็เป็นเรื่องของหน่วยงาน ไม่เกี่ยวกับคปภ."
นายอดิศร กล่าวย้ำว่า "ฉะนั้นเรื่องที่เกิดขึ้น จะอ้างว่า คปภ. มีส่วนกำหนดไม่ได้ เพราะเราบอกแล้วว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เกณฑ์ดูแลกำกับความมั่นคง เราก็บอกเขาว่าปกติเราดูแค่สองอย่าง"