‘เครือข่ายแก้ปัญหาหนี้สินครูฯ’ ออกแถลงการณ์เรียกร้อง ‘ศธ.’ ลงโทษทางวินัย ‘สนง.เขตพื้นที่การศึกษา’ ปล่อยให้มีการหักหนี้ฯผิดระเบียบฯปี 2551 หลังพบ ‘ครู’ ยังถูกหักเงินเดือน จนเหลือเงินไม่ถึง 30% ด้าน ‘สพฐ.’ พบมีการฝ่าฝืนระเบียบฯจริง เตือนหากพบมี ‘เจตนา’ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบฯ จะถูกดำเนินการทางวินัย
.....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงโทษทางวินัยกับผู้บริหารของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ ที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 (ระเบียบปี 51)
พร้อมทั้งขอให้เจ้าหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ และสถาบันการเงินทั่วประเทศร่วมกันปรับโครงสร้างหนี้ให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา เนื่องจากขณะนี้ยังคงพบว่ามีครูและบุคลากรทางการศึกษาถูกหักเงินเดือนหน้าซอง เพื่อชำระหนี้สหกรณ์ฯ จนเหลือเงินเดือนใช้ไม่ถึง 30% อยู่ เช่น ครูบางรายถูกหักเงินหน้าซองจนเหลือเงินใช้เพียง 90.43 บาท/เดือน หรือเหลือเงินใช้เฉลี่ยวันละ 3 บาท และมีอดีตข้าราชการครูบางรายถูกหักเงินบำนาญจนไม่เหลือเงินใช้จ่าย เป็นต้น
สำหรับข้อเรียกร้องของเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ประกอบด้วย 3 ข้อ ได้แก่
1.กระทรวงศึกษาธิการจะต้องหักจ่ายเงินเดือนครูให้ถูกต้องตามระเบียบปี 51 และดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ครูเหลือเงินสุทธิ 30% สำหรับดำรงชีพโดยทันที ทั้งนี้ คำว่า ‘สุทธิ’ หมายถึง เงินที่ครูได้รับจะต้องหักจ่ายค่างวดที่เจ้าหนี้ทุกรายเรียกเก็บแล้ว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ จะต้องเลิกแนวปฏิบัติในลักษณะ 30% ทิพย์ที่หักค่างวดของเจ้าหนี้เพียงบางราย แล้วผลักครูไปจ่ายเพิ่มเติมหลังซอง
สำหรับกรณีที่สำนักงานเขตพื้นที่ฯ แกล้งไม่เข้าใจคำว่า สุทธิ ทำมึนตาใสไม่รับรู้ความเดือดร้อนของเพื่อนครู ครูจะขอให้ สพฐ ส่วนกลาง หรือ กรมบัญชีกลาง ดำเนินการหักจ่ายเงินเดือนแทน และขอให้ดำเนินการทางวินัยกับผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างถึงที่สุด
2.เจ้าหนี้สหกรณ์และสถาบันการเงินทั่วประเทศร่วมกันปรับโครงสร้างหนี้ และปรับลดค่างวดที่เรียกเก็บในแต่ละเดือนลง เพื่อที่จะช่วยเหลือครูที่เหลือเงินดำรงชีพไม่ถึง 30% และช่วยครูผู้กู้และผู้ค้ำประกันที่กำลังถูกฟัองร้องดำเนินคดีรวมกว่า 1 แสนรายให้มีทางออก กลุ่มนี้ คือ กลุ่มที่ค่างวดที่เจ้าหนี้ทุกรายเรียกเก็บมากกว่า 70% ของเงินเดือน ซึ่งตามระเบียบปี 51 เจ้าหนี้จะไม่ได้รับการหักเงินเดือนให้ จนกว่าที่จะร่วมกันปรับลดค่างวดที่เรียกเก็บให้เหลือไม่เกิน 70% ของเงินเดือน
ทั้งนี้ รัฐบาลและกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ชี้เป้าแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ที่ถ้าดำเนินการแล้ว จะช่วยให้เจ้าหนี้สามารถหักเงินเดือนได้ตามปกติ ดังนี้ (1) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 4.75% ต่อปี (2) ขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ไปจนครูครบ 75 ปีเป็นอย่างน้อย (3) ปรับโครงสร้างหนี้ในส่วนที่มีทุนเรือนหุ้นของสหกรณ์ค้ำประกัน เพื่อลดภาระค่างวดที่ต้องจ่าย
อนึ่ง เจ้าหนี้จะต้องตระหนักว่ากรณีเหล่านี้ คือ การกู้ยืมที่เกินศักยภาพที่เจ้าหนี้ต่างก็ทราบว่าครูแต่ละคนมีเงินเดือนมีความสามารถชำระหนี้แค่ไหน ดังนั้น นอกจากครูจะต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบแล้ว เจ้าหนี้ทุกรายจะต้องถือเป็น ”ความรับผิดชอบร่วมกัน” ที่จะต้องแก้ปัญหาที่ได้ร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อคนค้ำประกันจะไม่ต้องเดือดร้อน
3.กระทรวงศึกษาธิการจำเป็นต้องประกาศกำหนด “อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สวัสดิการหักเงินเดือน” ของส่วนงาน โดย อาจกำหนดที่ 4.75% ต่อปี ตามที่รัฐบาลได้ชี้เป้าหรือต่ำกว่านั้น โดยหลักการแล้ว กระทรวงศึกษาธิการจะหักจ่ายเงินเดือนครูให้กับเฉพาะเจ้าหนี้รายที่คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำกว่าอัตราที่กำหนด สำหรับเจ้าหนี้รายที่คิดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนด เจ้าหนี้ยังทำการกู้ยืมกับครูได้ตามปกติ หากแต่จำเป็นต้องไปจัดเก็บหนี้เอง เพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่ากำหนดชี้ว่า ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยสำหรับสวัสดิการ
การที่นายจ้างกระทรวงศึกษาธิการเข้ามายุ่งกับการหักจ่ายเงินเดือนให้เจ้าหนี้ ก็เพราะมุ่งหวังที่จะช่วยให้ครูที่เป็นลูกจ้างให้สามารถกู้ยืมด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถูกและผ่อนปรน กล่าวคือ จะต้องถูกกว่าที่ครูกู้ยืมกับเจ้าหนี้เองในระบบการเงิน อย่างไรก็ เมื่อเวลาเนิ่นนานผ่านไป เจตนารมณ์ในเรื่องนี้กลับถูกลืมเลื่อน
ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการหักจ่ายเงินเดือนให้กับเจ้าหนี้ โดยไม่ได้พิจารณาว่าเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยกับครูเท่าไร เหมาะสมแล้วหรือไม่ ทำให้เจ้าหนี้ส่วนหนึ่งอ้าง “ความเป็นสวัสดิการ” มาขอให้กระทรวงศึกษาธิการหักเงินเดือนให้ทั้งๆที่คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับครูในอัตราที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยงของ payroll credit ที่แทบจะไม่มี ห่างไกลจากการเป็นสวัสดิการ
นางภัคภร ทองสุ่มมาตร์ แกนนำเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า แม้ว่าจะมีคำสั่งจากกระทรวงศึกษาธิการฯ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำชับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ ต้องปฏิบัติตามระเบียบปี 2551 แต่ปรากฏว่าในหลายพื้นที่ยังมีการหักเงินเดือนจนครูไม่เหลือเงินเพียงพอดำรงชีพ หรือบางกรณีมีการเลี่ยงบาลี ทำให้ไม่มีการปฏิบัติตามระเบียบปี 2551
“สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯยังไม่ปฏิบัติตามระเบียบปี 2551 ทำให้ครูมีเงินเหลือไม่พอดำรงชีพ และยังมีกรณีสำนักงานเขตฯที่ทำตามระเบียบฯจริง แต่ได้มีการเลี่ยงบาลีโดยให้ครูมาจ่ายหนี้เงินข้างนอก คือ มีการหักเงินเดือนหน้าซอง ให้ครูเหลือเงินใช้ไม่น้อยกว่า 30% จริง แต่จะให้ครูทำหนังสือยินยอมให้มีการหักหนี้ส่วนที่เหลือด้วย ครูจึงต้องนำเงินเดือนที่เหลือ หลังจากหักเงินหน้าซองแล้ว ไปจ่ายหนี้สหกรณ์ให้ครบ” นางภัคภร กล่าว
นางภัคภร ระบุว่า ส่วนกรณีที่รัฐบาลได้ขอความร่วมมือให้สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ปรับโครงสร้างหนี้ให้กับครู ซึ่งรวมถึงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ และการขยายงวด หรือการนำหุ้นที่มีอยู่กับสหกรณ์ฯมาหักหนี้ เพื่อให้ครูมีเงินเดือนใช้ไม่น้อยกว่า 30% นั้น ที่ผ่านมาสหกรณ์ฯส่วนใหญ่ไม่มีการดำเนินการในส่วนนี้ โดยสหกรณ์ฯให้เหตุผลว่า สหกรณ์ฯเป็นนิติบุคคล การดำเนินการต่างๆจะต้องมีการแก้ไขระเบียบฯ และต้องขึ้นอยู่ที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ว่าจะให้แก้ระเบียบฯหรือไม่
@เปิดหนังสือ 3 ฉบับ กำชับปฏิบัติตามระเบียบปี 51
สำนักข่าวอิศรารายงานด้วยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2566 ที่ประชุม ครม. มีมติมอบหมายให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐดำเนินการปรับปรุง/กำหนดหลักเกณฑ์การหักเงินเดือนทั้งเพื่อชำระหนี้เงินกู้และคำใช้จ่ายอื่นใดของบุคลากรในสังกัด โดยต้องมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิเพื่อการดำรงชีพไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ตามแนวทางเดียวกับระเบียบกระวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือนบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551
ต่อมา พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการฯ ได้ทำบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด ที่ ศธ.0201.6/422 ลงวันที่ 8 ก.พ.2567 เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา แจ้งไปยังหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดและองค์กรในกำกับกระทรวงศึกษาธิการฯ โดยมีเนื้อหาว่า
ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของทุกภาคส่วน และ ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2566 เห็นชอบให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐดำเนินการปรับปรุง/กำหนดหลักเกณฑ์การหักเงินเดือนทั้งเพื่อชำระหนี้เงินกู้และค่าใช้จ่ายอื่นใดของบุคลากรในสังกัดโดยต้องมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิเพื่อการดำรงชีพไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ตามแนวทางเดียวกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 นั้น
เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการตามนโยบายรัฐบาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงกำหนดแนวทางให้ทุกส่วนราชการในสังกัดและองค์กรในกำกับ รวมทั้งผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ดำเนินการ ดังนี้
1.ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 อย่างเคร่งครัด
2.ให้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีความประสงค์ให้ต้นสังกัดหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ และหักเงินเดือนเพื่อสิทธิประโยชน์อื่นใดตามที่กฎหมายกำหนด จัดทำหนังสือยินยอมให้ส่วนราชการหักเงินเดือน ณ ที่จ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้นั้น จะต้องมีเงินเดือนสุทธิหลังจากหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ 30
3.ให้สถานีแก้หนี้ คณะกรรมการแก้ไขหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา และผู้บังคับบัญชาตันสังกัด กำกับดูแล และดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีปัญหาในการชำระหนี้ โดยประสานกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูหรือสถาบันการเงินอื่นในการดำเนินการ เพื่อให้เป็นไปกามระเบียบกฎหมาย และประกาศที่เกี่ยวข้องต่อไป
4.สำหรับกรณีผู้ที่มีหนี้สินและต้องการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ให้สถานีแก้หนี้ และผู้บังคับบัญชาต้นสังกัด พิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยให้เชิญเจ้าหนี้ทุกรายร่วมเจรจาเพื่อปรับโครงสร้างหนี้หรือแก้ไขปัญหาการชำระหนี้ แล้วรายงานผลการดำเนินการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการทราบ (ผ่านตามสายงาน) และให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สรุปรวบรวมนำเสนอรัฐมนตรีภายในวันที่ 10 ของทุกเดือน
นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ทำหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04001/ว 640 ลงวันที่ 30 ม.ค.2567 เรื่อง ขอให้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 แจ้งไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต และผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ โดยมีเนื้อหาว่า
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำชับให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และสถานศึกษาที่เป็นหน่วยเบิกดำเนินการหักเงินเดือนเงินบำนาญให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 อย่างเคร่งครัดความแจ้งแล้ว นั้น
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ตรวจสอบแล้วพบว่ายังคงมีครูที่ถูกหักจ่ายเงินเดือนไม่ถูกต้องตามระเบียบดังกล่าวข้างต้น จึงขอให้สำนักงานเขพื้นที่การศึกษา สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และสถานศึกษาที่เป็นหน่วยเบิกได้ตรวจสอบและดำเนินการหักเงินเดือนให้ถูกต้องตามระเบียบอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ หากพบว่ามีเจตนาไม่ปฏิบัติตามระเบียบจะต้องถูกดำเนินการทางวินัย
อ่านประกอบ :
ศธ.สั่งทุกสังกัด ย้ำแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครู ต้องเหลือเงินใช้ไม่น้อยกว่า 30%
โชว์มติ‘ครม.เศรษฐา’แก้หนี้‘ขรก-จนท.รัฐ’ กล่อม‘สหกรณ์’ลดดบ.กู้-หักจ่ายหนี้เหลือเงินใช้30%
‘เครือข่ายแก้หนี้ครูฯ’เปิดรณรงค์ กำหนดโทษ‘สพท.’ไม่ปฏิบัติตามระเบียบหักเงินเดือนฯปี 51
เปิดรายงาน กมธ.(จบ) ข้อเสนอแก้‘หนี้ครู’ ชงรื้อกลไก‘สวัสดิการหักเงินเดือน’-คุมกู้เกินตัว
เปิดรายงานกมธ.(1) เจาะลึก 5 ปัญหาเชิงโครงสร้าง ‘หนี้ครู’ ต้นตอครูอาจต้องเป็นหนี้ไปจนตาย?
ขายบ้านจ่ายหนี้!ทุกข์‘ครู’ถูกสหกรณ์ฯหักเงินหน้าซองเหลือใช้ 900 บ.-จี้ศธ.บังคับใช้ระเบียบ
'ศธ.'จับมือพันธมิตรแก้หนี้ครู 1.4 ล้านล. เน้นปรับโครงสร้างฯ-หลังหักหนี้ต้องมีเงินใช้ 30%
ประโยชน์ทับซ้อน! ถ่วงแก้หนี้ครู จี้ลงโทษสหกรณ์ฯหักหนี้ผิดกม.-ลด'ดบ.เงินกู้สวัสดิการ'
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู (จบ) : คำเตือนถึงนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบละเลยปัญหา
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู (3) : พร้อมใจกันเปิดเผยสลิปเงินเดือนฟ้องสังคม
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู(2) : มหกรรมไกล่เกลี่ย’หนี้ครู’ผักชีโรยหน้า?
จม.เปิดผนึกเครือข่ายแก้หนี้ครู(1) : ต้องรื้อระบบการหักเงินเดือนของสวัสดิการ-สหกรณ์
‘เครือข่ายแก้หนี้ครูฯ’ จี้รัฐแก้ปมปล่อย‘เจ้าหนี้’หักเงินเดือน‘ครู’ จนเหลือเงินไม่พอใช้