สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ยื่นหนังสือร้องเรียน ‘นายทะเบียนสหกรณ์’ ขอให้ลงโทษ ปธ.-กรรมการ ‘สอ.จฬ.’ ปมอนุมัติเข้าซื้อ ‘ตึกยูทาวเวอร์’ ของสหกรณ์คลองจั่นฯ 2.5 พันล้าน หวั่นทำให้สมาชิกสหกรณ์ฯเสียหาย
......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา สมาชิกของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สอ.จฬ.) จำนวนหนึ่ง เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึงอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ เพื่อขอให้นายทะเบียนสหกรณ์พิจารณาใช้อำนาจสั่งการลงโทษประธานและกรรมการดำเนินการ สอ.จฬ. ชุดปัจจุบัน เนื่องจากมีพฤติการณ์ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายให้กับ สอ.จฬ. และสมาชิกสหกรณ์ฯได้
ทั้งนี้ หนังสือร้องเรียนดังกล่าว ได้ระบุถึงพฤติการณ์ของประธานและกรรมการดำเนินการ สอ.จฬ.ชุดปัจจุบัน ว่า คณะกรรมการฯ ได้จัดเตรียมโครงการ “แก้ไขปัญหาสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น” เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น (สคจ.) ที่ผิดนัดชำระหนี้ สอ.จฬ. โดย สอ.จฬ. จะระดมเงินฝากจากสหกรณ์เจ้าหนี้ สคจ. วงเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท และ สอ.จพ. จะนำเงินจำนวนดังกล่าวไปซื้อหลักทรัพย์ค้ำประกัน สคจ. คือ อาคารยูทาวเวอร์ โดยมีข้อตกลงว่า สคจ. จะซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวคืนในอีก 7 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบเอกสารราคาประเมินของอาคารยูทาวเวอร์ของ สคจ. ซึ่งประเมินราคาเมื่อปี 2563 พบว่าอาคารดังกล่าว มีมูลค่าอาคารและที่ดินโดยไม่หักค่าเสื่อมรวม 2,048.54 ล้านบาท ดังนั้น หากครบกำหนด 7 ปี สคจ.ไม่นำเงิน 2,500 ล้านบาท มาซื้ออาคารยูทาวเวอร์คืน แม้ สอ.จฬ. มีสิทธินำหลักทรัพย์ดังกล่าวไปขายได้ แต่หากขายอาคารได้ไม่ถึง 2,500 ล้านบาท ก็จะก่อให้เกิดความเสียหายกับ สอ.จฬ. อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนี้ เมื่อสถานะทางการเงินของ สคจ. ซึ่งมีภาระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยกับเจ้าหนี้ประเภทต่างๆ ประมาณ 15,000 ล้านบาท ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่เมื่อครบกำหนด 7 ปีแล้ว สคจ.จะสามารถรวบรวมเงิน 2,500 ล้านบาท มาซื้ออาคารยูทาวเวอร์คืนจาก สอ.จฬ. ที่มีราคาประเมินเพียง 2,000 ล้านบาทเท่านั้น
“ฉะนั้น โครงการ “แก้ไขปัญหาหนี้สินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น” ซึ่งคณะกรรมการเสียงข้างมากของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ได้มีมติอนุมัติในการประชุมเมื่อวันอังคารที่ 26 กรกฎาคม 2565 จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะ สอ.จฬ. ได้ยื่นฟ้องบังคับคดีแล้ว และหนี้สินที่ สคจ. ค้างชำระอยู่นั้น มีอาคารยูทาวเวอร์จำนองเป็นหลักประกันอยู่แล้ว ถึงอย่างไร สอ.จฬ. ก็จะต้องได้รับชำระหนี้อย่างแน่นอน จึงไม่ควรเพิ่มภาระความเสี่ยงให้กับ สอ.จฬ.
การที่กรรมการเสียงข้างมากของ สอ.จฬ. ลงมติเห็นชอบที่จะดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของ สอ.จฬ. ข้อ 67 กล่าวคือ เป็นการลงทุนด้วยเงินจำนวนมาก โดยไม่คำนึงถึงความมั่นคง และประโยชน์สูงสุดของสหกรณ์” หนังสือร้องเรียนฯระบุ
นอกจากนี้ หนังสือร้องเรียนยังขอให้นายทะเบียนสหกรณ์เร่งรัดในดำเนินการเพิกถอนการดำรงตำแหน่งประธานและกรรมการดำเนินการ สอ.จฬ. รวม 5 คน เนื่องจากประธานและกรรมการฯดังกล่าว มีฐานะเป็นจำเลยตามคำพิพากษาในคดีสหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจ ซึ่งมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นกรรมการสหกรณ์ฯ ตามกฎกระทรวงการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ.2564 ข้อ 9 (7)
ด้าน นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศราว่า ขณะนี้ตนยังไม่ได้รับหนังสือร้องเรียนของสมาชิก สอ.จฬ. ดังกล่าว เนื่องจากติดภารกิจที่ต่างจังหวัด และหากได้รับหนังสือแล้วจะสั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ โดยเฉพาะการเข้าอนุมัติเข้าซื้ออาคารยูทาวเวอร์ หากพบว่า สอ.จฬ. ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบหรือกฎหมายก็จะดำเนินการสั่งการให้ระงับได้ ซึ่งการตรวจสอบเรื่องนี้คาดว่าจะได้ข้อสรุปใน 15 วัน
“การที่สหกรณ์ (สอ.จฬ.) จะไปซื้อทรัพย์อันนี้ (อาคารยูทาวเวอร์) ต้องมีมติที่ประชุมใหญ่เห็นชอบก่อน และการซื้อทรัพย์จะต้องอยู่ในแผนการลงทุนประจำปีของสหกรณ์ด้วย แต่ถ้าไม่มี ก็ทำไม่ได้” นายวิศิษฐ์ กล่าว พร้อมระบุว่า กรณีที่ สอ.จฬ.จะนำเงิน 2,500 ล้านบาท ไปซื้ออาคารยูทาวเวอร์ที่มีราคาประเมิน 2,000 ล้านบาท นั้น นายทะเบียนฯสามารถใช้อำนาจยับยั้งได้ เช่น ใช้อำนาจยับยั้งเพื่อให้มีการตรวจสอบก่อนได้ แต่ก่อนจะมีคำสั่งนายทะเบียนฯต้องพิจารณาข้อเท็จจริงก่อน