“…แม้ปัญหาหนี้สินครูจะซับซ้อนและเกี่ยวเนื่องกับหลายประเด็น แต่การทำให้กลไกของการจัดทำสินเชื่อสวัสดิการหักเงินเดือน สามารถทำงานได้ตามปกติอย่างที่ควรจะเป็น ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่สุด สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูถ้ามีโอกาสเลือกทำมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครูได้เพียงเรื่องเดียวจะต้องเลือกทำเรื่องนี้ (บังคับใช้ระเบียบฯปี 51)…”
............................................
สืบเนื่องจากกรณีเมื่อเดือน มี.ค.2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ได้เผยแพร่รายงานผลการศึกษา เรื่อง ‘ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูบำนาญต่อวิกฤติหนี้ในปัจจุบัน’
โดยรายงาน ‘ส่วนแรก’ ได้สะท้อนถึง ‘ปัญหาเชิงโครงสร้างของหนี้ครู’ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรด้านการศึกษา มูลหนี้รวม 1.4 ล้านล้านบาท นั้น (อ่านประกอบ : เปิดรายงานกมธ.(1) เจาะลึก 5 ปัญหาเชิงโครงสร้าง ‘หนี้ครู’ ต้นตอครูอาจต้องเป็นหนี้ไปจนตาย?)
ในตอนนี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียดรายงานการศึกษาฯ ‘ส่วนที่สอง’ ซึ่งเป็น ‘ข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้สินครูในองค์รวม’ มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@ต้องมีมาตรการ‘ลงโทษ’ผู้ไม่ปฏิบัติตามระเบียบฯหักเงินเดือนปี 51
1.กระทรวงศึกษาธิการหรือนายจ้างที่มีความจริงใจและใส่ใจ (A Sincere and Care Employer) พร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลือครูในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน
ย้อนกลับไปในอดีต สหกรณ์ออมทรัพย์ของกระทรวงศึกษาธิการ ถูกก่อตั้งครั้งแรกในปี พ.ศ.2503 ซึ่งเมื่อแรกก่อตั้งนั้น สหกรณ์ฯถือเป็นส่วนงานหนึ่งภายใต้สังกัดของกระทรวงที่มีภารกิจด้านสวัสดิการ ที่จะส่งเสริมให้ข้าราชการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้กู้ยืมกันด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและผ่อนปรนกว่าที่หาได้ในตลาดทั่วไป
ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 มีการออก พ.ร.บ.สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ มีการตั้งกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ขึ้นมาดูแล สายสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานต้นสังกัดและสหกรณ์ค่อยๆ จางหาย
จนปัจจุบันความสัมพันธ์ของกระทรวงศึกษาธิการที่มีกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู กลายเป็นแค่ “หน่วยงานของรัฐ” ที่หักเงินเดือนและจะต้องนำส่งหนี้ให้สหกรณ์ทุกเดือน ทำให้บทบาทของกระทรวงศึกษาธิการในฐานะ ‘นายจ้างที่ดีที่หายไป’
ดังนั้น การเข้ามาของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินให้ครูจึงถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ หรือเป็น “game changer” ที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการครูในครั้งนี้ มีโอกาสที่จะเห็นผลเป็นรูปธรรมมากกว่าที่ผ่านมา ซึ่งมีหลายเรื่องที่จำเป็นต้องดำเนินการกล่าว คือ
(1) บังคับใช้ระเบียบว่าด้วยการหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ ปี 2551 อย่างเคร่งครัด ด้วยการกำหนดบทลงโทษและการนำหน่วยงานจากภายนอกเข้ามาร่วมตรวจสอบ
คณะกรรมาธิการเห็นว่าเรื่องนี้ นับเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่จำเป็นต้องดำเนินการ ทำไมจึงสำคัญและจำเป็นที่ต้องบังคับใช้ระเบียบว่าด้วยการหักเงินเดือนปี 51? และทำไมเรื่องนี้ถึงเป็นหัวใจของการแก้ไขปัญหาหนี้ครู? อาจจะกล่าวได้ว่า ถ้ามีโอกาสเลือกทำมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครูได้เพียงเรื่องเดียว จะต้องเลือกทำเรื่องนี้
เพราะหนี้สินส่วนใหญ่กว่า 95% คือ หนี้สวัสดิการหักเงินเดือน และระเบียบฯปี 51 ถือเป็นข้อตกลงร่วมกันของ 3 ฝ่าย กล่าวคือ เจ้าหนี้ นายจ้าง และ ครู นั้น ถือเป็น ‘หัวใจ’ ของการเกิดขึ้นของสินเชื่อสวัสดิการหักเงินเดือน
ทั้งนี้ ระเบียบดังกล่าวได้วางกลไกที่สำคัญไว้ 3 ส่วน กล่าวคือ
-ครูต้องมีเงินเดือนสุทธิหลังจากจ่ายเจ้าหนี้ทุกรายไม่น้อยกว่า 30% ของเงินเดือน
-เจ้าหนี้ทุกรายจะสามารถเรียกเก็บหนี้จากเงินเดือน 70% ทั้งนี้ ในกรณีที่ค่างวดที่เจ้าหนี้ทุกรายเรียกเก็บมากกว่า 70% ของเงินเดือน ระเบียบกำหนดให้ งดหักเงินเดือน เพื่อบังคับให้เจ้าหนี้ทุกรายร่วมกันปรับโครงสร้างหนี้ให้ครูจนสามารถแบ่งเก็บหนี้จากเงินเดือน 70% ได้ และ
-การกู้ยืมของครูจะสอดคล้องกับศักยภาพ เพราะจะถูกควบคุมจากกติกาตามระเบียบ และไม่เกิดปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว
อย่างไรก็ดี แม้ระเบียบฉบับนี้บังคับใช้มานานกว่า 15 ปี รวมทั้งศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการตามระเบียบอย่างเคร่งครัด แต่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ‘ละเลย’ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ เพราะไม่มีโทษของการไม่ทำตามระเบียบ และขาดการระบุผู้ที่ต้องรับผิดชอบที่ชัดเจน
ขณะที่การละเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบฯ ปี 51 ได้สร้างผลกระทบที่กว้างไกลมากต่อครูในแทบทุกเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศไทยใน 3 มิติ คือ
ประการแรก ปัญหาวงจรอุบาทว์ของเงินเดือนคงเหลือ 30 ทิพย์ หรือ 30 เทียม ที่เงินเดือนที่ได้รับมาต้องนำไปจ่ายเจ้าอื่น เงินเดือนที่ได้รับมาไม่ใช่เงินเดือนสุทธิ หลังจากหักจ่ายเจ้าหนี้ทุกรายตามระเบียบ ทำใหครูเหลือเงินไม่พอในการดำรงชีวิต บางคนเหลือ 0 บาท และเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาทางการเงินอื่น ทั้งหนี้บัตรเครดิต หนี้นอกระบบ ทั้งนี้ คาดว่าอาจจะมีครูกว่าครึ่งหนึ่งที่กำลังเจอปัญหานี้
ประการที่สอง ปัญหาการกู้ยืมเกินศักยภาพ จนเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว จากการที่สำนักงานเขตพื้นที่ไม่ควบคุมเรื่องนี้ให้เป็นไปตามระเบียบ ปล่อยให้มีการเก็บหนี้ ‘หลังซองเงินเดือน’ รวมทั้งการไม่งดหักเงินเดือน ก็ทำให้ครูเสียโอกาสที่จะปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ทุกรายเพื่อจะไกล่เกลี่ยแก้ปัญหา
ประการที่สาม ปัญหาครูผู้กู้และผู้ค้ำประกันถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทั่วประเทศกว่า 5 หมื่นราย ที่ยังไม่สามารถ ไกล่เกลี่ยแก้ไขปัญหา การที่สำนักงานเขตพื้นที่ไม่งดหักเงินเดือนตามระเบียบฯ ทำให้การปรับโครงสร้างหนี้ที่จะช่วยให้เจ้าหนี้ทุกรายแบ่งเงินเดือน 70% ไม่เกิดขึ้น ในขณะที่สหกรณ์มักเป็นเจ้าหนี้รายเดียวที่หักเงินเดือน 70% ได้ เจ้าหนี้รายที่หักไม่ได้ จึงฟ้องร้องดำเนินคดี และผู้ค้ำประกันถูกดึงเข้ามาร่วมรับผิดชอบ
ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาการไม่มีโทษของการไม่ทำตามระเบียบ และขาดการระบุผู้ที่ต้องรับผิดชอบที่ชัดเจน (no penalty and no clear accountability) กระทรวงศึกษาธิการจำเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มเติมใน 4 ส่วน กล่าวคือ
ส่วนแรก กำหนดตัวบุคคลที่จะต้องรับผิดชอบ ซึ่งชัดเจนแล้วว่า คือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่รับผิดชอบเรื่องการจัดทำเงินเดือนของข้าราชการครูและกำหนดมาตรการลงโทษผู้ที่ละเว้นและไม่ดำเนินการตามระเบียบปี 51 จะต้องมีโทษด้านวินัย และจะมีผลต่อการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง
“ที่ผ่านมาพบว่าส่วนกลางของกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่รัฐมนตรี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ให้นโยบาย รวมทั้งมีหนังสือแจ้งย้ำไปที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาถึงแนวทางในการดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบว่าด้วยการหักเงินเดือน
แต่ปรากฏว่าผู้ที่เกี่ยวข้องเฉยเมยต่อปัญหาความเดือดร้อนของเพื่อนครู สาเหตุสำคัญ เพราะการไม่ดำเนินการไม่ได้สร้างผลกระทบใดๆ ดังนั้นจึงไม่รู้ว่าทำไมต้องดำเนินการ คำชี้แจงที่ครูที่เดือดร้อนมักได้รับจากสำนักงานเขตพื้นที่ คือ ยังไม่มีการสั่งการใดๆลงมา ทำมึนตาใสบนความเดือดร้อนของเพื่อนครูด้วยกัน”
ส่วนที่สอง วิธีการตรวจสอบว่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้ดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ พ.ศ.2551 หรือไม่ สามารถทำได้โดยให้กรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานที่จะช่วยสอบทานเรื่องนี้ เพราะปกติเมื่อสำนักงานเขตพื้นที่จัดทำเงินเดือนเรียบร้อยก็จะส่งข้อมูลไปที่กรมบัญชีกลาง เพื่อจ่ายเงินให้เจ้าหนี้
ถ้ากระทรวงศึกษาธิการต้องการที่บังคับใช้ระเบียบฯให้เกิดความเป็นธรรม จะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องที่จะยากเกินที่จะดำเนินการทันทีที่มีการสั่งจ่ายเงินเดือน สามารถที่จะขอให้กรมบัญชีกลางส่งรายชื่อครูที่ไม่ได้รับเงินเดือนตามระเบียบไปที่รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพิจารณาสั่งลงโทษผู้ที่จงใจละเลยไม่ทำหน้าที่ฯ
ส่วนที่สาม จัดให้มีการสุ่มตรวจสอบว่าผู้ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามระเบียบปี 51 หรือไม่ โดยการตรวจสอบต้องกำหนดให้บุคคลภายนอกที่น่าเชื่อถือ (ป.ป.ช. , สตง. และสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นต้น) เข้ามาร่วมตรวจสอบ เพราะปัจจุบันครูตกอยู่ในสถานะประหนึ่งทาสในเรือนเบี้ย ไม่กล้านำข้อเท็จจริงต่างๆมาเปิดเผย เพราะกลัวว่าจะได้รับผลกระทบ
ส่วนที่สี่ แจ้งให้ครูทราบเป็นการทั่วไปว่า กระทรวงศึกษาธิการได้จัดให้มีช่องทางส่วนกลางสำหรับครูที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากการที่เจ้าหน้าที่ไม่ทำตามระเบียบฯปี 51 ให้สามารถแจ้งเบาะแส และร้องเรียนเข้ามาได้โดยจะได้รับความคุ้มครองไม่ให้เดือดร้อนเหมือนที่ผ่านมา
“แม้ปัญหาหนี้สินครูจะซับซ้อนและเกี่ยวเนื่องกับหลายประเด็น แต่การทำให้กลไกของการจัดทำสินเชื่อสวัสดิการหักเงินเดือน สามารถทำงานได้ตามปกติอย่างที่ควรจะเป็น ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่สุด สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูถ้ามีโอกาสเลือกทำมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครูได้เพียงเรื่องเดียวจะต้องเลือกทำเรื่องนี้ (บังคับใช้ระเบียบฯปี 51)”
@ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ควบคุมไม่ให้ ‘ครู’ กู้ยืมเกินศักยภาพ
(2) ควบคุมการกู้ยืมไม่ให้เกินกว่าศักยภาพ
หนึ่งในสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และจะยังคงเป็นปัญหาสืบเนื่องต่อไปในอนาคตถ้าไม่มีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ การปล่อยให้ข้าราชการครูกู้ยืมจนเกินศักยภาพ หรือไม่อยู่ในวิสัยที่จะชำระหนี้คืนด้วยเงินเดือนที่จะได้รับ แต่ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ เห็นว่า “ธุระไม่ใช่” จึงไม่ได้ห้ามปราม ตักเตือน หรือทักท้วง
รวมทั้งยังยอมให้เจ้าหนี้กำหนดกติกาที่ไม่เป็นธรรม โดยดึงผู้ค้ำประกันมาเป็นแพะ ให้รับผิดชอบเสมือนหนึ่งเป็นผู้กู้ร่วม ในการกู้ยืมที่ตั้งแต่วันแรกเจ้าหนี้ทราบว่าผู้กู้จะไม่สามารถใช้หนี้คืนได้ สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ค้ำประกันที่บุคคลที่ 3 อย่างไม่เป็นธรรม ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการต้องดำเนินการ ดังนี้
ประการแรก กระทรวงศึกษาธิการจะต้องถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบควบคุมการกู้ยืมของครูที่จะเกิดขึ้น โดยการกู้ยืมจะต้องไม่เกินศักยภาพจนสร้างความเดือดร้อนในวงกว้างเหมือนในอดีตผ่านมา
ขณะที่สินเชื่อสวัสดิการที่นายจ้างจะอำนวยความสะดวกหักเงินเดือน ณ ที่จ่ายให้เจ้าหนี้ จะต้องเป็นสินเชื่อสวัสดิการที่นายจ้างจะต้องตรวจสอบแล้วเท่านั้นว่า อยู่ในศักยภาพที่ผู้กู้จะสามารถชำระหนี้คืนด้วยเงินเดือน คล้ายกับการสร้าง safety cut ตัวที่ 1 ให้เกิดขึ้นในบริบทการกู้ยืมของครู
ประการที่สอง ในการจัดให้มีสินเชื่อสวัสดิการหักเงินเดือน กระทรวงศึกษาธิการต้องกำหนดเป็นเกณฑ์คุณลักษณะจำเป็นของเจ้าหนี้ที่จะมาปล่อยกู้ว่า จำเป็นต้องเข้าเป็นสมาชิกของเครดิตบูโร เพราะไม่เช่นนั้นแทบที่จะเป็นไป ไม่ได้เลยที่จะทราบว่าการกู้ยืมของข้าราชการเป็นการกู้ยืมที่อยู่ในศักยภาพและวิสัยที่ผู้จะชำระคืนได้หรือไม่
“ที่ผ่านมาปัญหาการกู้ยืมเกินศักยภาพของข้าราชการและพนักงาน รัฐวิสาหกิจที่เกิดขึ้น ส่วนสำคัญเพราะในฐานข้อมูล กลางของเครดิตบูโรนั้น ยังขาดข้อมูลเครดิตของ ระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ จึงทำให้เจ้าหนี้อื่นจะไม่มีทางทราบได้เลยว่าสหกรณ์ได้ปล่อยสินเชื่อให้แก่ ข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจรายนั้นไปแล้วเท่าไร
ดังนั้น จึงถือเป็นมารยาท ตลอดจนเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของเจ้าหนี้ในระบบการเงินทุกราย ที่ต้องจัดให้มีฐานข้อมูลเครดิตที่ถูกต้องและได้มาตรฐาน เพื่อให้เจ้าหนี้รายอื่นตรวจสอบได้ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการกู้ยืมเกินศักยภาพ ถ้าเรื่องนี้ไม่สำเร็จหรือไม่เกิดขึ้น ก็ยากที่ระบบการเงินในภาพรวมจะมีเสถียรภาพในระยะยาว”
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการ เห็นว่า ในฐานะนายจ้างที่ทำหน้าที่หักเงินเดือนนำส่งให้เจ้าหนี้ทุกเดือน กระทรวง สามารถเจรจาให้เจ้าหนี้ที่จะมาขอใช้สิทธิพิเศษตัดเงินเดือน ให้ทบทวนมาตรการบริหารความเสี่ยงของสินเชื่อให้มีความสมเหตุสมผลและเป็นธรรมมากขึ้น
โดยเฉพาะหลังปรับปรุงยกระดับระบบการตัดจ่ายเงินเดือน ทั้งในมิติการควบคุมไม่ให้กู้เกินยอดหนี้ที่สามารถชำระคืนด้วยเงินเดือน การกำหนดกติกาการตัดจ่ายเงินเดือนให้ชัดเจน ความเสี่ยงของการปล่อยสินเชื่อสวัสดิการของครูจะลดลงอย่างมากในอนาคต
อีกทั้งพบว่าจริงๆ ครูมีรายได้ในอนาคตอยู่พอสมควร ถ้าสามารถสร้าง “ระบบหลักประกันการกู้ยืมกลาง” (central collateral registry) โดยใช้พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจที่มีผลบังคับใช้แล้ว ให้มีความชัดเจนและมั่นใจได้ ว่ารายได้ในอนาคตเหล่านี้สามารถนำมาชำระหนี้ได้ ก็จะทำให้สามารถยกเลิกข้อกำหนดที่ต้องระบุให้มีบุคคลค้ำประกัน ถ้าครูไม่ได้กู้เกินกว่าที่จะใช้คืนได้ด้วยเงินเดือน และทำให้สามารถลดค่าธรรมเนียมประกันที่ครูต้องจ่ายให้ลดลงได้
(3) การกำหนดให้ residual income เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยต้องมี Residual income 30% และต้องไม่น้อยกว่า 9,000 บาท
ทั่วประเทศมีครูที่ทำงานอยู่และเกษียณแล้วรวมทั้งสิ้นเกือบ 9 แสนคน การกำหนดกฎเกณฑ์ในลักษณะ one size fits all ให้ตอบโจทย์ครูกลุ่มต่างๆที่มีรายได้แตกต่างกันแทบเป็นไปไม่ได้เลย และเมื่อพิจารณาหลักมาตรฐานสากลที่ว่า มนุษย์แต่ละคนควรมีเงินเดือนที่เหลือไว้สำหรับการดำรงชีวิตและการออมไม่น้อยกว่า 40-50% ของเงินเดือน
ดังนั้น ในเรื่องนี้ กระทรวงศึกษาธิการสามารถที่จะกำหนดกฎเกณฑ์เพิ่มเติมว่า นอกจากจะต้องมีเงินเดือนเหลือสุทธิ 30% แล้ว อาจกำหนดให้คนที่เงินเดือนน้อยกว่า 30,000 บาท จะต้องมีเงินเหลือสำหรับดำรงชีพไม่น้อยกว่าเดือนละ 9,000 บาท หรือเฉลี่ยประมาณ 300 บาทต่อวัน เพื่อเป็น “กันชนชีวิต”
@ชงรื้อ‘ลำดับตัดชำระหนี้’-ตั้งเกณฑ์ค่างวด 30% ต้องนำไปตัด‘เงินต้น’
(4) การปรับปรุงข้อตกลงเรื่องลำดับการตัดชำระหนี้ให้เป็นธรรม
โดยกระทรวงศึกษาธิการจะต้องปรับปรุงลำดับการตัดชำระหนี้ให้เป็นธรรม โดยกระทรวงศึกษาธิการจำเป็นต้องวางหลักการที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
-เป้าหมายสำคัญของการชำระหนี้ คือ ยอดหนี้เงินต้นต้องปรับลดลงอย่างสมเหตุสมผล ไม่ใช่ลำดับการตัดชำระหนี้ในลักษณะที่ส่งผลให้ครูต้องจ่ายแต่ดอกเบี้ยโดยเงินต้นไม่ลดลงเลยเหมือนในอดีต
-ลำดับการตัดชำระหนี้เป็นขอ้ตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ ที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ ไม่ทำให้เจ้าหนี้ขาดทุน ในขณะเดียวกัน จะต้องไม่สร้างภาระแก่ลูกหนี้มากเกินสมควร
-สร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้ได้อย่างต่อเนื่องจนครบตามสัญญา
-หนี้ตามสัญญาของเจ้าหนี้ทุกรายจะต้องได้รับชำระหนี้ตามกฎหมายให้เรียบร้อยก่อนเป็นลำดับแรก
-การดำเนินการต้องโปร่งใส เปิดเผยข้อมูล และสามารถชี้แจง แยกแยะรายละเอียดให้ตรวจสอบได้
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการสามารถกำหนดเป็นแนวปฏิบัติสำหรับเจ้าหนี้ที่จะมาขอใช้สิทธิพิเศษให้หักเงินเดือน ณ ที่จ่ายนำส่ง ให้ปรับปรุงลำดับการตัดชำระหนี้ให้มีความเป็นธรรม ดังนี้
หนึ่ง สำหรับยอดเงินที่มีการเรียกเก็บในแต่ละเดือน เจ้าหนี้ทุกรายจะต้องแจกแจงรายละเอียด สิ่งที่เรียกเก็บมาให้ชัดเจน โปร่งใส ว่าประกอบด้วยรายการใดบ้าง เริ่มจาก (1) เงินต้น (2) ดอกเบี้ยตามสัญญา (3) ค่าซื้อหุ้นสหกรณ์ (4) ค่าธรรมเนียม (5) ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ไม่สามารถที่จะเรียกเก็บเป็นยอดเดียวแบบไม่แจกแจงรายละเอียด
สอง ในการตัดจ่ายเงินเดือน เจ้าหนี้ทุกรายจะต้องได้รับชำระหนี้ ในส่วนของค่างวดตามสัญญา ซึ่งประกอบด้วย “เงินต้นและดอกเบี้ยตามสัญญา” ก่อนเป็นลำดับแรก เมื่อ เจ้าหนี้ทุกรายได้รับชำระหนี้ในส่วนของค่างวดตามสัญญาครบถ้วนแล้ว ถ้าเงินเดือนของคุณครูยังมีคงเหลือ ตามระเบียบ กระทรวงศึกษาธิการจะตัดจ่ายในส่วนที่เหลือต่อไป
สาม ในส่วนค่างวดที่นำมาชำระหนี้ตามสัญญา เจ้าหนี้จะต้องสร้างความมั่นใจให้ผู้ที่เกี่ยวข้องว่า จะไม่เกิดปรากฏการณ์จ่ายแต่ดอกเบี้ย ไม่ตัดเงินต้น ที่ทำให้ครูตกอยู่ในวังวนหนี้สินเหมือนในอดีต โดยในแต่ละเดือน เจ้าหนี้จะต้องออกแบบให้ค่างวดที่เรียกเก็บ มีส่วนที่จะนำไปหัก “เงินต้น” ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30
“การปรับปรุงลำดับการตัดชำระหนี้ใน 3 ประเด็นข้างต้น จะทำให้มั่นใจว่า ทุกบาททุกสตางค์ที่ครูจ่ายชำระหนี้จะเข้ามามีส่วนช่วยให้ยอดหนี้เงินต้นลดลงอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นการปลดล็อกแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของการกู้ยืมของครู ซึ่งจะช่วยลดโอกาสที่ครูจะต้องผ่อนหนี้หลังเกษียณ และสามารถที่จะหมดหนี้ได้เร็วขึ้นกว่าเดิม”
@เปิดทุกรายเข้ามาแข่งขัน-เพิ่มทางเลือกสินเชื่อเงินกู้ ‘ดอกเบี้ยถูก’
(5) การเพิ่มทางเลือกการกู้ยืม เพื่อช่วยให้ครูได้รับดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูกลง
การที่จะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในการกู้ยืมของครูปรับลดลงไปสู่อัตราที่มีความเหมาะสม จะต้องทำให้ครูมีทางเลือก (choices) ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขัน (competition) ระหว่างเจ้าหนี้ที่ให้ครูกู้ยืม ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ครูได้รับปรับลดลงไปสู่อตราที่เหมาะสมในที่สุด โดยมีสิ่งที่ต้องทำ 3 เรื่อง
หนึ่ง การเปิดเผยให้ครูทราบถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศอย่างโปร่งใส เพื่อให้ครูทั่วประเทศได้ทราบว่า การกู้ยืมของตนถูกหรือแพงเมื่อ เทียบกับเพื่อนครูด้วยกันในจังหวัดอื่นๆ และนัยของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่างกันเป็นอย่างไร
สอง กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายที่ชัดเจนว่าต้องการที่จะช่วยเหลือและส่งเสริมให้ครูสามารถกู้ยืมกับเจ้าหนี้ที่ให้ข้อเสนอการกู้ยืมที่ดีและเป็นธรรมที่สุด และพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกในการตัดเงินเดือนนำส่งให้ ไม่ว่าเจ้าหนี้รายนั้นจะอยู่ที่ไหน และ
สาม กระทรวงศึกษาธิการต้องสร้าง ecosystem หรือบริบทของการกู้ยืมของครูให้มีเสถียรภาพและมั่นคง โดยมาตรการสำคัญที่ดำเนินการเพิ่มเติมในการแก้ไขปัญหาหนี้ครูในครั้งนี้ คือ การควบคุมยอดหนี้ที่ครูจะกู้ได้ ต้องไม่ให้เกินความสามารถที่จะชำระหนี้ด้วยเงินเดือน เมื่อมีการให้กู้เต็มยอดวงเงิน เจ้าหนี้อื่นจะไม่สามารถให้กู้ได้อีก ยกเว้นการกู้เพื่อ refinance หนี้เดิมที่จะช่วยให้ได้รับข้อเสนอการกู้ยืมที่ดีขึ้น
ขณะเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการเพื่อช่วยลดดอกเบี้ย คือ การประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยสวัสดิการของกระทรวงศึกษาฯ โดยหากเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยเงินกู้สูงกว่า จะไม่ได้รับการอำนวยความสะดวก ขณะที่การกำหนดให้ดอกเบี้ยเงินกู้สวัสดิการอยู่ในระดับที่เหมาะสมนั้น ถือเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของนายจ้าง
“ตัวอย่างเช่น ถ้ากระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สวัสดิการตัดเงินเดือน ของหน่วยงานให้เท่ากับ “อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าชั้นดีเฉลี่ยของสถาบนัการเงินขนาดใหญ่ที่สุด 5 แห่ง - 1.5” หรือ 6.47-1.5= 4.97 ต่อปี จะหมายความว่า กระทรวงศึกษาธิการจะอำนวยความสะดวกตัดเงินเดือนนำส่งให้เฉพาะเจ้าหนี้รายที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ถูกกำหนดไว้ไม่เกินอัตราดังกล่าว หรือ ไม่เกิน 4.97 ต่อปีเท่านั้น
สำหรับกรณีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงกว่านั้น ถือว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงเกินกว่าที่จะเป็นสินเชื่อสวัสดิการที่แท้จริง ซึ่งในกรณีดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการจะไม่อำนวยความสะดวกช่วยตัดเงินเดือนให้เหมือนที่ผ่านมา เพราะถือว่าไม่ใช่การทำสวัสดิการ กระทรวงศึกษาธิการจะจ่ายเงินเดือนให้ครูโดยจะไม่มีการหักชำระหนี้ และเจ้าหนี้จะต้องไปจัดเก็บหนี้กับครูเองโดยตรง”
(6) การแบ่งแยกบทบาทนายจ้างและเจ้าหนี้ออกจากกันให้ชัดเจน เพื่อให้เป็นไปตามไปหลักธรรมาภิบาลที่ดี
กระทรวงศึกษาธิการจะต้องประกาศกำหนดแนวปฏิบัติที่เป็นกฎเหล็กห้ามข้าราชการในส่วนงานที่มีหน้าที่ รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวข้องกับการจัดทำและหักจ่ายเงินเดือน ไม่ให้ไปดำรงตำแหน่งเป็นประธาน หรือ คณะกรรมการของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู และสถาบันการเงินที่ทำข้อตกลงสวัสดิการกับกระทรวงศึกษาธิการ
ทั้งนี้ เพื่อปรับปรุงบริบทการกู้ยืมของข้าราชการให้มีความโปร่งใส อยู่ภายใต้กรอบธรรมาภิบาลที่ดี มีการแบ่งแยกหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องที่อาจจะมีประเด็นความขัดแย้งด้านผลประโยชน์
อาทิ ผู้บริหารของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่รับผิดชอบในการจัดทำเงินเดือนให้ครู ไม่ควรเข้าไปนั่งเป็นผู้บริหาร หรือกรรมการของสหกรณ์ ออมทรัพย์ หรือสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ของครู ถ้าข้าราชการท่านใดต้องการที่จะเข้าไปทำงานที่สหกรณ์ ออมทรัพย์ก็ควรจะลาออกจากตำแหน่งงานที่ตนรับผิดชอบที่อยู่ในฐานะตัวแทนนายจ้างของครู
"เรื่องนี้จะถือเป็นก้าวแรกและก้าวที่สำคัญที่จะช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความชัดเจนในบทบาทที่ต้องทำ โดยเฉพาะบทบาทของนายจ้างที่จะเข้ามาช่วยครูแก้ไขปัญหาหนี้สินที่จะต้องมีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างตัวแทนนายจ้างกับเจ้าหนี้ ของครู”
@‘เจ้าหนี้’ต้องร่วมมือในการปล่อย ‘สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ-เป็นธรรม’
2.เจ้าหนี้ที่ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible and Fair Lenders)
เจ้าหนี้ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ถืออเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้สินทุกเรื่อง โดยที่ผ่านมาเมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้จ่ายหนี้ตามที่เคยตกลงกันไว้ไม่ได้ ผู้เกี่ยวข้องก็มักจะมาเพ่งโทษที่ลูกหนี้เป็นหลักว่าไม่ใช้หนี้ไม่มีวินัย ไม่รู้จักวางแผน ทางการเงิน
ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูก็เช่นเดียวกัน การแก้ไขในอดีตก็จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างอุปนิสัย ที่พึงประสงค์ให้ครูรู้จักประหยัดมัธยัสถ์รู้จักอดออม การด่วนสรุปว่าปัญหาเกิดจากฝั่งลูกหนี้เพียงอย่างเดียว ทำให้มองไม่เห็น “ความเป็นไปได้ในมุมอื่น” ที่ทำให้ลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ได้ อาทิ ข้อตกลงหรือสัญญากู้ยืมที่เจ้าหนี้กำหนดไว้อย่างไม่เป็นธรรม
การแก้ไขปัญหาหนี้สินที่ผ่านมาในหลายเรื่องชี้ให้เห็นตัวอย่างของการกู้ยืมที่ไม่เป็นธรรม ปัญหาการปล่อยกู้เกินศักยภาพที่เจ้าหนี้มีการกำหนดค่างวดที่ครูต้องจ่ายสูงกว่าเงินเดือนที่ครูจะได้รับ การกำหนดให้ผู้ค้ำประกันเข้ามารับผิดชอบในหนี้ที่เจ้าหนี้ก็ทราบตั้งแต่วันแรกว่าเกินศักยภาพที่ลูกหนี้จะชำระคืนได้
การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงเกินความเสี่ยงของสินเชื่อที่หักเงินเดือน (payroll credit) การกำหนดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ในอัตราที่สูงตามอำเภอใจ การคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และดอกเบี้ยพักชำระหนี้บนฐานของเงินต้นคงค้างทั้งหมด (loan outstanding) แทนที่จะคำนวณจากฐานของค่างวดที่ผิดนัด (installment) ตามข้อเท็จจริง
การกำหนดให้ค่างวดที่จ่ายชำระหนี้มีแต่ดอกเบี้ยไม่มี เงินต้น การกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้ที่เอาเงินต้นไว้ลำ ดับสุดท้าย ท้ให้แม้ลูกหนี้จะผ่อนหนี้มามากมาย เจ้าหนี้อาจนำไปตัดชำระแต่ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าหุ้นของสหกรณ์โดยที่อาจจะไม่นำไปตัด เงินต้นเลย
การบริหารความเสี่ยงสินเชื่อของเจ้าหนี้ที่สร้างภาระแก่ผู้กู้และผู้ค้ำประกันมากเกินสมควร การกำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นบุคคลที่ 3 ให้ต้องรับผิดเสมือนลูกหนี้ร่วม การกำหนดให้การกู้ยืมจะต้องทุนเรือนหุ้น ซึ่งทำให้ลูกหนี้ต้องกู้ยืมมากกว่าที่ตั้งใจคือต้องกู้มาซื้อหุ้นหรือกู้มาเป็นเงินฝาก
การกำหนดให้ลูกหนี้ต้องซื้อประกันที่สร้างภาระในกรณีที่ไม่จำเป็น ในขณะที่เจ้าหนี้ที่เป็นผู้รับประโยชน์จากการทำประกัน แทนที่จะช่วยออกกึ่งหนึ่งกลับผลักภาระทั้งหมดให้คนกู้
อายุความที่ปกติกำหนดไว้เพื่อควบคุมไม่ให้ลูกหนี้ต้องจ่ายดอกเบี้ยแบบไร้ลิมิต ก็พบว่ามีเจ้าหนี้ที่ฉ้อฉลนำคดีที่ขาดอายุความไปฟ้องเพราะทราบ ข้อจำกัดของศาลว่า กรณีที่ลูกหนี้ไม่มาศาลในวันพิจารณาคดีนั้น ศาลจะยกประเด็นนี้ขึ้นมาไม่ได้
เหล่านี้เป็นตัวอย่างของการกู้ยืมไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนไทย รวมทั้งครูด้วย ดังนั้น ในการแก้ปัญหาหนี้สิน จึงสำคัญมากที่จะต้องทำให้เจ้าหนี้ที่เกี่ยวข้องให้กู้ยืมอย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม
@เพิ่มทักษะทางเงินให้ ‘ครู’-คิดกลไกรับมือกลุ่มใกล้เกษียณอายุ
3.ครูที่มีวินัย มัธยัสถ์รู้จักออม รวมทั้งมีความรู้ทางเงิน โดยเฉพาะการเป็นหนี้ที่จะต้องเป็นหนี้อย่างฉลาด และเท่าทัน (A Discipled and Well informed Teacher)
ประการแรก การติดอาวุธให้ความรู้และทักษะทางการเงินแก่คุณครูโดยเฉพาะครูรุ่นใหม่
ปัจจัยที่มีความสำคัญยิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาหนี้สินของครู รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยในอนาคตอีก คือ คุณครูจะต้องมีความรู้และทักษะทางการเงิน โดยเฉพาะครูรุ่นใหม่ กระทรวงศึกษาธิการต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้โดยเฉพาะความรู้ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ครูตกอยู่ในวังวนปัญหาหนี้สิน
ในการนี้ กระทรวงศึกษาธิการควรจัดให้มี website กลาง ที่ครูจะสามารถเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของเจ้าหนี้แต่ละราย ค่าธรรมเนียมประกันต่างๆ ที่คุณครูต้องจ่าย รวมทั้งภาระที่ครูต้องหาผู้ค้ำประกันมาเพิ่มเติม ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ครูสามารถเปรียบเทียบและตัดสินใจเลือกข้อเสนอที่ดีที่สุด เป็นต้น
ประการที่สอง มาตรการเตรียมความพร้อมให้ครูที่จะเกษียณอายุ
ปัญหาของกลุ่มข้าราชการครูที่เกษียณอายุ ส่วนที่เป็นปัญหาสำคัญ คือ การที่รายได้โดยรวมปรับลดลงอย่าง มีนัยสำคัญหลังอายุ 60 ปี รายได้ในหลายส่วนจะหายไปเลยหลังเกษียณ อาทิ (1) เงินประจำตำแหน่ง (2) เงินวิทยฐานะ และ (3) ค่าเช่าบ้าน ในขณะที่เงินบำนาญที่จะได้รับหลังเกษียณก็จะลดลงเหลือไม่เกิน 70% ของเงินเดือน ก่อนเกษียณ
กระทรวงศึกษาธิการจำเป็นต้องคิดกลไกเพิ่มเติม ที่จะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านหลังเกษียณอายุเป็นไปได้อย่างราบรื่น จำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการเตรียมพร้อมสำหรับเกษียณอายุ ซึ่งควรจะเริ่มตั้งแต่ครูมีอายุ 50 หรือ 55 ปี เป็น อย่างช้า
@เสนอ 7 แนวทางหนุนให้เกิดการเจรจา ‘ไกล่เกลี่ยหนี้’ อย่างแท้จริง
4.การสร้างการไกล่เกลี่ยที่แท้จริงและมีความหมาย (Real and Meaning full Debt Mediation and Debt Restructuring)
ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู นอกจากจะต้องแก้ทั้งครู เจ้าหนี้ของครู และนายจ้าง อย่างเป็นองค์รวมแล้วคณะกรรมาธิการเห็นว่า ถ้ามองในภาพใหญ่ของประเทศจำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้องต้องช่วยกันขบคิดว่า ทำอย่างไรกระบวนการ ไกล่เกลี่ยที่เกิดขึ้นในทุกกระบวนการตั้งแต่ก่อนที่ลูกหนี้จะเป็นหนี้เสีย (Preemptive Debt Restructuring) กลายเป็น หนี้เสียแล้วแต่ยังไม่ฟ้อง เมื่อฟ้องศาลหรือ เมื่ออยู่ในชั้นบังคดีจะเป็น “การไกล่เกลี่ยที่แท้จริง”และ “มีความหมาย”
ขณะที่หลักคิดสำคัญของการไกล่เกลี่ยควรมีดังนี้
(1) ต้องพยายามที่จะให้ ผู้กู้จ่ายหนี้ของตนเองที่มีกับเจ้าหนี้ทุกรายให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อที่ว่าผู้ค้ำประกันจะไม่ต้องรับผิดชอบในหนี้ที่ไม่ได้ก่อ
(2) การไกล่เกลี่ยในครั้งนี้จะนำไปสู่ “สภาวะที่พึงปรารถนา” หรือ steady state ที่โจทย์ของเจ้าหนี้และโจทย์ของลูกหนี้ต้องได้รับการแก้ไขไปพร้อมๆ กัน กล่าวคือ เจ้าหนี้ทุกรายจะต้องสามารถที่จะจัดเก็บหนี้ได้จากเงินเดือน 70% ในขณะที่ลูกหนี้จะมีเงินเดือนสุทธิหลังจากชำระหนี้ไม่น้อยกว่า 30% สำหรับดำรงชีพ
(3) การที่ค่างวดที่เจ้าหนี้เรียกเก็บรวมกันสูงเกินเงินเดือน 70% สะท้อนว่าการปล่อยกู้ของเจ้าหนี้โดยรวมนั้นไม่ได้คำนึงถึงศักยภาพการจ่ายชำระหนี้ของลูกหนี้ จึงเป็น “ความรับผิดชอบร่วมกันของเจ้าหนี้ทุกราย” ที่จะต้องร่วมกันในการแก้ไขปัญหา
(4) ในกรณีที่เจ้าหนี้รายหนึ่งรายใดฟ้องร้องดำเนินคดีกับลูกหนี้ ท้ายที่สุดจะส่งผลกระทบถึงการรับชำระหนี้ที่ลูกหนี้มีกับเจ้าอื่นด้วยในที่สุด การฟ้องร้องดำเนินคดีจะเป็นแนวทางสุดท้าย (last resort) ที่ผู้เกี่ยวข้องจะเลือกดำเนินการ เพราะท้ายที่สุดแล้วจะไม่เป็นประโยชน์กับฝ่ายใดเลย
(5) นายจ้างจะต้องเข้ามาเป็น “คนกลางที่จะช่วยไกล่เกลี่ย” โดยกลไก “การงดหักเงินเดือนนำส่งให้เจ้าหนี้ทุกราย” จะทำให้เจ้าหนี้ยอมที่จะปรับโครงสร้างหนี้ และปรับลดค่างวดที่เรียกเก็บ เพราะการที่ไม่ได้รับความสะดวกจากนายจ้างที่จะหักเงินเดือนนำส่งหนี้ให้ถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่จะทำให้โอกาสที่ลูกหนี้จะผิดนัดชำระหนี้จะมีมากขึ้น
บทบาทของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีความสำคัญมาก โดยเฉพาะการต้องดำเนินการทุกอย่างตามระเบียบ ต้องมีการงดหักเงินเดือนอย่างถูกต้อง การไกล่เกลี่ยจึงจะเกิดขึ้น
(6) การที่จะต้องใช้กลไกการงดหักเงินเดือน เพราะตราบใดที่เจ้าหนี้ โดยเฉพาะสหกรณ์ฯ ยังคงเก็บหนี้จากการหักเงินเดือนได้เช่นเดิม ไม่มีเหตุผลที่จะยอมผ่อนปรน และส่งผลทำให้การไกล่เกลี่ยไม่สามารถเกิดขึ้นได้
(7) สหกรณ์ออมทรัพย์จะมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้การไกล่เกลี่ยแก้ไขปัญหาในภาพรวมเกิดขึ้นได้ เพราะสหกรณ์มักเป็นเจ้าหนี้ที่ได้รับเงินเดือน 70% ของครู และสหกรณ์ฯจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้รายอื่นเข้ามาแบ่งหักจากเงินเดือน 70% เพราะเป็นแหล่งรายได้เดียวที่ครูมีสำหรับชำระหนี้
ทั้งหมดนี้เป็นบางช่วงบางตอนของ ‘ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาหนี้สินครู’ ภายใต้รายงานผลการศึกษา เรื่อง ‘ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูบำนาญต่อวิกฤติหนี้ในปัจจุบัน’ ส่วนข้อเสนอดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติหรือไม่นั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ เจ้าหนี้ต่างๆ และครู ว่าจะร่วมกันผลักดันข้อเสนอเหล่านี้อย่างจริงจังหรือไม่?
อ่านรายงานฉบับเต็ม : ‘ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูบำนาญต่อวิกฤติหนี้ในปัจจุบัน’
อ่านประกอบ :
เปิดรายงานกมธ.(1) เจาะลึก 5 ปัญหาเชิงโครงสร้าง ‘หนี้ครู’ ต้นตอครูอาจต้องเป็นหนี้ไปจนตาย?
ขายบ้านจ่ายหนี้!ทุกข์‘ครู’ถูกสหกรณ์ฯหักเงินหน้าซองเหลือใช้ 900 บ.-จี้ศธ.บังคับใช้ระเบียบ
'ศธ.'จับมือพันธมิตรแก้หนี้ครู 1.4 ล้านล. เน้นปรับโครงสร้างฯ-หลังหักหนี้ต้องมีเงินใช้ 30%
ประโยชน์ทับซ้อน! ถ่วงแก้หนี้ครู จี้ลงโทษสหกรณ์ฯหักหนี้ผิดกม.-ลด'ดบ.เงินกู้สวัสดิการ'
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู (จบ) : คำเตือนถึงนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบละเลยปัญหา
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู (3) : พร้อมใจกันเปิดเผยสลิปเงินเดือนฟ้องสังคม
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู(2) : มหกรรมไกล่เกลี่ย’หนี้ครู’ผักชีโรยหน้า?
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู(1) : ต้องรื้อระบบการหักเงินเดือนของสวัสดิการ-สหกรณ์
‘เครือข่ายแก้หนี้ครูฯ’ จี้รัฐแก้ปมปล่อย‘เจ้าหนี้’หักเงินเดือน‘ครู’ จนเหลือเงินไม่พอใช้
กำแพงเพชรนำร่องแก้หนี้ครู ศธ.จ่อถอดบทเรียนขับเคลื่อนทั่วประเทศใน ต.ค.นี้
ศธ.ออกแนวปฏิบัติหักเงิน ช.พ.ค./ช.พ.ส. แก้หนี้ครู ย้ำต้องมีหนังสือยินยอม
กด 'ดอกเบี้ยกู้' ไม่เกิน 5%! ศธ.รุก 'แก้หนี้ครู' แนะคุม 'โบนัส' กก.สหกรณ์ฯลดต้นทุน
‘บอร์ดแก้หนี้ครูฯ’ กล่อมสหกรณ์ลดดอกเบี้ยกู้ คุมเพดานก่อหนี้-แก้ปมถูกฟ้องล้มละลาย