“…ชีวิตจริงของครูรายหนึ่ง ที่เริ่มต้นกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูแห่งหนึ่งในวงเงิน 4 ล้านบาท มีการผ่อนชำระมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 42 ปีที่ผ่านมา ถ้านับเม็ดเงินที่ครูรายนี้ได้ผ่อนจ่ายมารวม เป็นเงินมากกว่า 10 ล้านบาท แต่ลำดับการตัดชำระหนี้ที่เอาเงินต้นไว้ลำดับสุดท้าย เงินที่ครูจ่ายมาส่วนใหญ่ จึงถูกนำไปตัดดอกเบี้ยเป็นส่วนใหญ่ ตัดเงินต้นน้อย วันนี้ครูรายนี้ ซึ่งปัจจุบันอายุ 67 ปี ยังค้างชำระหนี้เงินต้นอยู่ที่ 3 ล้านบาท….”
.....................................
แม้ว่าในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลชุดต่างๆได้เดินหน้าแก้ปัญหา ‘หนี้สินครู’ อย่างจริงจัง
ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ครูได้ชำระหนี้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือการรวมหนี้ครูมาไว้ที่สถาบันการเงินแห่งเดียว การกำหนดมาตรการให้ครูสามารถผ่อนชำระหนี้ในอัตราที่เหมาะสม เช่น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ครู และการสร้างความรู้ สร้างวินัยในการบริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
แต่ทว่าจนถึงปัจจุบัน ‘ครูและบุคลากรทางการศึกษา’ หลายแสนราย มีหนี้สินพอกพูนขึ้น (ข้อมูล ณ ปี 2565 ครู 9 แสนคนทั่วประเทศ มีหนี้รวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท) มีภาระผ่อนต้องผ่อนชำระหนี้รายเดือนในระดับสูง กระทั่งบางรายมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ และต้องหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ จนส่งผลกระทบต่อ ‘คุณภาพการสอน’ ในที่สุด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเดือน มี.ค.2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดทำรายงาน ‘ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูบำนาญต่อวิกฤติหนี้ในปัจจุบัน’ โดยรายงานฉบับนี้ได้นำเสนอ ‘ปัญหาเชิงโครงสร้างของหนี้ครู’ 5 ด้าน มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@เจ้าหนี้แข่งขันปล่อยกู้ ‘ครู’ จนเกินศักยภาพในจ่ายหนี้รายเดือน
ปัญหาเชิงโครงสร้างข้อที่ 1 ปัญหาเจ้าหนี้แข่งขันกันให้กู้ยืมโดยไม่ควบคุมยอดหนี้ ซึ่งส่งผลให้ครูกู้ยืมจนเกินศักยภาพที่จะจ่ายหนี้คืนได้จากเงินเดือน
แน่นอนว่าการที่ครูกำลังเผชิญปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว ส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากครูมีความต้องการที่จะจับจ่ายใช้สอยจึงไปกู้ยืม แต่อีกด้านที่อาจจะไม่ถูกพูดถึงกันมากนัก
คือ พฤติกรรมการปล่อยสินเชื่อของเจ้าหนี้ ซึ่งนับตั้งแต่ครูเริ่มทำงานวันแรก เจ้าหนี้พร้อมปล่อยเงินกู้ให้ครูทันทีจำนวนสูงนับล้านบาทได้ โดยไม่ต้องพิจารณาศักยภาพหรือรายได้เลย หลายแห่งไม่มีการกำหนดลิมิตวงเงินสูงสุดที่ครูจะกู้ได้
ขณะที่เจ้าหนี้จะปิดความเสี่ยงการให้สินเชื่อของตนเองด้วยการกำหนดให้ต้องมีผู้ค้ำประกัน 3-4 คนบ้าง หรือบางกรณีสูงนับ 10 คน ซึ่งยากที่จะปฏิเสธว่าข้อกำหนดเรื่องผู้ค้ำประกัน แท้จริงก็คือการโอนความเสี่ยงไปให้บุคคลที่สามที่อาจไม่ได้ประโยชน์จากเงินกู้ แต่ถูกผูกเงื่อนไขไว้ในสัญญาอย่างไม่เป็นธรรมให้ต้องรับผิดชอบอย่างลูกหนี้ร่วม
“ข้อมูลการสำรวจวงเงินที่ให้กู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 89 แห่ง พบว่าค่าเฉลี่ยวงเงินกู้ต่อรายสูงถึง 4 ล้านบาท มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูถึง 9 แห่ง ที่ไม่มีการกำหนดเพดานสูงสุดของเงินที่ให้กู้ มีสหกรณ์ 19 แห่งที่มีวงเงินกู้สูงสุดที่ 5 ล้านบาท ขณะที่ฝั่งสถาบันการเงินก็พร้อมที่จะให้สินเชื่อสวัสดิการ เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อพัฒนาชีวิตครู สินเชื่อ ช.พ.ค.
ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเจ้าหนี้ต่างหมายปองสินเชื่อสวัสดิการที่หักเงินเดือน เนื่องจากเห็นว่าเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำ (low default risks) นายจ้างหรือกระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นผู้ทำหน้าที่ หักเงินเดือนเพื่อจ่ายหนี้แก่เจ้าหนี้เป็นประจำทุกเดือน (collection) และสินเชื่อหักเงินเดือนหน้าซองของครู ถือเป็นสินเชื่อหักเงินเดือน กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย”
นอกจากนี้ การที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูได้รับสิทธิการตัดเงินเดือนก่อนเป็นกล่มุแรก ประกอบกับเมื่อไม่มีการควบคุมยอดหนี้ที่ครูจะสามารถกู้ได้ ทำให้การพิจารณาสินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูในช่วงที่ผ่านมานั้น มีการอนุมัติให้กู้จะค่อนข้างง่าย โดยที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูไม่ได้สนใจว่าครูจะมีการกู้ยืมกับสถาบันการเงินอยู่ก่อนหน้าแล้วจำนวนเท่าใด
“มีหลายกรณีที่ครูมีการกู้ยืมกับสถาบันการเงินอยู่ก่อนแล้ว แต่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูก็ให้สินเชื่อเพิ่มเติมโดยไม่ได้พิจารณาในภาพรวมว่า การกู้ยืมดังกล่าวเกินกว่าศักยภาพของครูที่จะจ่ายชำระหนี้คืนด้วยเงินเดือน เพราะคิดว่าท้ายที่สุดแล้วจะยังสามารถจัดเก็บหนี้ได้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น
ในขณะที่เจ้าหนี้อื่น ก็ไม่ทราบว่าเจ้าหนี้สหกรณ์นั้น ได้ปล่อยกู้ให้ครูหรือไม่เป็นจำนวนเท่าไร เพราะปัจจุบันสหกรณ์ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสมาชิกของเครดิตบูโร เมื่อสถาบันการเงินปล่อยกู้ จึงไม่รู้ว่าสหกรณ์ได้ปล่อยกู้แก่ข้าราชการครูรายนั้นสักเท่าไร
ทั้งนี้ โดยหลักการแล้ว ในระบบการเงินที่มีเจ้าหนี้ที่ให้กู้ยืมจำนวนหลายราย การที่จะทราบว่าการกู้ยืมที่จะให้เพิ่มเติมนั้น เกินกว่าศักยภาพที่ลูกหนี้จะกู้ได้หรือไม่ เจ้าหนี้ที่จะให้กู้จะต้องทราบว่าเจ้าหนี้รายอื่นในระบบการเงินนั้น ได้ปล่อยกู้ให้ลูกหนี้รายนั้นไปแล้วเป็นจำนวนเงินมากน้อยเพียงใด”
ดังนั้น การที่ครูมีหนี้สินล้นพ้นตัว ปัญหานั้นไม่ได้มาจากฝั่งลูกหนี้อย่างเดียว แต่มาจากการที่เจ้าหนี้ไม่ได้สนใจพิจารณาว่า การให้กู้ยืมนั้นสอดคล้องกับศักยภาพหรือไม่ด้วย ขณะที่การกู้ยืมที่เกินศักยภาพของครูนั้น ส่วนหนึ่งเพราะสหกรณ์ยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกของเครดิตบูโร ทำให้การพิจารณาภาพรวมการให้กู้ยืมของเจ้าหนี้ทุกรายเกิดขึ้นไม่ได้
@สหกรณ์ออมทรัพย์ ‘เจ้าหนี้’ ปิดความเสี่ยงโดยเพิ่มภาระให้ครู
การบริหารความเสี่ยงสินเชื่อของเจ้าหนี้ที่สร้างภาระให้ครูเพิ่มเติม
สำหรับเจ้าหนี้ที่ให้กู้ยืมนั้น การบริหารความเสี่ยงด้านสินเชื่อถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้กรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ตามที่ตกลงกันนั้น ส่งผลกระทบน้อยหรืออยู่ในวงจำกัด แต่อย่างไรก็ดี การบริหารความเสี่ยงสินเชื่อของเจ้าหนี้ก็อาจจะสร้างภาระเพิ่มเติมอย่างไม่สมเหตุสมผลหรือมากเกินสมควร
เช่น สินเชื่อสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. กรณีที่กู้เงิน 6 แสนบาท กรณีที่มีการทำประกันสินเชื่อจะต้องมีผู้ค้ำประกัน 1 คน และกรณีที่ไม่มีการทำประกันสินเชื่อจะต้องมีผู้ค้ำประกัน 2 คน ในขณะที่กู้เงิน 3 ล้านบาท กรณีที่มีการทำประกันสินเชื่อ จะต้องมีผู้ค้ำประกัน 3 คน แต่ถ้าไม่ทำประกันสินเชื่อจะต้องมีผู้ค้ำประกัน 10 คน
ขณะเดียวกัน การที่กำหนดให้มีผู้ค้ำประกัน ทำให้สินเชื่อสวัสดิการหักเงินเดือนกลายเป็น “สินเชื่อเพื่อความแตกแยก” เพราะเมื่อลูกหนี้มีปัญหาจ่ายหนี้ไม่ได้ ทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างลูกหนี้กับผู้ค้ำประกัน หรือระหว่างผู้ค้ำประกันด้วยกันเอง
นอกจากนี้ ผู้ค้ำประกันที่ความรู้น้อยและไม่รู้สิทธิของตน มักจะถูกเจ้าหนี้ผูกมัดด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรม ต้องรับผิดเสมือนหนึ่งผู้กู้ร่วม แม้จะไม่ได้ประโยชน์จากเงินกู้เลย และแม้กฎหมายกำหนดให้ต้องไล่เบี้ยผู้กู้ก่อน
“ตัวอย่างจริงของครูที่กู้ยืมจากสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งหนึ่งในภาคใต้ ลูกหนี้กู้ยืมจากสหกรณ์ออมทรัพย์ 2.4 ล้านบาท สหกรณ์กำหนดให้มีผู้ค้ำประกันรวม 6 คน โดยอธิบายว่าแต่ละคนมีความสามารถที่จะรับผิดชอบหนี้ 4 แสนบาท
การกู้ยืมดำเนินผ่านกาลเวลามา 15 ปี ผู้กู้มีปัญหาที่จ่ายเงินกู้ไม่ได้ เนื่องจากค่างวดที่สหกรณ์กำหนดไว้เป็นแบบขั้นบันไดและได้ปรับสูงขึ้นกว่าเงินเดือนที่ครูผู้กู้ได้รับ ปรากฏว่าผู้ค้ำประกัน 5 จาก 6 คนทยอยเสียชีวิต ปัจจุบันเหลือครูคนสุดท้ายรายเดียวที่เป็นผู้ค้ำประกัน สหกรณ์ออมทรัพย์อ้างว่าสัญญานั้นเกิดขึ้นก่อนการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในปี 2558 ผู้ค้ำประกันถูกฟ้อง และศาลพิพากษาให้ต้องรับผิดชอบหนี้ทั้งก้อน
ทั้งนี้ ในระหว่างที่ผ่อนจ่ายหนี้ ผู้กู้ได้ทำการกู้ยืมกับสหกรณ์เพิ่ม 1 ล้านบาท ผู้ค้ำประกันก็ถูกเรียกให้ต้องรับภาระในส่วนนี้ด้วย แม้จะไม่ได้ตกลงว่าจะค้ำประกันส่วนนี้ด้วย แต่ต้องรับผิดชอบเสมือนหนึ่งผู้กู้ร่วม
ทุกวันนี้ผู้ค้ำประกันได้จ่ายเม็ดเงินให้สหกรณ์ไปแล้วเกือบ 1 ล้านบาท แต่สหกรณ์ยังเรียกร้องให้ต้องจ่ายหนี้อีกเกือบ 2 ล้านบาท หนี้ที่จ่ายถูกนำไปตัดชำระหนี้ในส่วนของดอกเบี้ย ในขณะที่ผู้กู้ก็ยังผ่อนจ่ายหนี้แก่สหกรณ์ตามความสามารถไม่ได้หนีหายไปไหน
วันนี้ครูผู้ค้ำประกัน ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญรายนี้อายุ 70 ปี เธอไม่คิดว่าในวัยเช่นนี้ต้องมาเจอกับ “อุบัติเหตุของชีวิต” ที่ชีวิตต้องพลิกผันทำให้ตกอยู่สภาวะที่ยากลำบาก ต้องมายุ่งเกี่ยวกับสัญญากู้ยืมที่ไม่เป็นธรรม”
นอกจากประเด็นผู้ค้ำประกันแล้ว พบว่าเจ้าหนี้ยังมีการบริหาร ความเสี่ยงของการให้สินเชื่อที่สร้างภาระแก่ผู้กู้อย่างไม่เป็นธรรมในอีกหลายมิติ อาทิ
1.แม้ว่าสินเชื่อสวัสดิการหักเงินเดือน โดยรวมมีความเสี่ยงต่ำไม่เกิน 1% เจ้าหนี้กลับมีข้อกำหนดในลักษณะกึ่งบังคับให้ข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจต้องซื้อประกันสินเชื่อ หรือทำฌาปนกิจสงเคราะห์ โดยกำหนดว่าเรื่องนี้จะเป็นหนึ่งในปัจจัยมีผลต่อการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ
เรื่องนี้สร้างภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมแก่ผู้กู้อย่างไม่เป็นธรรม เช่น การกู้ยืม 3 ล้านบาท ภาระค่าเบี้ยประกันสินเชื่อ จะอยู่ที่ 2-3 หมื่นบาทต่อปี ซึ่งจริงๆ แล้ว ถ้าผู้ได้รับประโยชน์ คือ เจ้าหนี้ เจ้าหนี้นั้นควรจะช่วยลูกหนี้จ่าย และในขณะที่แต่ละปีสหกรณ์และสถาบันการเงินมีกำไรจากการบังคับให้ซื้อประกันสินเชื่อ แต่ทำให้ต้นทุนของชีวิตครูโดยรวมสูงขึ้น
2.สหกรณ์ มักจะมีข้อกำหนดว่าในการกู้ยืม สมาชิกจะต้องซื้อหุ้น 20% ของวงเงินที่กู้และต้องมีการดำรงเงินฝากไว้ เช่น 7% ข้อกำหนดดังกล่าว สหกรณ์อ้างว่าเพื่อส่งเสริมการออม แต่ในข้อเท็จจริง คือ เมื่อจะกู้ สมาชิกจะยังไม่มีหุ้น ทำให้สมาชิกต้องกู้มาออม นัยตรงนี้สร้างปัญหามาก เพราะสุดท้ายทำให้ข้าราชการมีภาระหนี้มากขึ้นอย่างน้อย 27%
คือ จากเดิมที่ต้องมีหนี้ 1 ล้านบาท จะกลายเป็น 1.27 ล้านบาท เช่น การกู้ยืม 1 ล้านบาท ผ่อน 20 ปี ดอกเบี้ย 6.5% ต่อปี ข้าราชการถูกกำหนดให้ซื้อหุ้นเดือนละ 1,000 บาท จ่ายค่าธรรมเนียมประกัน 700 บาทต่อเดือน แต่หากเอาเงินดังกล่าวมาจ่ายเพิ่มในแต่ละเดือน พบว่าทำให้หนี้หมดเร็วขึ้น 74 เดือน จากเดิมผ่อน 20 ปี จะเหลือเพียง 13.9 ปี
@ถูกหัก‘เงินเดือน’เหลือใช้ไม่ถึง 30% ต้องพึ่งบัตรเครดิต-กู้นอกระบบ
ปัญหาเชิงโครงสร้างข้อที่ 2 ปัญหาเงินเดือนหลังจากจ่ายชำระหนี้แล้ว (residual income) เหลือไม่เพียงพอที่ครูจะใช้ดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี
โดยหลักการแล้วในเดือนหนึ่ง เงินเดือนที่ครูได้รับจะสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ กล่าวคือ (1) ส่วนที่ครูต้องนำไปชำระหนี้สินต่างๆที่มี และ (2) แม้จะเป็นหนี้ ถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ครูควรจะสามารถมีเงินเดือนเหลือไว้เพื่อใช้ดำรงชีวิต ซึ่งตามหลักมาตรฐานที่ดีของสากล เงินส่วนนี้ควรมี 40-50% ของเงินเดือน
อย่างไรก็ดี ด้วยอำนาจการต่อรองที่เจ้าหนี้มีมากกว่า ในประเทศไทยสิทธิของลูกหนี้ในเรื่องนี้แทบจะเรียกว่าถูกลืมไปเลยก็ได้ แต่เรื่องนี้ผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการในอดีตได้คิดถึงประเด็นนี้ไว้ล่วงหน้า
จึงได้มีการกำหนดระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือนบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 หรือเกณฑ์ residual income 30% กำหนดสิทธิขั้นพื้นฐานของครู ว่า หลังจากจ่ายหนี้แก่เจ้าหนี้สินเชื่อสวัสดิการและหนี้สหกรณ์ทุกรายแล้ว
จะต้องมีเงินเดือนเหลือไม่น้อยกว่า 30% เพื่อช่วยต่อรองกับเจ้าหนี้ไม่ให้ตัดเงินเดือนชำระหนี้จนหมด เพื่อให้ครูมีเงินเดือนเหลือสำหรับใช้ดำรงชีพ และป้องกันไม่ให้ครูต้องกู้ยืมจนมีหนี้สินล้นพ้นตัว
แต่ปรากฎว่าในปี 2562 ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 2,919 ราย ได้ยื่นฟ้อง รมว.ศึกษาธิการกับพวกต่อศาลปกครองกลาง โดยอ้างว่า รมว.ศึกษาธิการและพวก ละเลยต่อหน้าที่ ไม่มีหนังสือแจ้งเวียนสั่งการให้ส่วนราชการในสังกัดดำเนินการหักเงินให้เป็นไปตามระเบียบฯ residual income 30%
แม้ว่าศาลปกครองกลางได้พิพากษาให้ รมว.ศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมดูแลหรือสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการหักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญให้เป็นไปตามระเบียบฯ
แต่ยากที่จะปฏิเสธและเป็นที่น่าเสียใจว่า “ปรากฏการณ์ Residual Income 30 ทิพย์ หรือ เทียม” ยังพบเห็นได้ทั่วไปในหลายเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศไทย
กล่าวคือ แม้บนสลิปเงินเดือนของครูจะปรากฏตัวเลขคงเหลือสุทธิมากกว่า 30% ของเงินเดือน ตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ถ้าพิจารณาข้อเท็จจริงในชีวิตของครูพบว่า ครูที่เกษียณอายุแล้วจำนวนมากมีเงินเดือนเหลือหลังจากที่ต้องจ่ายหนี้ให้กับเจ้าหนี้ทุกรายไม่ถึงร้อยละ 30 ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับใช้จ่ายดำรงชีพ
ในขณะที่ครูกลุ่มที่ยังทำงานอยู่จำนวนไม่น้อย กำลังเผชิญกับปัญหาจาก “ปรากฏการณ์ residual income 30 ทิพย์” เช่นกัน เมื่อกระทรวงศึกษาธิการจ่ายเงินเดือนให้ครู ครูจำเป็นต้องนำเงินที่ได้รับมาไปจ่ายให้เจ้าหนี้ที่ยังไม่สามารถเก็บหนี้ได้ เนื่องจากเงินเดือนในส่วนของ 70% แรก เจ้าหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูมักจะเป็นผู้ที่จัดเก็บได้เพียงผู้เดียว
เรื่องนี้ทำให้เงินเดือนที่ครูเหลือใช้เพื่อการดำรงชีพจริงๆ จะไม่ถึง 30% ของเงินเดือน ทำให้ครูต้องไปพึ่งพาการใช้บัตรเครดิต และหนี้นอกระบบ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่นำครูเข้าสู่วงจรอุบาทว์ของปัญหาหนี้สินทั้งปวง ในขณะที่เจ้าหนี้รายที่เก็บหนี้ไม่ได้ในที่สุดก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีกับครูผู้กู้และครูผู้ค้ำประกันรวมหลายหมื่นคน
@ขาด‘คนกลาง’ทำหน้าที่ ‘ไกล่เกลี่ย’ กรณีครูมีเจ้าหนี้หลายราย
ปัญหาเชิงโครงสร้างข้อที่ 3 ปัญหาการขาดกลไกและขาดคนกลางที่จะช่วยไกล่เกลี่ย เมื่อเจ้าหนี้ที่มีหลายรายเรียกเก็บค่างวดรวมกันสูงกว่าเงินเดือน 70% ที่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ ทำให้เจ้าหนี้หลายรายเก็บหนี้ไม่ได้ ปัจจุบันมีการฟ้องร้องครูผู้กู้ ผู้ค้ำประกันทั่วประเทศรวมกัน 4-5 หมื่นราย
ระบบการกู้ยืมของครูในปัจจุบันมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ครูเป็นลูกหนี้รายเดียว (one debtor) แต่มีเจ้าหนี้หลายราย (multi creditors) ซึ่งเจ้าหนี้แต่ละรายแข่งขัน ไม่ร่วมมือกัน และมีความต้องการที่แตกต่างกัน หากเรื่องนี้ไม่ได้รับการแก้ไข สุดท้ายแล้วลูกหนี้ผู้ที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่า ก็จะเป็นฝ่ายที่จะเดือดร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คือ เริ่มจากที่ลูกหนี้จะต้องผิดนัดชำระหนี้ (default on loan payment) เพราะค่างวดในแต่ละเดือนที่แต่ละเจ้าหนี้เรียกเก็บรวมกันจะมากกว่าเงินเดือน หรือรายได้ที่ลูกหนี้สามารถจะนำมาชำระหนี้ได้ และสุดท้ายลูกหนี้และผู้ค้ำประกันก็จะถูกดำเนินคดี (court and litigation process)
เรื่องนี้ มีตัวอย่างจริงของครูรายหนึ่งในจังหวัดสระแก้ว คือ ครูรายนี้มีเงินเดือน 46,120 บาท แต่ถ้าดูข้อมูลเงินค่างวดที่เจ้าหนี้เรียกเก็บทั้งส่วนที่เป็นสินเชื่อสวัสดิการและสินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์ (สินเชื่อที่หักเงินเดือนหน้าซอง) และรายการที่ครูต้องจ่ายหลังได้รับเงินเดือน (สินเชื่อหลังซองเงินเดือน) อาทิ หนี้บัตรเครดิต และหนี้นอกระบบ พบว่าเจ้าหนี้เรียกเก็บหนี้ในแต่ละเดือน รวมทั้งสิ้น 66,310 บาท
“ในบริบทการกู้ยืมของครู ที่ครูอาจจะมีเจ้าหนี้มากกว่าหนึ่งราย นัยของเรื่องนี้สามารถส่งผลกระทบได้กว้างไกล ซึ่งปัญหาส่วนสำคัญอยู่ที่กระบวนการเรียกเก็บหนี้ที่ครูมีเงินเดือนอยู่จำกัด ในขณะที่เจ้าหนี้อาจจะมีหลายรายก็มีวีธีการคิดและเก็บหนี้แตกต่างกัน
ทำให้มักจะเกิดสถานการณ์ที่เจ้าหนี้แต่ละรายต่างก็เรียกเก็บหนี้กับครู แต่ยอดหนี้ที่เรียกเก็บรวมมักจะมากกว่าเงินเดือนที่มีจำกัด เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของการกู้ยืมของครู ซึ่งทำให้ครูเดือดร้อนมาก ปัญหาครูผู้กู้ ครูผู้ค้ำประกันถูกฟ้องร้องหลายหมื่นคนทั่วประเทศ สาเหตุสำคัญมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างนี้ และในเรื่องนี้กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะนายจ้างสามารถเข้ามาช่วยครูแก้ปัญหาได้ในหลายมิติ”
@ตัดหนี้ ‘เงินต้น’ลำดับสุดท้าย ทำครูเป็นหนี้จนเกษียณอายุ
ปัญหาเชิงโครงสร้างข้อที่ 4 ปัญหาลำดับการตัดชำระหนี้ ที่กำหนดให้ “เงินต้น” อยู่ลำดับสุดท้าย ทำให้เม็ดเงินที่ครูชำระหนี้ถูกนำไปตัดชำระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมก่อน ที่เหลือจึงนำมาหัก “เงินต้น” น้อย หรือไม่ตัดเงินต้นเลย ซึ่งจะมีผลทำให้ครูบางกลุ่ม แม้เพียรจ่ายหนี้มาโดยตลอด ต้องตกอยู่ในวังวนของปัญหาหนี้สินตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
สำหรับปัญหาหนี้สินของข้าราชการครู นัยของการที่ “เงินต้น” ถูกกำหนดลำดับตัดชำระหนี้ไว้เป็น “ลำดับสุดท้าย” ทำให้เงินที่ครูเพียรจ่ายชำระหนี้ในแต่ละเดือนตัดถึงเงินต้นน้อย
ปัญหายิ่งรุนแรงกรณีที่มีรายการการหัก (1) ค่าซื้อหุ้นสหกรณ์มาก (2) ค่าธรรมเนียมต่างๆ (3) ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ และ (4) ดอกเบี้ยเงินกู้ตามสัญญาถ้าอยู่ในระดับสูง ก็ยิ่งทำให้เม็ดเงินที่ครูจ่ายชำระหนี้เข้ามา มีโอกาสตัดถึงเงินต้น น้อย หรือแทบจะตัดไม่ถึงเงินต้นเลย
ปัญหาดังกล่าวทำให้แม้เกษียณแล้ว ครูจำนวนมากยังมีภาระหนี้เงินต้น ที่ต้องผ่อนใช้หนี้ต่อไปอีกหลายปี บางรายมีหนี้ไปจวบจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต ดังกรณีตัวอย่างจากชีวิตจริงของครูรายหนึ่ง ที่เริ่มต้นกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูแห่งหนึ่งในวงเงิน 4 ล้านบาท
มีการผ่อนชำระมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 42 ปีที่ผ่านมา ถ้านับเม็ดเงินที่ครูรายนี้ได้ผ่อนจ่ายมารวม เป็นเงินมากกว่า 10 ล้านบาท แต่ลำดับการตัดชำระหนี้ที่เอาเงินต้นไว้ลำดับสุดท้าย เงินที่ครูจ่ายมาส่วนใหญ่ จึงถูกนำไปตัดดอกเบี้ยเป็นส่วนใหญ่ ตัดเงินต้นน้อย วันนี้ครูรายนี้ ซึ่งปัจจุบันอายุ 67 ปี ยังค้างชำระหนี้เงินต้นอยู่ที่ 3 ล้านบาท
ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องลำดับการตัดชำระหนี้ ส่วนหนึ่งมาจากลูกหนี้มีอำนาจต่อรองน้อย รวมทั้งไม่ทราบสิทธิของตนว่า ลำดับการตัดชำระหนี้นั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่กฎหมายหรืออะไรที่แก้ไขไม่ได้ แต่ควรจะมาจากข้อตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ ซึ่งลูกหนี้สามารถเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้เกี่ยวกับลำดับการตัดชำระหนี้ให้มีความเหมาะสมได้
เมื่อการกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้นับเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก และมีนัยที่สามารถสร้างผลกระทบที่กว้างไกลต่อชีวิตลูกหนี้ ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการในฐานะ “นายจ้าง” ของครู สามารถที่จะเป็นคนกลางที่เป็นตัวแทนของ ครูเข้ามาช่วยเหลือเจรจากับเจ้าหนี้ขอให้ปรับปรุงลำดับการตัดชำระหนี้ให้เหมาะสมและเป็นธรรมมากขึ้น เพื่อที่ครูจะต้องไม่ใช้หนี้นานกว่าที่ควรจะเป็นเหมือนอย่างที่ผ่านมา
โดยกระทรวงศึกษาธิการอาจจะต้องเริ่มจากการมองในภาพใหญ่ว่า ในการปรับปรุงเรื่องลำดับการตัดชาระหนี้ที่เกี่ยวข้องควรจะคำนึงถึงประเด็นสำคัญเรื่องใดบ้าง
ในขณะที่เมื่อปี 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับปรุงแนวปฏิบัติเรื่องดอกเบี้ยผิดนัดและลำดับการตัดชำระหนี้ ซึ่งถือเป็นการปรับปรุงครั้งใหญ่ของระบบการเงินไทยที่มีผลช่วยลดปัญหาเชิงโครงสร้าง และช่วยปรับแรงจูงใจของผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีความสมเหตุสมผลมากขึ้น ประกอบด้วย 3 เรื่องสำคัญ คือ
หนึ่ง การปรับปรุงเรื่องฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้
เดิมนั้นเวลาลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้เพียงงวดหนึ่งงวดใด เจ้าหนี้จะถือว่าผิดนัดชำระหนี้ทุกงวด เช่น ถ้ากู้ผ่อนบ้านนาน 20 ปี ช่วง 2 ปี แรก ผ่อนปกติพองวดที่ 25 ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ วิธีการคำนวณเดิมจะถือว่าผิดนัดงวด 25 ถึงงวดที่ 240 ซึ่งไม่ถูกต้องเพราะงวดที่ 26 ถึงงวดที่ 240 ยังเป็นงวดในอนาคตที่ยังมาไม่ถึงและยังไม่ถึงกำหนดชำระหนี้
เรื่องนี้จึงถูกแก้ไขใหม่ คือ ถ้าผิดนัดชำระหนี้ในงวดที่ 25 ฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ จะคิดเฉพาะเงินต้นของค่างวดงวดที่ 25 เพียงเท่านั้น
สอง การกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้
เดิมนั้นเจ้าหนี้สามารถที่จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้เอง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะใช้อัตราสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด 15% หรือ 18% ต่อปีบ้าง แม้อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาจะอยู่ที่เพียง 7-8% ต่อปี ในการปรับปรุงครั้งนั้นกำหนดให้ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้จะบวกเพิ่มจากอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาได้ไม่เกิน 3% ต่อปี
สาม การปรับปรุงเรื่องลำดับการตัดชำระหนี้
เดิมตามปกติเจ้าหนี้จะเป็นคนกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้ที่เมื่อลูกหนี้ชำระหนี้จะให้นำไปตัด (1) ค่าธรรมเนียม (2) ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และดอกเบี้ยตามสัญญา ก่อนจึงจะมาตัด (3) เงินต้นเป็นลำดับสุดท้าย มีการเรียกแนวปฏิบัติในลักษณะดังกล่าวว่า “การตัดชำระหนี้ตามแนวตั้ง”
นัยของแนวปฏิบัติดังกล่าวที่สำคัญ คือ ถ้าลูกหนี้มีการค้างชำระค่างวดหลายงวด โอกาสที่ลูกหนี้จ่ายชำระหนี้เข้ามาแล้วจะตัดถึงเงินต้นมีน้อยมาก ลูกหนี้จำนวนไม่น้อยจึงติดอยู่ในกับดักวังวนหนี้สิน
ในครั้งนั้นจึงมีการปรับปรุงแนวปฏิบัติครั้งใหญ่โดยเปลี่ยนให้มาตัด “งวดที่ค้างนานที่สุดก่อน” หรือเปลี่ยนให้มา “ตัดชำระหนี้ตามแนวนอน” สำหรับงวดที่ค้างชำระนานที่สุด ซึ่งมีผลช่วยให้ลูกหนี้เมื่อจ่ายเงินชำาระหนี้เข้ามา จะมีโอกาสตัดถึงเงินต้นมากขึ้น
อย่างไรก็ดี อาจจะกล่าวได้ว่าการปรับปรุงครั้งนั้นทำสำเร็จเพียงครึ่งเดียว คือ เปลี่ยนจากการตัดแนวตั้ง มาเป็นการตัดแนวนอน สำหรับงวดที่ค้างนานที่สุดก่อน หากแต่ลำดับการตัดชำระหนี้ในส่วนของ “เงินต้น” ยังถูกกำหนดไว้เป็นลำ ดับสุดท้าย
@ครูจ่ายดอกเบี้ยแพง แม้เป็น‘สินเชื่อสวัสดิการ’-ความเสี่ยงต่ำ
ปัญหาเชิงโครงสร้างเรื่องที่ 5 ปัญหาอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ครูต้องจ่ายอยู่ในระดับที่สูง ทั้งๆที่สินเชื่อสวัสดิการหักเงินเดือน (payroll credit) เป็นสินเชื่อที่ความเสี่ยงต่ำ NPL น้อยกว่า 1% ต่อปี จึงห่างไกลจากการเป็น “สินเชื่อสวัสดิการที่แท้จริง” และเป็นเพียงสินเชื่อสวัสดิการปลอมๆ ที่เจ้าหนี้มาขอให้นายจ้างช่วยหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้
ตามหลักการแล้ว สินเชื่อสวัสดิการหักเงินเดือน จะมีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่ในระดับต่ำ สาเหตุสำคัญเพราะการที่นายจ้างเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกหักเงินเดือนนำส่งให้ทุกเดือน ทำให้โอกาสที่สินเชื่อตัวนี้จะเสียมีน้อยมาก ซึ่งจากตัวเลขหนี้เสียของสินเชื่อที่สถาบันการเงินแห่งหนึ่งที่ให้กับครูอยู่ที่เพียง 0.2% จะเห็นว่าต้นทุนในส่วน credit cost ต่ำ
นอกจากนี้ การที่นายจ้างทำหน้าที่จัดเก็บหนี้ (collection) ทำให้ต้นทุนในการดำเนินการ หรือ operating cost ลดลงด้วย ซึ่งในต่างประเทศอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อในลักษณะเดียวกันนี้ หรือ payroll credit จะอยู่เพียง 2-3% ต่อปีเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงที่พบจากการกู้ยืมของครูพบว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ครูจะต้องจ่ายให้เจ้าหนี้ทั้งในส่วนของสหกรณ์ออมทรัพย์และสถาบนัการเงินส่วนใหญ่ถือว่าเป็นอัตราที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยงของสินเชื่อประเภทนี้ที่อยู่ในระดับที่มาก
“อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสินเชื่อที่มีการหักชำระหนี้จากเงินเดือนของครูรายที่คิดสูงสุดอยู่ที่ 11.5% ต่อปี คงไม่ผิดที่จะสรุปว่าสินเชื่อที่ครูส่วนใหญ่ได้รับในปัจจุบันไม่ใช่สินเชื่อสวัสดิการที่แท้จริง แต่เป็นสินเชื่อสวัสดิการทิพย์หรือสินเชื่อสวัสดิการปลอมๆ
กล่าวคือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ครูได้รับ ไม่ได้เป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำ มีความผ่อนปรน ห่างไกลจากสิ่งที่ครูคาดหวังจากสวัสดิการของหน่วยงานมาก อีกทั้งเจ้าหนี้ยังการใช้และอ้างชื่สินเชื่อสวัสดิการ มาขอให้นายจ้างหรือกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการหักเงินเดือนให้”
ทั้งนี้ หากพิจารณาในรายละเอียดของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 108 แห่ง พบว่าที่คิดอัตรา ดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำกว่า 5% ต่อปี มีเพียง 7 แห่ง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 5-6% ต่อปี มี60 แห่ง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 6-7% ต่อปีมี 28 แห่ง และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มากกว่า 7% ต่อปี มี 10 แห่ง
โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่อยู่ในระดับสูง เมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยง และอาจจะสูงเกินกว่าที่จะเรียกว่า “สินเชื่อสวัสดิการที่แท้จริง”
ส่วนสาเหตุที่ทำให้อัตราเงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอยู่ในอัตราค่อนข้างสูงเป็นผลมาจากปัจจัย 2 เรื่อง คือ
(1) อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูบางแห่งที่อยู่ในระดับสูงถึง 3-4% ต่อปี ซึ่งถือเป็น อัตราที่สูงมาก เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของสถาบันการเงินในปัจจุบันที่ 0.125-1.30% ต่อปีและอัตรา ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลที่ 1 ปีอยู่ที่ 0.52% ต่อปีและ 10 ปีอยู่ที่เพียง 1.97% ต่อปี
(2) อัตราเงินปันผลหุ้นของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่มีการปันผลสูง 4-8% ต่อปีซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูง เมื่อเปรียบเทียบกับผลตอบแทนจากการลงทุนไม่ว่าในเงินฝาก พันธบัตรรัฐบาล รวมทั้งเปรียบเทียบกับการ ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่ผลตอบแทนเมื่อเทียบกับราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่เฉลี่ยอยู่ที่ 2.13% ต่อปี
@ดอกเบี้ยสินเชื่อ‘กรุงไทยธนวัฏ’ 12% ต่อปี ยังห่างไกล‘สินเชื่อสวัสดิการ’
อีกทั้งแทบไม่น่าเชื่อว่าในบรรดาสินเชื่อที่มีการหักจ่ายจากเงินเดือนของข้าราชการครูโดยตรง พบว่า “สินเชื่อกรุงไทยธนวัฏ” เป็นสินเชื่อที่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงที่สุด โดยสินเชื่อกรุงไทยธนวัฏเป็นสินเชื่อที่ข้าราชการในระดับล่างใช้มากที่สุดอันหนึ่ง เป็นสินเชื่อหมุนเวียน (revolving facility) ที่มีการคิดดอกเบี้ยแบบทบต้นทบดอกเหมือนบัตรเครดิตและวงเงิน OD ของธุรกิจ
ธนาคารกรุงไทยใช้สิทธิการเป็นช่องทางจ่ายเงินเดือน ข้าราชการตัดจ่ายหนี้เป็นประจำทุกเดือน คิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ MRR + 6% ต่อปี หรือ 6.22+6 เท่ากับ 12.2% ต่อปี (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ส.ค. 2565) ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงมาก และนับเป็นอัตราที่สูงที่สุดในบรรดาเจ้าหนี้ ที่มีการจัดเก็บหนี้ผ่านการตัดเงินเดือนของข้าราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพิจารณาว่าอัตราหนี้เสีย (NPL) ของสินเชื่อธนวัฏอยู่ในระดับที่ต่ำมากเพียง 0.27% ต่อปี (ข้อมูล ณ เดือน ต.ค.2563)
อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุที่ทำให้สินเชื่อธนวัฏคิดอัตราดอกเบี้ยเงินค่อนข้างสูง เพราะธนาคารกรุงไทยผูกขาดการเป็นช่องทางจ่าย เงินเดือนของภาครัฐ เมื่อไรก็ตามที่ถูกมองว่า เป็นของตายก็มักจะทำใหต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แพง
“ที่สำคัญคือ แนวปฏิบัติของสินเชื่อกรุงไทยธนวัฏ ในแต่ละเดือนครูจะจ่ายเฉพาะส่วนของดอกเบี้ยใน ขณะที่ไม่มีการตัดจ่ายในส่วนของเงินต้นเลย (จ่ายแต่ดอกเบี้ย) ถ้าไม่ปรับปรุงแก้ไขจะทำให้ข้าราชการต้องจ่าย แต่ดอกเบี้ยและตกอยู่ในวังวนของปัญหาหนี้สินไปตราบชั่วฟ้าดินสลาย
แนวปฏิบัติของสินเชื่อกรุงไทยธนวัฏที่ เงินที่ครูจ่ายหนี้ในแต่ละเดือนจะเป็นดอกเบี้ยทั้งหมด ไม่ต่างจากการจ่าย “ดอกลอยของหนี้นอกระบบ” จนกระทั่งครูอายุ 57 ปี ถึงจะมาเร่งให้ข้าราชการจ่ายหนี้ก้อนนี้ให้จบก่อนจะเกษียณที่อายุ 60 ปี นอกจาก สินเชื่อกรุงไทยธนวัฏแล้ว ธนาคารกรุงไทยยังปล่อยสินเชื่ออเนกประสงค์ให้ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ กู้ด้วยอัตราดอกเบี้ย 12% ซึ่งก็นับว่าห่างไกลจากเป็นสินเชื่อสวัสดิการที่แท้จริง”
@บทบาททับซ้อน ‘นายจ้าง-เจ้าหนี้’ ถ่วงการแก้ปัญหาหนี้สินครู
ปัญหาบทบาทและผลประโยชน์ที่ทับซ้อนกันของนายจ้างและเจ้าหนี้สหกรณ์ (Conflict of Roles and Conflict of Interests)
นอกจากปัญหาเชิงโครงสร้างทั้ง 5 ด้านแล้ว ปัญหาความทับซ้อนกันของบทบาทและผลประโยชน์ระหว่างนายจ้างและเจ้าหนี้สหกรณ์ (Conflict of Roles and Conflict of Interest) มีผลทำให้นายจ้างไม่ได้ทำหน้าที่นายจ้างที่ดีที่จะเข้ามาช่วยครูแก้ปัญหาหนี้สิน และไม่ได้มาช่วยเจรจากับเจ้าหนี้ให้ได้รับข้อตกลงการกู้ยืมสินเชื่อสวัสดิการที่เป็นธรรม
ดังที่ปรากฏให้เห็นจากการที่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงในเรื่องการจัดทำและจ่ายเงินเดือนของครู กลับไปดำรงตำแหน่งประธาน กรรมการ ตลอดจนที่ปรึกษาของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ซึ่งในแต่ละปีจะได้รับผลตอบแทนนับล้านบาท
ตรงนี้คงทำให้พอเห็นภาพว่า ทำไมสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จึงไม่ยอมดำเนินการตามระเบียบการหักเงินเดือนอย่างเคร่งครัด ทั้งที่กระทรวงศึกษาธิการมีระเบียบเรื่องนี้มานานกว่า 15 ปี
แต่ยังมีการหักเงินเดือนนำส่งให้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ในกรณีที่เงินเดือนสุทธิหลังจากหักชำระหนี้น้อยกว่า 30% ทำให้ครูมีเงินเหลือไม่พอที่จะดำรงชีพ และถูกฟ้องร้องจากเจ้าหนี้รายที่เก็บหนี้ไม่ได้ฟ้อง
“นอกจากนี้ ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสหกรณ์ออมทรัพย์ ทั้งของครู รวมทั้งสถาบนัการเงินที่จัดทำสินเชื่อสวัสดิการที่จะต้องจัดให้มีเงินพิเศษ ปีละเป็นจำนวนนับล้านบาทให้กับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา หรือเจ้าหน้าที่การเงินของทางตำรวจที่รับผิดชอบเรื่องการหักเงินเดือน...เพื่อขอให้ช่วยอำนวยความ สะดวกเป็นกรณีพิเศษ
แต่ในโลกที่ไม่มีอะไรฟรี ก็หมายความว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะถูกส่งต่อ ทำให้ครูต้องมีต้นทุนการกู้ยืมที่แพงขึ้น อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความสลับซับซ้อนของบทบาทหน้าที่ของนายจ้าง และเจ้าหนี้ที่ทับซ้อนกันอย่างแยกไม่ออก”
เหล่านี้เป็น ‘ปัญหาเชิงโครงสร้างของหนี้ครู’ ทั้ง 5 ด้าน ซึ่งอยู่ในรายงาน 'ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูบำนาญต่อวิกฤติหนี้ในปัจจุบัน' ขณะที่ปัญหาเชิงโครงสร้างดังกล่าว ทำให้ครูหลายแสนคนอาจต้องเป็นหนี้ไปจนวาระสุดท้ายของชีวิต?
อ่านรายงานฉบับเต็ม : ‘ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูบำนาญต่อวิกฤติหนี้ในปัจจุบัน’
อ่านประกอบ :
ขายบ้านจ่ายหนี้!ทุกข์‘ครู’ถูกสหกรณ์ฯหักเงินหน้าซองเหลือใช้ 900 บ.-จี้ศธ.บังคับใช้ระเบียบ
'ศธ.'จับมือพันธมิตรแก้หนี้ครู 1.4 ล้านล. เน้นปรับโครงสร้างฯ-หลังหักหนี้ต้องมีเงินใช้ 30%
ประโยชน์ทับซ้อน! ถ่วงแก้หนี้ครู จี้ลงโทษสหกรณ์ฯหักหนี้ผิดกม.-ลด'ดบ.เงินกู้สวัสดิการ'
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู (จบ) : คำเตือนถึงนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบละเลยปัญหา
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู (3) : พร้อมใจกันเปิดเผยสลิปเงินเดือนฟ้องสังคม
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู(2) : มหกรรมไกล่เกลี่ย’หนี้ครู’ผักชีโรยหน้า?
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู(1) : ต้องรื้อระบบการหักเงินเดือนของสวัสดิการ-สหกรณ์
‘เครือข่ายแก้หนี้ครูฯ’ จี้รัฐแก้ปมปล่อย‘เจ้าหนี้’หักเงินเดือน‘ครู’ จนเหลือเงินไม่พอใช้
กำแพงเพชรนำร่องแก้หนี้ครู ศธ.จ่อถอดบทเรียนขับเคลื่อนทั่วประเทศใน ต.ค.นี้
ศธ.ออกแนวปฏิบัติหักเงิน ช.พ.ค./ช.พ.ส. แก้หนี้ครู ย้ำต้องมีหนังสือยินยอม
กด 'ดอกเบี้ยกู้' ไม่เกิน 5%! ศธ.รุก 'แก้หนี้ครู' แนะคุม 'โบนัส' กก.สหกรณ์ฯลดต้นทุน
‘บอร์ดแก้หนี้ครูฯ’ กล่อมสหกรณ์ลดดอกเบี้ยกู้ คุมเพดานก่อหนี้-แก้ปมถูกฟ้องล้มละลาย