‘กก.กำกับแก้ปัญหาหนี้ประชาชนรายย่อยฯ’ เผยได้รับข้อมูล ‘ครู’ จำนวนมาก ยังถูกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ ‘หักเงินหน้าซอง’ ผิดระเบียบฯ พบรายล่าสุดถูกหักเงินเดือน จนเหลือเงินใช้แค่ 900 บาท สุดท้ายถูก ‘เจ้าหนี้รายอื่น’ ฟ้อง ต้องขายบ้านจ่ายหนี้
..................................
จากกรณีที่เมื่อเดือน ม.ค.2566 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ร่วมกับ 12 หน่วยงาน เพื่อบูรณาการการทำงานแก้ปัญหาหนี้สินครูอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ครูที่เป็นหนี้มีรายได้หลังหักชำระหนี้ไม่น้อย 30% ของเงินเดือน นั้น (อ่านประกอบ : 'ศธ.'จับมือพันธมิตรแก้หนี้ครู 1.4 ล้านล. เน้นปรับโครงสร้างฯ-หลังหักหนี้ต้องมีเงินใช้ 30%)
ล่าสุด นายขจร ธนะแพสย์ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อย ซึ่งติดตามการแก้ปัญหาหนี้สินครู เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ตนได้รับทราบข้อมูลจากเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ว่า ขณะนี้ยังมีครูเป็นจำนวนมากที่ยังถูกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ หักเงินหน้าซองจนเหลือเงินเดือนไม่ถึง 30% และไม่สามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้
“ครูเหมือนทาสในเรือนเบี้ย เพราะจากการที่ได้คุยกับครูที่ไปฟ้องศาลปกครองในเรื่องนี้ (กรณีหักเงินเดือนครูเกิน 30% ของเงินเดือน) เขาบอกว่าตอนนี้มีครูยังมีปัญหาและเดือดร้อนกันมาก เนื่องจากไม่สามารถไปขอให้สหกรณ์ลดการหักเงินหน้าซองได้ และถ้าไปขอปรับลด สหกรณ์ฯก็บอกว่าจะไม่ให้กู้อีก” นายขจร กล่าว
นายขจร ย้ำว่า หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ทำให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูบางแห่ง ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในแก้ปัญหาหนี้สินครู โดยเฉพาะการลดการหักเงินหน้าซอง เพื่อให้ครูมีเงินเหลือใช้ไม่น้อยกว่า 30% เนื่องจากผู้บริหารสหกรณ์ฯสวมหมวก 2 ใบ คือ หมวกใบแรกเป็นหัวหน้างานของครู และหมวกอีกใบเป็นเจ้าหนี้ของครูด้วย อย่างล่าสุดมีครูคนหนึ่งเพิ่งถูกฟ้องยึดบ้านไป เพราะถูกสหกรณ์หักเงินหน้าซองเหลือเงินแค่ 900 บาท และเมื่อไม่มีเงินไปจ่ายเจ้าหนี้รายอื่น สุดท้ายจึงถูกฟ้อง
“มีครูอยู่รายหนึ่งเพิ่งถูกขายบ้าน และโทรมาขอความช่วยเหลือ ก็ถามเขาไปว่า เป็นหนี้ใครบ้าง แล้วมีหนี้ที่อยู่กับสหกรณ์เท่าไหร่ เขาบอกว่ามีหนี้กับสหกรณ์ก้อนหนึ่ง แต่ถูกหักเงินเหลือใช้แค่ 900 บาท ซึ่งผิดระเบียบฯ เพราะระเบียบฯบอกว่าต้องให้เหลือเงินใช้ไม่น้อยกว่า 30% เมื่อไม่มีเงินไปชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้รายอื่น สุดท้ายเขาก็ถูกสถาบันการเงินแห่งหนึ่งฟ้อง และถ้าสหกรณ์ฯทำตามนโยบายของกระทรวงศึกษาฯจริง ก็ต้องหยุดหัก เพื่อให้ครูมีเงินเหลือใช้” นายขจร กล่าว
นายขจร ระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้ เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯได้สำรวจข้อมูลการหักเงินหน้าซองของครูเพื่อชำระหนี้ พบว่าในปี 2564 ครูที่ตอบสำรวจประมาณ 50% ถูกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯเจ้าหนี้ หักเงินเดือนหน้าซองจนเหลือเงินใช้ไม่ถึง 30% ของรายได้ ขณะที่ในปี 2563 พบว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ 104 แห่ง ซึ่งมีสมาชิกรวม 8.93 แสนคน มีกำไรสุทธิรวมกันสูงถึง 31,698 ล้านบาท
นายขจร กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาที่ประชุมคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เป็นประธาน ได้ติดตามปัญหาหนี้ครู โดยเฉพาะปัญหาครูถูกหักเงินหน้าซองจนเหลือเงินไม่พอใช้ และได้กำชับไปยังกระทรวงศึกษาธิการว่า ให้สั่งการไปสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการหักเงินเดือนเพื่อการชำระหนี้สวัสดิการและสหกรณ์ปี 2551
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า เมื่อเดือน ธ.ค.2565 เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้ออกมารณรงค์ให้ครูทั่วประเทศที่ถูก ‘หักเงินเดือนหน้าซอง’ จนเหลือเงินใช้ไม่ถึง 30% ออกมาโชว์ ‘สลิปเงินเดือน’ ของตนเองผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อสะท้อนให้ผู้มีอำนาจรับรู้ถึงปัญหาดังกล่าว
พร้อมทั้งเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะ ‘นายจ้าง’ ของครูทั่วประเทศ สั่งการให้มีการบังคับใช้ระเบียบว่าด้วยการหักเงินเดือนเพื่อการชำระหนี้สวัสดิการและสหกรณ์ปี 2551 อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะระเบียบฯ ข้อ 7 ที่ระบุว่า
“ข้าราชการที่ประสงค์จะให้ส่วนราชการหักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญเพื่อชำระหนี้เงินกู้มีสิทธิ์ที่จะเลือกใช้สวัสดิการภายในส่วนราชการหรือสหกรณ์ได้ตามความประสงค์ แต่ทั้งนี้ การจะให้ส่วนราชการหักเงิน ณ ที่จ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้นั้น จะต้องมีเงินเดือนสุทธิหลังหักจากหักชำระหนี้ แล้วไม่น้อยกว่าอัตราดังต่อไปนี้
(1) ร้อยละ 10 ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2551
(2) ร้อยละ 15 ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2552
(3) ร้อยละ 20 ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2553
(4) ร้อยละ 25 ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2554
(5) ร้อยละ 30 ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2555
ในกรณีที่ไม่เป็นตามหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง ให้ส่วนราชการผู้เบิกงดหักเงินจนกว่าจะมีการดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง”
ขณะที่เมื่อวันที่ 11-12 มี.ค.2566 ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ จัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย 'Unlock a Better Life' สร้างโอกาสใหม่เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า ครั้งที่ 2 ในภาคตะวันออก
โดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายแก้ไขหนี้ภาคครัวเรือนนั้น กระทรวงศึกษาธิการได้เร่งรัดการขับเคลื่อนตามนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเต็มที่ ด้วยกลไกเจรจาลดดอกเบี้ยกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู การปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน การจัดตั้งสถานีแก้หนี้ร่วมช่วยแก้ปัญหาลดหนี้สิน และการให้ความรู้ทางด้านวินัยการเงินและการลงทุน เพื่อทำให้กับครูไทยได้มีสุขภาพทางการเงินที่ดี
“ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการมีการจัดการแก้ไขปัญหาหนี้ครูอย่างเต็มที่ เช่น การเจรจาขอลดดอกเบี้ยจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของครูทั้งประเทศ การตั้งสถานีแก้หนี้ครูที่เข้ามาเป็นกลไกช่วยเหลือครูในระดับเขตพื้นที่ ฯลฯ” น.ส.ตรีนุช ระบุ
อ่านประกอบ :
'ศธ.'จับมือพันธมิตรแก้หนี้ครู 1.4 ล้านล. เน้นปรับโครงสร้างฯ-หลังหักหนี้ต้องมีเงินใช้ 30%
ประโยชน์ทับซ้อน! ถ่วงแก้หนี้ครู จี้ลงโทษสหกรณ์ฯหักหนี้ผิดกม.-ลด'ดบ.เงินกู้สวัสดิการ'
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู (จบ) : คำเตือนถึงนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบละเลยปัญหา
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู (3) : พร้อมใจกันเปิดเผยสลิปเงินเดือนฟ้องสังคม
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู(2) : มหกรรมไกล่เกลี่ย’หนี้ครู’ผักชีโรยหน้า?
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู(1) : ต้องรื้อระบบการหักเงินเดือนของสวัสดิการ-สหกรณ์
‘เครือข่ายแก้หนี้ครูฯ’ จี้รัฐแก้ปมปล่อย‘เจ้าหนี้’หักเงินเดือน‘ครู’ จนเหลือเงินไม่พอใช้
กำแพงเพชรนำร่องแก้หนี้ครู ศธ.จ่อถอดบทเรียนขับเคลื่อนทั่วประเทศใน ต.ค.นี้
ศธ.ออกแนวปฏิบัติหักเงิน ช.พ.ค./ช.พ.ส. แก้หนี้ครู ย้ำต้องมีหนังสือยินยอม
กด 'ดอกเบี้ยกู้' ไม่เกิน 5%! ศธ.รุก 'แก้หนี้ครู' แนะคุม 'โบนัส' กก.สหกรณ์ฯลดต้นทุน
‘บอร์ดแก้หนี้ครูฯ’ กล่อมสหกรณ์ลดดอกเบี้ยกู้ คุมเพดานก่อหนี้-แก้ปมถูกฟ้องล้มละลาย