“…บิ๊กอัยการท่านนั้น ไม่ได้แจ้งว่าใครจะมาเป็นอนุญาโตตุลาการฯแทนนางสุรางค์ และนางสุรางค์มาทราบในภายหลังว่า อัยการสูงสุดได้แต่งตั้งตัวเอง เป็นอนุญาโตตุลาการฯทั้ง 3 ข้อพิพาท…”
...........................
เป็นกรณีขัดแย้งที่มี ‘เบื้องลึก-เบื้องหลัง’ กันพอสมควร
สำหรับกรณีที่ วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ทำหนังสือไปถึง ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แจ้งคำสั่งเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส กรณีพิพาทสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม จำนวน 3 ข้อพิพาท ถึง 2 ครั้ง
ครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2564 แจ้งแต่งตั้ง วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ (อัยการสูงสุด) เป็นอนุญาโตตุลาการฯทั้ง 3 ข้อพิพาท หลังปลัดกระทรวงดีอีเอส มีหนังสือแจ้งขอเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการถึงอัยการสูงสุดเมื่อ 11 มิ.ย.2564
ต่อมาวันที่ 7 ก.ค.2564 มีการแจ้งคำสั่งเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการเป็นครั้งที่ 2 โดยแต่งตั้ง ธีระวัฒน์ พุฒิบูรณวัฒน์ อัยการพิเศษฝ่าย สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งปัจจุบันเป็นเลขานุการอัยการสูงสุด (วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์) เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส ทั้ง 3 ข้อพิพาท
ในขณะที่ สุรางค์ นาสมใจ ผู้ตรวจการอัยการ ซึ่งเดิมได้รับแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส ในข้อพิพาทเลขที่ A27/2020 (คดีพิพาทดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8) ได้ทำหนังสือหนังสือด่วนที่สุด ที่ อส 0001 (ผต.)/172 ลงวันที่ 27 มิ.ย.2564 สอบถามปลัดกระทรวงดีอีเอส เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริง
เนื่องจากหนังสือขอเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการของปลัดระทรวงดีอีเอส เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2564 นั้น มีเนื้อหาที่เป็นการกล่าวหา สุรางค์ว่า “อาจถูกคู่พิพาทอีกฝ่ายคัดค้าน โดยอาศัยเหตุมีผลประโยชน์ขัดกัน ขาดความเป็นกลาง…” นั้น (อ่านประกอบ : ปมขัดแย้งเปลี่ยน ‘อนุญาโตฯ’ ฝ่ายอัยการ คดีข้อพิพาท ‘ไทยคม’ เดิมพันผล ปย.หมื่นล้าน)
@แนวทางแต่งตั้ง ‘อนุญาโตตุลาการฝ่ายรัฐ’ ในคดีพิพาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวในวงการอัยการถึง ‘เบื้องหลัง’ การเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการฯ ในกรณีพิพาทสัญญาดาวเทียมไทยคม โดยเฉพาะในข้อพิพาทเลขที่ A27/2020 (A27/2563) ที่ให้ สุรางค์ นาสมใจ พ้นจากการทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทดังกล่าว ว่า
ในการเสนอแต่งตั้งอัยการเพื่อทำหน้าที่เป็น ‘อนุญาโตตุลาการฝ่ายรัฐ’ เมื่อมีกรณีพิพาทกับคู่สัญญาเอกชนนั้น หน่วยงานเจ้าของเรื่อง จะต้องแจ้งเรื่องเป็นหนังสือมายังสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ก่อน เพื่อขอให้อัยการสูงสุดแต่งตั้งอัยการที่จะเข้าไปทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทต่างๆ
ส่วนวิธีการเสนอแต่งตั้งจะมี 2 รูปแบบ คือ 1.หน่วยงานเจ้าของเรื่อง จะเสนอรายชื่อมาเลยว่าจะให้แต่งตั้งอัยการคนใดเป็นอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทนั้น หรือ 2.ให้อัยการสูงสุดพิจารณาคัดเลือกอัยการที่มีความเหมาะสม เพื่อทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทนั้นๆ
ซึ่งกรณีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส ในข้อพิพาทเลขที่ A27/2020 (ข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 7 และ 8) นั้น กระทรวงดีอีเอส ไม่ได้เสนอรายชื่อว่าจะให้อัยการคนใดเป็นอนุญาโตตุลาการ ขณะที่ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดีอีเอส ในขณะนั้น ไม่ได้ให้นโยบายพิเศษใดๆเกี่ยวกับเรื่องนี้
ต่อมาวันที่ 16 พ.ย.2563 อัยการสูงสุด ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง สุรางค์ (อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีภาษี รักษาการในตำแหน่งผู้ตรวจการอัยการในขณะนั้น) เป็นอนุญาโตตุลาการฯ ตามที่ ไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานต่างประเทศ รักษาการในตำแหน่งอธิบดีอัยการ สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ เสนอ
@‘บิ๊กอัยการ’ โทรแจ้งขอเปลี่ยน ‘อนุญาโตฯ’ คดีไทยคม 5
หลังจาก สุรางค์ ได้รับแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการฯ ในข้อพิพาทเลขที่ A27/2020 ได้เพียง 6 เดือน ปลัดกระทรวงดีอีเอสมีหนังสือลงวันที่ 11 มิ.ย.2564 ไปยังอัยการสูงสุด แจ้งขอเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการ กรณีข้อพาทเกี่ยวกับสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารในประเทศ (ดาวเทียมไทยคม)
ต่อมา สุรางค์ ได้รับแจ้งจากผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) รายหนึ่ง ผ่านทางโทรศัพท์ ว่า กระทรวงดีอีเอสขอให้มีการเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทเลขที่ A27/2020 เมื่อ สุรางค์ ทราบเรื่องแล้ว ก็ตอบกลับไปว่า ไม่ได้ขัดข้องแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม เมื่อ สุรางค์ ได้รับทราบว่า การเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการดังกล่าว มีการแจ้งเป็นหนังสือจากทางกระทรวงดีอีเอสด้วย แต่ผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานอัยการสูงสุดรายนั้น ไม่ได้แจ้งให้ สุรางค์รับทราบเลย
อีกทั้งหนังสือของกระทรวงดีอีเอสยังมีเนื้อหาที่เป็นการกล่าวหา สุรางค์ ว่า อาจมีผลประโยชน์ขัดกัน และขาดความเป็นกลาง ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริง ทำให้นางสุรางค์เสื่อมเสียชื่อเสียง
นอกจากนี้ เมื่อ สุรางค์ รับทราบในภายหลังว่า วงศ์สกุล ซึ่งเป็นอัยการสูงสุด ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งตนเองเป็นอนุญาโตตุลาการฯ ทั้ง 3 ข้อพิพาท สุรางค์ เห็นว่าไม่ถูกต้อง และเรื่องนี้ผู้บริหารระดับสูงของ อสส. ที่โทรมาแจ้งเรื่องการเปลี่ยนอนุญาโตตุลาการฯ ก็ไม่เคยแจ้งให้ สุรางค์ ทราบเลยว่า อัยการสูงสุดจะแต่งตั้งตัวเองเป็นอนุญาโตตุลาการฯ
“การเปลี่ยนอนุญาโตตุลาการคดีพิพาทดาวเทียมไทยคมครั้งนี้ มีปัญหา 4 เรื่อง คือ
1.ตอนที่บิ๊กอัยการโทรศัพท์ไปแจ้ง นางสุรางค์ เรื่องเปลี่ยนอนุญาโตตุลาการนั้น บิ๊กอัยการคนนั้น ไม่ได้บอกนางสุรางค์ว่า มีหนังสืออย่างเป็นการทางแจ้งเรื่องขอเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการฯ จากกระทรวงดีอีเอสเลย
2.บิ๊กอัยการท่านนั้น ไม่ได้แจ้งว่าใครจะมาเป็นอนุญาโตตุลาการฯแทนนางสุรางค์ และนางสุรางค์มาทราบในภายหลังว่า อัยการสูงสุดได้แต่งตั้งตัวเอง เป็นอนุญาโตตุลาการฯทั้ง 3 ข้อพิพาท
3.หนังสือของกระทรวงดีอีเอสที่ขอให้เปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการฯนั้น มีการกล่าวหานางสุรางค์ ซึ่งเป็นอนุญาโตตุลาการฯ ข้อพิพาทเลขที่ A27/2020 ว่า ไม่เป็นกลาง แต่อัยการอีกคน ซึ่งเป็นอนุญาโตตุลาการในคดีไทยคม 7 และ 8 (ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560) กระทรวงดีอีเอสไม่ได้มีการกล่าวถึงเลย
และ4.การที่อัยการสูงสุดแต่งตั้งตัวเองเป็นอนุญาโตตุลาการฯทั้ง 3 ข้อพิพาท แล้วต่อมาแต่งตั้งเลขาฯของตัวเองเป็นอนุญาโตตุลาการแทนทั้ง 3 ข้อพิพาทนั้น เหมาะสมหรือไม่” แหล่งข่าวจากวงการอัยการ ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวอิศรา
แหล่งข่าว ยังระบุว่า การเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส กรณีข้อพาทเกี่ยวกับสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารในประเทศ (ดาวเทียมไทยคม) เกิดขึ้นหลังจาก ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ เข้ามารับตำแหน่ง รมว.ดีอีเอสได้เพียง 2 เดือนเท่านั้น
โดย รมว.ดีเอสคนใหม่ ได้ให้นโยบายกับผู้บริหารในกระทรวงฯ ว่า ต้องการให้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการในคดีพิพาทสัญญาดาวเทียมไทยคมทุกข้อพิพาท มีเพียงคนเดียว เพื่อให้การดำเนินข้อพิพาทเป็นไปในทางเดียวกัน (อ่านประกอบ : อสส.ตั้ง 'เลขาฯ’ตัวเองนั่งอนุญาโตฯ ‘คนเดียว’ พิจารณาข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 3 คดี)
(ที่มา : หนังสือกระทรวงดีอีเอส ด่วนที่สุด ที่ ดศ 0202.3/6373 ลงวันที่ 11 มิ.ย.2564)
@เบื้องหลังเปลี่ยน ‘อนุญาโตฯ’ คดีพิพาทไทยคม 7 และ 8
แหล่งข่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในส่วนของข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 (คดีพิพาทดาวเทียมไทยคม 7 และ 8) ซึ่งมีการขอเปลี่ยนแปลงอัยการที่ทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการเช่นกันนั้น เดิมทีข้อพิพาทนี้มี ณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ตำแหน่งผู้ตรวจการอัยการในขณะนั้น ทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอสอยู่ก่อนแล้ว
แต่ต่อมา ณัฐจักร ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงต้องถอนตัวจากการเป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส ในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560
อัยการสูงสุด จึงมีคำสั่งแต่งตั้ง ธีระวัฒน์ พุฒิบูรณวัฒน์ (เลขานุการอัยการสูงสุด) เป็นอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 แทน ณัฐจักร ก่อนจะมีหนังสือสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการอนุญาโตตุลาการ 2 ด่วนที่สุด ที่ อส 0202 (ญต 27)/223 ลงวันที่ 20 ก.ค.2563 แจ้งไปยังกระทรวงดีอีเอส
แต่เมื่อกระทรวงดีอีเอสมีหนังสือลงวันที่ 11 มิ.ย.2564 แจ้งขอเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการฯ กรณีพิพาทสัญญาดาวเทียมไทยคม ทั้ง 3 ข้อพิพาท ให้เป็น ‘คนเดียวกัน’ ในทุกข้อพิพาท นั้น
ธีระวัฒน์ ได้ขอลาออกจากการเป็นอนุญาโตตุลาการฯ โดยให้เหตุผลว่า “งานเยอะ ไม่ว่าง” ก่อนที่อัยการสูงสุดจะแต่งตั้งตัวเองเป็นอนุญาโตตุลาการทั้ง 3 ข้อพิพาท
ทว่าหลังจากอัยการสูงสุดถอนตัวจากการเป็นอนุญาโตตุลาการฯทั้ง 3 ข้อพิพาท ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 7 ก.ค.2564 อัยการสูงสุด แต่งตั้ง ธีรวัฒน์ เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส ทั้ง 3 ข้อพิพาท โดยมีเหตุผลว่า ธีระวัฒน์ เคยได้รับแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการ ในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 มาก่อน
แต่อย่างไรก็ดี จากประวัติการทำงานของ ธีรวัฒน์ พบว่า ธีระวัฒน์ มีประสบการณ์ในสายคดีอาญามาโดยตลอด แต่กลับได้รับแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการในคดีพิพาทสัมปทานดาวเทียมไทยคม และล่าสุดยังได้รับแต่งตั้งจากอัยการสูงสุดเป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส กรณีพิพาทสัญญาดาวเทียมไทยคมทั้ง 3 ข้อพิพาทด้วย
เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘เบื้องหลัง’ ปมร้อนการเปลี่ยนแปลง ‘อนุญาโตตุลาการ’ ฝ่ายกระทรวงดีอีเอส ในคดีพิพาทสัมปทานดาวเทียมไทยคม ทั้ง 3 ข้อพิพาท ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง!
อ่านประกอบ :
ปมขัดแย้งเปลี่ยน ‘อนุญาโตฯ’ ฝ่ายอัยการ คดีข้อพิพาท ‘ไทยคม’ เดิมพันผล ปย.หมื่นล้าน
เสียหายต่อชื่อเสียง! ‘ผู้ตรวจอัยการ’ จี้ ‘ปลัดดีอีเอส’ แจงปมเปลี่ยน 'อนุญาโตฯ' คดีไทยคม
ข้องใจ! ‘ผู้ตรวจฯอัยการ’ ถาม ‘ดีอีเอส’ หลัง ‘อสส.’ เปลี่ยน ‘อนุญาโตฯ’ คดีไทยคม
อสส.ตั้ง 'เลขาฯ’ตัวเองนั่งอนุญาโตฯ ‘คนเดียว’ พิจารณาข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 3 คดี
เลื่อนเคาะราคาเป็น 28 ส.ค.!'บอร์ด กสทช.'ขยายเวลาประมูลใบอนุญาตใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียม
ไม่มีการแข่งขัน! ‘ชัยวุฒิ’ เสนอล้มประมูลใบอนุญาตดาวเทียม หลัง ‘ไทยคม’ ยื่นรายเดียว
มารายเดียว! ‘บ.ลูกไทยคม’ ยื่นเอกสารประมูลใบอนุญาตดาวเทียม-‘มิวสเปซ’ ถอดใจ
ส่อวุ่น! ศึกประมูลดาวเทียม ‘ดีอีเอส’ งัดข้อ กสทช. -‘มิว สเปซ’ เขย่าบังลังก์ ‘ไทยคม’
ยิงดาวเทียมต้องใช้เวลา 2 ปี! ‘กสทช.’ ยันเดินหน้าเคาะประมูลใบอนุญาตฯ 24 ก.ค.นี้
กระทบดาวเทียมเก่า! ‘ไทยคม’ ร้อง ‘ดีอีเอส’ ถก ‘กสทช.’ ทบทวนเปิดประมูลสิทธิ 2 วงโคจร
วงเสวนาชำแหละ! ประมูลไลเซ่นส์ดาวเทียม ส่อมีเจ้าเดียว-ห่วงนอมินี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/