‘ก.ศึกษาฯ’ จับมือพันธมิตร 12 หน่วยงาน เดินหน้าแก้ปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบ 1.4 ล้านล้าน อย่างยั่งยืน เน้นปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับความสามารถแต่ละราย-หลังหักเงินเดือนจ่ายหนี้แล้ว ต้องเหลือเงินใช้มากกว่า 30%
..........................................
เมื่อวันที่ 6 ม.ค. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.กระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับอีก 12 หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการการทำงานในการแก้ปัญหาหนี้สินครูอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการผลักดันการปรับโครงสร้างหนี้ครูให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ของครูแต่ละราย
น.ส.ตรีนุช ระบุว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงฯในครั้งนี้ เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจาก “โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย” และ “มหกรรมการเงินเพื่อครูไทย” ซึ่งได้ปรับโครงสร้างหนี้ให้ครูที่เข้าร่วมโครงการฯไปแล้ว คิดเป็นยอดหนี้ 1 หมื่นล้านบาท รวมไปถึงการเจรจาลดดอกเบี้ยกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศด้วย ขณะที่ผลการดำเนินงานในปีแรกถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ โดยมีครูจำนวนกว่า 1.5 หมื่นราย ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้
“ศธ.ได้ตระหนักถึงความห่วงใยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนเป็นวาระสำคัญ ซึ่งการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการเงิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันนี้ นับเป็นครั้งแรกที่บูรณาการความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง และเป็นการต่อยอดเพื่อสร้างพันธมิตรสำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูอย่างยั่งยืน โดยจะดึงจุดแข็งของแต่ละหน่วยงานเข้าช่วยเหลือจัดการแก้ไขหนี้
และการอบรมความรู้ปลูกฝังวินัยการเงิน พร้อมให้สิทธิพิเศษต่างๆ สำหรับการชำระหนี้ การกู้ยืม การออม และการลงทุน ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นการบูรณาการแก้ไขร่วมกันที่ยิ่งใหญ่ เพื่อช่วยเหลือให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงอยากเชิญชวนครูที่มีหนี้เข้าร่วมโครงการเพื่อช่วยหาทางออก และแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับแต่ละราย โดย ศธ.และหน่วยงานพันธมิตรพร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่” น.ส.ตรีนุช ระบุ
สำหรับ 12 หน่วยงานที่เข้ามาเป็นพันธมิตรกับกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ กระทรวงการคลัง (กค.), กระทรวงยุติธรรม (ยธ.), กรมส่งเสริมสหกรณ์ (กสส.), ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ก.บ.ข.), บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด, สมาคมธนาคารไทย, สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ, ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารกรุงไทย
นายจิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงฯดังกล่าว จะนำไปสู่การดูแลในเรื่องการตัดชำระหนี้ของครู เพื่อให้ครูมีรายได้ต่อเดือนหลังหักชำระหนี้มากกว่า 30% ของเงินเดือน ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และครั้งนี้ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งกำกับดูแลสหกรณ์เข้ามาร่วมโครงการฯด้วย โดยหลังจากนี้จะมีการหารือเพื่อให้ระบบสหกรณ์เข้ามาสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ของครู
นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูฯ นั้น ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของ ศธ. คณะกรรมการฯ ระดับจังหวัด และกรุงเทพมหานคร โดยกำหนดให้มีสถานีแก้หนี้ครู 558 สถานี ในระดับจังหวัด ตลอดจนเขตพื้นที่การศึกษา และหน่วยงานทางการศึกษาที่เป็นหน่วยหักเงิน ณ ที่จ่ายระดับจังหวัด
โดยกลไกดังกล่าวจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู และเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและปรับโครงสร้างทั้งระบบให้เกิดประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ครูได้รับการดูแลช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินได้อย่างทั่วถึง มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมีศักดิ์ศรี อันจะส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาและคุณภาพสังคมต่อไป ขณะที่ในปัจจุบัตมีครูและข้าราชการบำนาญเป็นหนี้สหกรณ์และสถาบันการเงินกว่า 9 แสนคน ยอดหนี้รวม 1.4 ล้านล้านบาท
สำหรับบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน ในการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้แก่
กระทรวงการคลัง ส่งเสริมและสนับสนุนให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (Specialized Financial Institutions : SFIs) กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่มีความเป็นธรรมและสอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกหนี้เพื่อช่วยเหลือข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พร้อมทั้งส่งเสริมให้ SFIs พิจารณาแนวทางช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้กับลูกหนี้กลุ่มครูผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวอย่างยั่งยืนตามแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
กระทรวงยุติธรรม (กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ, กรมบังคับคดี) สนับสนุนข้อมูล ตลอดจนให้คำปรึกษาแนะนำ เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการ ขั้นตอน และมาตรการที่กระทรวงยุติธรรมให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่เข้าสู่การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททั้งก่อนฟ้องคดีและหลังศาลมีคำพิพากษา และสนับสนุนข้อมูลบุคลากร หรือวิทยากรในการให้ความรู้คำปรึกษา
กรมส่งเสริมสหกรณ์ ส่งเสริม สนับสนุน กำกับ ดูแลให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิกสหกรณ์ได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม พร้อมสนับสนุนด้านเงินทุน ข้อมูลสารสนเทศ เทคโนโลยี และทรัพยากรอื่น ๆ ที่เหมาะสมในการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู
รวมถึงพิจารณากำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากของธนาคารพาณิชย์ และดำเนินการร่วมกับ ศธ. ในการแนะนำ ส่งเสริม พัฒนา การบริหารจัดการองค์กร และการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู
ธนาคารแห่งประเทศไทย สนับสนุนข้อมูล บุคลากร หรือวิทยากรในการให้ความรู้คำปรึกษา และออกมาตรการที่เป็นประโยชน์แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สนับสนุนข้อมูล บุคลากร หรือวิทยากรในการให้ความรู้ คำปรึกษาแนะนำแก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้านการวางแผนและการรักษาวินัยทางการเงิน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการหนี้ได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการเพิ่มโอกาสไปสู่การลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับตนเองและไม่ตกเป็นเหยื่อภัยกลโกงการลงทุน
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) สนับสนุนข้อมูล เผยแพร่ความรู้ เกี่ยวกับแผนการส่งเสริมการออมและการลงทุนของ กบข. พิจารณาแนวทางที่เหมาะสมในการให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งให้ความรู้ คำปรึกษาแนะนำการบริหารจัดการทางการเงินแก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด สนับสนุนข้อมูล ให้คำปรึกษาแนะนำ เผยแพร่ความรู้เพื่อให้สามารถบริหารวงเงินที่ประสบปัญหาหนี้สินและมีความสามารถในการชำระหนี้สินได้ตามสัญญา รวมถึงการวางแผนและการรักษาวินัยทางการเงิน
สมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ บูรณาการและประสานความร่วมมือกับ ศธ. ในการจัดกิจกรรมตามโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา
ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารกรุงไทย สนับสนุนข้อมูลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ประสบปัญหาหนี้สินวิกฤติ ภายใต้ข้อกำหนดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ให้แก่ ศธ. ส่วนราชการ และสถานีแก้หนี้ระดับเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางและมาตรการในการให้ความช่วยเหลือ
พร้อมประสานงานและบูรณาการความร่วมมือกับ ศธ. ในการกำหนดมาตรการที่ผ่อนปรนหรือข้อตกลงที่เป็นสิทธิประโยชน์กรณีพิเศษ และสนับสนุนข้อมูล ความรู้ ให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคาร เพื่อการวางแผนและการรักษาวินัยทางการเงินของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
อ่านประกอบ :
ประโยชน์ทับซ้อน! ถ่วงแก้หนี้ครู จี้ลงโทษสหกรณ์ฯหักหนี้ผิดกม.-ลด'ดบ.เงินกู้สวัสดิการ'
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู (จบ) : คำเตือนถึงนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบละเลยปัญหา
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู (3) : พร้อมใจกันเปิดเผยสลิปเงินเดือนฟ้องสังคม
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู(2) : มหกรรมไกล่เกลี่ย’หนี้ครู’ผักชีโรยหน้า?
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู(1) : ต้องรื้อระบบการหักเงินเดือนของสวัสดิการ-สหกรณ์
‘เครือข่ายแก้หนี้ครูฯ’ จี้รัฐแก้ปมปล่อย‘เจ้าหนี้’หักเงินเดือน‘ครู’ จนเหลือเงินไม่พอใช้
กำแพงเพชรนำร่องแก้หนี้ครู ศธ.จ่อถอดบทเรียนขับเคลื่อนทั่วประเทศใน ต.ค.นี้
ศธ.ออกแนวปฏิบัติหักเงิน ช.พ.ค./ช.พ.ส. แก้หนี้ครู ย้ำต้องมีหนังสือยินยอม
กด 'ดอกเบี้ยกู้' ไม่เกิน 5%! ศธ.รุก 'แก้หนี้ครู' แนะคุม 'โบนัส' กก.สหกรณ์ฯลดต้นทุน
‘บอร์ดแก้หนี้ครูฯ’ กล่อมสหกรณ์ลดดอกเบี้ยกู้ คุมเพดานก่อหนี้-แก้ปมถูกฟ้องล้มละลาย