‘เครือข่ายภาคประชาสังคมแก้หนี้ครูฯ’ ออกจดหมายเปิดผนึกให้ ‘ครู’ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกหักเงินเดือน ณ ที่จ่าย จนเหลือเงินไม่พอใช้ โพสต์สลิปเงินเดือน หวังกระตุ้นรัฐแก้ปัญหา-ปฏิบัติตามระเบียบหักเงินเดือนฯ
.................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงครูทั่วประเทศ โดยขอให้พี่น้องเพื่อนครูที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ (residual income) จนไม่มีเงินเหลือเพียงพอดำรงชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรี โพสต์ข้อมูลสลิปเงินเดือนของตนเองดังกล่าว ผ่านช่องทาง social media
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการเข้ามาแก้ไขปัญหา และดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการหักเงินเดือนเพื่อการชำระหนี้สวัสดิการและสหกรณ์ปี 2551
สำหรับระเบียบว่าด้วยการหักเงินเดือนเพื่อการชำระหนี้สวัสดิการและสหกรณ์ปี 2551 ข้อ 7 ระบุว่า “ข้าราชการที่ประสงค์จะให้ส่วนราชการหักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญเพื่อชำระหนี้เงินกู้มีสิทธิ์ที่จะเลือกใช้สวัสดิการภายในส่วนราชการหรือสหกรณ์ได้ตามความประสงค์ แต่ทั้งนี้ การจะให้ส่วนราชการหักเงิน ณ ที่จ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้นั้น จะต้องมีเงินเดือนสุทธิหลังหักจากหักชำระหนี้ แล้วไม่น้อยกว่าอัตราดังต่อไปนี้
(1) ร้อยละ 10 ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2551
(2) ร้อยละ 15 ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2552
(3) ร้อยละ 20 ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2553
(4) ร้อยละ 25 ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2554
(5) ร้อยละ 30 ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2555
ในกรณีที่ไม่เป็นตามหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง ให้ส่วนราชการผู้เบิกงดหักเงินจนกว่าจะมีการดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง”
เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ระบุด้วยว่า แม้ว่าครูจะมีหนี้สิน แต่ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคนที่จะมีเงินเหลือไว้เพื่อใช้จ่ายดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี แต่ที่ผ่านมากลับพบว่าในทุกเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เงินเดือนที่ครูควรจะได้รับไม่น้อยกว่า 30% ของเงินเดือนนั้น ครูจำนวนไม่น้อยถูกหักเงินเดือน ณ ที่จ่าย เพื่อนำไปจ่ายเจ้าหนี้ จนไม่มีเงินเดือนเหลือพอกิน บางรายเหลือเงินหลักร้อย/เดือน และบางรายเหลือเหลือเงินน้อยกว่า 10 บาท/วัน
“ปัญหาครูเหลือเงินเดือน 30% ทิพย์ หรือ 30% เทียม เพราะมีการหักหนี้เพื่อนำไปจ่ายเจ้าหนี้ ทำให้ครูจำนวนไม่น้อยเหลือเงินเพียงไม่กี่ร้อยบาทในแต่ละเดือน บางรายเหลือ 10 บาทต่อวัน และทำให้ครูต้องไปพึ่งพาหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และหนี้นอกระบบ ซึ่งส่งผลกระทบที่กว้างไกลมาก ทำให้ครูไม่สามารถใช้ชีวิตและดำรงตนได้อย่างเป็นปกติ และเป็นเหตุที่บั่นทอนศักยภาพ ทำให้ครูไม่สามารถทำหน้าที่แม่พิมพ์ของชาติได้อย่างที่สังคมคาดหวัง” เครือข่ายฯระบุ
เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ชี้ถึงสาเหตุที่ทำให้ครูเป็นหนี้สินและถูกหักหนี้ ณ ที่จ่ายจนเหลือเงินไม่ถึง 30% ว่า มาจากความสัมพันธ์ที่เกี่ยวโยงกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการในฐานะนายจ้างของครู และเจ้าหนี้ต่างๆ เช่น การที่นายจ้าง คือ กระทรวงศึกษาธิการ ยอมให้เจ้าหนี้ตัดเงินเดือนครูที่เป็นหนี้ได้ จนครูไม่เหลือเงินเพียงพอในการดำรงชีพ ,การปล่อยให้เจ้าหนี้กำหนดลำดับการตัดหนี้ตามอำเภอใจ โดยกำหนดให้ตัดเงินต้นไว้ท้ายสุด
การไม่ห้ามปรามและให้ครูกู้ยืมเงินจนเกินศักยภาพในการชำระหนี้ และการอำนวยความสะดวกให้เจ้าหนี้ตัดเงินเดือนครูลูกหนี้ โดยไม่ได้พิจารณาว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แพงเกินกว่าสินเชื่อสวัสดิการฯหรือไม่ นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาในหลายพื้นที่ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูด้วย จึงมุ่งแต่ทำกำไรให้กับสหกรณ์เพื่อที่จะได้เงินปันผลเพิ่มขึ้น และไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือครูที่มีปัญหาหนี้สิน
เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ยังเรียกร้องให้สหกรณ์ฯและสถาบันการเงินปล่อยเงินให้กับครูด้วยความรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible and fair lenders) ที่สำคัญเจ้าหนี้ทุกรายต้องทบทวนปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เก็บจากครูให้อยู่ในระดับต่ำ ไม่แพง ผ่อนปรน และให้เหมาะสมกับที่เป็นสินเชื่อสวัสดิการหักเงินเดือนที่มีความเสี่ยงต่ำ รวมทั้งต้องเลิกการบังคับให้ซื้อประกันสินเชื่อ ซึ่งสร้างภาระเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็น
นอกจากนี้ ต้องมีการปรับปรุงการตัดชำระหนี้ให้มีความเป็นธรรม โดยเงินทุกบาทที่ครูจ่ายหนี้จะต้องมีผลทำให้เงินต้นลดลง และต้องปรับปรุงแนวปฏิบัติเกี่ยวกับผู้ค้ำประกันให้ถูกต้องตามกฎหมาย และถูกธรรมนองคลองธรรม คือ จะต้องไม่ผลักภาระให้ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชอบเสมือนผู้กู้ร่วม ขณะที่เจ้าหนี้จะต้องดำเนินการติดตามหนี้กับผู้กู้จนถึงที่สุดก่อน ไม่ใช่ฟ้องร้องผู้กู้และผู้ค้ำประกันไปพร้อมกัน เป็นต้น
อ่านประกอบ :
กำแพงเพชรนำร่องแก้หนี้ครู ศธ.จ่อถอดบทเรียนขับเคลื่อนทั่วประเทศใน ต.ค.นี้
ศธ.ออกแนวปฏิบัติหักเงิน ช.พ.ค./ช.พ.ส. แก้หนี้ครู ย้ำต้องมีหนังสือยินยอม
กด 'ดอกเบี้ยกู้' ไม่เกิน 5%! ศธ.รุก 'แก้หนี้ครู' แนะคุม 'โบนัส' กก.สหกรณ์ฯลดต้นทุน
‘บอร์ดแก้หนี้ครูฯ’ กล่อมสหกรณ์ลดดอกเบี้ยกู้ คุมเพดานก่อหนี้-แก้ปมถูกฟ้องล้มละลาย
กางปัญหา 'หนี้สินครู' เจาะสาเหตุ 3 ประเด็นที่ทำให้เป็นเรื่องเรื้อรังแก้ไม่จบ