สมาชิก ‘สอ.จฬ.’ ยื่นหนังสือถึง ‘นายทะเบียนสหกรณ์’ ขอเร่งรัดตรวจสอบลักษณะต้องห้าม ‘กรรมการ สอ.จฬ.’ กรณีเป็นจำเลยในคดีที่สร้างความเสียหายให้สหกรณ์ฯ 600 ล้าน ท้วงซื้อ ‘ตึกยูทาวเวอร์’ 3.5 พันล้าน ส่อฝ่าฝืนกฎหมาย-ข้อบังคับฯ
........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้มีสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สอ.จฬ.) 2 ราย ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ โดยขอให้นายทะเบียนเร่งรัดตรวจสอบลักษณะต้องห้ามของกรรมการดำเนินการ สอ.จฬ. และให้ข้อมูลเพิ่มเติมกรณี สอ.จฬ. ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ ในการระดมเงินเข้าซื้ออาคารยูทาวเวอร์ 3,500 ล้านบาท
สำหรับหนังสือฉบับแรก ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ในฐานะสมาชิก สอ.จฬ. ได้ขอให้อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะนายทะเบียน โปรดเร่งรัดตรวจสอบลักษณะต้องห้ามของกรรมการดำเนินการ สอ.จฬ. ซึ่งมีสถานะเป็นจำเลยตามคำพิพากษาในคดีทำให้เกิดความเสียหายต่อ สอ.จฬ. ซึ่งมีลักษณะต้องห้ามตามนัยกฎกระทรวงการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ.2564 ข้อ 9(7)
“ด้วยข้าพเจ้า ศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร ในฐานะสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ (สอ.จฬ.) และสมาชิกสหกรณ์อมทรัพย์จุฬาฯ ที่ลงนามแนบท้ายหนังสือฉบับนี้ 9 ท่าน ได้รับทราบข้อมูลจากสำนักข่าวอิศราว่า เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ทำหนังสือที่ กษ. 1115/3293 ถึงสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 (สสพ.1) ให้ตรวจสอบว่า กรรมการดำเนินการจำนวน 5 คน ของ สอ.จฬ. ซึ่งมีสถานะเป็นจำเลยตามคำพิพากษาในคดีทำให้เกิดความเสียหายต่อ สอ.จฬ. มีลักษณะต้องห้ามตามนัยกฎกระทรวงการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ พ.ศ. 2564 ข้อ 9 (7) หรือไม่ ดังความแจ้งแล้วนั้น (อ้างถึง 1)
ต่อมาข้าพเจ้าได้รับทราบว่า สสพ. 1 มีหนังสือที่ กษ 1109/2420 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2565 ให้ สอ.จฬ. ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีกรรมการรายใดมีลักษณะต้องห้ามตามกฎกระทรวงข้อดังกล่าว ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที และรายงานให้ สสพ. 1 ทราบภายใน 30 วัน (อ้างถึง 2)
ข้อสังเกตของข้าพเจ้า คือ ช่วงเวลาที่ สสพ.1 ได้รับหนังสือจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ และ สสพ.1 ส่งหนังสือให้ สอ.จฬ. ห่างกันถึง 2 เดือน 20 วัน ยิ่งกว่านั้นในเรื่องที่เร่งด่วนเช่นนี้ สสพ. 1 กลับให้เวลาคณะกรรมการดำเนินการ สอ.จฬ. ตรวจสอบเรื่องนี้อีก 30 วัน เท่ากับ สสพ. 1 ไม่ได้เร่งรัดช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งแห่งผลประโยชน์ ในกรณีที่คณะกรรมการฯ สอ.จฬ. บางคน มีฐานะเป็นทั้งโจทก์และจำเลยในคดีที่สร้างความเสียหายให้ สอ.จฬ. ถึง 600 กว่าล้านบาท
ฉะนั้น สิ่งที่ข้าพเจ้าและคณะขอเรียกร้องในกรณีนี้ก็คือ สสพ. 1 ไม่ควรอนุญาตให้คณะกรรมการฯ สอ.จฬ. ขอผ่อนผันยืดเวลารายงานผลการตรวจสอบฯ เกินไปจากวันที่ 19 กันยายน 2565” หนังสือของ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ในฐานะสมาชิก สอ.จฬ. ถึงอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ ลงวันที่ 1 ก.ย.2565 ระบุ
ส่วนหนังสือฉบับที่สอง รศ.ชูชาติ ธรรมเจริญ ในฐานะสมาชิก สอ.จฬ. ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อนายทะเบียนสหกรณ์ กรณีกรรมการ สอ.จฬ. เสียงข้างมากของ สอ.จฬ. อนุมัติหลักการโครงการ “แก้ไขปัญหาหนี้สินสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น (สคจ.)” ซึ่ง สอ.จฬ.จะระดมเงินฝากจากสหกรณ์เจ้าหนี้ของ สคจ. เพื่อนำไปซื้ออาคารยูทาวเวอร์ของ สคจ. มูลค่า 3,500 ล้านบาท โดยตั้งข้อสังเกตว่า การลงมติโครงการดังกล่าวอาจฝ่าฝืนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
“การที่กรรมการเสียงข้างมากของ สอ.จฬ. อนุมัติหลักการของโครงการ “แก้ไขปัญหาหนี้สินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น” ข้อสงสัยประการแรกของข้าพเจ้า คือ ตามที่ข้าพเจ้าทราบ ทั้งในข้อบังคับของสอ.จฬ. พ.ร.บ.สหกรณ์ และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ไม่มีข้อความระบุให้สามารถลงทุนในอสังหาฯ คือ อาคารหรือที่ดิน เพราะ สอ.จฬ. เป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ ไม่ใช่สหกรณ์เคหสถาน ซึ่งอาจลงทุนสร้างที่อยู่อาศัยให้สมาชิก โปรดดูในเอกสารประกอบการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของ สอ.จฬ. ซึ่งระบุว่าลงทุนประเภทใดได้บ้าง จะเห็นว่าไม่เคยระบุว่า ลงทุนในอสังหาฯ ได้ ข้าพเจ้าจึงตั้งข้อสังเกตว่า ในการลงมติรับหลักการของโครงการดังกล่าว กรรมการ สอ.จฬ. ได้ฝ่าฝืนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ข้อสงสัยอีกประการหนึ่งของข้าพเจ้า ก็คือ ปรากฎข่าวสาร ในเว็บไซต์ของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท - CLT) ว่า ได้มีการทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ของ 3 ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คือ สอ.จฬ. สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น (สคจ.) และสหกรณ์เจ้าหนี้ของ สคจ. เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ณ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย มีใจความว่า จะระดมเงินจากสหกรณ์เจ้าหนี้ มาฝากที่ สอ.จฬ. ไม่ต่ำกว่า 3,500 ล้านบาท จากนั้น สอ.จฬ. จะลงทุนซื้ออาคารยูทาวเวอร์ ในราคา 3,500 ล้านบาท รายละเอียดส่วนที่เหลือคล้ายคลึงกับ “โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินฯ” ที่อนุมัติในที่ประชุมกรรมการดำเนินการ สอ.จฬ. ดังกล่าวมาแล้ว โปรดดูข่าวของ สสท ดังแนบ สิ่งที่ส่งมาด้วย 1
ทั้งนี้ หากข่าวดังกล่าวเป็นความจริง ข้าพเจ้าเห็นว่า ประธานกรรมการฯ สอ.จฬ. ได้ฝ่าฝืนข้อบังคับ สอ.จฬ. ข้อที่ 42 ในการไปตกลงทำ MOU หรือ มอบอำนาจให้ผู้อื่นไปทำ MOU โดยไม่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ ทั้งยังระบุวงเงินที่สูงกว่าวงเงินที่ได้รับอนุมัติในที่ประชุม (สิ่งที่ส่งมาด้วย 1) ซึ่งหาก สอ.จฬ. จะซื้ออาคารยูทาวเวอร์ในราคา 3,500 ล้านบาท ก็จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในเวลาขายอาคารดังกล่าว ซึ่งมีที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยปิดทางเข้าออกด้านถนนใหญ่ ตามแผนผังที่ดินดังแนบ (สิ่งที่ส่งมาด้วย 2)” หนังสือของ รศ.ชูชาติ ระบุ
อ่านประกอบ :
ประเสริฐ บุญสมบูรณ์สกุล : แจงปมร้อน ‘สอ.จฬ.’ ระดมเงินฝาก ซื้อ ‘ที่ดิน-ตึกยูทาวเวอร์’
'สอ.จฬ.'โชว์ราคาประเมินตึกยูทาวเวอร์พุ่ง 3.5 พันล.-บอร์ดฯรับลูกสอบ'ลักษณะต้องห้าม'กก.
เปิดบันทึก‘นายทะเบียน’ ชี้ ปธ.-4 กรรมการ‘สอ.จฬ.’พ้นตำแหน่ง ก่อนเคาะซื้อตึกยูทาวเวอร์
ร้อง'นายทะเบียน' ลงโทษกก.'สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ' ปมอนุมัติซื้อตึกยูทาวเวอร์ 2.5 พันล.