"...ทำให้เกิดคำถามว่า พฤฒิพร ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 ได้ดำเนินการตามคู่มืออนุญาโตตุลาการหรือไม่ โดยเฉพาะการเปิดเผย ‘ข้อเท็จจริง’ ที่เป็นลายลักษณ์อักษรต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการฯ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เคยเป็นทีมสู้คดีไทยคม 7 และไทยคม 8 รวมถึงความสัมพันธ์ ‘ทางสังคม’ กรณีเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเป็นผู้บริหารระดับสูงใน บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง..."
...........................
เป็น 'ช่องโหว่' ที่ทำให้ฝ่ายรัฐ 'ไม่เจ๊าก็เจ๊ง'
เมื่อ รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดยตั้งข้อสังเกตกรณีการเปลี่ยนแปลงตัวอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอสในคดีพิพาทสัมปทานดาวเทียมไทยคม ว่า จะทำให้รัฐมีแต่เจ๊ากับเจ๊ง
เพราะการที่ วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด เสนอแต่งตั้ง พฤฒิพร เนติโพธิ์ อัยการอาวุโส และอดีตอธิบดีอัยการ สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส ในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 (คดีพิพาทดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 ระหว่าง บมจ.ไทยคม และบมจ.อินทัช โฮลดิ้ง ผู้เรียกร้อง กับ กระทรวงดีอีเอส ผู้คัดค้าน) นั้น
เป็นการเปิดช่องให้ บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง ล้มผลการชี้ขาดของ 'คณะอนุญาโตตุลาการ' ได้ หากตัวเองเป็นฝ่ายแพ้คดี โดยยกกรณีที่ พฤฒิพร เคยเป็นทีมสู้คดีพิพาทสัมปทานดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 มาอ้างเป็นเหตุให้ศาลฯเพิกถอนคำชี้ขาด
เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำสั่งที่ ค.4/2557 วางหลักไว้ว่า หากมีข้อเท็จจริงว่า พนักงานอัยการเคยได้รับมอบอำนาจให้ว่าต่างแก้ต่างทางคดีแล้ว ก็ย่อมมีเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางและความเป็นอิสระได้
อีกทั้งไม่ปรากฏหลักฐานว่า พฤฒิพร ได้ 'แสดงข้อเท็จจริง' ว่า เคยเป็นคณะทำงานดำเนินคดีพิพาท ระหว่าง บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง กับกระทรวงดีอีเอส (ข้อพิพาทกรณีดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8) ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งเป็นอนุญาโตตุลาการฯ แต่อย่างใด
(ที่มา : การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ของ รังสิมันต์ โรม เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2564)
“คุณพฤฒิพรที่เคยเป็นหนึ่งในคณะทำงานสู้คดีดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ให้กับฝ่ายกระทรวงดิจิทัลฯ ที่ย่อมรู้ตื้นลึกหนาบาง รู้เหลี่ยมมุม รู้จุดแข็งจุดอ่อนของการตระเตรียมข้อมูลและจัดทำสำนวนคดีไม่มากก็น้อย เมื่อในวันนี้กลายมาเป็นอนุญาโตตุลาการ ก็ไม่ต่างอะไรกับเราเอาอดีตทนายความที่เคยถูกจ้างให้ทำคดีมาเป็นผู้พิพากษาในคดีเดียวกัน
ย่อมเป็นที่กังขาถึงความเป็นกลาง ถึงความเป็นอิสระ ถึงประโยชน์ทับซ้อนได้ ท่านรัฐมนตรี (ชัยวุฒิ) เอาคนที่เป็นหนึ่งคณะทำงานมานั่งเป็นอนุญาโตตุลาการแบบนี้ไม่ได้ ในกระทรวงไม่มีทีมกฎหมายที่ดูเรื่องนี้หรืออย่างไร นี่มันเป็นเรื่องที่ร้ายแรงอย่างมาก” รังสิมันต์ ระบุ (อ่านประกอบ : อภิปรายไม่ไว้วางใจ : ชำแหละมหากาพย์ 'ดาวเทียม’ เอื้อกลุ่มทุน-‘ชัยวุฒิ’ ปัดอุ้ม‘ไทยคม’)
แต่หาก บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง เป็นฝ่ายชนะ ก็ไม่ต้องส่งมอบดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 รวมถึงผลประโยชน์ตอบแทนอื่นให้ฝ่ายรัฐ
หรือเท่ากับว่ารัฐจะต้องเสียหาย 18,189 ล้านบาท
รังสิมันต์ ยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับสายสัมพันธ์ของ พฤฒิพร ต่อการทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอสด้วย
เพราะปรากฎข้อมูลว่า พฤฒิพร เคยเรียนหลักสูตร ‘หลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นธป.)’ รุ่นที่ 7 ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ปีงบ 2562 ซึ่งมีเพื่อนร่วมรุ่น คือ ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการ บมจ.ไทยคม
และ พรทิพา ชินเวชกิจวานิชย์ ผู้บริหารระดับสูงของ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ซึ่ง บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง ในสัดส่วน 42.25% ขณะที่ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง ผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.ไทยคม ในสัดส่วน 41.13%
“สายสัมพันธ์ของคุณพฤฒิพรเองก็ชวนให้กังขา” รังสิมันต์ กล่าว
(ที่มา : รายชื่อผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร นธป. รุ่นที่ 7 ปีงบ 2562 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบว่า จากคู่มือ ‘อนุญาโตตุลาการ’ จัดทำโดยสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ได้ระบุไว้ว่า
“อนุญาโตตุลาการและผู้พิพากษาต้องทำหน้าที่เหมือนกันอยู่ประการหนึ่ง คือ การทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมแก่คู่พิพาท ซึ่งต้องเป็นการให้ความยุติธรรมและความยุติธรรมดังกล่าวต้องเห็นประจักษ์
ดังนั้น ผู้ทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการและผู้พิพากษา จึงต้องมีคุณสมบัติพิเศษ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจ คือ ต้องเป็นอิสระ (Independent) และต้องตัดสินคดีด้วยความเป็นกลาง (impartiality) หลักการนี้เป็นที่ยอมรับกันจนเป็นหลักสากล...และสถาบันอนุญาโตตุลาการได้บัญญัติรองรับหลักการนี้ไว้”
คู่มือฯ ยังระบุว่า “หลักพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งของกระบวนการยุติธรรมก็คือว่า บุคคลที่จะทำหน้าที่วินิจฉัยและตัดสินข้อพิพาทนั้น จะต้องมีความเป็นอิสระและเป็นกลางคือ ไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลครอบงำของคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่มีส่วนได้เสียหรือผลประโยชน์ ในคดีคดีที่พิพาทกันนั้น
ไม่มีอคติหรือฉันทาคติแก่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หลักความ เป็นอิสระและเป็นกลางของอนุญาโตตุลาการนั้นใช้กับอนุญาโตตุลาการทุกคนใน คณะอนุญาโตตุลาการ แม้ว่าผู้นั้นจะเป็นอนุญาโตตุลาการที่มาจากการแต่งตั้งโดย คู่กรณีโดยตรงก็ตาม”
พร้อมทั้งระบุว่า "หลักแห่งความยุติธรรมที่สำคัญที่สุด ก็คืออนุญาโตตุลาการต้องมีความเป็นอิสระและเป็นกลาง มาตรา 19 แห่งพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า อนุญาโตตุลาการต้องมีความเป็นกลางและเป็นอิสระ รวมทั้งต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในสัญญาอนุญาโตตุลาการ...
และบัญญัติไว้ในวรรคสองว่า “บุคคลซึ่งจะถูกตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการจะต้องเปิดเผยข้อเท็จจริง ซึ่งอาจเป็นเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางและเป็นอิสระของตน และนับแต่เวลาที่ได้รับการตั้งและตลอดระยะเวลาที่ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ บุคคลดังกล่าวจะต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงเช่นว่านั้นต่อคู่พิพาทโดยไม่ชักช้า เว้นแต่จะได้แจ้งให้คู่พิพาทรู้ล่วงหน้าแล้ว”
(ที่มา : การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ของ รังสิมันต์ โรม เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2564)
ขณะเดียวกัน คู่มือวางแนวทางเกี่ยวกับ “การรับเป็นอนุญาโตตุลาการ และประธานคณะอนุญาโตตุลาการ" ว่า
เมื่อได้รับการทาบทามเป็นอนุญาโตตุลาการ ท่านพึงพิจารณาในเรื่องดังต่อไปนี้ก่อนที่จะรับเป็นอนุญาโตตุลาการ
(1) คู่พิพาทมีส่วนเกี่ยวข้องกับตนในอันจะทำให้การปฏิบัติหน้าที่อนุญาโตตุลาการไม่อิสระหรือไม่เป็นกลางหรือไม่
(2) ลักษณะประเภทคดีที่มีข้อพิพาทว่าตนมีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นหรือไม่ เพียงใด
(3) ภาระงานของตนเองที่จะรับปฏิบัติหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการจนคดีข้อพิพาทนั้นแล้วเสร็จ โดยจะไม่ถอนตัวโดยอ้างเหตุว่ามีเวลาไม่เพียงพอในภายหลัง
(4) ในการติดต่อเพื่อลงนามรับเป็นอนุญาโตตุลาการ หรือกิจการอื่นใด อนุญาโตตุลาการพึงติดต่อกับเจ้าหน้าที่หรือนิติกรของสถาบัน ต้องหลีกเลี่ยงที่จะติดต่อกับคู่พิพาท ทนายความหรือผู้รับมอบอำนาจของคู่พิพาท…”
ส่วนในหัวข้อ “การเปิดเผยข้อเท็จจริงของอนุญาโตตุลาการ”
คู่มือ ระบุว่า “เมื่อได้รับการติดต่อให้ทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการ หรือเมื่อได้รับการแต่งตั้งและตลอดระยะเวลาที่ดำเนินกระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการ หากมีข้อเท็จจริงอันอาจทำให้คู่พิพาทเกิดความสงสัยอันควรในความเป็นกลางและเป็นอิสระของตน
ให้อนุญาโตตุลาการเปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าวให้คู่พิพาทและสถาบันทราบ โดยก่อนที่จะเข้ารับหน้าที่จะต้องเปิดเผยข้อเท็จจริง ซึ่งในความรู้สึกของคู่พิพาทอาจเกิดความสงสัยอันสมควรในความเป็นอิสระความเป็นกลางของตน ดังต่อไปนี้
(1) ผลประโยชน์ทางการเงินหรือผลประโยชน์อื่นใดไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในผลของการอนุญาโตตุลาการ
(2) ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเงิน ธุรกิจไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาชีพความสัมพันธ์ทางครอบครัวหรือทางสังคม ซึ่งน่าจะมีผลกระทบต่อความเป็นอิสระและเป็นกลาง
ข้อเท็จจริงเหล่านี้ ไม่ว่าผู้ที่ได้รับการร้องขอให้เป็นอนุญาโตตุลาการเอง สมาชิกในครอบครัว นายจ้าง หรือผู้ร่วมธุรกิจของตนจะมีความเกี่ยวพันกับอนุญาโตตุลาการ คนอื่น คู่พิพาทฝ่ายใด ทนายความ หรือบุคคลซึ่งอาจจะต้องมาเป็นพยานในคดี ประมวลจริยธรรมอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ ข้อ 12…
ทั้งนี้ การเปิดเผยข้อเท็จจริง ให้อนุญาโตตุลาการแจ้งเป็นหนังสือต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเพื่อแจ้งแก่คู่พิพาทและอนุญาโตตุลาการคนอื่น ประมวลจริยธรรม อนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ ข้อ 15…”
จากคู่มือ ‘อนุญาโตตุลาการ’ ดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามว่า พฤฒิพร ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 ได้ดำเนินการตามคู่มืออนุญาโตตุลาการหรือไม่ โดยเฉพาะการเปิดเผย ‘ข้อเท็จจริง’ ที่เป็นลายลักษณ์อักษรต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการฯ
ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เคยเป็นทีมสู้คดีพิพาทไทยคม 7 และไทยคม 8 ซึ่งมีคู่พิพาท คือ บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง รวมถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ‘ทางสังคม’ กรณีเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเป็นผู้บริหารระดับสูงใน บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง
ไม่เพียงเท่านั้น นอกจาก พฤฒิพร จะได้รับการแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส ในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 (ข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8) แล้ว
พฤฒิพร ยังได้รับแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอสในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2563 ซึ่งเป็นคดีข้อพิพาทเกี่ยวกับดาวเทียมไทยคม 5 ระหว่าง บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง (ผู้เรียกร้อง) กับ กระทรวงดีอีเอส (ผู้คัดค้าน) (อ่านประกอบ : ‘อสส.’ ส่งชื่อ ‘พฤฒิพร เนติโพธิ์’ เป็น ‘อนุญาโตฯ’ ชี้ขาดคดีไทยคม 2 ข้อพิพาท)
โดยข้อพิพาทดังกล่าว บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง ยื่นคัดค้านกรณีที่กระทรวงดีอีเอสเรียกร้องให้บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง สร้างและส่งมอบดาวเทียมทดแทนดาวเทียมไทยคม 5 หรือ ‘ให้ใช้’ ราคาดาวเทียม เป็นจำนวนเงิน 7,790.09 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี (อ่านประกอบ : ปมขัดแย้งเปลี่ยน ‘อนุญาโตฯ’ ฝ่ายอัยการ คดีข้อพิพาท ‘ไทยคม’ เดิมพันผล ปย.หมื่นล้าน)
แต่ปรากฏว่าจากประวัติการทำงาน พฤฒิพร เคยตอบข้อหารือของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง การนำดาวเทียมไทยคม 5 ทดแทนดาวเทียมไทยคม 3 ที่ปลดระวาง หรือเท่ากับว่า พฤฒิพร เคยมีความเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทเกี่ยวกับกรณีพิพาทดาวเทียมไทยคม 5 ด้วย
ซึ่งอาจเป็นเหตุให้คู่พิพาท คือ นำไปเป็นเหตุให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เพราะมีเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางและความเป็นอิสระได้ แม้ว่า พฤฒิพร ซึ่งทำหน้าที่ในฐานะอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส จะพิจารณาชี้ขาดข้อพิพาทดังกล่าวด้วยความ ‘เป็นกลาง’ และ ‘เป็นอิสระ’ ก็ตาม
หรือนี่เป็นการวางหมาก เพื่อนำไปสู่ผลเกมส์ที่ ‘ถูกล็อคผลแล้ว’ เช่นที่ ส.ส. รังสิมันต์ โรม ตั้งข้อสังเกตเอาไว้
แต่ทว่าหากฝ่ายรัฐเป็นฝ่ายแพ้ทั้ง 2 ข้อพิพาท ความเสียหายที่เกิดกับรัฐจะสูงถึง 25,979 ล้านบาทเลยทีเดียว!
อ่านประกอบ :
อภิปรายไม่ไว้วางใจ : ชำแหละมหากาพย์ 'ดาวเทียม’ เอื้อกลุ่มทุน-‘ชัยวุฒิ’ ปัดอุ้ม‘ไทยคม’
‘อสส.’ ส่งชื่อ ‘พฤฒิพร เนติโพธิ์’ เป็น ‘อนุญาโตฯ’ ชี้ขาดคดีไทยคม 2 ข้อพิพาท
ผู้ตรวจอัยการฯ VS ปลัดดีอีเอส : ขอให้ยึดถือความสัตย์จริง ตรงไปตรงมา
เสี่ยงถูกครอบงำ! ‘ผู้ตรวจอัยการ’ ค้านตั้ง ‘อนุญาโตฯ’ คนเดียว รวบคดีไทยคม
อ้างผิดพลาด! 'ปลัดดีอีเอส'ขออภัย 'ผู้ตรวจอัยการ’ ยันไม่เปลี่ยน‘อนุญาโตฯ’ คดีไทยคม 5
'รมว.ดีอีเอส' ยันเสนอชื่อ ‘อนุญาโตฯ’ คดี 'ไทยคม' ใหม่อีกรอบ ขึ้นอยู่กับ ‘อสส.’
‘ดีอีเอส’ ตีกลับ‘เลขาฯอสส.’! แจ้งขอเปลี่ยน 'อนุญาโตฯ' คดีพิพาทไทยคมอีกรอบ
4 ปมปัญหา! เบื้องหลังเปลี่ยน ’อนุญาโตฯ’คดีไทยคม หลังผลัดเก้าอี้ 'รมว.ดีอีเอส'
ปมขัดแย้งเปลี่ยน ‘อนุญาโตฯ’ ฝ่ายอัยการ คดีข้อพิพาท ‘ไทยคม’ เดิมพันผล ปย.หมื่นล้าน
เสียหายต่อชื่อเสียง! ‘ผู้ตรวจอัยการ’ จี้ ‘ปลัดดีอีเอส’ แจงปมเปลี่ยน 'อนุญาโตฯ' คดีไทยคม
ข้องใจ! ‘ผู้ตรวจฯอัยการ’ ถาม ‘ดีอีเอส’ หลัง ‘อสส.’ เปลี่ยน ‘อนุญาโตฯ’ คดีไทยคม
อสส.ตั้ง 'เลขาฯ’ตัวเองนั่งอนุญาโตฯ ‘คนเดียว’ พิจารณาข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 3 คดี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/