‘ก้าวไกล’ ชำแหละมหากาพย์ ‘ดาวเทียม’ ซัด ‘รมว.ดีอีเอส’ เอื้อประโยชน์ ‘กลุ่มทุนปรสิต’ สั่งเปลี่ยนตัวอนุญาโตฯคดี ‘ไทยคม’ ขัดกฎหมาย ขณะที่ ‘ชัยวุฒิ’ ยันไม่เคยเอื้อประโยชน์ ‘บมจ.ไทยคม’ ผูกขาดกิจการดาวเทียม ปัดไม่รู้เรื่องเปลี่ยนตัวอนุญาโตฯ โยนเป็นเรื่องที่ ‘อัยการสูงสุด’ จะพิจารณา
............................
เมื่อวันที่ 3 ก.ย. เวลาประมาณ 15.00 น. นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดยกล่าวหานายชัยวุฒิ ว่า จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย มุ่งประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าประโยชน์ของประเทศชาติ ในกรณีสัมปทานดาวเทียมไทย ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนบางกลุ่ม
นายรังสิมันต์ ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีดาวเทียมภายใต้ระบบสัมปทานที่ยังใช้งานได้อยู่ 4 ดวง คือ ไทยคม 4 ไทยคม 6 ไทยคม 7 และไทยคม 8 ซึ่งหลังจากสิ้นสุดสัมปทานในวันที่ 10 ก.ย.2564 ดาวเทียมทั้ง 4 ดวงดังกล่าว จะยังมีอายุทางวิศวกรรมเหลืออยู่ 2-11 ปี ในขณะที่ธุรกิจดาวเทียมเป็นธุรกิจที่มีผลประโยชน์นับหมื่นล้านบาทนั้น เป็นที่หมายปองของเครือข่ายการเมืองธุรกิจที่จะเข้ามากอบโกยผลประโยชน์
นายรังสิมันต์ ระบุว่า หากแยกผลประโยชน์กรณีสัมปทานดาวเทียมไทยคม สามารถแยกได้เป็น 2 กรณี คือ กรณีแรก ผลประโยชน์จากคดีพิพาท ซึ่งมีข้อพิพาทระหว่างกระทรวงดีอีเอสและบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) รวมทั้งสิ้น 3 คดี ในช่วง 4 ปีก่อนสิ้นสุดสัมปทานดาวเทียม และกรณีที่สอง ผลประโยชน์จากดาวเทียมเก่าที่ยังไม่หมดอายุการใช้
สำหรับผลประโยชน์คดีพิพาทดาวเทียมไทยคมทั้ง 3 คดี ได้แก่ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 ซึ่งเป็นคดีพิพาทดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 ว่า เป็นดาวเทียมภายใต้สัมปทานหรือไม่ ,ข้อพิพาทหมายเลขที่ A27/2020 ซึ่งเป็นคดีพิพาทดาวเทียมไทยคม 5 ที่ชำรุดเสียหาย และบมจ.ไทยคมต้องชดใช้เป็นเงิน 7,990 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย โดยรัฐเป็นผู้ฟ้อง และข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2563 ซึ่งเป็นกรณีดาวเทียมไทยคม 5 เช่นกัน แต่ บมจ.ไทยคมเป็นฝ่ายฟ้อง
ปรากฏว่าหลังจากนายชัยวุฒิเข้ามาดำรงตำแหน่ง รมว.ดีอีเอส ได้ไม่ถึง 3 เดือน นายชัยวุฒิ สั่งการให้มีการเปลี่ยนตัวอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอสทั้ง 3 คดีพิพาท โดยขอให้อัยการสูงสุดส่งรายชื่ออัยการที่จะแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการทั้ง 3 คดี ให้เป็นคนเดียวกัน จากเดิมที่มีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายรัฐแล้ว 2 คน โดยนายชัยวุฒิอ้างว่าเนื่องจากเป็นสัญญาดาวเทียมเหมือนกัน และบมจ.ไทยคม ก็ได้ตั้งอนุญาโตตุลาการทั้ง 3 คดี เป็นคนเดียวกัน
@เปลี่ยนตัวอนุญาโตตุลาการฯคดี ‘ไทยคม’ ส่อขัดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ในการเปลี่ยนตัวอนุญาโตตุลาการฝ่ายรัฐของอัยการสูงสุดดังกล่าว พบว่ามีการทำผิด พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 และยังปลักปลำอนุญาโตตุลาการฝ่ายรัฐในข้อพิพาทหมายเลขที่ A27/2020 ให้ได้รับความเสียหาย ก่อนที่กระทรวงดีอีเอสจะกลับลำ ไม่เปลี่ยนตัวอนุญาโตตุลาการฝ่ายรัฐในข้อพิพาทหมายเลขที่ A27/2020 แล้ว ส่วนข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 อัยการสูงสุดได้มีการแต่งตั้งอัยการคนหนึ่งเป็นอนุญาโตตุลาการในคดีนี้
แต่ปรากฏว่าอัยการคนที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส ในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 นั้น เคยเรียนหลักสูตร หลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นธป.) รุ่น 7 ร่วมรุ่นกับประธานกรรมการ บมจ.ไทยคม และผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งของบริษัท ซึ่งปัจจุบันเข้าถือหุ้นเป็นจำนวนมากใน บมจ.ไทยคม
อีกทั้งอัยการรายนี้ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีอัยการ เคยเป็นคณะทำงานดำเนินคดี ระหว่าง บมจ.ไทยคม และกระทรวงดีอีเอส ซึ่งเป็นทีมสู้คดีในคดีพิพาทดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 ตามคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุดลงวันที่ 10 พ.ย.2560 แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่า อัยการรายดังกล่าวได้แสดงข้อเท็จจริงนี้ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งอนุญาโตตุลาการ ซึ่งไม่ต่างกับการเอาอดีตทนายที่เคยถูกจ้างมาทำคดี มาเป็นผู้พิพากษาในคดีเดียวกัน ย่อมทำให้เกิดความไม่เป็นกลาง
“ท่านรมต.เอาคนที่เป็นหนึ่งในคณะทำงานดาวเทียมไทยคม มานั่งเป็นอนุญาโตตุลาการอย่างนี้ไม่ได้ เพราะศาลปกครองเคยวางหลักไว้ว่า หากมีข้อเท็จจริงว่าพนักงานอัยการเคยได้รับมอบอำนาจให้แก้ต่างทางคดีแล้ว ย่อมมีเหตุให้สงสัยถึงความเป็นกลางและความเป็นอิสระได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะโดยสายสัมพันธ์ที่ชวนให้กังขา และโดยตำแหน่ง ต่อให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่ากระทรวงดีอีเอสชนะ ก็จะถูกฝ่าย บมจ.ไทยคม เอาไปเป็นเหตุให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดได้ และจะทำให้คดีนี้ฝ่ายกระทรวงดีอีเอสไม่มีทางชนะได้เลย ถ้าไม่เจ๊าก็เจ๊ง” นายรังสิมันต์ ระบุ
นอกจากนี้ นายรังสิมันต์ ยังกล่าวถึงกรณีที่นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด มีหนังสือแจ้งเรื่องการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการคดีพิพาทสัมปทานไทยคม ว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ เพราะเป็นการกระทำที่ขัดต่อ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 และการนายวงศ์สกุลลงนามแต่งตั้งตัวเองเป็นอนุญาโตตุลาการคดีไทยคมทั้ง 3 คดี เข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อนเช่นกัน ซึ่งรวมถึงเสนอแต่งตั้งเลขานุการของตัวเองเป็นอนุญาโตตุลาการฯทั้ง 3 คดีด้วย
นายรังสิมันต์ ระบุว่า หากฝ่ายกระทรวงดีอีเอสแพ้พิพาทไทยคม 7 และไทยคม จะทำให้รัฐเสียหายรวมทั้งสิ้น 18,189 ล้านบาท พร้อมทั้งคำถามว่า นายชัยวุฒิรับงานใครมา หรือต้องการล้มคดีนี้ให้กับบริษัทเอกชนใช่หรือไม่
@เปิดสัญญาไทยคม 4 และ 6 รัฐเสียประโยชน์ปีละ 476 ล้าน
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ส่วนผลประโยชน์ดาวเทียมเก่า คือ ไทยคม 4 และไทยคม 6 คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 17 พ.ค.2561 ให้คัดเลือกเอกชนเข้ามาร่วมทุนกิจการดาวเทียม หลังสิ้นสุดสัมปทานวันที่ 10 ก.ย.2564 โดยให้ดำเนินการตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ (PPP) แต่กระทรวงดีอีเอสไม่สามารถคัดเลือกเอกชนให้เสร็จทันเวลาได้ จึงมอบหมายให้ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ดำเนินการ และลงนามสัญญาไปเมื่อ 30 ก.ค.2564
แต่ปรากฏว่า บมจ.ไทยคม ได้เข้ามาเจรจากับ NT เพื่อขอจัดการบริหารดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6 ต่อไป และทราบมาว่าทาง NT ได้รับข้อเสนอของ บมจ.ไทยคม ไปอย่างไม่เป็นทางการแล้ว ซึ่งประกอบด้วย 2 สัญญา คือ สัญญาที่ 1 NT จะจ้างบมจ.ไทยคม บริหารดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6 โดยมีค่าจ้างบริหารปีละ 200 ล้านบาท
และสัญญาที่ 2 NT ตกลงให้บริษัทลูกของ บมจ.ไทยคม เข้ามาซื้อความจุช่องสัญญาณดาวเทียมทั้ง 2 ดวง ในสัดส่วน 80% และนำไปให้บริการลูกค้าเอง ในจ่ายปีละ 283 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่าสุดท้าย บมจ.ไทยคม จ่ายเงินให้ NT ปีละเพียง 83 ล้านบาท เทียบกับปี 2563 ที่ภาครัฐเคยมีรายได้จากดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6 เป็นเงิน 559 ล้านบาท หรือเท่ากับเงินหายไปอย่างต่ำ 476 ล้านบาท
“รวบหัวรวบหางกันเรียบร้อยแบบนี้ แล้วจะมีประโยชน์อะไรกับการมอบให้ NT ดูแลกิจการดาวเทียมของประเทศ ไหนล่ะทางเลือก ไหนล่ะการแข่งขัน ในเมื่อสุดท้ายผู้ถือสิทธิในการบริหารดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6 ก็คืนกลับไปในมือของเจ้าเก่ารายเดิม โดยไม่ต้องประมูลใดๆ และใช้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือ นอกจากนี้ ในเมื่อ กสทช.กำลังเตรียมเปิดประมูลวงโคจรดาวเทียมให้มีผู้เข้ามาแข่งขันราคา ทำไมกระทรวงดีอีเอสจึงไม่เปิดให้ กสทช. นำวงโคจรดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6 ไปประมูล เพราะรายได้ก็เข้ารัฐอยู่ดี แล้วยังมีผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้าสู่ตลาดด้วย” นายรังสิมันต์ กล่าว
@กล่าวหา ‘ชัยวุฒิ’ เอื้อประโยชน์กลุ่ม ‘ทุนปรสิต’
นายรังสิมันต์ ย้ำว่า “ที่คุณชัยวุฒิไม่ทำ เพราะนี่คือสิ่งที่คุณชัยวุฒิมุ่งหมายให้เป็นอยู่แล้ว ออกมารูปนี้ก็เท่ากับบรรลุภารกิจที่คุณชัยวุฒิมาเป็น รมต. เพื่อให้ดาวเทียมไปอยู่ในมือของคนที่ตัวเองปรารถนา ผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่าคุณชัยวุฒิเป็นรมว.ดีอีเอส หรือรัฐมนตรีดิจิทัลเพื่อใครกันแน่ และหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็ไม่ต่างจากสัมปทานจำแลง ไม่ต่างจากเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา ที่มี บมจ.ไทยคม ผูกขาดธุรกิจดาวเทียมและจะผูกขาดต่อไป”
นายรังสิมันต์ ยังกล่าวหาว่า นายชัยวุฒิกำลังใช้ตำแหน่ง รมต. ฉ้อฉล เอื้อประโยชน์ให้นายทุนผูกขาดในกิจการดาวเทียม เพื่อตอบแทนบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งเคยให้โอกาสทำงานในช่วงที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ระหว่างปี 2552-2561 และบริษัทแห่งนี้ได้ซื้อหุ้นใน บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ จนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แซงหน้า สิงเทลจากสิงคโปร์ และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บมจ.ไทยคม เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“แท้จริงแล้ว ท่านเข้ามาเพื่อให้กลไกต่างๆที่ควรจะเป็นมันง่อนเปลี้ย เพื่อเอาประโยชน์ไปให้นายทุน แล้วเอาภาระความเสี่ยงมาให้รัฐแบกรับกันแน่ ท่านเป็น รมว.ดีอีเอส แต่ตัดตอนไม่ให้เกิดการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ท่านคือมัลแวร์ ท่านคือฟิชชิ่ง ท่านคือโทรจัน ที่แทรกซึมเพื่อรวบรวมผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนไปให้นายทุน ท่านเป็น รมต.มาแล้ว 6 เดือน แต่กำลังยกดาวเทียม 4 ดวงให้นายทุน…
เรื่องที่พูดมาทั้งหมดนี้ เป็นเสี้ยวหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง แม้ว่าการผูกขาดในธุรกิจดาวเทียมจะมีมูลค่ามหาศาล เฉพาะมูลค่าดาวเทียมก็มีมูลค่า 4 หมื่นล้านบาท แต่ตัวเลขนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับการกินรวบธุรกิจ และผูกขาดความมั่นคั่งให้อยู่ในมือคนไม่กี่คน คนไม่กี่ตระกูล เราอาจเปรียบเปรยว่าว่า ไม่ต่างจากปรสิตที่เกาะกินสังคมไทยไม่ให้พัฒนา
ด้านหนึ่งปรสิตกลุ่มทุนเหล่านี้ กำลังต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง ผ่านการจ่ายเงินให้พรรคการเมือง จ่ายเงินเดือนให้ ส.ส. หรือ ส.ว. เพื่อไม่ให้คนกลุ่มนี้ทำหน้าที่ตรวจสอบ จากนั้นก็จ่ายเงินให้คนในรัฐบาล เพื่อให้ออกนโยบายที่จะเอื้อให้ปรสิตเหล่านี้เติบโตได้อย่างยิ่งใหญ่ พร้อมกันนั้น ก็ส่งสมัครพรรคพวกเข้ามาเป็นรัฐบาล หรือคนใกล้ชิดของรัฐบาล เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆที่จะเป็นภัยต่อปรสิตกลุ่มทุนไปได้
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการจ่ายเงินให้บรรดาข้าราชการ ไม่ว่าจะเป็นทหาร ศาล ตำรวจ หรือข้าราชการพลเรือนอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจว่าแขนขาของร่างกาย จะเชื่อฟังตามใจปรสิตกลุ่มทุนที่เข้ามายึดครอง เรากำลังป่วย ประเทศนี้กำลังจะตาย การสยายปีกของบริษัทบางบริษัทจากธุรกิจพลังงาน และกำลังจะผูกขาดธุรกิจดาวเทียม” นายรังสิมันต์ กล่าว
@ยันไม่ยกกิจการดาวเทียมให้ ‘ไทยคม’-เป็นแค่การร่วมมือ
ด้าน นายชัยวุฒิ ชี้แจงว่า พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นผู้เสนอชื่อตนมาเป็น รมว.ดีอีเอส ไม่ได้เกี่ยวกับบริษัทที่ผู้อภิปรายพูดถึงเลย และเมื่อมาทราบในภายหลังว่าบริษัทที่เคยทำงานเข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจการดาวเทียม ตนเองก็ระมัดระวังไม่ให้เกิดข้อครหา และไม่เคยเอื้อประโยชน์ให้กับ บมจ.ไทยคม ตามที่มีการกล่าวหาทั้งสิ้น โดยเฉพาะกรณีการส่งมอบดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6 มาเป็นทรัพย์สินของรัฐ หลังจากหมดสัมปทานวันที่ 10 ก.ย.2564
“เราทราบว่า เราจะรับโอนดาวเทียมมาเป็นของรัฐ นโยบายหลักของเราตอนนั้น คือ การหาคนมาดูแล ซึ่งผลศึกษามีข้อสรุปว่าเราจะโอนทรัพย์สินและสิทธิต่างๆไปให้ กสท.โทรคมนาคม ซึ่งต่อมาก็คือ NT เมื่อเรื่องผ่าน ครม.แล้ว ผมจึงทำสัญญาเมื่อวันที่ 30 ก.ค.2564 เพื่อมอบสิทธิ์ให้ NT หลังสิ้นสุดสัมปทาน แต่เนื่องจากธุรกิจดาวเทียม ถูกผูกขาดโดย บมจ.ไทยคมมา 30 ปี วันนี้การจะหาผู้ประกอบการรายใหม่มาทำธุรกิจดาวเทียมไม่ใช่เรื่องง่าย
กสทช. เพิ่งเปิดประมูลวงโคจรเพื่อทำดาวเทียมใหม่ขึ้นไป แต่มีผู้ยื่นประมูลเพียงรายเดียว คือ บมจ.ไทยคม เนื่องจากธุรกิจนี้เป็นธุรกิจเฉพาะมาก ไม่ใช่ธุรกิจที่แข่งขันเสรี เปิดกว้าง เพราะขนาดเปิดประมูลล่าสุด ยังมีผู้ยื่นประมูลเพียง 1 รายเท่านั้น และในที่สุด กสทช.ต้องยกเลิกประมูล และเลื่อนออกไปก่อน ดังนั้น เมื่อไทยคม 4 และไทยคม 6 กลับมาเป็นของรัฐ ซึ่งเขาส่งดาวเทียมมาให้ ส่งสถานีมาให้ แต่เขาไม่ส่ง teleport service มาให้
ไม่ได้ส่ง Gateway และไม่ได้ส่ง uplink downlink ข้อมูลดาวเทียม มาให้ เป็นของบมจ.ไทยคม เพราะฉะนั้น เราจำเป็นต้องใช้ตัวส่งสัญญาณบางส่วนของ บมจ.ไทยคม ไม่ใช่การยกสิทธิ์สัมปทานให้ต่อ แต่เป็นกรณีที่หาก NT มีอุปกรณ์ไม่พร้อม หรือไม่พอ ก็ไปใช้บริการของ บมจ.ไทยคม เพื่อให้การส่งสัญญาณดาวเทียมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญดาวเทียมไทยคม 4 นั้น 87% เป็นลูกค้าต่างประเทศ ซึ่ง NT เป็นบริษัทใหม่ ไม่สามารถทำธุรกิจต่างประเทศได้เวลาในจำกัดได้ เพราะยังไม่มีไลเซ่นส์ ส่วนไทยคม 6 ซึ่งเป็นดาวเทียมสื่อสารหรือใช้ดูทีวี มีลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนรวมกัน 66% อันนี้ บมจ.ไทยคม คุยกับ NT แล้ว ให้ NT เข้าไปจัดการดูแลลูกค้าเอง ติดต่อลูกค้าเอง ไม่เกี่ยวกับไทยคม ส่วนลูกค้าต่างประเทศอีก 34% ก็ต้องใช้ไทยคมเป็นตัวแทนประสานงาน” นายชัยวุฒิ กล่าว
นายชัยวุฒิ ย้ำว่า กรณีดาวเทียมไทยคม รัฐบาลไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้ใครทั้งสิ้น และตนได้ให้นโยบายว่าการให้บริการดาวเทียมต้องต่อเนื่อง หรือพูดง่ายๆ คือ ไม่มีทีวีจอดำ หากเรื่องใดที่จำเป็นต้องร่วมมือกับ บมจ.ไทยคม ก็ร่วมมือกัน ส่วนอะไรที่ NT ทำได้ ก็ต้องทำด้วยตัวเองให้มากที่สุด
@แจงไม่เกี่ยวข้องเลือก ‘อนุญาโตตุลาการ’ คดีไทยคม
ส่วนกรณีการเปลี่ยนแปลงตัวอนุญาโตตุลาการคดีพิพาทดาวเทียมไทยคม นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ตนเพิ่งทราบว่ามีชื่อคนนั้นคนนี้ ซึ่งตนไม่เคยรู้จักกับคนเหล่านั้นเลย และตนไม่เคยรู้จักอัยการ เพราะไม่เคยมีคดี ไม่เคยทุจริต เพียงแต่มีหน้าที่ว่าเมื่ออนุญาโตตุลาการฯคดีไทยคมมีตำแหน่งว่าง หรือมีการลาออก กระทรวงฯก็มีหนังสือให้อัยการสูงสุดส่งคนใหม่มา ส่งคนที่เหมาะสมมาเป็นอนุญาโตตุลาการ
“กระบวนการทั้งหมดเป็นเรื่องของอัยการสูงสุด ผมไม่ทราบรายละเอียดว่าเขาจะเอาใครมา เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร เราต้องให้เกียรติ เพราะเขาเป็นองค์กรอัยการ มีความเป็นกลาง ผมไม่ได้ไปแทรกแซงอะไรทั้งสิ้น และเป็นคาดเดาที่เลื่อนลอยมาก เพราะมีการประติประต่อเรื่อง โดยที่ผมเพิ่งรู้เรื่องที่ท่านพูดทั้งหมด เนื่องจากไม่ได้เข้าไปแทรกแซง ปล่อยให้เป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมทั้งสิ้น”
ทั้งนี้ ในระหว่างการชี้แจง นายชัยวุฒิ ได้เล่าประวัติชีวิต ประวัติการเรียน ประวัติการทำงานในภาคเอกชน และประวัติการทำงานทางการเมืองของตนเอง และการก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่ง รมว.ดีอีเอส พร้อมกล่าวว่าการที่ผู้อภิปรายใช้คำว่า ‘ระบอบปรสิต’ เป็นการดูถูกสมาชิกในสภาฯแห่งนี้ ทุกคนมาจากการเลือกตั้ง อาสามาทำงานให้ประชาชน ซึ่งการใช้คำแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม
อ่านประกอบ :
‘อสส.’ ส่งชื่อ ‘พฤฒิพร เนติโพธิ์’ เป็น ‘อนุญาโตฯ’ ชี้ขาดคดีไทยคม 2 ข้อพิพาท
ผู้ตรวจอัยการฯ VS ปลัดดีอีเอส : ขอให้ยึดถือความสัตย์จริง ตรงไปตรงมา
เสี่ยงถูกครอบงำ! ‘ผู้ตรวจอัยการ’ ค้านตั้ง ‘อนุญาโตฯ’ คนเดียว รวบคดีไทยคม
อ้างผิดพลาด! 'ปลัดดีอีเอส'ขออภัย 'ผู้ตรวจอัยการ’ ยันไม่เปลี่ยน‘อนุญาโตฯ’ คดีไทยคม 5
'รมว.ดีอีเอส' ยันเสนอชื่อ ‘อนุญาโตฯ’ คดี 'ไทยคม' ใหม่อีกรอบ ขึ้นอยู่กับ ‘อสส.’
‘ดีอีเอส’ ตีกลับ‘เลขาฯอสส.’! แจ้งขอเปลี่ยน 'อนุญาโตฯ' คดีพิพาทไทยคมอีกรอบ
4 ปมปัญหา! เบื้องหลังเปลี่ยน ’อนุญาโตฯ’คดีไทยคม หลังผลัดเก้าอี้ 'รมว.ดีอีเอส'
ปมขัดแย้งเปลี่ยน ‘อนุญาโตฯ’ ฝ่ายอัยการ คดีข้อพิพาท ‘ไทยคม’ เดิมพันผล ปย.หมื่นล้าน
เสียหายต่อชื่อเสียง! ‘ผู้ตรวจอัยการ’ จี้ ‘ปลัดดีอีเอส’ แจงปมเปลี่ยน 'อนุญาโตฯ' คดีไทยคม
ข้องใจ! ‘ผู้ตรวจฯอัยการ’ ถาม ‘ดีอีเอส’ หลัง ‘อสส.’ เปลี่ยน ‘อนุญาโตฯ’ คดีไทยคม
อสส.ตั้ง 'เลขาฯ’ตัวเองนั่งอนุญาโตฯ ‘คนเดียว’ พิจารณาข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 3 คดี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/