‘ศาลปกครองสูงสุด’ พิพากษากลับยกฟ้อง ‘รมว.ศธ.-พวก’ ไม่ควบคุม-สั่งการให้ ‘หน่วยงานในสังกัด’ ดำเนินการ ‘หักหนี้ครู’ ตาม ‘ระเบียบฯ ปี 51' ชี้ระเบียบฯไม่มีสภาพใช้บังคับ เหตุยังไม่ได้ประกาศใน 'ราชกิจจานุเบกษา'
.........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาในคดีที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และข้าราชการบำนาญในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ผู้ฟ้องคดีที่ 1-9) ยื่นฟ้อง รมว.ศึกษาธิการกับพวก (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
กรณี รมว.ศึกษาธิการกับพวก ไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมหรือสั่งการให้หน่วยงานในสังกัด ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่า ด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 9 มีเงินเดือนสุทธิหลังจากหักชำระหนี้แล้วเหลือน้อยกว่า 30% ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และบางรายต้องถูกฟ้องจนตกเป็นบุคคลล้มละลาย
โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น เป็นยกฟ้อง รมว.ศึกษาธิการกับพวก (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4) เนื่องจากปรากฎข้อเท็จจริงว่า ระเบียบฯ ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 ยังมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 จึงไม่มีสภาพใช้บังคับอย่างกฎ
นอกจากนี้ ศาลปกครองสูงสุด ยังวินิจฉัยว่า ข้อ 7 ของระเบียบฯ ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 เป็นหลักเกณฑ์ที่ขัดแย้งกับบทบัญญัติมาตรา 42/1 แห่ง พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 และขัดแย้งกับข้อ 30 ของระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จบำนาญ เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่ม และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ.2550
“การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (รมว.ศึกษาธิการ) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมดูแลหรือสั่งการให้หน่วยงานในสังกัด ดำเนินการหักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551
กับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2) ดำเนินการหักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของระเบียบดังกล่าว ทั้งนี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบ (180) วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก นั้น
ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ยกฟ้อง” คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อร.5/2563 คดีหมายเลขแดงที่ อร.92/2567 ลงวันที่ 12 ก.ค.2567 ระบุ
ก่อนหน้านี้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ในฐานะปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา กล่าวว่า แม้ว่าศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยว่า ระเบียบฯว่าด้วยการหักเงินเดือนบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 ไม่ได้ประกาศราชกิจจานุเบกษา จึงไม่สามารถบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย นั้น
อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ยังคงต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่กำหนดให้ส่วนราชการหักเงิน ณ ที่จ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้ โดยจะต้องทำให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีเงินเดือนสุทธิหลังจากหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่า 30% เพียงแต่ต้องมีการเพิ่มเติมรายละเอียดในเรื่องการเจรจา เพื่อให้ตรงไปตามกรอบวงเงิน ที่ต้องอิงกับระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จบำนาญ เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มและเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ.2550
อ่านประกอบ :
30%ทิพย์ยังอยู่! 'เครือข่ายแก้หนี้ฯ'จี้ลงโทษวินัย'หักหนี้ครู'ผิดระเบียบฯ-สพฐ.พบฝ่าฝืนจริง
ศธ.สั่งทุกสังกัด ย้ำแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครู ต้องเหลือเงินใช้ไม่น้อยกว่า 30%
โชว์มติ‘ครม.เศรษฐา’แก้หนี้‘ขรก-จนท.รัฐ’ กล่อม‘สหกรณ์’ลดดบ.กู้-หักจ่ายหนี้เหลือเงินใช้30%
‘เครือข่ายแก้หนี้ครูฯ’เปิดรณรงค์ กำหนดโทษ‘สพท.’ไม่ปฏิบัติตามระเบียบหักเงินเดือนฯปี 51
เปิดรายงาน กมธ.(จบ) ข้อเสนอแก้‘หนี้ครู’ ชงรื้อกลไก‘สวัสดิการหักเงินเดือน’-คุมกู้เกินตัว
เปิดรายงานกมธ.(1) เจาะลึก 5 ปัญหาเชิงโครงสร้าง ‘หนี้ครู’ ต้นตอครูอาจต้องเป็นหนี้ไปจนตาย?
ขายบ้านจ่ายหนี้!ทุกข์‘ครู’ถูกสหกรณ์ฯหักเงินหน้าซองเหลือใช้ 900 บ.-จี้ศธ.บังคับใช้ระเบียบ
'ศธ.'จับมือพันธมิตรแก้หนี้ครู 1.4 ล้านล. เน้นปรับโครงสร้างฯ-หลังหักหนี้ต้องมีเงินใช้ 30%
ประโยชน์ทับซ้อน! ถ่วงแก้หนี้ครู จี้ลงโทษสหกรณ์ฯหักหนี้ผิดกม.-ลด'ดบ.เงินกู้สวัสดิการ'
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู (จบ) : คำเตือนถึงนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบละเลยปัญหา
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู (3) : พร้อมใจกันเปิดเผยสลิปเงินเดือนฟ้องสังคม
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู(2) : มหกรรมไกล่เกลี่ย’หนี้ครู’ผักชีโรยหน้า?
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู(1) : ต้องรื้อระบบการหักเงินเดือนของสวัสดิการ-สหกรณ์
‘เครือข่ายแก้หนี้ครูฯ’ จี้รัฐแก้ปมปล่อย‘เจ้าหนี้’หักเงินเดือน‘ครู’ จนเหลือเงินไม่พอใช้