“…เงินกู้ 1 ล้าน ถ้าดอกเบี้ยต่างกัน 1% ปีหนึ่งครูต้องจ่ายเพิ่ม 1 หมื่นบาท ซึ่งเราพบว่าสหกรณ์ครูฯบางแห่งคิดดอกเบี้ยครูสูงถึง 7% ต่อปี ทั้งๆที่ดอกเบี้ยสวัสดิการควรจะต้องถูกกว่านี้ ยิ่งเมื่อก่อนดอกเบี้ยเคยสูงถึง 15% ครูที่กู้เงินมา 3 ล้าน แต่ต้องส่งจริงๆ 10 ล้าน ครูจึงเป็นหนี้ทั้งชีวิต เราจึงต้องลดภาระให้ครู โดยการลดดอกเบี้ยลงมา…”
...................................
แม้ว่าในห้วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และกระทรวงศึกษาธิการ ที่มี ‘ตรีนุช เทียนทอง’ เป็นเจ้ากระทรวง ได้เร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายแก้ปัญหา ‘หนี้สินครู’ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน และตั้งสถานีแก้หนี้ครู เป็นต้น
แต่ทว่าจนถึงขณะนี้การแก้ปัญหาหนี้สินครู โดยเฉพาะปัญหา ‘เชิงโครงสร้าง’ ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม
กระทั่งในช่วงต้นเดือน ธ.ค.2565 ‘เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา’ ออกมารณรงค์ให้ครูทั่วประเทศที่ถูก ‘หักเงินเดือนหน้าซอง’ จนเหลือเงินใช้ไม่ถึง 30% ออกมาโชว์ ‘สลิปเงินเดือน’ ของตนเองผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อสะท้อนให้ ‘ผู้มีอำนาจ’ รับรู้ถึงปัญหาดังกล่าว
พร้อมทั้งเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะ ‘นายจ้าง’ ของครูทั่วประเทศ สั่งการให้มีการบังคับใช้ระเบียบว่าด้วยการหักเงินเดือนเพื่อการชำระหนี้สวัสดิการและสหกรณ์ปี 2551 อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะระเบียบฯ ข้อ 7 ที่ระบุว่า
“ข้าราชการที่ประสงค์จะให้ส่วนราชการหักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญเพื่อชำระหนี้เงินกู้มีสิทธิ์ที่จะเลือกใช้สวัสดิการภายในส่วนราชการหรือสหกรณ์ได้ตามความประสงค์ แต่ทั้งนี้ การจะให้ส่วนราชการหักเงิน ณ ที่จ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้นั้น จะต้องมีเงินเดือนสุทธิหลังหักจากหักชำระหนี้ แล้วไม่น้อยกว่าอัตราดังต่อไปนี้
(1) ร้อยละ 10 ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2551
(2) ร้อยละ 15 ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2552
(3) ร้อยละ 20 ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2553
(4) ร้อยละ 25 ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2554
(5) ร้อยละ 30 ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2555
ในกรณีที่ไม่เป็นตามหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง ให้ส่วนราชการผู้เบิกงดหักเงินจนกว่าจะมีการดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง”
“ปัญหาครูเหลือเงินเดือน 30% ทิพย์ หรือ 30% เทียม เพราะมีการหักหนี้เพื่อนำไปจ่ายเจ้าหนี้ ทำให้ครูจำนวนไม่น้อยเหลือเงินเพียงไม่กี่ร้อยบาทในแต่ละเดือน บางรายเหลือ 10 บาทต่อวัน ทำให้ครูต้องไปพึ่งพาหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และหนี้นอกระบบ” เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ระบุ
เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ยังสะท้อนว่า สาเหตุที่ทำให้ครูถูกหักหนี้ ณ ที่จ่าย จนเหลือเงินใช้ไม่ถึง 30% มาจาก 4 ปัจจัยหลักๆ ได้แก่
1.การที่นายจ้าง คือ กระทรวงศึกษาธิการ ยอมให้เจ้าหนี้ตัดเงินเดือนครูที่เป็นหนี้ได้ จนครูไม่เหลือเงินเพียงพอในการดำรงชีพ 2.การปล่อยให้เจ้าหนี้กำหนดลำดับการตัดหนี้ตามอำเภอใจ โดยกำหนดให้ตัดหนี้เงินต้นไว้ลำดับท้ายสุด 3.การไม่ห้ามปราม และให้ครูกู้ยืมเงินจนเกินศักยภาพในการชำระหนี้
4.การอำนวยความสะดวกให้เจ้าหนี้หักเงินเดือนครูลูกหนี้ โดยไม่ได้พิจารณาว่าอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อสวัสดิการฯที่ครูได้รับนั้นสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่
นอกจากนี้ เครือข่ายฯยังพบว่าผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาบางพื้นที่ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูด้วย จึงมุ่งทำกำไรให้กับสหกรณ์ โดยไม่ได้มุ่งช่วยเหลือครูที่มีปัญหาหนี้สินอย่างแท้จริง (อ่านประกอบ : ‘เครือข่ายแก้หนี้ครูฯ’ จี้รัฐแก้ปมปล่อย‘เจ้าหนี้’หักเงินเดือน‘ครู’ จนเหลือเงินไม่พอใช้)
@ปัญหาโครงสร้าง ‘ดอกเบี้ยแพง-จ่ายค่าหุ้น’ ทำครูอยู่ในวงจรหนี้
“วันนี้สหกรณ์ฯต้องมาคิดว่า จะทำอย่างไรให้ครูเหลือเงินใช้ 30% ให้ได้ เช่น ปรับโครงสร้างหนี้ ยืดหนี้ ทุกอย่างทำได้หมด แต่ที่เขาไม่ทำ เพราะรู้ว่า ถึงไม่ทำ ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีการลงโทษ” อิทธิพัทธ์ ธีระวรรณสาร ผู้ประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคมแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ซึ่งเป็นเครือข่ายฯที่ก่อตั้งเมื่อต้นปี 2565 และมีแกนนำเครือข่ายฯกระจายอยู่ทั่วประเทศ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
อิทธิพัทธ์ ในฐานะอดีตประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ จำกัด ระบุว่า หลังจากได้เข้าไปทำงานที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ เมื่อ 2 ปีก่อน ก็พบว่าปัญหาหนี้สินครูนั้น จะไปกล่าวโทษครูว่า ไม่มีวินัย ไม่มีความรับผิดชอบ อย่างเดียวไม่ได้ โดยปัญหาหนี้สินครูที่เกิดขึ้นในอดีตจนถึงปัจจุบันนั้น มาจากปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างน้อย 3 ประเด็น ได้แก่
ประเด็นแรก เรื่องดอกเบี้ย แม้ว่าสินเชื่อครูส่วนใหญ่จะถูกเรียกว่า ‘สินเชื่อสวัสดิการ’ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อฯที่กู้จากสหกรณ์ฯหรือสถาบันการเงินของรัฐ อีกทั้งเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำ เพราะถูกหักเงินชำระหนี้ ณ ที่จ่าย แต่ปรากฏว่าสินเชื่อสวัสดิการฯเหล่านี้ มีอัตราดอกเบี้ยสูงเกินกว่าจะเรียกว่าสินเชื่อสวัสดิการฯ
“เงินกู้ 1 ล้าน ถ้าดอกเบี้ยต่างกัน 1% ปีหนึ่งครูต้องจ่ายเพิ่ม 1 หมื่นบาท ซึ่งเราพบว่าสหกรณ์ครูฯบางแห่งคิดดอกเบี้ยครูสูงถึง 7% ต่อปี ทั้งๆที่ดอกเบี้ยสวัสดิการควรจะต้องถูกกว่านี้ ยิ่งเมื่อก่อนดอกเบี้ยเคยสูงถึง 15% ครูที่กู้เงินมา 3 ล้าน แต่ต้องส่งจริงๆ 10 ล้าน ครูจึงเป็นหนี้ทั้งชีวิต เราจึงต้องลดภาระให้ครู โดยการลดดอกเบี้ยลงมา” อิทธิพัทธ์ ย้ำ
ประเด็นที่สอง เรื่องหุ้นสหกรณ์ การที่ครูจะกู้เงินจากสหกรณ์ฯได้นั้น กฎหมายหรือระเบียบกำหนดไว้ชัดเจนว่า ให้ครูจะต้องมีหุ้นในสหกรณ์ฯตั้งแต่ 20-25% ของเงินวงเงินกู้ เช่น หากครูต้องการกู้เงิน 1 ล้านบาท ต้องมีหุ้นมูลค่า 2 แสนบาท แต่หากครูไม่มีเงินมาซื้อหุ้น ก็ต้องไปกู้มาซื้อหุ้น เพื่อจะได้กู้เงินจากสหกรณ์ได้
“ถ้าครูจะกู้เงิน 1 ล้าน จะต้องมีหุ้น 2 แสนบาท แต่อยู่ๆจะให้ครูมีหุ้น 2 แสนบาทได้อย่างไร ก็ต้องกู้เงินมาซื้อหุ้น 2 แสนบาท แล้วได้เงินกลับไป 8 แสนบาท แต่ต้องเสียดอกเบี้ยเงินต้น 1 ล้านบาท และเมื่อกู้เงินไปแล้ว ครูยังถูกบังคับให้ส่งค่าหุ้นอีกเดือนละ 1,000-2,000 บาท แทนที่จะเอาเงินตรงนี้ไปจ่ายหนี้ ซึ่งเราเรียกวิธีการนี้ว่าเป็นการเอา ‘เงินครูไปออกดอกครู’
ทำไมเราไม่ให้ครูเสียดอกเบี้ยเฉพาะเงินกู้ที่ได้ไปจริงๆ 8 แสนบาท โดยเอาหุ้น 2 แสนบาท มาปรับยอดหนี้ และรู้หรือไม่ว่า เงินค่าหุ้นที่ครูส่งให้สหกรณ์ทุกเดือนนั้น ถ้าเอาเงินเดือนละ 500 บาท มาส่งเป็นเงินต้นแทน จะลดเวลาส่งหนี้ได้ 3 ปี และถ้าส่งเดือนละ 1,000 บาท จะลดเวลาส่งหนี้ได้ 5 ปี นี่จึงเป็นปัญหาหนี้สินครูที่เกิดจากระบบ” อิทธิพัทธ์ กล่าว
(อิทธิพัทธ์ ธีระวรรณสาร)
@ต้องลงโทษ ‘คนทำผิด’ ปล่อยให้สหกรณ์หักเงินเดือนครูเกิน 70%
ประเด็นที่สาม เรื่องบทบาททับซ้อน ปัจจุบันสหกรณ์ครูฯบางแห่ง มีผู้บริหารที่สวมหมวก 2 ใบ คือ ‘ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา’ บางพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของครูนั้น กลับดำรงตำแหน่งประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ครู ดังนั้น แทนที่คนเหล่านี้จะเห็นใจและเข้ามาแก้ปัญหาหนี้สินครู กลับมุ่งหากำไรให้สหกรณ์ฯ รวมทั้งยังปล่อยให้ครูกู้เงินเกินตัวด้วย เพื่อที่สหกรณ์ฯจะมีรายได้จากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น
ที่สำคัญในหลายพื้นที่ฯ มีการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการหักเงินเดือนเพื่อการชำระหนี้สวัสดิการและสหกรณ์ฯ เช่น ถ้าครูต้องจ่ายหนี้ให้สหกรณ์ 80% ของเงินเดือน เขาจะให้สหกรณ์หักเงินเดือนครูไม่ให้เกิน 70% เพื่อให้เหลือเงินหน้าซอง 30% แต่ที่เหลืออีก 10% ให้ครูจ่ายเบิกเงินมาจ่ายให้สหกรณ์ฯ
“ปัญหา ‘30% ทิพย์’ คือ ครูเหลือเงินใช้ไม่ถึง 30% หลังหักหนี้ นั้น เพราะมีผู้ฝ่าฝืนระเบียบฯ หรือรู้เห็นเป็นใจสร้าง ‘30% ทิพย์’ แน่นอนว่าทุกสหกรณ์รู้ ทุกเขตพื้นที่รู้ แต่ถามว่า มันเกิดอะไรกับคนที่ไม่ปฏิบัติตามบ้าง แต่ถ้าคนรู้ว่า ทำผิดแล้วมีบทลงโทษ คนก็ไม่กล้าทำผิด” อิทธิพัทธ์ ระบุ
นอกจากนี้ การที่สหกรณ์ฯรู้ว่า สหกรณ์ฯมีสิทธิหักเงินเดือนครู ณ ที่จ่าย เพื่อชำระหนี้ เป็นลำดับแรกก่อนเจ้าหนี้รายอื่นๆ ทำให้สหกรณ์ฯใช้สิทธิหักหนี้เต็ม 70% ของเงินเดือน แทนที่จะแบ่งให้เจ้าหนี้รายอื่นๆหักหนี้ด้วย ซึ่งเมื่อเจ้าหนี้รายอื่นๆหักหนี้ไม่ได้ สุดท้ายเจ้าหนี้รายนั้นๆ ก็ต้องไปฟ้องดำเนินคดีกับครูที่จ่ายหนี้ไม่ได้
“ถ้ามีเจ้าหนี้รายใดรายหนึ่งฟ้องครู มันจะเกี่ยวพันเป็นลูกโซ่ เพราะทุกครั้งที่ครูกู้ 1 คน จะต้องมีคนค้ำประกัน 2-3 คน ถ้าหักเงินคนกู้ไม่ได้ เขาก็ไปไล่บี้คนค้ำประกัน” อิทธิพัทธ์ กล่าว
อิทธิพัทธ์ เรียกร้องไปยังกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า เมื่อรัฐบาลและกระทรวงศึกษาฯมีแนวคิดผลักดันการแก้ปัญหาหนี้สินครูแล้ว ขอให้ปฏิบัติอย่างจริงจัง เพราะแนวทางต่างๆก็มีอยู่แล้ว และที่ไม่มีใครปฏิบัติตามระเบียบฯหรือแม้แต่คำสั่งศาลปกครองโดยเฉพาะเรื่องการหักหนี้ ณ ที่จ่าย เพราะกระทรวงศึกษาฯไม่จริงจังในการบังคับใช้กฎหมาย
อิทธิพัทธ์ ระบุด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมาครูมักไม่ค่อยกล้าออกมาแสดงตัว หรือสะท้อนถึงปัญหาหนี้สินครูมากนัก เพราะกลัวว่าหากออกมาพูดแล้ว สังคมจะมองไม่ดี สังคมจะมองว่ากู้เงินแล้วชำระหนี้ไม่ได้ แต่ทุกคนผิดพลาดได้ และเมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ครูมีปัญหาแล้ว ก็ต้องมีการแก้ไข
“ทุกคนรู้หมดว่าจะต้องทำอย่างไร วิธีการศึกษาหมดแล้ว สหกรณ์ก็รู้จะต้องทำอย่างไร เช่น ถ้าครูเหลือเงินไม่ถึง 30% ก็ต้องไปปรับโครงสร้างหนี้ ยืดหนี้ ลดดอกเบี้ยให้สมาชิก แก้ปัญหาเรื่องชำระค่าหุ้น ครูก็จะเหลือเงินพอใช้ทันที ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ วิธีคิดเป็นเรื่องสำคัญ และอยู่ที่ว่าสหกรณ์จะมองครูเป็นเหยื่อ หรือเป็นผู้น่าสงสาร” อิทธิพัทธ์ ระบุ
@แก้ปัญหา ‘หักเงินเดือนหน้าซอง’ ก้าวแรกแก้ปัญหาหนี้ครูทั้งระบบ
ด้าน ขจร ธนะแพสย์ กรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน ระบุว่า ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้เร่งรัดแก้ปัญหาหนี้สินครู ขณะที่คณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินฯ ที่มีสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ เป็นประธานฯ ได้หยิบยกเรื่องหนี้สินครูมาพูดคุยกันด้วย
ขจร ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ออกมารณรงค์ในครูออกมาโชว์ ‘สลิปเงินเดือน’ ที่ถูกหักเงิน ณ ที่จ่าย เกิน 70% จนเหลือเงินไม่พอดำรงชีวิต กล่าวต่อว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมานานแล้ว เพียงแต่ครั้งนี้ครูจำนวนหนึ่งเริ่มออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง เพราะเขาเจอปัญหาอย่างนี้มาพอสมควรแล้ว
“สังคมเราไม่ค่อยได้พูดถึงสิทธิของลูกหนี้ คือ เมื่อเขาเป็นหนี้แล้ว เขามีสิทธิเหลือเงินพอดำรงชีพ โดยเฉพาะครู ถ้าครูเหลือเงินอยู่แค่ 10 บาท 20 บาทต่อวัน อย่างนี้มันอยู่ไม่ได้ เมื่ออยู่ไม่ได้ เขาก็ต้องไปใช้บัตรเครดิต ไปกู้หนี้นอกระบบ ทำให้สอนหนังสือได้ไม่เต็มที่ แล้วก็หน้าที่เป็นแม่พิมพ์ได้ยาก” ขจร กล่าว
ขจร กล่าวต่อว่า วิธีการแก้ปัญหาครูถูกหักเงินหน้าซองเกิน 70% นั้น ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน คือ ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการหักเงินเดือนเพื่อการชำระหนี้สวัสดิการฯ ปี 2551 แต่สาเหตุที่ปัญหานี้แก้ไขไม่ได้ เพราะมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งดูแลเงินเดือนครู แต่ทำหน้าที่เป็นประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของครูด้วย
“พอเงินเดือน (ครู) ออก เขาก็จัดการส่งให้กันเลย ซึ่งถ้าเป็นนายจ้างที่ดีและคิดถึงครู เขาต้องคิดว่าครูจะมีเงินพอใช้หรือไม่ แต่พอ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สวมหมวกเป็นเจ้าหนี้ วิสัยทัศน์จึงต่างไป เพราะแทนที่เข้ามาประสานงานเรื่องสินเชื่อสวัสดิการฯให้เกิดความเป็นธรรม แต่ก็ไม่ทำหน้าที่ตรงนี้” ขจร ระบุ
ขจร เสนอว่า กระทรวงศึกษาฯ ต้องเข้ามากำกับดูแลและแบ่งแยกหน้าที่ ในฐานะเป็น ‘นายจ้าง’ และ ‘เจ้าหนี้’ ให้ชัดเจน เพราะหากนายจ้างยังสวมหมวก 2 ใบ ก็ไม่มีทางที่นายจ้างจะคิดถึงประโยชน์ของครูได้เต็มที่ เช่นเดียวกับคนที่เป็นผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ ก็ไม่ควรมาทำเงินเดือนให้กับตัวเอง แต่เรากลับเห็นปรากฎการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นทุกพื้นที่
ขจร ย้ำว่า แก้ไขปัญหาครูถูกหักเงินหน้าซองจนเหลือเงินไม่พอใช้ จะเป็นก้าวแรกๆในการแก้ปัญหาหนี้สินครูทั่วประเทศ เพราะหากครูมีเงินเหลือใช้ 30% ก็จะไม่ต้องไปกู้บัตรเครดิตหรือกู้เงินนอกระบบ และการที่เจ้าหนี้ได้มีสิทธิ์หักหนี้ ณ ที่จ่าย ได้ 70% จะเป็นสิ่งที่จูงใจให้เจ้าหนี้หันมาปรับโครงสร้างหนี้ให้กับครู
“ถ้านายจ้าง (กระทรวงศึกษาฯ) บังคับใช้ระเบียบฯ โดยทำให้ครูต้องเหลือเงินใช้ไม่น้อยกว่า 30% ส่วนที่เหลืออีก 70% เจ้าหนี้ก็จะเอาไป แต่หากเจ้าหนี้มีมากกว่า 1 ราย เช่น มี 2 ราย เมื่อแบ่งแล้วไม่พอชำระหนี้ ก็จะเป็นการบังคับให้เจ้าหนี้ทั้ง 2 ราย ต้องปรับโครงสร้างหนี้ให้กับครู” ขจร กล่าว
(ขจร ธนะแพสย์)
@เรียกร้อง ‘ศธ.’ ประกาศอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อสวัสดิการฯที่เหมาะสม
ขจร ระบุด้วยว่า ประเด็นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อสวัสดิการฯครูที่อยู่ในระดับสูงๆ เช่น สหกรณ์ฯบางแห่งคิดอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 10% ต่อปี นับว่าสร้างภาระให้ครูอย่างมาก และเมื่อสินเชื่อสวัสดิการแบบหักเงินเดือน หรือ payroll credit ซึ่งเจ้าหนี้แทบไม่มีความเสี่ย และหนี้เสียมีไม่ถึง 1% ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อสวัสดิการฯจึงไม่ควรเกิน 3% ด้วยซ้ำ
อีกทั้งก่อนหน้านี้ กระทรวงศึกษาฯเคยบอกว่า กระทรวงฯจะประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยสวัสดิการฯที่เหมาะสม ซึ่งก็รอตรงนี้อยู่ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ประกาศอะไรออกมา ทำให้ครู ซึ่งไม่ได้มีรายได้มากนัก ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราแพงๆเพื่อซัพพอร์ตคนที่มีฐานะดีกว่า ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น
“ถ้ากระทรวงศึกษาฯจะทำสินเชื่อสวัสดิการฯ ดอกเบี้ยก็ดีกว่าสินเชื่อในระบบฯ ไม่อย่างนั้น จะทำไปทำไม แต่วันนี้เราพบว่า อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อสวัสดิการฯสูงกว่าดอกเบี้ยลูกหนี้ชั้นดีของธนาคาร แล้วนายจ้าง คือ กระทรวงศึกษาฯ ยังหักหนี้ให้อีก จึงไม่มีความเสี่ยงอะไรเลย” ขจร กล่าว
ขจร กล่าวด้วยว่า สินเชื่อสวัสดิการฯครู ยังมีปัญหาร่วมเช่นเดียวกับสินเชื่ออื่นๆ เช่น การฟ้องผู้ค้ำประกันเสมือนเป็นลูกหนี้ และแม้ว่าจะมีการแก้ไขประมวลกฎหมายในเรื่องนี้มาแล้ว 2 ครั้ง แต่ในทางปฏิบัติเจ้าหนี้ยังฟ้องผู้กู้และผู้ค้ำประกันพร้อมๆกัน แทนที่จะไปเอากับลูกหนี้ให้ถึงที่สุดก่อน รวมถึงปัญหายังมีปัญหาลำดับการตัดชำระหนี้ โดยเจ้าหนี้จะตัดเงินต้นเป็นอันดับสุดท้าย
ขจร กล่าวทิ้งท้ายว่า “เมื่อก่อนเวลาจับคอร์รัปชัน เราต้องดูใบเสร็จ แต่เรื่องหนี้ครู สลิปเงินเดือนจะเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงสิ่งไม่ปกติ หรือสิ่งที่ไม่ถูกต้องในกระบวนการหักเงินเดือน ซึ่งคงไม่มีใครช่วยครูได้ นอกจากครูด้วยกันเอง และถ้าทำได้ก็เหมือนการเลิกทาสทางการเงิน เพราะครูอยู่ใต้ระบบนายจ้างอย่างนี้มานานแล้ว”
@สหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯเจ้าหนี้ใหญ่สุด-ครูเกิน 30% เหลือเงินใช้ไม่ถึง 30%
ทั้งนี้ จากข้อมูลโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน ของกระทรวงศึกษาฯ ระบุว่า ปัจจุบันมีครู 9 แสนคนทั่วประเทศ หรือคิดเป็นประมาณ 80% ของครูทั่วประเทศ มีหนี้สินรวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท
โดยเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จำนวนหนี้รวม 8.9 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 64% ของหนี้สินครูทั้งหมด รองลงมาเป็นธนาคารออมสิน จำนวนหนี้ 3.49 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 25% ของหนี้สินครูทั้งหมด และมีครูที่มีเงินเดือนสุทธิหลังจากหักชำระหนี้น้อยกว่า 30% ของเงินเดือน มีสัดส่วนมากกว่า 30% ของครูทั้งหมด
นอกจากนี้ โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและและบุคลากรทางการศึกษาฯดังกล่าว กำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้สินครูฯ เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อของครูให้ลงมาอยู่ที่ 4.5-5% ต่อปี ,การปรับโครงสร้างหนี้ครู และการร่วมกับส่วนราชการต้นสังหัดให้หักหนี้ครู ณ ที่จ่าย เพื่อให้ครูมีเงินเหลือไม่น้อยกว่า 30% (อ่านข้อมูลประกอบ)
ขณะที่ ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการฯ ได้รับข้อเสนอของเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ในการแก้ปัญหาครูถูกหักเงินเดือนจ่ายหนี้เกิน 70% พร้อมทั้งมอบหมายให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ของ ศธ. ไปดูแลในการอุดช่องโหว่ดังกล่าวแล้ว
จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า การแก้ปัญหาหนี้สินครู โดยเฉพาะปัญหาครูถูก ‘หักเงินเดือนหน้าซอง’ จนเหลือเงินไม่พอใช้ในการดำรงชีวิต จะได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร?
อ่านประกอบ :
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู (จบ) : คำเตือนถึงนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบละเลยปัญหา
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู (3) : พร้อมใจกันเปิดเผยสลิปเงินเดือนฟ้องสังคม
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู(2) : มหกรรมไกล่เกลี่ย’หนี้ครู’ผักชีโรยหน้า?
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู(1) : ต้องรื้อระบบการหักเงินเดือนของสวัสดิการ-สหกรณ์
‘เครือข่ายแก้หนี้ครูฯ’ จี้รัฐแก้ปมปล่อย‘เจ้าหนี้’หักเงินเดือน‘ครู’ จนเหลือเงินไม่พอใช้
กำแพงเพชรนำร่องแก้หนี้ครู ศธ.จ่อถอดบทเรียนขับเคลื่อนทั่วประเทศใน ต.ค.นี้
ศธ.ออกแนวปฏิบัติหักเงิน ช.พ.ค./ช.พ.ส. แก้หนี้ครู ย้ำต้องมีหนังสือยินยอม
กด 'ดอกเบี้ยกู้' ไม่เกิน 5%! ศธ.รุก 'แก้หนี้ครู' แนะคุม 'โบนัส' กก.สหกรณ์ฯลดต้นทุน
‘บอร์ดแก้หนี้ครูฯ’ กล่อมสหกรณ์ลดดอกเบี้ยกู้ คุมเพดานก่อหนี้-แก้ปมถูกฟ้องล้มละลาย
กางปัญหา 'หนี้สินครู' เจาะสาเหตุ 3 ประเด็นที่ทำให้เป็นเรื่องเรื้อรังแก้ไม่จบ