“…การที่นายชัยวุฒิ ได้ร่วมกับนายวงศ์สกุล ,นางพฤฒิพร และนายไพรัช ดำเนินการหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการให้เกิดผลเสียต่อราชการ ต่อประโยชน์ส่วนรวม และประโยชน์ของรัฐ โดยมีเจตนาพิเศษหรือมูลเหตุจูงใจ เพื่อทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ย่อมเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย…” ข้อกล่าวหาระบุ
............................
จากกรณี รังสิมันต์ โรม ส.ส.ก้าวไกล ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยกล่าวหาว่า ชัยวุฒิ แทรกแซงกระบวนการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทเกี่ยวกับดาวเทียมไทยคม (อ่านประกอบ : อภิปรายไม่ไว้วางใจ : ชำแหละมหากาพย์'ดาวเทียม’ เอื้อกลุ่มทุน-‘ชัยวุฒิ’ ปัดอุ้ม‘ไทยคม’)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา รังสิมันต์ เข้ายื่นคำร้องต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและดำเนินคดีกับ ชัยวุฒิ และพนักงานอัยการอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดปกติในการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฯในข้อพิพาทเกี่ยวกับดาวเทียมไทยคม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปหนังสือคำร้องของ รังสิมันต์ ที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. มีรายละเอียด ดังนี้
(รังสิมันต์ โรม ยื่นหนังสือถึงประธาน ป.ป.ช.ตรวจสอบกรณีแทรกแซงการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฯข้อพิพาทไทยคม เมื่อวันที่ 22 ก.ย.)
@กล่าวหา ‘ชัยวุฒิ’ แทรกแซงตั้ง ‘อนุญาโตฯ’ คดีไทยคม
ข้อกล่าวหามีใจความว่า นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้กระทำการแทรกแซงกระบวนการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส
โดยร่วมแบ่งหน้าที่กันทำ สมคบคิดโดยทุจริตกับ นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด (อสส.) ,นางพฤฒิพร เนติโพธิ์ อัยการอาวุโส สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย และนายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ อธิบดีอัยการ สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ
ด้วยวิธีการเปลี่ยนตัวอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้ว ในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 กับข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2563 ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม และข้อพิพาทเลขที่ A27/2020 ของ THAC สถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม
ส่งผลเสียต่อแนวทางการต่อสู้คดีของกระทรวงดีอีเอส อันเป็นกระทำการที่อาจเข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่ ประพฤติมิชอบ และฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
นับตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.2564 ที่นายชัยวุฒิ เข้ารับตำแหน่ง รมว.ดีอีเอส ปรากฏพฤติการณ์ที่เป็นที่น่าสงสัยของนายชัยวุฒิ เกี่ยวกับการบริหารราชการ ในการดำเนินการเกี่ยวกับข้อพิพาทสัญญาดาวเทียมไทยคม
โดยปรากฏในรายงานข่าวเรื่อง “ปมขัดแย้งเปลี่ยน ‘อนุญาโตฯ’ ฝ่ายอัยการ คดีข้อพิพาท ‘ไทยคม’ เดิมพันผล ปย.หมื่นล้าน” ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ สำนักข่าวอิศรา วันอังคาร ที่ 13 กรกฎาคม 2564 ซึ่งนำเสนอว่า
นายไพรัช (พรสมบูรณ์ศิริ อธิบดีอัยการ สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ) เสนอเรื่องไปยังอัยการสูงสุด ให้แต่งตั้ง นางสุรางค์ นาสมใจ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีภาษี รักษาการในตำแหน่งผู้ตรวจการอัยการ เพื่อทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงฯ
ต่อมานายวงศ์สกุล (อัยการสูงสุด) ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง นางสุรางค์ เป็นอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563
และมีหนังสือของสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการอนุญาโตตุลาการ 2 สำนักงานอัยการสูงสุด ด่วนที่สุด ที่ อส 0024 (ญต 27)/80 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 แจ้งว่า อัยการสูงสุดอนุมัติแต่งตั้งให้นางสุรางค์ เป็นอนุญาโตตุลาการของฝ่ายผู้เรียกร้อง ในข้อพิพาทเลขที่ A27/2020 ของ THAC สถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม
ต่อมา 21 ธันวาคม 2563 มีการยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2563 ระหว่าง บมจ.ไทยคม ที่ 1 และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ ที่ 2 (ผู้เรียกร้อง) กับกระทรวงดีอีเอส (ผู้คัดค้าน) ซึ่งมีสำระสำคัญเดียวกันกับข้อพิพาทเลขที่ A27/2020 แต่ยื่นร้องต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการคนละแห่งกัน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงดีอีเอส มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ดศ 0202.3/6373 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2564 เรื่อง ขอเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการ กรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ โดยกระทรวงฯ ได้กราบเรียนถึงอัยการสูงสุดความว่า
“เนื่องจากในข้อพิพาทเลขที่ A27/2020 ของ THAC ซึ่งแต่งตั้งให้นางสุรางค์ (ผู้ตรวจการอัยการ) เป็นอนุญาโตตุลาการของฝ่ายผู้เรียกร้อง อาจถูกคู่พิพาทอีกฝ่ายคัดค้านโดยอาศัยเหตุมีผลประโยชน์ขัดกัน ขาดความเป็นกลาง ประกอบกับข้อพิพาททั้งสาม (ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 ข้อพิพาทเลขที่ A27/2020 และข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2563) เป็นข้อพิพาทตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ
มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับบริการสาธารณะ ความมั่นคงของประเทศ และมีทุนทรัพย์ที่เรียกร้องในอัตราที่สูง อีกทั้งในข้อพิพาทดังกล่าวทั้งหมดเกี่ยวข้องกับสัญญาสัมปทานฉบับเดียวกัน ซึ่ง บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ที่เป็นคู่พิพาทได้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการในทุกข้อพิพาทเพียงคนเดียว
กระทรวงฯ จึงเห็นควรว่า เพื่อประโยชน์ในการดำเนินข้อพิพาททุกข้อพิพาทให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงขอความอนุเคราะห์ให้อัยการสูงสุดพิจารณาบุคคลที่มีความเป็นกลาง และเป็นอิสระมีคุณสมบัติที่เหมาะสม เพื่อทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงฯ ในทุกข้อพิพาทเพียงคนเดียว...”
ซึ่งขณะนั้น นายชัยวุฒิ เข้าดำรงตำแหน่งรมว.ดีอีเอสแล้ว ข้าพเจ้า (รังสิมันต์) มีความเห็นว่าเนื้อความตามหนังสือข้างต้น มีใจความตรงกับถ้อยคำที่นายชัยวุฒิ ให้สัมภาษณ์ในการเสนอข่าวของ สำนักข่าวอิศรา ‘เรื่องปมขัดแย้งเปลี่ยนอนุญาโตตุลาการฝ่ายอัยการ คดีข้อพิพาทไทยคม เดิมพันประโยชน์หมื่นล้าน’
@เปลี่ยน ‘อนุญาโตฯ’ ไม่ชอบด้วยระเบียบสำนักงานฯ
จากนั้นสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการอนุญาโตตุลาการ 2 มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ อส 0024/197 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2564 แจ้งแต่งตั้งนายวงศ์สกุล (อัยการสูงสุด) เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงฯ ในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2563 และข้อพิพาทเลขที่ A27/2020
หลังจากนั้น ในวันที่ 17 มิ.ย.2564 นายธีระวัฒน์ พุฒิบูรณวัฒน์ (เลขานุการของนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด) ซึ่งเป็นอนุญาโตตุลาการฯ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 ทำหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ด่วนที่สุด ที่ อส 0001/193 เรื่อง ขอถอนตัวจากการเป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงฯ ในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560
โดยนายธีระวัฒน์ อ้างว่า ตนมีภารกิจหน้าที่ราชการในตำแหน่งเลขานุการอัยการสูงสุดเป็นจำนวนมาก ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ต่อมาในวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ปรากฏข้อเท็จจริงว่า สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ อส 0001/197 ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 เรื่อง แจ้งคำสั่งเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการ โดยนายวงศ์สกุล แต่งตั้ง นายธีระวัฒน์ เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงฯเพียงคนเดียวทั้ง 3 ข้อพิพาท
ทั้งนี้ การแต่งตั้งนายธีระวัฒน์ เป็นอนุญาโตตุลาการฯดังกล่าว มิได้มีการผ่านหรือตั้งเรื่องจากนายไพรัช ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีแพ่งของพนักงานอัยการ พ.ศ.2560 ข้อ 75
ซึ่งภายหลังเมื่อนายไพรัช รับทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว ก็สมรู้ในการกระทำของนายวงศ์สกุล โดยไม่เคยโต้แย้งคัดค้านถึงความไม่ชอบมาพากลของการตั้งอนุญาโตตุลาการที่ไม่ชอบด้วยระเบียบฯ ซึ่งอยู่ในอำนาจของตน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงดีอีเอส มีหนังสืออัยการสูงสุดอีกครั้ง เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 โดยขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาแต่งตั้งบุคคลที่จะเป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงฯ ทั้ง 3 ข้อพิพาทตามที่เห็นสมควร ‘อีกครั้งหนึ่ง’ หลังจากอัยการสูงสุดได้แต่งตั้งนายธีระวัฒน์ เป็นอนุญาโตตุลาการฯไปก่อนหน้านี้
และต่อมาวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 นายวงศ์สกุล ลงนามแต่งตั้ง นางพฤฒิพร เนติโพธิ อัยการอาวุโส สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงฯ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2563 และยังคงให้นางสมใจ (ผู้ตรวจการอัยการ) เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงฯ ข้อพิพาทเลขที่ A27/2020 เช่นเดิม
โดยไม่ปรากฏว่านายไพรัช ได้ปฏิบัติราชการตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีแพ่งของพนักงานอัยการ พ.ศ.2560 ข้อ 75 ในกำรเสนอชื่อนางพฤฒิพร เพื่อขออนุมัติต่ออัยการสูงสุดพิจารณาแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่อนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงฯ แต่อย่างใด
“การดำเนินกำรของกระทรวงฯ เกี่ยวกับการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงฯ ทั้ง 3 ข้อพิพาท ภายหลังจากที่นายชัยวุฒิ เข้าดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ได้สมคบแบ่งหน้าที่กันทำกับนายวงศ์สกุล ,นางพฤฒิพร และนายไพรัช เป็นการดำเนินการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย มิได้เป็นไปเพื่อมุ่งจะพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของรัฐ
เนื่องจากการเปลี่ยนอนุญาโตตุลาการของฝ่ายกระทรวงฯ มีกระบวนการการเสนอชื่ออนุญาโตตุลาการ ในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 และข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2563 ที่ไม่ชอบด้วยระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีแพ่งของพนักงานอัยการ พ.ศ.2560 ข้อ 75”
@มีหลักฐาน ‘พฤฒิพร’ ไม่เป็นอิสระ-ขาดความเป็นกลาง’
ข้อกล่าวหายังระบุต่อไปว่า การเสนอชื่อนางพฤฒิพร เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงฯ ทั้ง 2 ข้อพิพาทนั้น ยังปรากฏหลักฐานโดยชัดแจ้งว่า นางพฤฒิพร ปราศจากความเป็นอิสระและความเป็นกลางในการชี้ขาดข้อพิพาททั้ง 2 (ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 และข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2563)
อันเป็นการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการที่ขัดต่อพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ มาตรา 19 ซึ่งส่งผลร้ายต่อแนวทางการต่อสู้คดีของกระทรวงฯ ทั้ง 2 ข้อพิพาท เป็นเหตุให้คำชี้ขาดของคณะอนุญโตตุลาการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและอาจถูกเพิกถอนคำชี้ขาดได้ตามพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ดังนี้
1.ปรากฎข้อเท็จจริงว่านางพฤฒิพร เป็นบุคคลที่เคยเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทฯ เนื่องจากเคยเป็นคณะทำงานดำเนินคดีระหว่าง บมจ.ไทยคม กับพวก และกระทรวงดีอีเอส ตามคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ 1679/2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานดำเนินคดีระหว่าง บมจ.ไทยคม กับพวก และกระทรวงดีอีเอส สั่ง ณ วันที่ 10 พ.ย.2560
2.ปรากฎข้อเท็จจริงว่า นางพฤฒิพร มิได้แสดงข้อเท็จจริงก่อนเข้ารับเป็นอนุญาโตตุลาการ ว่า ตนเองเคยมีความเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอนุญาโตตุลาการ
และในเอกสารประกอบการหนังสือเสนอชื่ออนุญาโตตุลาการ (แบบ อต.10 ก.) ของนางพฤฒิพร ข้อ 3.3 ในประเด็น “การเป็นหรือเคยเป็นที่ปรึกษา ผู้รับมอบอำนาจ ทนายความ หรือผู้รับจ้าง ผู้ให้บริการ หรือผู้ให้ความเห็นใดๆ แก่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือให้แก่บริษัทหรือหน่วยงานในเครือของคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ว่าจะกระทำในนามส่วนตัวหรือหน่วยงานที่สังกัด”
นางพฤติพร เนติโพธิ์ จงใจตอบว่า ไม่เคย
นอกจากนี้ ในข้อ 3.8 ซึ่งให้ระบุ เหตุอื่นใดซึ่งเกี่ยวข้องกับความเป็นกลางและความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของอนุญาโตตุลาการและสมควรจะต้องเปิดเผยให้คู่พิพาททราบ ก็ปรากฏว่า นางพฤติพร จงใจไม่ระบุถึงเหตุอื่นใด ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเป็นกลางและความเป็น
ทั้งที่ปรากฏหลักฐานโดยชัดแจ้งว่านางพฤติพร เป็นบุคคลที่เคยมีความเกี่ยวข้อง เคยเป็นคณะทำงานให้ความเห็นประเด็นการจัดทำคำคัดค้านและแนวทางการต่อสู้คดีของกระทรวงฯ ตามคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ 1679/2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานดำเนินคดีระหว่างบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กับพวก และกระทรวงฯ
“กระบวนการเสนอชื่อแต่งตั้งนางพฤฒิพร เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงฯ ทั้ง 2 ข้อพิพาท มิได้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดดำเนินคดีแพ่งของพนักงานอัยการ พ.ศ.2560 เพราะจากหลักฐานไม่ปรากฏว่าอัยการสูงสุดตั้งนางพฤฒิพร เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงฯ ที่ผ่านการตั้งเรื่องจากนายไพรัชแต่อย่างใด…
การเสนอชื่อนางพฤฒิพร เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงฯ เป็นการกระทำที่อัยการสูงสุดมีหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงฯ จากนั้นกระทรวงฯ เป็นผู้ยื่นหนังสือเสนอชื่ออนุญาโตตุลาการ (แบบ อต.10 ก.) ไปยังสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม เอง กระบวนการเสนอชื่อแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการดังกล่าว จึงมีพิรุธสงสัย
หากนางพฤฒิพร ยังคงเข้าทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการ ในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 และข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2563 กระบวนการที่นางพฤฒิพร ทำไปแล้วย่อมอาจถูกเพิกถอนในภายหลังอันจะสร้างความเสียหายแก่รัฐทั้งสิ้น” หนังสือคำร้อง ป.ป.ช. ของ รังสิมันต์ ระบุ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าต่อมานางพฤฒิพร ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 7 กันยายน 2564 ถึงผู้อำนวยการสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม คู่พิพาททั้งสองฝ่าย และอนุญาโตตุลาการทุกคน แถลงข้อเท็จจริงว่าตนเคยเป็นคณะทำงานให้กระทรวงฯหลายคณะ นอกเหนือจากคณะทำงานคดีนี้
แต่เป็นการเปิดเผย เพราะเหตุที่ข้าพเจ้า (รังสิมันต์) ได้อภิปรายถึงประเด็นดังกล่าวไป มิได้เปิดเผยด้วยความสมัครใจของตนเองแต่แรก
ถือเป็นการกระทำที่จงใจปกปิดข้อความสำคัญถึงความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงฯและตน ในลักษณะเป็นที่ปรึกษาในการต่อสู้คดีนี้ให้กระทรวงฯ ที่ขัดต่อพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 19 ที่ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงเรื่องเหตุอันควรสงสัยถึงความไม่เป็นกลางและอิสระนับแต่เวลาได้รับการแต่งตั้ง แต่นางพฤฒิพร หาได้เปิดเผยนับแต่วันแต่งตั้งไม่
@ชี้ ‘ชัยวุฒิ’ จะอ้างไม่รู้เรื่องแต่งตั้ง ‘อนุญาโตฯ’ ไม่ได้
“ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าการดำเนินการแต่งตั้งนางพฤฒิพร เป็นอนุญาโตตุลาการ ของกระทรวงฯ เป็นการดำเนินการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องไต่สวนข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า นายชัยวุฒิ มีส่วนเกี่ยวข้องกับหรือไม่ ในการแต่งตั้งบุคคลเป็นอนุญาโตตุลาการในทางที่อาจนำมาสู่ผลร้าย
เนื่องจากอาจถูกร้องให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในภายหลังได้ หากคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้าน คือกระทรวงฯ เป็นฝ่ายชนะคดี อันเนื่องมาจากเหตุที่อนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงฯ ไม่มีความเป็นกลางและเป็นอิสระ เพราะเหตุที่นางพฤติพร เคยเป็นคณะทำงานดำเนินคดีระหว่างบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กับพวก และกระทรวงฯ
ทั้งยังปรากฏโดยชัดแจ้งว่ามีการให้ความเห็นต่อการจัดทำคำคัดค้านและแนวทางการต่อสู้คดีไว้ด้วย รวมตลอดจนถึงการที่นางพฤฒิพร จงใจมิได้เปิดเผยข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระหรือเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลำงหรือความเป็นอิสระของตน
และนายชัยวุฒิ มิอาจกล่าวอ้างแก้ตัวได้ว่า ตนและกระทรวงฯ ไม่รู้ถึงเหตุแห่งความไม่เป็นกลางและอิสระของนางพฤฒิพร เนื่องจากตามรายงานการประชุมคณะทำงานฯ ปรากฏรายชื่อเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมประชุมกับคณะทำงานด้วย
ดังนั้นกระทรวงฯ ย่อมต้องรู้หรือควรรู้ในขณะที่ลงนามเสนอชื่อนางพฤฒิพร เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงฯ ว่านางพฤฒิพร เคยเป็นคณะทำงานที่มีอำนาจหน้าที่จัดทำคำคัดค้านและตั้งแนวทางการต่อสู้คดีให้กระทรวงฯ มาก่อน”
ข้อกล่าวหาระบุด้วยว่า นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า นางพฤฒิพร เป็นผู้เข้ารับกำรศึกษาอบรมหลักสูตร “หลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย” (นธป.) รุ่นที่ 7 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ซึ่งปรากฎรายชื่อผู้เข้ารับการศึกษาบรมรายอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทในคดีที่นางพฤฒิพร เป็นอนุญาโตตุลาการ หลายรายชื่อ
อาทิ ลำดับที่ 2 นายจิตชาย มุสิกบุตร ตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส สายงานกฎหมายกลุ่มอินทัช หน่วยงาน บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ ,ลำดับที่ 21 นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการและกรรมการอิสระ บมจ.ไทยคม
ลำดับที่ 26 นางพรทิพา ชินเวชกิจวานิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กัลฟ์ เอนเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ซึ่งบริษัท กัลฟ์ฯ ปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์
ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าว อาจเป็นส่วนหนึ่งของการนำไปประกอบการร้องให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ ในกรณีที่ผลคำชี้ขาดให้กระทรวงฯ เป็นฝ่ายชนะคดี
@ขอ ‘ป.ป.ช.’ ตรวจสอบตั้ง ‘วงศ์สกุล’ เป็นอนุญาโตฯ
ขณะเดียวกัน ในการแต่งตั้งนายวงศ์สกุล เป็นอนุญาโตตุลาการ ก่อนหน้าที่จะมีการแต่งตั้งนางพฤฒิพร เป็นอนุญาโตตุลาการฯนั้น ยังมีข้อเท็จจริงว่านายวงศ์สกุล ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีอัยการ เคยเป็นผู้เข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตร “หลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย” (นธป.) รุ่นที่ 6 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561
โดยหลักสูตรดังกล่าวปรากฏรายชื่อผู้เข้ารับการศึกษาอบรมรายอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทในคดีที่นายวงศ์สกุล เป็นอนุญาโตตุลำการ หลายรายชื่อ อำทิ ลำดับที่ 46 นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์
ซึ่งในห้วงเวลาเดียวกันกับที่กระทรวงฯ แต่งตั้งนายวงศ์สกุล เป็นอนุญาโตตุลาการนั้น บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ได้ดำเนินการตระเตรียมการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ จึงเห็นควรให้มีการตรวจสอบถึงกระบวนการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการในส่วนนี้ด้วย
อีกทั้งเมื่อนายวงศ์สกุล ได้แจ้งถอนตัวจากการเป็นอนุญาโตตุลาการฯทั้ง 3 ข้อพิพาท และแต่งตั้งนายธีระวัฒน์ เลขานุการของตัวเอง กลับมาเป็นอนุญาโตตุลาการฯทั้ง 3 ข้อพิพาท โดยไม่แจ้งเหตุผล ทั้งๆที่เมื่อไม่ถึง 1 เดือนก่อนหน้านั้น นายธีระวัฒน์ ขอถอนตัวจากการเป็นอนุญาโตตุลาการฯ โดยอ้างว่ามีภารกิจหน้าที่ราชการเป็นจำนวนมาก
“การที่นายชัยวุฒิ ได้ร่วมกับนายวงศ์สกุล ,นางพฤฒิพร และนายไพรัช ดำเนินการหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการให้เกิดผลเสียต่อราชการ ต่อประโยชน์ส่วนรวม และประโยชน์ของรัฐ โดยมีเจตนาพิเศษหรือมูลเหตุจูงใจ เพื่อทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ
ย่อมเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และเข้าข่ายกระทำความผิดอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหำยแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริตเพื่อแสวงหำประโยชน์ของตนโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157…” หนังสือกล่าวหาระบุ
เหล่านี้เป็นข้อกล่าวหาที่ รังสิมันต์ โรม ส.ส.ก้าวไกล ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. กล่าวหา นายชัยวุฒิ และอัยการที่เกี่ยวข้องกรณีการแทรกแซงการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส ในข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 2 ข้อพิพาท ซึ่งมีมูลค่าผลประโยชน์รวมกันอย่างน้อย 1.8 หมื่นล้านบาท
ส่วนบทสรุปจะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป!
อ่านประกอบ :
‘ก.อ.’ ถกปมตั้ง ‘อนุญาโตฯ’ คดีดาวเทียมไทยคม ส่อมีปัญหา-แนะ ‘พฤฒิพร’ ถอนตัว
‘ดีอีเอส’ โยน ‘อสส.'ทบทวนตั้ง ‘พฤฒิพร’เป็นอนุญาโตฯคดีไทยคม หลังมีข้อครหาไม่เป็นกลาง
โชว์คำสั่ง‘บิ๊กตู่’! ตั้ง‘พล.อ.วิทวัส’นั่งปธ.ตรวจสอบสัมปทานดาวเทียม-ถกนัดแรก 13 ก.ย.
‘บอร์ด กสทช.’ ไฟเขียว NT เข้าใช้วงโคจรดาวเทียม หลังสิ้นสุดสัมปทาน 'ไทยคม'
ย้อนปมแก้สัญญาดาวเทียม! ก่อนครม.ไล่เบี้ยหาคนผิด ลดหุ้น'ไทยคม’-ไม่ประมูล‘ไอพีสตาร์’
ครม.ไฟเขียวแก้สัญญาดาวเทียม ให้‘อินทัช’ ถือหุ้น‘ไทยคม’ไม่ต่ำกว่า 51%-ผนวก'ไอพีสตาร์'
แกะคู่มืออนุญาโตฯ เปิดช่อง ‘ไทยคม’ ได้เปรียบคดีดาวเทียม เดิมพันค่าโง่ 2.5 หมื่นล้าน
อภิปรายไม่ไว้วางใจ : ชำแหละมหากาพย์ 'ดาวเทียม’ เอื้อกลุ่มทุน-‘ชัยวุฒิ’ ปัดอุ้ม‘ไทยคม’
‘อสส.’ ส่งชื่อ ‘พฤฒิพร เนติโพธิ์’ เป็น ‘อนุญาโตฯ’ ชี้ขาดคดีไทยคม 2 ข้อพิพาท
ผู้ตรวจอัยการฯ VS ปลัดดีอีเอส : ขอให้ยึดถือความสัตย์จริง ตรงไปตรงมา
เสี่ยงถูกครอบงำ! ‘ผู้ตรวจอัยการ’ ค้านตั้ง ‘อนุญาโตฯ’ คนเดียว รวบคดีไทยคม
อ้างผิดพลาด! 'ปลัดดีอีเอส'ขออภัย 'ผู้ตรวจอัยการ’ ยันไม่เปลี่ยน‘อนุญาโตฯ’ คดีไทยคม 5
'รมว.ดีอีเอส' ยันเสนอชื่อ ‘อนุญาโตฯ’ คดี 'ไทยคม' ใหม่อีกรอบ ขึ้นอยู่กับ ‘อสส.’
‘ดีอีเอส’ ตีกลับ‘เลขาฯอสส.’! แจ้งขอเปลี่ยน 'อนุญาโตฯ' คดีพิพาทไทยคมอีกรอบ
4 ปมปัญหา! เบื้องหลังเปลี่ยน ’อนุญาโตฯ’คดีไทยคม หลังผลัดเก้าอี้ 'รมว.ดีอีเอส'
ปมขัดแย้งเปลี่ยน ‘อนุญาโตฯ’ ฝ่ายอัยการ คดีข้อพิพาท ‘ไทยคม’ เดิมพันผล ปย.หมื่นล้าน
เสียหายต่อชื่อเสียง! ‘ผู้ตรวจอัยการ’ จี้ ‘ปลัดดีอีเอส’ แจงปมเปลี่ยน 'อนุญาโตฯ' คดีไทยคม
ข้องใจ! ‘ผู้ตรวจฯอัยการ’ ถาม ‘ดีอีเอส’ หลัง ‘อสส.’ เปลี่ยน ‘อนุญาโตฯ’ คดีไทยคม
อสส.ตั้ง 'เลขาฯ’ตัวเองนั่งอนุญาโตฯ ‘คนเดียว’ พิจารณาข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 3 คดี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/