‘สำนักงานอัยการสูงสุด’ แจ้ง ‘ก.ดีอีเอส’ ตั้ง ‘ธีระวัฒน์ พุฒิบูรณวัฒน์’ เลขานุการอัยการสูงสุด เป็นอนุญาโตตุลาการคดีข้อพิพาทดาวเทียม ‘ไทยคม’ ทั้ง 3 คดีพิพาท ‘ชัยวุฒิ’ แจงเหตุขอเปลี่ยนให้เหลือคนเดียว เพราะเป็นสัญญาดาวเทียมเหมือนกัน
..........................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2564 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มีหนังสือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด ขอเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการ กรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสาร ระหว่างกระทรวงดีอีเอส และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) จำนวน 3 ข้อพิพาท ให้เป็นอัยการคนเดียวกัน และต่อมาสำนักงานอัยการสูงสุดแจ้งว่าได้แต่งตั้งนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอสทั้ง 3 ข้อพิพาทนั้น
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานอัยการสูงสุด มีหนังสือแจ้งไปยังปลัดกระทรวงดีอีเอส ลงนามโดย นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ว่า ตามที่กระทรวงดีเอส มีหนังสือขอเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการ กรณีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ เพื่อทำหน้าที่เป็นอนุญาตโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส ได้แก่
1.ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม
2.ข้อพิพาทหมายเลขที่ A27/2020 ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม
3.ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2563 ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม
โดยขอเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการเดิมที่อัยการสูงสุดมอบหมายไว้ และต่อมาสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการอนุญาโตตุลาการ 2 ได้มีหนังสือแจ้งแต่งตั้งนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส ทั้ง 3 ข้อพิพาทนั้น
เนื่องจากในการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส เป็นไปอย่างเร่งด่วน กระชั้นชิด รวมทั้งได้รับการประสานงานจากกระทรวงดีอีเอสว่า ในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2563 ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ใกล้ครบกำหนดระยะเวลาที่ต้องแจ้งชื่ออนุญาโตตุลาการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้บริหารและบุคลากรของสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการนอกสถานที่ และนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ปัจจุบันมีภารกิจราชการอื่นเป็นจำนวนมาก อาจไม่มีเวลาเพียงพอในการเป็นอนุญาโตตุลาการถึง 3 ข้อพิพาท ซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินการเป็นเวลานาน
ในการนี้ อัยการสูงสุดจึงได้มีบัญชาเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และแต่งตั้งนายธีระวัฒน์ พุฒิบูรณวัฒน์ อัยการพิเศษฝ่าย สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเคยได้รับแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการ ในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอสเพียงคนเดียวทั้ง 3 ข้อพิพาท และขอให้กระทรวงดีอีเอสดำเนินการจัดส่งหนังสือเสนอชื่ออนุญาโตตุลาการ เพื่อยื่นต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการโดยด่วนต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับนายธีระวัฒน์ พุฒิบูรณวัฒน์ เป็นอัยการพิเศษฝ่ายนโยบาย ยุทธศาสตร์และงบประมาณ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการอัยการสูงสุด (นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์)
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า สาเหตุที่กระทรวงดีอีเอสขอเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการคดีพิพาทกิจการดาวเทียมระหว่างกระทรวงดีอีเอส และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ให้เป็นอัยการคนเดียวกัน เพราะเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวกับสัญญาดาวเทียมเหมือนกัน ส่วนรายชื่อของคนที่มาเป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอสนั้น อยู่ระหว่างการคัดเลือก เพื่อตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการต่อไป
“ข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 5 ที่หายไป ซึ่งตามหลัก เขา (ไทยคม) ต้องหาดาวเทียมมาแทนให้เรา (ดีอีเอส) แต่ไทยคมยังไม่ดำเนินการ เราจึงได้ฟ้องเขาไปแล้ว มีอนุญาโตตุลาการ 1 ชุด หรือกรณีข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นดาวเทียมภายใต้สัมปทาน แต่ไทยคมยืนยันว่า ไม่ใช่ ก็มีอนุญาโตตุลาการอีก 1 ชุด แต่อนุญาโตตุลาการฝ่ายเรา เป็นคนละคนกัน เรามีความเห็นว่าควรจะเปลี่ยนให้เป็นคนเดียวกัน เพราะเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นสัญญาเกี่ยวกับดาวเทียมเหมือนกัน” นายชัยวุฒิกล่าว
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า กรณีที่มีการขัดข้องของดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องปลดระวางไปเมื่อวันที่ 26 ก.พ.2563 นั้น เมื่อเดือน พ.ย.2563 ที่ผ่านมา กระทรวงดีอีเอส มีหนังสือแจ้งไปยังบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ให้เข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการและคำเสนอข้อพิพาทของดาวเทียมไทยคม 5 โดยกระทรวงดีอีเอสเรียกร้องให้บริษัท ไทยคม ดำเนินการ ดังนี้
1.สร้างและส่งมอบดาวเทียมทดแทนดาวเทียมไทยคม 5 หากไม่ส่งมอบดาวเทียมทดแทนดาวเทียมไทยคม 5 ให้ชดใช้ค่าดาวเทียมเป็นเงิน 7,790.09 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค.2563 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ 2.ชำระค่าปรับเป็นเงิน 4.98 ล้านบาท (คำนวนจากวันที่ 25 ก.พ.2563 ถึงวันที่ 30 ต.ค.2563) พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี และ 3.ค่าปรับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2563 เป็นต้นไป จนกว่าจะส่งมอบดาวเทียมทดแทนดาวเทียมไทยคม 5 หรือชำระเงินค่าเสียหายครบถ้วน
อ่านประกอบ :
เลื่อนเคาะราคาเป็น 28 ส.ค.!'บอร์ด กสทช.'ขยายเวลาประมูลใบอนุญาตใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียม
ไม่มีการแข่งขัน! ‘ชัยวุฒิ’ เสนอล้มประมูลใบอนุญาตดาวเทียม หลัง ‘ไทยคม’ ยื่นรายเดียว
มารายเดียว! ‘บ.ลูกไทยคม’ ยื่นเอกสารประมูลใบอนุญาตดาวเทียม-‘มิวสเปซ’ ถอดใจ
ส่อวุ่น! ศึกประมูลดาวเทียม ‘ดีอีเอส’ งัดข้อ กสทช. -‘มิว สเปซ’ เขย่าบังลังก์ ‘ไทยคม’
ยิงดาวเทียมต้องใช้เวลา 2 ปี! ‘กสทช.’ ยันเดินหน้าเคาะประมูลใบอนุญาตฯ 24 ก.ค.นี้
กระทบดาวเทียมเก่า! ‘ไทยคม’ ร้อง ‘ดีอีเอส’ ถก ‘กสทช.’ ทบทวนเปิดประมูลสิทธิ 2 วงโคจร
วงเสวนาชำแหละ! ประมูลไลเซ่นส์ดาวเทียม ส่อมีเจ้าเดียว-ห่วงนอมินี
‘กสทช.’ เปิดฟังความเห็นร่างประกาศประมูล 'ใบอนุญาตดาวเทียม' 4 ชุด 2.2 พันล้าน
แบ่งใบอนุญาตเป็น 4 ชุด! กสทช.เดินหน้าคัดเลือกผู้รับสิทธิใช้ 'วงโคจรดาวเทียม' ปลายปีนี้
ท้าชิงไทยคมฯ ‘มิว สเปซ’ บ.ลูกชายอดีตหน.สนง.ทบ. จ่อร่วมประมูลใบอนุญาตดาวเทียม
บอร์ดกสทช.ไฟเขียวร่างประกาศกิจการดาวเทียม 3 ฉบับ
กางพิมพ์เขียวเปิดเสรี‘ดาวเทียมไทย’ กสทช..ประชาพิจารณ์21ต.ค.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/