เปิดคำสั่ง ‘รองนายทะเบียนสหกรณ์’ สั่ง 5 กรรมการ ‘สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ’ หยุดปฏิบัติหน้าที่ เหตุมีลักษณะต้องห้าม
..................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 28 ก.ย.2565 ที่ผ่านมา นายปรัชญา ดิลกสัตยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 (สพพ.1) กรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะรองนายทะเบียนสหกรณ์ ปฏิบัติการแทนนายทะเบียนสหกรณ์ ลงนามคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ที่ (สพพ.1) 26/2565 เรื่อง ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด แก้ไขข้อบกพร่อง
โดยคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ฯฉบับดังกล่าว สั่งให้กรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด (สอ.จฬ.) รวม 5 ราย หยุดปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามตามนัยกฎกระทรวงการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ.2564 ข้อ 9 (7) นั้น (อ่านประกอบ : มีลักษณะต้องห้าม! ‘รองนายทะเบียนสหกรณ์’สั่ง 5 กรรมการ‘สอ.จฬ.’ หยุดปฏิบัติหน้าที่แล้ว)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สำหรับคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ที่ (สพพ.1) 26/2565 เรื่อง ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด แก้ไขข้อบกพร่อง ลงวันที่ 28 ก.ย.2565 มีเนื้อหาว่า ด้วยปรากฏตามรายงานผลการตรวจสอบกิจการและฐานะการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด (สอ.จฬ.) ซึ่งผู้ตรวจการสหกรณ์ได้เข้าทำการตรวจสอบ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565
พบว่ามีกรรมการดำเนินการชุดปัจจุบันที่ศาลชั้นต้น ได้มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ พ2561/2563 ให้รับผิดและชดใช้ความเสียหายให้แก่ สอ.จฬ. แต่กรรมการที่ถูก สอ.จฬ. ฟ้องร้องดำเนินคดีดังกล่าว ยังมิได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ สอ.จฬ. ตามคำพิพากษาดังกล่าว จำนวน 5 ราย ได้แก่ 1) รศ.ดร.บัญชา ชลาภิรมย์ ประธานกรรมการ 2) นายเริงศักดิ์ บุญบันดาลชัย เหรัญญิก 3) นายประเสริฐ บุญสมบูรณ์สกุล รองประธานกรรมการ 4)นายณรงค์ เพชรสุก เลขานุการ และ 5. นายสำลี เหลาชัย กรรมการดำเนินการ
โดยคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างศาลอุทธรณ์พิจารณาคดี ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้มีหนังสือตอบข้อหารือ ที่ กษ 1101/2393 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2564 แจ้งแนวทางปฏิบัติตามกฎกระทรวงการดำเนินงานและกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครติตยูเนี่ยน พ.ศ.2564 รายละเอียด ดังนี้
ความรับผิดและชดใช้ค่าเสียหายของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ในคดีดังกล่าว นั้น ถือเป็นหนี้ (หน้าที่) ที่เกิดจากมูลละเมิด โดยคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ (ผู้ที่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย) มีฐานะเป็นลูกหนี้อันมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ สอ.จฬ. ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ ซึ่งประมวลกฎหมายแห่งและฟาณิชย์ มาตรา 206 ได้กำหนดว่า “ในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด”
ฉะนั้น การที่คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ได้กระทำการใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อบังคับหรือระเบียบสหกรณ์ และเป็นเหตุให้ สอ.จฬ. ได้รับความเสียหาย ถือได้ว่าคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดทันทีนับตั้งแต่วันละเมิด ดังนั้น สอ.จฬ. ในฐานะเจ้าหนี้สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทน (ความเสียหาย) จากคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ (ลูกหนี้ผู้ทำละเมิด) พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดได้ตั้งแต่เวลาที่ทำละเมิด อีกทั้งเมื่อคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ไม่ชดใช้ค่าเสียหายแก่ สอ.จฬ. ย่อมก่อให้เกิดการโต้แย้งสิทธิขึ้น
ต่อมาเมื่อนำคดีขึ้นสู่ศาล และศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง คู่ความฝ่ายที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) นั้น มีความผูกพันที่ต้องปฏิบัติตามคำที่พากษาหรือคำสั่งศาล แม้คำพิพากษายังไม่ถึงที่สุดก็ตาม เว้นแต่ศาลได้อนุญาตให้มีการทุเลาการบังคับไว้ ซึ่งเป็นไปตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ประกอบมาตรา 233
และเมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษามิได้ปฏิบัติตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดี ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ตามความในมาตรา 274 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาล หาใช่เหตุที่ทำให้มูลหนี้ระงับสิ้นไป ตามความในหมวด 5 ความระงับหนี้ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ประกอบกับสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 ได้มีหนังสือที่ กษ. 1109/2420 ลง 16 สิงหาคม 2565 ให้ สอ.จฬ. ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ปัจจุบันกรรมการดำเนินการสหกรณ์รายใดที่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎกระทรวง การดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครติตยูเนี่ยน พ.ศ.2564 ข้อ 9 (7) “ผิดนัดชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยกับสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกในระยะเวลาสองปีทางบัญชีก่อนวันที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการหรือวันที่ทำสัญญาจ้างเป็นผู้จัดการหรือในขณะที่ดำรงตำแหน่งนั้น” หรือไม่
หาก สอ.จฬ. ตรวจสอบแล้วพบว่า กรรมการดำเนินการสหกรณ์ชุดปัจจุบันรายใดมีลักษณะต้องห้ามตามกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว สอ.จฬ. ต้องมีหนังสือแจ้งเหตุแห่งลักษณะต้องห้ามดังกล่าวให้กรรมการรายนั้นทราบ เพื่อให้หยุดปฏิบัติหน้าที่และพ้นจากตำแหน่งทันที ตามกฎกระทรวงฯ ข้อ 11 ซึ่งต่อมา สอ.จฬ. ได้มีหนังสือที่ 1082/2565 ลงวันที่ 1 กันยายน 2565 แจ้งผลการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการตามมติที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ครั้งที่ 1351 (11/2565) เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565
โดย สอ.จฬ. แจ้งว่าได้ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการตำเนินการแล้ว ปรากฏว่าไม่พบกรรมการดำเนินการสหกรณ์ชุดปัจจุบันที่มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น นายทะเบียนสหกรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ข้อ 9 (7) ประกอบข้อ 11 แห่งกฏกระทรวงการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ.2565 ซึ่งเมื่อกรรมการดำเนินการสหกรณ์ดังกล่าว ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากมูลหนี้ละเมิดที่ถือว่าผิดนัดแต่เวลาทำละเมิด โดยที่คำพิพากษาดังกล่าว ยังมีผลผูกพันให้ต้องปฏิบัติตามและการยื่นอุทธรณ์ไม่ใช่เหตุแห่งการทุเลาการบังคับคดีตามคำพิพากษา ย่อมถือได้ว่า กรรมการดำเนินการสหกรณ์ดังกล่าว มีลักษณะต้องห้ามตามนัยกฎกระทรวงฯ ข้อ 9 (7)
ฉะนั้น เพื่อให้เป็นไปตามกฎกระทรวงดังกล่าว จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 89/3 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 และที่แก้โขเพิ่มเติม ประกอบคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ ที่ 1/2562 เรื่อง แต่งตั้งรองนายทะเบียนสหกรณ์ สั่ง ณ วันที่ 27 พฤษภาคม 2562 และคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ ที่ 2/2562 เรื่อง มอบอำนาจให้รองนายทะเบียนสหกรณ์ ปฏิบัติการแทนนายทะเบียนสหกรณ์ สั่ง ณ วันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์แก้ไขข้อบกพร่องตามวิธีการและระยะเวลาที่กำหนด ดังนี้
1.ให้เรียกประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ เพื่อรับทราบและปฏิบัติตามคำสั่งนี้และแจ้งเป็นหนังสือให้กรรมการดำเนินการสหกรณ์ ที่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎกระทรวงฯ ข้อ 9 (7) จำนวน 5 ราย ใด้แก่ 1) รศ.ดร.บัญชา ชลาภิรมย์ 2) นายเริงศักดิ์ บุญบันดาลชัย 3) นายประเสริฐ บุญสมบูรณ์สกุล 4) นายณรงค์ เพชรสุก และ 5) นายสำสี เหลาชัย หยุดปฏิบัติหน้าที่และพ้นจากตำแหน่งทันที ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
2.ให้รายงานผลการดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องตาม ข้อ 1 ต่อนายทะเบียนสหกรณ์ ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลาตาม ข้อ 1
หากประสงค์จะอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งนี้ ให้ยื่นอุทธรณ์หรือได้โต้แย้งคำสั่งต่อนายทะเบียนสหกรณ์ผู้ออกคำสั่ง ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งนี้
อนึ่ง การไม่ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวข้างต้น อาจได้รับโทษตามมาตรา 133/4 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดเป็นต้นไป
อ่านประกอบ :
'รองนายทะเบียนสหกรณ์' สั่งยับยั้ง'มติบอร์ด สอ.จฬ.' ระดมเงิน 3 พันล.ซื้อ'ตึกยูทาวเวอร์'
ร้อง‘นายทะเบียน’เร่งรัดสอบคุณสมบัติกก.‘สอ.จฬ.’-ท้วงซื้อตึกยูทาวเวอร์ 3.5 พันล.ส่อขัดกม.
ประเสริฐ บุญสมบูรณ์สกุล : แจงปมร้อน ‘สอ.จฬ.’ ระดมเงินฝาก ซื้อ ‘ที่ดิน-ตึกยูทาวเวอร์’
'สอ.จฬ.'โชว์ราคาประเมินตึกยูทาวเวอร์พุ่ง 3.5 พันล.-บอร์ดฯรับลูกสอบ'ลักษณะต้องห้าม'กก.
เปิดบันทึก‘นายทะเบียน’ ชี้ ปธ.-4 กรรมการ‘สอ.จฬ.’พ้นตำแหน่ง ก่อนเคาะซื้อตึกยูทาวเวอร์
ร้อง'นายทะเบียน' ลงโทษกก.'สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ' ปมอนุมัติซื้อตึกยูทาวเวอร์ 2.5 พันล.