“เมื่อระเบียบฯ ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 ยังไม่มีสภาพใช้บังคับอย่างกฎ...รวมทั้งขัดต่อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องข้างต้น ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จึงไม่มีหน้าที่ดำเนินการหักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญเพื่อชำระหนี้เงินกู้ตามหลักเกณฑ์…”
.............................................
สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อร.5/2563 คดีหมายเลขแดงที่ อร.92/2567 ลงวันที่ 12 ก.ค.2567 ซึ่งเป็นคดีที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และข้าราชการบำนาญในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ผู้ฟ้องคดีที่ 1-9) ยื่นฟ้อง รมว.ศึกษาธิการกับพวก (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4)
กรณีไม่ควบคุมหรือสั่งการให้หน่วยงานในสังกัด ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่า ด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 9 มีเงินเดือนสุทธิหลังจากหักชำระหนี้แล้วเหลือน้อยกว่า 30% ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น เป็นยกฟ้อง รมว.ศึกษาธิการกับพวก เนื่องจากปรากฎข้อเท็จจริงว่า ระเบียบฯ ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 ยังมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงไม่มีสภาพใช้บังคับอย่างกฎ
นอกจากนี้ ศาลปกครองสูงสุด ยังวินิจฉัยว่า ข้อ 7 ของระเบียบฯ ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 เป็นหลักเกณฑ์ที่ขัดแย้งกับบทบัญญัติมาตรา 42/1 แห่ง พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542
และขัดแย้งกับข้อ 30 ของระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จบำนาญ เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่ม และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ.2550 นั้น (อ่านประกอบ : ระเบียบฯปี 51 ไม่มีสภาพบังคับ! ‘ศาลปค.สูงสุด’ยกฟ้อง‘รมว.ศธ.’ปมกำกับดูแล‘หักหนี้ครู’)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียดคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขดำที่ อร.5/2563 คดีหมายเลขแดงที่ อร.92/2567 มีรายละเอียด ดังนี้
@ฟ้องศาลฯปม‘รมว.ศธ.-พวก’เพิกเฉยไม่บังคับใช้ระเบียบฯ‘หักหนี้ครู’
ศาลปกครองสูงสุดได้ตรวจพิจารณาพยานหลักฐานในคำฟ้อง คำให้การ คำอุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์แล้ว
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาหรือเป็นข้าราชการบำนาญในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2551 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (รมว.ศึกษาธิการ) ได้ออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 มีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ) เป็นผู้รักษาการ
โดยให้เหตุผลในการออกระเบียบว่า เพื่อให้การดำเนินการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญเพื่อชำระหนี้เงินกู้มีความชัดเจนถูกต้อง เหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ส่งผลให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถดำรงตนได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งการจัดระเบียบทางการเงินให้เหมาะสมกับรายได้
ข้อ 7 วรรคหนึ่ง ของระเบียบดังกล่าว กำหนดว่า ข้าราชการที่ประสงค์จะให้ส่วนราชการหักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญ เพื่อชำระหนี้เงินกู้มีสิทธิที่จะเลือกใช้สวัสดิการภายในส่วนราชการหรือสหกรณ์ได้ตามความประสงค์ แต่ทั้งนี้ การจะให้ส่วนราชการหักเงิน ณ ที่จ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้นั้น จะต้องมีเงินเดือนสุทธิหลังจากชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าอัตรา ดังต่อไปนี้
(1) ร้อยละ 10 ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2551
(2) ร้อยละ 15 ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2552
(3) ร้อยละ 20 ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2553
(4) ร้อยละ 25 ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2554
(5) ร้อยละ 30 ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2555
และวรรคสอง กำหนดว่า ในกรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง ให้ส่วนราชการผู้เบิกงดการหักเงินจนกว่าจะมีการดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.) ได้แจ้งเวียนระเบียบดังกล่าว ให้สำนักงานปลัดศึกษาธิการทราบ เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2551 ตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ที่ ศธ 5208.2/29 ลงวันที่ 31 ม.ค.2551 และได้มีหนังสือ ที่ ศธ 5208.2/1169 ลงวันที่ 31 ม.ค.2551 แจ้งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา รวมทั้งได้มีหนังสือแจ้งเวียนให้หน่วยงานต่างๆ ทราบแล้ว
แต่ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (รมว.ศึกษาธิการ) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ) มิได้มีหนังสือแจ้งเวียนสั่งการให้ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการหักเงินให้เป็นไปตามระเบียบดังกล่าว
อีกทั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2) ได้ดำเนินการหักเงินเดือนหรือเงินบำนาญ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ที่ผู้ฟ้องคดีแต่ละรายได้ทำสัญญากู้ไว้ ทำให้ผู้ฟ้องคดีแต่ละรายมีเงินเดือนสุทธิหลังจากหักชำระหนี้แล้วเหลือน้อยกว่าร้อยละ 30 เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีแต่ละรายไม่มีเงินเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพ
และเมื่อวันที่ 10 ก.ย.2561 ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้า ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (รมว.ศึกษาธิการ) ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ดำเนินการออกหนังสือเวียนไปยังหน่วยงานในสังกัดเพื่อให้นำระเบียบกระทรวงศึกษาธิการข้างต้นมาบังคับใช้ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เพิกเฉย ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง
ต่อมา ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (รมว.ศึกษาธิการ) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมดูแลหรือสั่งการให้หน่วยงานในสังกัด ดำเนินการหักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญ ให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551
กับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2) ดำเนินการหักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของระเบียบดังกล่าว ทั้งนี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบ (180) วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2) ไม่เห็นพ้องด้วย จึงอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุดเป็นคดีนี้
@ระเบียบฯปี 51‘ไม่มีสภาพใช้บังคับ’เหตุไม่ประกาศใน‘ราชกิจจาฯ’
ศาลปกครองสูงสุดได้ตรวจพิจารณากฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยแล้ว
คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องที่ 4 (ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2) ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีหน้าที่ในการหักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 หรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 5 บัญญัติว่า ใน พ.ร.บ.นี้ ‘กฎ’ หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ
พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
รวมทั้งให้มีอำนาจตีความและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาอันเกี่ยวกับการปฏิบัติการ อำนาจหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งหรือหน่วยงานต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลของพระราชบัญญัตินี้ วรรคสอง บัญญัติว่า กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 42/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อสมาชิกได้ทำความยินยอมเป็นหนังสือไว้กับสหกรณ์ให้ผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานของรัฐหรือนายจ้างในสถานประกอบการ หรือหน่วยงานอื่นใดที่สมาชิกปฏิบัติหน้าที่อยู่หักเงินเดือนหรือค่าจ้าง หรือเงินอื่นใด ที่ถึงกำหนดจ่ายแก่สมาชิกนั้น เพื่อชำระหนี้หรือภาระผูกพันอื่นที่มีต่อสหกรณ์ ให้แก่สหกรณ์ตามจำนวนที่สหกรณ์แจ้งไป จนกว่าหนี้หรือภาระผูกพันนั้น จะระงับสิ้นไป ให้หน่วยงานนั้นหักเงินดังกล่าวและส่งเงินที่หักไว้นั้นให้แก่สหกรณ์โดยพลัน
วรรคสอง บัญญัติว่า การแสดงเจตนายินยอมตามวรรคหนึ่ง มิอาจจะถอนคืนได้ เว้นแต่สหกรณ์ให้ความยินยอม วรรคสาม บัญญัติว่า การหักเงินตามวรรคหนึ่ง ต้องหักให้สหกรณ์เป็นลำดับแรก ถัดจากหนี้ภาษีอากรและการหักเงินเข้ากองทุนที่สมาชิกต้องถูกหักตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน
และกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จบำนาญ เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่ม และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ.2550 ข้อ 6 กำหนดว่า การเบิกจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จบำนาญ เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มและเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในระเบียบนี้
ข้อ 30 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า การจ่ายเงิน มิให้ส่วนราชการผู้เบิกหักเงินไว้เพื่อการใดๆ เว้นแต่จะมีหนังสือยินยอมจากข้าราชการ หรือผู้มีสิทธิรับบำเหน็จบำนานาญ เพื่อชำระเงินให้แก่สหกรณ์ที่จัดตั้งโดยส่วนราชการและค่าสวัสดิการต่างๆ ตามระเบียบว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ หรือชำระตามข้อผูกพันกับทางราชการเท่านั้น
วรรคสอง กำหนดว่า ส่วนราชการและข้าราชการในสังกัดหรือผู้มีสิทธิรับบำเหน็จบำนาญจะตกลงกัน โดยทำเป็นหนังสือให้ความยินยอมในการจัดลำดับการหักเงินเพื่อชำระเงินตามวรรคหนึ่งก็ได้ ทั้งนี้ จะต้องจัดลำดับการชำระเงินให้แก่ทางราชการไว้ในลำดับต้น และวรรคสาม กำหนดว่า หนังสือให้ความยินยอมให้หักเงินและจัดลำดับการหักเงิน ให้มีผลผูกพันตลอดไปจนกว่าจะชำระชำระหนี้เสร็จสิ้น
คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (รมว.ศึกษาธิการ) ได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 ออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก หรือเพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิต และเพื่อให้การดำเนินการหักเงินเดือนและเงินบำเหน็จบำนาญเพื่อให้การชำระหนี้เงินกู้มีความชัดเจน ถูกต้อง เหมาะสม และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด อันส่งผลให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถดำรงตนได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งมีการจัดระเบียบวินัยทางการเงินให้เหมาะสมกับรายได้
กรณีเห็นได้ว่าระเบียบดังกล่าวมีความมุ่งหมายให้มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยมิได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ จึงมีลักษณะเป็นกฎตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
แม้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (รมว.ศึกษาธิการ) จะมีอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปในการกำหนดนโยบาย เป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ของงานในกระทรวงศึกษาธิการให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงไว้ต่อรัฐสภา หรือที่คณะรัฐมนตรีกำหนดหรืออนุมัติตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546
และก่อให้เกิดอำนาจในการออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 เพื่อใช้บังคับแก่ส่วนราชการที่อยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการได้ตาม
มาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ตาม แต่ในการออกระเบียบเช่นว่านั้น จะต้องนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเสียก่อนจึงจะมีผลใช้บังคับได้ ตามมาตรา 8 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับกันว่าระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 ยังมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงไม่มีสภาพใช้บังคับอย่างกฎ
ประกอบกับเมื่อได้พิจารณาข้อ 7 ของระเบียบดังกล่าว ที่กำหนดให้ส่วนราชการหักเงิน ณ ที่จ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้ จะต้องมีเงินเดือนสุทธิหลังจากการหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าอัตราที่กำหนดในระเบียบ และในกรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้ส่วนราชการผู้เบิกงดการหักเงินจนกว่าจะมีการดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวนั้น
เห็นว่า หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 7 ของระเบียบนั้น ย่อมมีผลกระทบต่อข้าราชการประจำและข้าราชการบำนาญที่เคยอยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และไม่เพียงแต่มีผลต่อการดำเนินกิจการของส่วนราชการที่จัดสวัสดิการเงินกู้หรือสหกรณ์เท่านั้น
แต่จะมีผลกระทบต่อสถาบันการเงินที่ได้ให้ข้าราชการประจำและข้าราชการบำนาญกู้เงินไปแล้วก่อนที่ระเบียบดังกล่าวจะประกาศใช้บังคับ และอยู่ระหว่างการชำระหนี้ จึงไม่อาจถือว่าเป็นเพียงกฎเกณฑ์ภายในของฝ่ายปกครองที่จะใช้บังคับกับส่วนราชการที่อยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น
ขั้นตอนที่กำหนดให้ต้องนำระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (รมว.ศึกษาธิการ) ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 8 วรรคสอง จึงถือว่าเป็นขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญที่มิอาจไม่ดำเนินการได้
@ศาลฯชี้ระเบียบฯปี 51 ขัดแย้ง‘พ.ร.บ.สหกรณ์ฯ-ระเบียบ ก.คลัง’
ยิ่งกว่านั้นข้อ 7 ของระเบียบดังกล่าว ยังเป็นหลักเกณฑ์ที่ขัดแย้งกับบทบัญญัติมาตรา 42/1 แห่ง พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 ที่บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ในการหักเงินเดือนข้าราชการที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ เพื่อชำระหนี้หรือภาระผูกพันอื่นที่มีต่อสหกรณ์ให้แก่สหกรณ์ตามจำนวนที่สหกรณ์แจ้งไป จนกว่าหนี้หรือภาระผูกพันนั้นจะระงับสิ้นไป
และขัดแย้งกับข้อ 30 ของระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จบำนาญ เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่ม และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ.2550 ที่กระทรวงการคลังออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ.2535
อันเป็นกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการจ่ายเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญฯ ที่กำหนดให้หนังสือให้ความยินยอมของข้าราชการหรือผู้มีสิทธิรับบำเหน็จบำนาญที่ให้ส่วนราชการหักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญเพื่อชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ที่จัดตั้งโดยส่วนราชการและค่าสวัสดิการต่างๆ ตามระเบียบว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ ให้มีผลผูกพันตลอดไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้นอีกด้วย
โดยประเด็นปัญหาว่า กฎ ระเบียบหรือข้อบังคับที่ออกโดยหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จัดให้มีขึ้น โดยมีสภาพอย่างกฎจะมีผลบังคับได้หรือไม่ และเป็นข้อกฎหมายที่ศาลจำต้องนำมาวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี ถือเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
แม้ไม่มีคู่กรณีฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวศาลปกครองสูงสุดก็มีอำนาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ ตามข้อ 92 ประกอบกับข้อ 116 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2551
เมื่อระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 ยังไม่มีสภาพใช้บังคับอย่างกฎ และไม่อาจถือว่าเป็นกฎเกณฑ์ภายในของฝ่ายปกครองที่จะนำมาใช้เฉพาะภายในส่วนราชการเองดังที่ได้วินิจฉัยแล้ว รวมทั้งขัดต่อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องข้างต้น
ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2) จึงไม่มีหน้าที่ดำเนินการหักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญเพื่อชำระหนี้เงินกู้ตามหลักเกณฑ์ ซึ่งกำหนดไว้ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 แต่อย่างใด
การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (รมว.ศึกษาธิการ) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมดูแลหรือสั่งการให้หน่วยงานในสังกัด ดำเนินการหักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551
กับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2) ดำเนินการหักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของระเบียบดังกล่าว ทั้งนี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบ (180) วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก นั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ยกฟ้อง
จากนี้จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า เมื่อ ระเบียบฯว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 ไม่มีสภาพใช้บังคับอย่างกฎ และมีหลักเกณฑ์ที่ขัดแย้งกับ พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 และระเบียบกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการจ่ายเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญฯ
กระทรวงศึกษาธิการฯ จะมีทบทวนเนื้อหาของระเบียบฯว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์อย่างไร เพื่อทำให้ระเบียบฯฉบับนี้เป็น ‘เครื่องมือสำคัญ’ ควบคู่กับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2566 เรื่อง การดำเนินการเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาฯกว่า 9 แสนราย ซึ่งมูลหนี้รวมกว่า 1.4 ล้านล้านบาท
อ่านประกอบ :
ระเบียบฯปี 51 ไม่มีสภาพบังคับ! ‘ศาลปค.สูงสุด’ยกฟ้อง‘รมว.ศธ.’ปมกำกับดูแล‘หักหนี้ครู’
30%ทิพย์ยังอยู่! 'เครือข่ายแก้หนี้ฯ'จี้ลงโทษวินัย'หักหนี้ครู'ผิดระเบียบฯ-สพฐ.พบฝ่าฝืนจริง
ศธ.สั่งทุกสังกัด ย้ำแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครู ต้องเหลือเงินใช้ไม่น้อยกว่า 30%
โชว์มติ‘ครม.เศรษฐา’แก้หนี้‘ขรก-จนท.รัฐ’ กล่อม‘สหกรณ์’ลดดบ.กู้-หักจ่ายหนี้เหลือเงินใช้30%
‘เครือข่ายแก้หนี้ครูฯ’เปิดรณรงค์ กำหนดโทษ‘สพท.’ไม่ปฏิบัติตามระเบียบหักเงินเดือนฯปี 51
เปิดรายงาน กมธ.(จบ) ข้อเสนอแก้‘หนี้ครู’ ชงรื้อกลไก‘สวัสดิการหักเงินเดือน’-คุมกู้เกินตัว
เปิดรายงานกมธ.(1) เจาะลึก 5 ปัญหาเชิงโครงสร้าง ‘หนี้ครู’ ต้นตอครูอาจต้องเป็นหนี้ไปจนตาย?
ขายบ้านจ่ายหนี้!ทุกข์‘ครู’ถูกสหกรณ์ฯหักเงินหน้าซองเหลือใช้ 900 บ.-จี้ศธ.บังคับใช้ระเบียบ
'ศธ.'จับมือพันธมิตรแก้หนี้ครู 1.4 ล้านล. เน้นปรับโครงสร้างฯ-หลังหักหนี้ต้องมีเงินใช้ 30%
ประโยชน์ทับซ้อน! ถ่วงแก้หนี้ครู จี้ลงโทษสหกรณ์ฯหักหนี้ผิดกม.-ลด'ดบ.เงินกู้สวัสดิการ'
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู (จบ) : คำเตือนถึงนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบละเลยปัญหา
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู (3) : พร้อมใจกันเปิดเผยสลิปเงินเดือนฟ้องสังคม
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู(2) : มหกรรมไกล่เกลี่ย’หนี้ครู’ผักชีโรยหน้า?
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู(1) : ต้องรื้อระบบการหักเงินเดือนของสวัสดิการ-สหกรณ์
‘เครือข่ายแก้หนี้ครูฯ’ จี้รัฐแก้ปมปล่อย‘เจ้าหนี้’หักเงินเดือน‘ครู’ จนเหลือเงินไม่พอใช้