"...สินเชื่อสวัสดิการที่นายจ้างหักเงินเดือนนำส่งให้เจ้าหนี้ทุกเดือน ถือเป็นหนึ่งในสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดอันหนึ่งของระบบการเงิน ซึ่งโดยหลักการแล้ว สินเชื่อสวัสดิการจะต้องเป็นสินเชื่อที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในระดับต่ำ ไม่สูง รวมทั้งต้องเป็นอัตราที่ต่ำกว่าอัตราในตลาดทั่วไป แต่อย่างไรก็ดี พบว่าเจ้าหนี้ของครูทั้งสถาบันการเงินและสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้สูงต่ำแตกต่างกัน สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 4-9 ต่อปี ในขณะที่ฝั่งสถาบันการเงิน ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารกรุงไทย คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ร้อยละ 4-12 ต่อปี..."
ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้เริ่มโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรการศึกษาตั้งแต่ต้นปี 2564 และมีการจัดตั้งสถานีแก้หนี้กว่า 583 แห่งทั่วประเทศ โครงการดังกล่าวได้สร้างความหวังให้แก่ครูทั่วประเทศว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างของการกู้ยืมของครูในหลายมิติจะได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาเชิงโครงสร้างใน 2 มิติที่สำคัญ
ปัญหาเชิงโครงสร้างเรื่องที่ 1 การที่เงินเดือนในแต่ละเดือนหลังจากที่หักชำระหนี้แก่เจ้าหนี้สวัสดิการและสหกรณ์ออมทรัพย์ครูแล้ว เหลือไม่เพียงพอที่ครูจะใช้ดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี กล่าวคือ เหลือน้อยกว่าร้อยละ 30 ของเงินเดือน ไม่สอดคลัองกับระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้สวัสดิการและสหกรณ์ปี พ.ศ.2551 และขัดกับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่สร้างความเดือดร้อนในวงกว้าง
ปัญหาเชิงโครงสร้างเรื่องที่ 2 การที่ยอดหนี้ที่เจ้าหนี้สวัสดิการและสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเรียกเก็บรวมกันแล้วจะมากกว่าเงินเดือนร้อยละ 70 ที่ครูได้รับในแต่ละเดือน ซึ่งในอีกด้านหนึ่งหมายความว่าเงินเดือนสุทธิหลังจากหักชำระหนี้จะเหลือน้อยกว่าร้อยละ 30 ซึ่งตามระเบียบฯ ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องงดการหักเงินเดือน ณ ที่จ่ายให้แก่เจ้าหนี้ทุกรายเพื่อให้กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดจำนวนค่างวดที่เจ้าหนี้ทุกรายเรียกเก็บให้เหลือไม่เกิน 70% ของเงินเดือนจะได้เกิดขึ้น ซึ่งปรากฏว่าผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบฯ ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์เงินเดือนคงเหลือ “30%ทิพย์ หรือ 30%ปลอม” ที่ครูจะต้องนำเงินที่ได้รับไปจ่ายหนี้แก่เจ้าหนี้รายที่หักเงินเดือนไม่ได้ สุดท้ายทำให้ครูแทบเหลือเงินไม่พอที่จะใช้จ่ายดำรงชีพ ส่วนเจ้าหนี้ที่ไม่ได้รับชำระหนี้ตามที่ได้เคยทำข้อตกลงไว้กับกระทรวงศึกษาธิการก็ฟ้องร้องดำเนินคดีกับครูผู้กู้และผู้ค้ำประกันรวมกันหลายหมื่นรายทั่วประเทศ ซึ่งจากการประเมินคิดว่าจะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นราย
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สวัสดิการหักเงินเดือนข้าราชการ ดอกเบี้ยแพงแม้ความเสี่ยงต่ำ
สินเชื่อสวัสดิการที่นายจ้างหักเงินเดือนนำส่งให้เจ้าหนี้ทุกเดือน ถือเป็นหนึ่งในสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดอันหนึ่งของระบบการเงิน ซึ่งโดยหลักการแล้ว สินเชื่อสวัสดิการจะต้องเป็นสินเชื่อที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในระดับต่ำ ไม่สูง รวมทั้งต้องเป็นอัตราที่ต่ำกว่าอัตราในตลาดทั่วไป แต่อย่างไรก็ดี พบว่าเจ้าหนี้ของครูทั้งสถาบันการเงินและสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้สูงต่ำแตกต่างกัน สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 4-9 ต่อปี ในขณะที่ฝั่งสถาบันการเงิน ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารกรุงไทย คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ร้อยละ 4-12 ต่อปี
ถ้าพิจารณาในรายละเอียดของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 108 แห่ง พบว่าที่คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำกว่า < 5% ต่อปี มี 7 แห่ง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 5-6% ต่อปี มี 60 แห่ง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 6-7% ต่อปี มี 28 แห่ง และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ > 7% ต่อปี มี 10 แห่ง ในภาพรวมนับว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอยู่ในระดับสูงเมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยง และอาจจะสูงเกินกว่าที่จะเรียกว่า “สินเชื่อสวัสดิการที่แท้จริง” กล่าวคือ ถ้าไปกู้เองในตลาดสินเชื่อภายนอกอาจจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่า
แม้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูจะมีเจตนารมณ์ตั้งแต่ก่อตั้ง ในการที่จะช่วยให้สมาชิกสามารถที่จะกู้ยืมสินเชื่อสวัสดิการได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ไม่แพง มีความผ่อนปรน
แต่ก็ยากที่จะปฏิเสธว่า การดำเนินการของสหกรณ์ที่ผ่านมาอาจจะไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการก่อตั้ง ถ้าพิจารณาดูจากการหาเสียงของการคัดเลือกกรรมการ พบว่ามีสหกรณ์เพียงไม่กี่แห่ง ที่กรรมการมีนโยบายมุ่งหวังให้สมาชิกได้รับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูก แต่ส่วนใหญ่กลับเน้นผลกำไร ตลอดจนมุ่งให้เงินปันผลในระดับที่สูง แต่ละปีระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ครูมีกำไรมากกว่าปีละ 3 หมื่นล้านบาท ในขณะที่สมาชิกครูผู้กู้ ซึ่งถือเป็นผู้มีอุปการคุณสูงสุด เพราะรายได้มากกว่า 95% มาจากดอกเบี้ยเงินกู้ ประสบความเดือดร้อนในวงกว้าง มีเงินเดือนเหลือไม่พอดำรงชีพ
แต่ละปีระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ครูมีกำไรมากกว่าปีละ 3 หมื่นล้านบาท ในขณะที่สมาชิกครูผู้กู้ ซึ่งถือเป็นผู้มีอุปการคุณสูงสุด เพราะรายได้มากกว่า 95% มาจากดอกเบี้ยเงินกู้ ประสบความเดือดร้อนในวงกว้าง มีเงินเดือนเหลือไม่พอดำรงชีพ
นอกจากภาระดอกเบี้ยเงินกู้แล้ว ยังพบว่าการบริหารความเสี่ยงด้านสินเชื่อของเจ้าหนี้ของครู ได้สร้างภาระเพิ่มเติมอย่างไม่จำเป็นรวมทั้งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ครูในหลายมิติ
[1] ผู้ค้ำประกันที่มักจะถูกผูกมัดให้รับผิดชอบอย่างไม่เป็นธรรมเช่นเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือผู้กู้ร่วม ซึ่งตาม ปพพ. ที่แก้ไขใหม่ข้อความในลักษณะดังกล่าวต้องเป็นโมฆะ แม้แต่สัญญาที่ทำก่อนหน้านั้นก็เข้าข่ายสัญญาที่ไม่เป็นธรรม อีกทั้งการที่เจ้าหนี้ฟ้องผู้กู้กับผู้ค้ำประกันพร้อมกัน ถือว่าฟ้องโดยยังไม่ได้ไล่เบี้ยลูกหนี้อย่างถึงที่สุด ผู้ค้ำประกันควรใช้สิทธิเกี่ยงให้ไปไล่เบี้ยกับคนกู้ก่อน
[2] การที่สหกรณ์กำหนดให้การกู้ยืม ลูกหนี้จะต้องมีหุ้นสหกรณ์จำนวนหนึ่ง เช่น 20% ข้อกำหนดในลักษณะดังกล่าวสร้างภาระให้ผู้กู้ต้องกู้ยืมหรือมีหนี้มากกว่าที่ควร เช่นถ้าต้องการกู้ 1 ล้านบาท สุดท้ายจะต้องมีหนี้ไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านบาท เป็นต้น
[3] การต้องซื้อประกันสินเชื่อที่เจ้าหนี้เป็นผู้รับผลประโยชน์ เรื่องนี้โดยหลักการแล้วจะไม่สามารถบังคับลูกหนี้ได้ ควรจะเป็นแค่ทางเลือกเท่านั้น ที่สำคัญคือ ถ้าเจ้าหนี้เป็นผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์จากเรื่องนี้ เจ้าหนี้ควรจะช่วยออกถ้าในกรณีมีค่าใช้จ่าย อาทิครึ่งหนึ่ง