“…พิจารณาการดำเนินการลดภาระทางการเงินของลูกหนี้ และช่วยให้ลูกหนี้สามารถส่งคืนหนี้ของตนได้อย่างคล่องตัวมากขึ้นด้วย ดังนี้ 2.1 การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้เหมาะสม สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของลูกหนี้ และรูปแบบการชำระหนี้จากลูกหนี้ 2.2 การกำหนดค่างวดเงินกู้ให้เหมาะสมกับรายได้ของผู้กู้ 2.3 การใช้ทุนเรือนหุ้นของลูกหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อบรรเทาภาระหนี้เงินกู้สวัสดิการได้ตามความจำเป็น…”
.................................
การแก้ปัญหาหนี้สิน ‘ข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ’ นับล้านคน
ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของ ‘นโยบายแก้ปัญหาหนี้สินให้กับประชาชนรายย่อย’ ที่ ‘รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน’ ให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการแก้ปัญหา ‘หนี้สินนอกระบบ’ และหนี้สินกลุ่มอื่นๆ ท่ามกลางสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดแถลงข่าวเรื่อง ‘การจัดการหนี้ทั้งระบบ’ โดยกำหนดแนวทางการปัญหาหนี้สินครอบคลุมลูกหนี้ 4 กลุ่ม หนึ่งในนั้น คือ ‘ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพ’ ซึ่งพุ่งเป้าไปที่ลูกหนี้ กลุ่มข้าราชการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำรวจ และทหาร
“กลุ่มข้าราชการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำรวจ ทหาร จะได้รับการช่วยเหลือผ่าน 3 แนวทางด้วยกัน แนวทางแรก คือ การลดดอกเบี้ยสินเชื่อไม่ให้สูงจนเกินไป เพราะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ประจำและถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ
แนวทางที่สอง จะต้องโอนหนี้ทั้งหมดไปไว้ในที่เดียว เช่น ที่สหกรณ์ เพื่อให้การตัดเงินเดือนนำมาชำระหนี้ทำได้สะดวก และสอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ และ
แนวทางสุดท้าย คือ บังคับใช้หลักเกณฑ์การตัดเงินเดือน ให้ลูกหนี้มีเงินเดือนเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งทั้ง 3 แนวทางนี้ จะต้องทำ ‘พร้อมกัน’ ทั้งหมด” เศรษฐา กล่าวในการแถลง เรื่อง การจัดการหนี้ทั้งระบบ เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2566 (อ่านประกอบ : พักหนี้SMEs 1 ปี-ลดดบ.รายย่อย! 'เศรษฐา'วางกรอบแก้หนี้ปัญหา 4 กลุ่ม-ย้ำต้องจบในรัฐบาลนี้)
ถัดจากนั้นอีก 1 สัปดาห์ต่อมา นายกฯ เศรษฐา สั่งการใน ครม. โดยมอบหมายให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ดำเนินมาตรการและแนวทางเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาหนี้สินของ ‘บุคลากรภาครัฐ’ ที่สังกัดส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ในระยะต่อไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา ครม. มีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินให้กับบุคลากรภาครัฐ ซึ่งประกอบด้วย 2 แนวทางหลัก ดังนี้
แนวทางแรก ให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ พิจารณาปรับปรุง/กำหนดหลักเกณฑ์ การหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้เงินกู้ของบุคลากรในสังกัด โดยต้องมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิหลังจากหักชำระหนี้ประจำเดือนแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ในแนวทางเดียวกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือนฯ ปี 2551
แนวทางที่สอง ให้คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ประสานกับสถาบันการเงินและสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ ที่เป็นเจ้าหนี้เงินกู้เพื่อสวัสดิการแก่บุคลากรของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ พิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้เหมาะสม และสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของลูกหนี้ เป็นต้น
“ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของทุกภาคส่วน ซึ่งกระทรวงการคลังได้เสนอ เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบต่อ ครม. แล้ว นั้น เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีความชัดเจนและครบถ้วนมากยิ่งขึ้น จึงขอมอบหมายการดำเนินการในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ดังนี้
1.ให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ พิจารณาปรับปรุง/กำหนดหลักเกณฑ์ การหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้เงินกู้ของบุคลากรในสังกัด
โดยต้องมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิหลังจากหักชำระหนี้ประจำเดือนแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ในแนวทางเดียวกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือนบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 (ระเบียบฯปี 2551) เพื่อให้บุคลากรในสังกัดมีเงินเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพตามความจำเป็น
2.ให้คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมส่งเสริมสหกรณ์) ในการประสานกับสถาบันการเงินและสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ ที่เป็นเจ้าหนี้เงินกู้เพื่อสวัสดิการแก่บุคลากรของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ตามแต่กรณี
เพื่อพิจารณาการดำเนินการลดภาระทางการเงินของลูกหนี้ และช่วยให้ลูกหนี้สามารถส่งคืนหนี้ของตนได้อย่างคล่องตัวมากขึ้นด้วย ดังนี้
2.1 การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้เหมาะสม สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของลูกหนี้ และรูปแบบการชำระหนี้จากลูกหนี้
2.2 การกำหนดค่างวดเงินกู้ให้เหมาะสมกับรายได้ของผู้กู้
2.3 การใช้ทุนเรือนหุ้นของลูกหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อบรรเทาภาระหนี้เงินกู้สวัสดิการได้ตามความจำเป็น ซึ่ง ครม. พิจารณาแล้ว ลงมติเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรี เสนอ” หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/ว 331 เรื่อง การดำเนินการเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาหนี้สินทั้งระบบ ลงวันที่ 22 ธ.ค.2566 ระบุ
@ชี้ ‘นโยบายดี’ แต่ห่วงอาจปฏิบัติไม่ได้จริง
แต่ทว่าในการเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้สินบุคลากรภาครัฐ ตามแนวทางที่ ครม. เห็นชอบนั้น อาจไม่ใช่เรื่องง่ายในการปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นกรณีการหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้แล้ว จะต้องเหลือเงินเดือนสุทธิไม่น้อยกว่า 30% หรือการให้สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ‘ลดดอกเบี้ย’ ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกหนี้
อิทธิพัทธ์ ธีระวรรณสาร ผู้ประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคมแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ถึงกรณีที่ ครม.มีมติ มอบหมายให้ทุกส่วนราชการไปกำหนดหลักเกณฑ์ ‘การหักเงินเดือน’ เพื่อทำให้ข้าราชการในสังกัดมีเงินเดือนเหลือใช้ไม่น้อยกว่า 30% หลังจากหักชำระหนี้ ว่า “อันนี้ดีมาก เป็นนโยบายที่ดี”
อย่างไรก็ดี อิทธิพัทธ์ ตั้งคำถามว่า การทำให้บุคลากรภาครัฐเหลือเงินใช้ 30% จริงๆ ‘ไม่ใช่ 30% ทิพย์’ หลังจากหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้แล้ว จะเป็นจริงในทางปฏิบัติหรือไม่
พร้อมทั้งยกตัวอย่างกรณี ‘หนี้สินครู’ ที่แม้ว่าจะมีระเบียบฯปี 2551 ให้ครูต้องเหลือเงินใช้ไม่น้อยกว่า 30% หลังหักชำระหนี้ แต่ปรากฏว่าครูบางคนเหลือเงินเดือนใช้เพียง 1,000 บาท
“แม้ว่าจะมีระเบียบฯปี 2551 แต่กลับมีการรู้เห็นเป็นใจ ให้สหกรณ์ออมทรัพย์ฯหักหนี้ครู จนกระทั่งครูเหลือเงิน 1,000 บาท หรือบางทีไม่เหลือเลย เช่น บางสหกรณ์ฯที่มีเรียกเก็บหนี้ครู 80-90% ของเงินเดือน จะมีการหักเงิน (หน้าซอง) 70% ของเงินเดือนไปก่อน ส่วนที่เหลืออีก 10-20% ให้ครูที่เป็นสมาชิกไปจ่ายเงินเพิ่มเติมอีกทีหนึ่ง” อิทธิพัทธ์ กล่าว
อิทธิพัทธ์ กล่าวด้วยว่า การที่กระทรวงศึกษาธิการ ไม่มีการลงโทษสหกรณ์ออมทรัพย์ฯที่หักเงินเดือนครูเพื่อชำระหนี้เกินกว่าที่ระเบียบฯปี 2551 นั้น นอกจากจะทำให้ครูได้รับความเดือดร้อนไม่รู้จบ เพราะเงินเดือนไม่พอใช้จ่ายแล้ว ยังทำให้สหกรณ์ฯละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญในการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับครูที่เป็นลูกหนี้อีกด้วย
(อิทธิพัทธ์ ธีระวรรณสาร)
@เสนอวิธีจูงใจ‘สหกรณ์ฯ’ลดดอกเบี้ยเงินกู้
อิทธิพัทธ์ ยังให้ความเห็นกรณีที่ ครม. มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินฯ ประสานกับสถาบันการเงินและสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ ในการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้เหมาะสม สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของลูกหนี้ ว่า สามารถทำได้แน่นอน แต่ต้องมีวิธีการที่จะทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
เช่น ในกรณีสหกรณ์ฯแห่งนั้นๆ ไม่ลดดอกเบี้ยเงินกู้ตามนโยบายที่กำหนด รัฐบาลจะต้องประกาศอย่างชัดเจนว่า ต้องไม่ให้ส่วนราชการใด หักเงิน ณ ต้นสังกัด ให้กับสหกรณ์ฯนั้นๆ และหากดำเนินการตามแนวทางนี้ เชื่อว่าสหกรณ์ฯจะยอมลดดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่อสวัสดิการ ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ ลงมาเหลือ 4.75% แน่นอน
“สินเชื่อสหกรณ์ฯ เป็นสินเชื่อสวัสดิการที่ความเสี่ยงต่ำที่สุด เพราะหัก ณ ที่จ่าย จากเงินเดือน ส่วนต้นทุนเงินฝาก จริงๆแล้วก็ไม่เท่าไหร่ และก็ขึ้นอยู่กับว่า สหกรณ์ฯนั้นๆ จะคำนึงถึงนายทุนและคนฝากเงินขนาดไหน แล้วก็จะไปเพิ่มดอกเบี้ยเงินฝาก และเพิ่มเงินปันผลให้ตรงนั้น แต่ยิ่งปันผลให้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยสูงเท่านั้น
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจำกัดเงินปันผลไว้ ซึ่งรัฐบาลก็ออกมาแล้วว่า เงินปันผลต้องไม่เกิน 5% ต่อปี ส่วนเรื่องการลดดอกเบี้ยเงินกู้นั้น วันนี้รัฐบาลได้ประกาศชัดเจนว่าดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 4.75% แล้วถ้าบอกไปเลย สหกรณ์ฯไหนไม่ทำตาม ก็จะไม่ให้หักเงิน ณ ต้นสังกัด ถ้าทำอย่างนี้จบเลย และสหกรณ์จะลดดอกเบี้ยเงินกู้แน่นอน” อิทธิพัทธ์ ย้ำ
ด้าน วิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ ระบุว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ไม่มีอำนาจไปบังคับให้สหกรณ์ฯลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงตามที่รัฐบาลกำหนดได้ แต่จะใช้วิธีการขอความร่วมมือให้สหกรณ์ลดดอกเบี้ยลงมา โดยกรมฯจะส่งหนังสือขอความร่วมมือไปยังทุกสหกรณ์ในวันที่ 25 ธ.ค.นี้
“กรมส่งเสริมสหกรณ์ไม่มีอำนาจที่จะไปบังคับสหกรณ์ แต่เราจะออกเป็นหนังสือขอความร่วมมือจากสหกรณ์ในวันจันทร์ที่ 25 ธ.ค.นี้ ว่า ขอให้สหกรณ์ฯคิดอัตราดอกเบี้ยจากสมาชิกผู้กู้ ในอัตราที่คณะกรรมการกำกับการแก้หนี้ฯ ขอความร่วมมือมา แต่อันนี้จะอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการสหกรณ์ของแต่ละสหกรณ์ว่าจะลดดอกเบี้ยเท่าไหร่
เพราะเรื่องการกำหนดดอกเบี้ยนั้น เพดานดอกเบี้ยจะถูกกำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่เมื่อ คณะกรรมการฯ มองว่า มีความเสี่ยงต่ำ เพราะสหกรณ์หัก ณ ที่จ่าย และอยากให้เก็บตามลักษณะความเสี่ยงในการให้เงินกู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ เราก็เลยจะขอความร่วมมือไปอย่างนี้” วิศิษฐ์ กล่าว
จากนี้คงต้องติดตามต่อไปว่า การดำเนินการตามแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้สินของ ‘ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่ของรัฐ’ ที่ ครม. มีมติเห็นชอบดังกล่าว จะมีผลในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมอย่างไร?
อ่านประกอบ :
พักหนี้SMEs 1 ปี-ลดดบ.รายย่อย! 'เศรษฐา'วางกรอบแก้หนี้ปัญหา 4 กลุ่ม-ย้ำต้องจบในรัฐบาลนี้
ลงทะเบียนหนี้นอกระบบวันแรก 22,090 คน กทม.มากสุด รวมหนี้ 935 ล้าน
‘ชัชชาติ’ เล็งทำฐานข้อมูลเจ้าหนี้-ลูกหนี้นอกระบบ 50 เขต กทม.
คุมดอกเบี้ย15%! นายกฯสั่ง'มท.-ตร.'ช่วยลูกหนี้ไกล่เกลี่ยฯหนี้นอกระบบ-ดึงแบงก์รัฐปล่อยกู้
‘มหาดไทย’ รับลูก ‘เศรษฐา’ นัดถกแก้หนี้นอกระบบ 28 พ.ย.66
‘บอร์ดแก้หนี้ฯ’ลุยสางหนี้ ขรก.-‘ยธ.’รื้อกม.รับ‘ปล่อยกู้นอกระบบ-ดบ.เกิน15%’เป็น‘คดีพิเศษ’
เปิดรายงาน กมธ.(จบ) ข้อเสนอแก้‘หนี้ครู’ ชงรื้อกลไก‘สวัสดิการหักเงินเดือน’-คุมกู้เกินตัว
เปิดรายงานกมธ.(1) เจาะลึก 5 ปัญหาเชิงโครงสร้าง ‘หนี้ครู’ ต้นตอครูอาจต้องเป็นหนี้ไปจนตาย?
ขายบ้านจ่ายหนี้!ทุกข์‘ครู’ถูกสหกรณ์ฯหักเงินหน้าซองเหลือใช้ 900 บ.-จี้ศธ.บังคับใช้ระเบียบ
'ศธ.'จับมือพันธมิตรแก้หนี้ครู 1.4 ล้านล. เน้นปรับโครงสร้างฯ-หลังหักหนี้ต้องมีเงินใช้ 30%
ประโยชน์ทับซ้อน! ถ่วงแก้หนี้ครู จี้ลงโทษสหกรณ์ฯหักหนี้ผิดกม.-ลด'ดบ.เงินกู้สวัสดิการ'