“…กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มีหนังสือแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้านราย นางพฤฒิพร เนติโพธิ์ โดยตรงต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม โดยอ้างว่าได้รับคำสั่งหรือการมอบหมายจากอัยการสูงสุดโดยตรง โดยมิได้มีการแจ้งให้อธิบดีอัยการ หรือพนักงานอัยการ สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการทราบแต่อย่างใด…”
..........................
สืบเนื่องจากกรณี พฤฒิพร เนติโพธิ์ อัยการอาวุโส แจ้งขอถอนตัวจากการเป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 (คดีดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8) และข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2563 (คดีดาวเทียมไทยคม 5) เมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา
โดย พฤฒิพร ให้เหตุผลว่า “เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ” (อ่านประกอบ : ‘พฤฒิพร เนติโพธิ์’ แจ้งถอนตัว ‘อนุญาโตฯ’ คดีไทยคม-ยันคู่กรณีไม่คัดค้าน 'ความเป็นกลาง’)
แต่ก่อนที่ พฤฒิพร จะแจ้งถอนตัวจากการเป็นอนุญาโตตุลาการฯทั้ง 2 ข้อพิพาท ไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ อธิบดีอัยการ สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ สำนักงานอัยการสูงสุด มีหนังสือที่ อส 0027/310 ลงวันที่ 20 ก.ย.2564 เรื่อง รายงานคดีสำคัญ แจ้ง วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด
สรุปเนื้อหาได้ว่า การแต่งตั้ง พฤฒิพร เป็นอนุญาโตตุลาการฯทั้ง 2 ข้อพิพาท ขัดต่อระเบียบสำนักงานอัยการฯ และอาจไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 และประมวลจริยธรรมอนุญาโตตุลาการ (อ่านประกอบ : อธิบดีอัยการสำนักอนุญาโตฯ ระบุชัด ‘ก.ดีอีเอส’ ตั้ง 'พฤฒิพร' คดีไทยคม ขัดระเบียบ-กม.)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอหนังสือที่ อส 0027/310 ลงวันที่ 20 ก.ย.2564 เรื่อง รายงานคดีสำคัญ ที่ ไพรัช แจ้งต่ออัยการสูงสุด ดังนี้
ตามที่สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ ได้รับแก้ต่างแทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรณี บริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 2 คน ร่วมกันยื่นเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 และข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2563 ต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นคดีสำคัญตามที่ได้เคยกราบเรียนไปแล้ว นั้น
สืบเนื่องจากมีการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม ถึงวันที่ 3 กันยายน 2564 โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (พรรคฝ่ายค้าน) อภิปรายเกี่ยวกับการดำเนินการคดีไทยคมในชั้นอนุญาโตตุลาการ
มีสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้เสนอตั้ง นางพฤฒิพร เนติโพธิ์ เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้านทั้งสองคดี ทั้งที่มีข้อน่าสงสัยในความเป็นกลางและเป็นอิสระของบุคคลดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรง จนอาจเป็นเหตุที่ทำให้คำชี้ขาดที่จะมีต่อมาอาจถูกเพิกถอนได้
หลังจากนั้นได้มีการขยายผลและขยายความ โดยสื่อต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ วารสาร และสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่อง มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากหลาย และเกิดความเคลือบแคลงระแวงสงสัยในการดำเนินคดีของภาครัฐว่า เป็นการดำเนินคดีโดยไม่สุจริต เพื่อให้เกิดประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือไม่
จึงเป็นคดีที่ประชาชนสนใจ มีผลกระทบต่อรัฐ หรือความรู้สึกของประชาชน มีการเสนอข่าวทางสื่อมวลชนและอยู่ในความสนใจของประชาชนอย่างกว้างขวาง และคดีมีทุนทรัพย์ตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป
ประกอบกับเมื่อวันศุกร์ที่ 17 กันยายน 2564 สำนักข่าวอิศรา รายงานข่าวในหมวด "เรื่องเด่น: นโยบายสารารณะ" รายละเอียดตามเอกสารแนบ 1 ความตอนหนึ่งว่า
“ปลัดกระทรวงดีอีเอสได้ส่งหนังสือไปยังท่านอัยการสูงสุดเพื่อให้พิจารณาทบทวนว่าการแต่งตั้งนางพฤฒิพรเป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอสในคดีไทยคม มีความเหมาะสมหรือไม่โดยเฉพาะเรื่องความเป็นกลาง พร้อมทั้งได้แนบคำอภิปรายของฝ่ายค้านเกี่ยวกับคดีพิพาทไทยคมไปให้อัยการสูงสุดด้วย
และข้อความตอนหนึ่งว่า “...ล่าสุดอัยการสูงสุดได้รับทราบหนังสือของปลัดกระทรวงดีอีเอสแล้ว และได้ส่งเรื่องไปให้นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ อธิบดีอัยการ สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ สำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณาดำเนินการ โดยขณะนี้กระทรวงดีอีเอสกำลังรอคำตอบจากอัยการสูงสุดอยู่…”
@'ดีอีเอส' อ้างคำสั่ง 'อัยการสูงสุด' ตั้งอนุญาโตตุลาการฯขัดระเบียบ
สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการขอกราบเรียนชี้แจง ดังนี้
1.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มีหนังสือแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้านราย นางพฤฒิพร เนติโพธิ์ โดยตรงต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม โดยอ้างว่าได้รับคำสั่งหรือการมอบหมายจากอัยการสูงสุดโดยตรง โดยมิได้มีการแจ้งให้อธิบดีอัยการ หรือพนักงานอัยการ สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ ทราบแต่อย่างใด
ข้อเท็จจริงตามข้อพิพาททั้งสอง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ดำเนินการแต่งตั้งนางพฤฒิพร เนติโพธิ์ เป็นอนุญาโตตุลาการเอง โดยมิได้ร้องขอให้อธิบดีอัยการ หรือพนักงานอัยการ สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ เป็นผู้ดำเนินการ
กรณีจึงมิได้มีการดำเนินการตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีแพ่งของพนักงานอัยการ พ.ศ.2560 ข้อ 75 กล่าวคือ อธิบดีอัยการ สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ มิได้เป็นผู้เสนอชื่อนางพฤฒิพร เนติโพธิ์ เพื่อขออนุมัติจากอัยการสูงสุดแต่อย่างใด
ดังนั้น อธิบดีอัยการ สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ ไม่อาจที่จะล่วงรู้หรือตรวจสอบคุณสมบัติและความเป็นกลางและเป็นอิสระของบุคคลดังกล่าว ก่อนที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะได้แต่งตั้งบุคคลดังกล่าวเพื่อเป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้านแต่อย่างใด
อนึ่ง ขอกราบเรียนว่า ในการที่อธิบดีอัยการ สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ จะพิจารณาเสนอรายชื่อพนักงานอัยการรายใดเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการนั้น นอกจากจะต้องคำนึงถึงพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 19
ประกอบกับระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีแพ่งของพนักงานอัยการ พ.ศ.2560 ข้อ 75 และหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ อส 0040 (ญต)/214 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2554 เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นอนุญาโตตุลาการ แล้ว
ยังต้องพิจารณาถึงหลักเกณฑ์ทางด้านจริยธรรมของสถานที่ที่ดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการนั้น (ถ้ามี) ประกอบด้วย ซึ่งกรณีตามข้อพิพาททั้งสองคดีนี้ คือ ประมวลจริยธรรมอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม
2.ตามที่สำนักข่าวอิศรารายงานข่าวหัวข้อ “'ดีอีเอส' โยน 'อสส.'ทบทวนตั้ง 'พฤฒิพร' เป็นอนุญาโตฯ คดีไทยคม หลังมีข้อครหาไม่เป็นกลาง" โดยมีความตอนหนึ่งว่า อัยการสูงสุดได้ส่งหนังสือของปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมไปยังอธิบดีอัยการ สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไปนั้น
ขอกราบเรียนว่า จนถึงขณะนี้อธิบดีอัยการ สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ ยังไม่ได้รับหนังสือหรือสำเนาหนังสือดังกล่าวจากอัยการสูงสุดแต่อย่างใด ข้อความในข่าวของสำนักข่าวอิศราจึงไม่เป็นความจริง
นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็มิได้มีสำเนาหนังสือดังกล่าวแจ้งให้อธิบดีอัยการ หรือพนักงานอัยการ สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ ด้วยแต่อย่างใด
เนื่องจากการเสนอชื่อและแต่งตั้งนางพฤฒิพร เนติโพธิ์ เป็นอนุญาโตตุลาการนั้น มิได้ดำเนินการผ่านหรือโดยอธิบดีอัยการ หรือพนักงานอัยการ สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการแต่อย่างใด ดังนั้น อธิบดีอัยการ หรือพนักงานอัยการ สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ จึงไม่อาจจะพิจารณาหรือดำเนินการใดๆ ได้
(ไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ ที่มาภาพ : สถาบันอนุญาโตตุลาการ THAC)
@ชี้การกระทำของ 'พฤฒิพร' ไม่สอดคล้องพ.ร.บ.อนุญาโตฯ
3.การที่นางพฤฒิพร เนติโพธิ์ ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ของนางพฤฒิพร เนติโพธิ์ ลงวันที่ 7 กันยายน 2564 เรื่อง การเปิดเผยถึงข้อเท็จจริงอันอาจทำให้คู่พิพาทเกิดความสงสัยอันควรในความเป็นอิสระและความเป็นกลาง (ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 และข้อพิพาทคดีหมายเลขดำที่ 93/2563) ตามเอกสารแนบ 2
ถึงบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 2 คน ผู้เรียกร้อง, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้คัดค้าน, ผู้อำนวยการสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม, ประธานคณะอนุญาโตตุลาการ และอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้รียกร้องในคดีข้อพิพาททั้งสองคดีข้างต้น โดยได้ชี้แจงและเปิดเผยข้อเท็จจริง อันอาจทำให้คู่พิพาทเกิดความสงสัยอันควรในความเป็นอิสระและความเป็นกลางและแจ้งว่า
หากมีกรณีที่ยังคงมีความสงสัยในความเป็นอิสระและเป็นกลางของ นางพฤฒิพร เนติโพธิ์ ที่จะทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้าน หรือมีเหตุสงสัยอื่นใดในคุณสมบัติของนางพฤฒิพร เนติโพธิ์ ให้ทำคำคัดค้านเป็นหนังสือแจ้งเหตุที่คัดค้านโดยแจ้งชัด และยื่นต่อผู้อำนวยการสถาบันอนุญาโตตุลาการภายใน 15 วัน
หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว และไม่ได้ขอขยายระยะเวลา ให้ถือว่ายอมรับความเป็นกลาง รวมถึงคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถในการทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้าน โดยจะไม่หยิบยกอ้างเหตุอันควรสงสัย ในความเป็นกลางและความเป็นอิสระหรือความรู้ความสามารถใดๆของนางพฤฒิพร เนติโพธิ์ มาเป็นเหตุเพิกถอนคำชี้ขาด นั้น
สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ปรากฎในหนังสือดังกล่าวนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่และเกิดก่อนที่นางพฤฒิพร เนติโพธิ์ จะได้รับการเสนอชื่อและแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการทั้งสิ้น
การชี้แจงและเปิดเผยข้อเท็จจริงภายหลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการแล้ว อาจไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 และประมวลจริยธรรมอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม
ซึ่งมีแนวคำพิพากษาบรรทัดฐานของศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดในเรื่องดังกล่าวว่า ความเป็นกลางและเป็นอิสระของอนุญาโตตุลาการ เป็นสาระสำคัญอย่างยิ่งของกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ซึ่งจะต้องมีอยู่ทั้งก่อนและตลอดเวลาในการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ
ทั้งนี้ ศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่า อนุญาโตตุลาการมีความไม่เป็นกลางหรือไม่ เป็นอิสระจริงหรือไม่ เพราะเพียงแต่มีข้อที่น่าสงสัยในความเป็นกลางและเป็นอิสระของอนุญาโตตุลาการเพียงคนเดียว ก็ย่อมกระทบต่อความเชื่อมั่นในการดำเนินการของคณะอนุญาโตตุลาการทั้งคณะ และเป็นเหตุเพียงพอที่ศาลจะมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดแล้ว
ดังนั้น พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 และประมวลจริยธรรมอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการสำนักงานศาลยุติธรรม จึงได้กำหนดไว้สอดคล้องกันว่า
เมื่อมีกรณีที่อาจเกิดความสงสัยในความเป็นกลางและเป็นอิสระของบุคคลใดแล้ว บุคคลนั้นไม่ควรรับการเสนอชื่อเป็นอนุญาโตตุลาการ หรือพึงถอนตัวออกจากการเป็นอนุญาโตตุลาการเสีย ทั้งนี้ การไม่รับการเสนอชื่อ หรือการถอนตัว ไม่ถือว่าเป็นการยอมรับว่า มีเหตุแห่งความไม่เป็นกลาง หรือไม่เป็นอิสระเกิดขึ้นแต่อย่างใด
อนึ่ง หนังสือชี้แจงดังกล่าวเป็นหนังสือที่อนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้าน (นางพฤฒิพร เนติโพธิ์) ทำขึ้นเองฝ่ายเดียว มิใช่หนังสือที่ออกโดยสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรม หรือคณะอนุญาโตตุลาการ
ซึ่งตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ประกอบกับข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรม ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2560 มิได้ให้อำนาจอนุญาโตตุลาการคนเดียว สามารถมีหนังสือในทำนองวินิจฉัยสั่งการหรือขี้ขาดประเด็นข้อพิพาทเช่นนี้ได้
@เสนอ 'ดีอีเอส' ทบทวนตั้ง 'พฤฒิพร' เป็นอนุญาโตฯ
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของภาครัฐ เมื่อปรากฏว่าสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ได้นำหนังสือดังกล่าวเข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม (E-Arbitration) แล้ว
คณะทำงาน ซึ่งเป็นพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบสำนวนในคดีพิพาทดังกล่าว ได้มีหนังสือสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการอนุญาโตตุลาการ 2 ที่ อส 0024 (ญต2)/231 ลงวันที่ 9 กันยายน 2564 เรื่อง การเปิดเผยข้อเท็จจริงของอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้าน ไปถึงปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศษรฐกิจและสังคม เพื่อทราบและพิจารณาถึงกรณีดังกล่าว
และหากมีความประสงค์ให้อนุญาโตตุลาการคนดังกล่าวถอนตัว ให้แจ้งความประสงค์ไปยังสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม หรือคณะอนุญาโตตุลาการในวันที่ 21 กันยายน 2564 รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบ 3
นอกจากนี้ อธิบดีอัยการ สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ ยังได้มีหนังสือสำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ ที่.อส 0023/309 ลงวันที่ 20 กันยายน 2564 เรื่อง การดำเนินการกรณีมีเหตุสงสัยในความเป็นกลางและเป็นอิสระของอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้าน (รายนางพฤฒิพร เนติโพธิ์) ถึงปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อยืนยัน และเร่งรัดให้ดำเนินการภายในกำหนด
และเมื่อพิจารณาได้ความอย่างไรหรือได้ดำเนินการอย่างใด ไปแล้ว ให้มีหนังสือแจ้งให้สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการทราบโดยด่วนที่สุด ภายในวันที่ 21 กันยายน 2564 ด้วย
@เปิดเนื้อหาหนังสือ 'พฤฒิพร' ยืนยัน 'เป็นกลาง-อิสระ'
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ก่อนหน้านี้ พฤฒิพร ได้ยืนยันถึงความเป็นกลางเป็นความเป็นอิสระของตนเอง ในการเป็นอนุญาโตตุลาการฯในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 และข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2563 โดยส่งหนังสือหนังสือ นางพฤฒิพร เนติโพธิ เรื่อง การเปิดเผยถึงข้อเท็จจริงอันอาจทำให้คู่พิพาทเกิดความสงสัยอันควรในความเป็นอิสระและความเป็นกลาง (ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 และข้อพิพาทคดีหมายเลขดำที่ 93/2563) ลงวันที่ 7 กันยายน 2564
ไปยังผู้อำนวยการสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ,ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้คัดค้าน ,บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ที่ 1 บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ที่ 2 ผู้เรียกร้อง ,ประธานอนุญาโตตุลาการในคดีข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 และ 93/2563 ,อนุญาโตตุลาการ ฝ่ายผู้เรียกร้อง ในคดีข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 และ 93/2563 มีรายละเอียด ดังนี้
ตามที่ข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งจากสถาบันอนุญาโตตุลาการ (สถาบัน) ให้เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้านตามที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้สถาบันดำเนินการแต่งตั้งตามข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทที่อ้างถึง และโดยสืบเนื่องจากกรณีมีการอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องดาวเทียมและเผยแพร่ทางข่าวหนังสือพิมพ์ ตามเอกสารแนบท้ายคำชี้แจง นั้น
ตามความในพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 19 และมาตรา 20 ประกอบข้อ 20 และข้อ 21 แห่งข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการที่บัญญัติว่าด้วยการเปิดเผยข้อเท็จจริงของอนุญาโตตุลาการ ได้กำหนดการเปิดเผยข้อเท็จจริงของอนุญาโตตุลาการว่า
“เมื่อได้รับการแต่งตั้งและตลอดระยะเวลาที่ดำเนินกระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการ หากมีข้อเท็จจริงอันอาจทำให้คู่พิพาทเกิดความสงสัยอันควรในความเป็นกลางและเป็นอิสระของตน ให้อนุญาโตตุลาการเปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าวให้คู่พิพาทและสถาบันทราบ”
ส่วนในกรณีการคัดค้านอนุญาโตตุลาการได้บัญญัติไว้ในมาตรา 20 และข้อ 21 ว่า
“(1) คู่พิพาทฝ่ายหนึ่งอาจคัดค้านอนุญาโตตุลาการ ซึ่งตั้งโดยคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งได้ หากมีความสงสัยอันควรในความเป็นอิสระและเป็นกลางของอนุญาโตตุลาการ
(2) การคัดค้านให้ทำเป็นหนังสือแจ้งเหตุที่คัดค้านโดยแจ้งชัดและยื่นต่อผู้อำนวยการภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งชื่อและรายละเอียดของอนุญาโตตุลาการผู้นั้น หรือรู้ถึงข้อเท็จจริงแห่งการคัดค้านแล้วแต่กรณี”
ข้าพเจ้าขอชี้แจงและเปิดเผยถึงข้อเท็จจริงอันอาจทำให้คู่พิพาทเกิดความสงสัยอันควรในความเป็นอิสระและความเป็นกลางของข้าพเจ้าถ้าหากพึงมีเพื่อประกอบการพิจารณา ดังนี้
1.ข้อเท็จจริงอันเกิดจากการปฏิบัติงานแม้มิใช่เกี่ยวพันกับประเด็นโดยตรงในคดีพิพาท แต่เพื่อความโปร่งใสตรวจสอบได้จึงขอแจ้งข้อเท็จจริงอันเกิดจากการเกี่ยวข้องในปฏิบัติงานในหน้าที่ ดังนี้
1.1 ขณะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายสัญญาและหารือ 1 สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย (2551) หารือการนำดาวเทียมไทยคม 5 มาทดแทนดาวเทียมไทยคม 3 ที่ปลดระวาง (De-Orbit) ได้มีหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ด่วนที่สุด ที่ อส 20026/9515 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 ลงนามโดย รองอัยการสูงสุดรักษาการแทนอัยการสูงสุดแจ้งตอบ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ความว่า
“สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอนุมัติให้นำดาวเทียมไทยคม 5 มาทดแทนดาวเทียมไทยคม 3 ที่ปลดระวาง (De-Orbit) เป็นการดำเนินงานตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของสัญญาแล้ว ทั้งเป็นประเด็นการบริหารสัญญา ซึ่งกระทรวงได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว
ประกอบกับคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แจ้งตอบข้อหารือกระทรวงตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ด่วนที่สุด ที่ นร 0901/0130 ลงวันที่ 23 มกราคม 2551 เกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วว่า การพิจารณาอนุมัติให้การปฏิบัติเป็นไปตามข้อกำหนดของสัญญานี้ เป็นเรื่องการบริหารสัญญาที่คู่สัญญาภาครัฐจะต้องรับผิดชอบ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงซึ่งรับผิดชอบในฐานะคู่สัญญา ย่อมเป็นผู้มีอำนาจในการอนุมัติกระทรวงจึงควรปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าวต่อไป”
1.2 ขณะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรองอธิบดีอัยการ (2558-2559) ได้รับแต่งตั้งจากอัยการสูงสุดเป็น คณะทำงานที่ปรึกษากฎหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
1.3 ขณะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิบดีอัยการสำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย ได้รับแต่งตั้งจากอัยการสูงสุดตามคำสั่งอัยการสูงสุด ที่ 1679/2560 สั่ง ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ให้เป็นคณะทำงานดำเนินคดีข้อพิพาทระหว่างบริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) ที่ 1 บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ที่ 2 ผู้เรียกร้อง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้คัดค้าน
ทั้งนี้ ในการเป็นคณะทำงานดังกล่าวเป็นการให้ความเห็นตามอำนาจหน้าที่ ในฐานะอธิบดีอัยการสำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย โดยมิได้เป็นผู้ที่ได้รับมอบอำนาจให้ว่าต่างแก้ต่างทางคดีแต่อย่างใด
1.4 ขณะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิบดีอัยการสำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย (2560-2561) ได้รับแต่งตั้งในฐานะผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ให้เป็นคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556
1.5 ขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นอัยการอาวุโส สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย (2564) ได้รับแต่งตั้งในฐานะผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาและเตรียมการดำเนินโครงการต่อเนื่องจากโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศให้กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
(พฤฒิพร เนติโพธิ ที่มาภาพ : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์)
2.การเปิดเผยข้อเท็จจริงในด้านอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นเหตุอันควรสงสัยถึงการปฏิบัติหน้าที่อนุญาโตตุลาการไม่อิสระหรือไม่เป็นกลาง
ในปี พ.ศ.2562 ข้าพเจ้าเข้ารับการศึกษาหลักสูตร “หลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นธป) รุ่นที่ 7 ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ” มีนักศึกษาที่เข้ารับการศึกษา จำนวน 52 ท่าน โดยส่วนหนึ่งในจำนวนผู้เข้ารับการศึกษา คือ ท่านประเสริฐ บุญสัมพันธ์ และท่านพรทิพา ชินเวชกิจวานิชย์
จากข้อเท็จจริงที่ได้แสดงไว้ดังกล่าวข้างต้น หากมีกรณีที่ยังคงมีความสงสัยในความเป็นอิสระและเป็นกลางของข้าพเจ้าที่จะทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้าน หรือมีเหตุสงสัยอื่นใดในคุณสมบัติของข้าพเจ้า ขอให้ท่านทำคำคัดค้านเป็นหนังสือแจ้งเหตุที่คัดค้านโดยแจ้งชัดและยื่นต่อผู้อำนวยการภายใน 15 วัน ตามความในมาตรา 19 วรรคสาม ประกอบมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ นับแต่วันที่รู้เหตุแห่งข้อเท็จจริงตามที่ข้าพเจ้าได้แจ้งมาให้ทราบเพื่อดำเนินการต่อไป
หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวและไม่ได้ขอขยายระยะเวลา ให้ถือว่าท่านยอมรับในความเป็นอิสระและความเป็นกลางรวมถึงคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถในการทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้านของข้าพเจ้า โดยจะไม่หยิบยกอ้างเหตุอันควรสงสัยหรือความเป็นกลางและความเป็นอิสระหรือความรู้ความสามารถใดๆ ของข้าพเจ้ามาเป็นเหตุเพิกถอนคำชี้ขาด
ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงซึ่งเป็นผู้แต่งตั้ง ข้าพเจ้าขอสละสิทธิ์กรณีคู่พิพาทจะคัดค้านอนุญาโตตุลาการซึ่งตนเป็นผู้ตั้ง โดยข้าพเจ้ายินยอมให้กระทรวงคัดค้านข้าพเจ้าได้ หากยังคงมีข้อสงสัยและเคลือบแคลงในความเป็นกลางและเป็นอิสระ รวมทั้งความเหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่อนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้าน
และหากมีความประสงค์จะให้ข้าพเจ้าถอนตัวจากการเป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้านในคดีพิพาททั้งสองดังกล่าว ขอได้โปรดแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบด้วย เพื่อจะหยุดปฏิบัติหน้าที่การเป็นอนุญาโตตุลาการต่อไป
หลังการถอนตัวของ พฤฒิพร จากการทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส ในข้อพิพาทเกี่ยวกับสัมปทานดาวเทียมไทยคม ทั้ง 2 ข้อพิพาท แล้ว จึงต้องติดตามว่า ‘อัยการสูงสุด’ จะแต่งตั้งอัยการคนใดมาทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการฯในข้อพิพาทเหล่านี้
เพราะการชี้ขาดของ ‘คณะอนุญาโตตุลาการฯ’ ทั้ง 2 ข้อพิพาทนี้ มีเดิมพันไม่น้อยกว่า 1.8 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว!
อ่านประกอบ :
‘พฤฒิพร เนติโพธิ์’ แจ้งถอนตัว ‘อนุญาโตฯ’ คดีไทยคม-ยันคู่กรณีไม่คัดค้าน 'ความเป็นกลาง’
อธิบดีอัยการสำนักอนุญาโตฯ ระบุชัด ‘ก.ดีอีเอส’ ตั้ง 'พฤฒิพร' คดีไทยคม ขัดระเบียบ-กม.
เปิดละเอียดข้อกล่าวหา!ยื่น ป.ป.ช.สอบ ‘รมว.ดีอีเอส- อสส.’ แทรกแซงตั้งอนุญาโตฯคดีไทยคม
‘ก.อ.’ ถกปมตั้ง ‘อนุญาโตฯ’ คดีดาวเทียมไทยคม ส่อมีปัญหา-แนะ ‘พฤฒิพร’ ถอนตัว
‘ดีอีเอส’ โยน ‘อสส.'ทบทวนตั้ง ‘พฤฒิพร’เป็นอนุญาโตฯคดีไทยคม หลังมีข้อครหาไม่เป็นกลาง
โชว์คำสั่ง‘บิ๊กตู่’! ตั้ง‘พล.อ.วิทวัส’นั่งปธ.ตรวจสอบสัมปทานดาวเทียม-ถกนัดแรก 13 ก.ย.
‘บอร์ด กสทช.’ ไฟเขียว NT เข้าใช้วงโคจรดาวเทียม หลังสิ้นสุดสัมปทาน 'ไทยคม'
ย้อนปมแก้สัญญาดาวเทียม! ก่อนครม.ไล่เบี้ยหาคนผิด ลดหุ้น'ไทยคม’-ไม่ประมูล‘ไอพีสตาร์’
ครม.ไฟเขียวแก้สัญญาดาวเทียม ให้‘อินทัช’ ถือหุ้น‘ไทยคม’ไม่ต่ำกว่า 51%-ผนวก'ไอพีสตาร์'
แกะคู่มืออนุญาโตฯ เปิดช่อง ‘ไทยคม’ ได้เปรียบคดีดาวเทียม เดิมพันค่าโง่ 2.5 หมื่นล้าน
อภิปรายไม่ไว้วางใจ : ชำแหละมหากาพย์ 'ดาวเทียม’ เอื้อกลุ่มทุน-‘ชัยวุฒิ’ ปัดอุ้ม‘ไทยคม’
‘อสส.’ ส่งชื่อ ‘พฤฒิพร เนติโพธิ์’ เป็น ‘อนุญาโตฯ’ ชี้ขาดคดีไทยคม 2 ข้อพิพาท
ผู้ตรวจอัยการฯ VS ปลัดดีอีเอส : ขอให้ยึดถือความสัตย์จริง ตรงไปตรงมา
เสี่ยงถูกครอบงำ! ‘ผู้ตรวจอัยการ’ ค้านตั้ง ‘อนุญาโตฯ’ คนเดียว รวบคดีไทยคม
อ้างผิดพลาด! 'ปลัดดีอีเอส'ขออภัย 'ผู้ตรวจอัยการ’ ยันไม่เปลี่ยน‘อนุญาโตฯ’ คดีไทยคม 5
'รมว.ดีอีเอส' ยันเสนอชื่อ ‘อนุญาโตฯ’ คดี 'ไทยคม' ใหม่อีกรอบ ขึ้นอยู่กับ ‘อสส.’
‘ดีอีเอส’ ตีกลับ‘เลขาฯอสส.’! แจ้งขอเปลี่ยน 'อนุญาโตฯ' คดีพิพาทไทยคมอีกรอบ
4 ปมปัญหา! เบื้องหลังเปลี่ยน ’อนุญาโตฯ’คดีไทยคม หลังผลัดเก้าอี้ 'รมว.ดีอีเอส'
ปมขัดแย้งเปลี่ยน ‘อนุญาโตฯ’ ฝ่ายอัยการ คดีข้อพิพาท ‘ไทยคม’ เดิมพันผล ปย.หมื่นล้าน
เสียหายต่อชื่อเสียง! ‘ผู้ตรวจอัยการ’ จี้ ‘ปลัดดีอีเอส’ แจงปมเปลี่ยน 'อนุญาโตฯ' คดีไทยคม
ข้องใจ! ‘ผู้ตรวจฯอัยการ’ ถาม ‘ดีอีเอส’ หลัง ‘อสส.’ เปลี่ยน ‘อนุญาโตฯ’ คดีไทยคม
อสส.ตั้ง 'เลขาฯ’ตัวเองนั่งอนุญาโตฯ ‘คนเดียว’ พิจารณาข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 3 คดี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/