ปมเปลี่ยน 'อนุญาโตตุลาการ' คดีพิพาท ‘ไทยคม’ เดือด ‘ผู้ตรวจการอัยการ’ ส่งหนังสือถึง ‘ปลัดก.ดีอีเอส’ ขอคำชี้แจงเหตุผลขอเปลี่ยนตัว หลังถูกกล่าวหา ‘มีผลประโยชน์ขัดกัน-ขาดความเป็นกลาง’ โดยไม่มีมูล ให้เวลาชี้แจงใน 15 วัน
........................
สืบเนื่องจากกรณีที่นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด (อสส.) ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แจ้งคำสั่งเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส กรณีพิพาทสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม จำนวน 3 ข้อพิพาท โดยแต่งตั้งนายธีระวัฒน์ พุฒิบูรณวัฒน์ อัยการพิเศษฝ่าย สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งปัจจุบันเป็นเลขานุการอัยการสูงสุด (นายวงศ์สกุล) เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส ทั้ง 3 ข้อพิพาท ได้แก่
1.ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม
2.ข้อพิพาทหมายเลขที่ A27/2020 ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม
3.ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2563 ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม
แต่ต่อมานางสุรางค์ นาสมใจ ผู้ตรวจการอัยการ ซึ่งเดิมได้รับแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส ในข้อพิพาทเลขที่ A27/2020 ได้ร้องเรียนไปยังนายพชร ยุติธรรมดํารง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ว่า อัยการสูงสุดไม่มีอำนาจเปลี่ยนตัวอนุญาโตตุลาการ และนางสุรางค์ ยังทำหนังสือไปยังกระทรวงดีอีเอส โดยขอทราบเหตุผลว่า เหตุใดกระทรวงดีอีเอสจึงมีหนังสือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อสั่งให้นางสุรางค์พ้นจากการเป็นอนุญาโตตุลาการนั้น
@ดีอีเอสขอเปลี่ยนอนุญาโตฯอ้าง ‘อาจ’ ถูกคู่พิพาทคัดค้าน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันจากกระทรวงดีอีเอสว่า กระทรวงดีอีเอส โดย น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอีเอส ได้ทำหนังสือไปถึงอัยการสูงสุด เพื่อขอให้เปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการ กรณีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียม และขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาบุคคลที่มีความเป็นกลาง และเป็นอิสระ มีคุณสมบัติที่เหมาะสม มาทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส แทนนางสุรางค์
“กระทรวงดีอีเอส ขอเรียนว่า เนื่องจากในข้อพิพาทเลขที่ A27/2020 ซึ่งได้แต่งตั้งให้ นางสุรางค์ นาสมใจ (ผู้ตรวจการอัยการ) เป็นอนุญาโตตุลาการของฝ่ายผู้เรียกร้อง อาจถูกคู่พิพาทอีกฝ่ายคัดค้าน โดยอาศัยเหตุมีผลประโยชน์ขัดกัน ขาดความเป็นกลาง ประกอบกับข้อพิพาททั้งสาม...เป็นข้อพิพาทตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับการบริการสาธารณะ ความมั่นคงของประเทศและหน่วยงานของรัฐ และมีทุนทรัพย์ที่เรียกร้องในอัตราที่สูง
อีกทั้งในข้อพิพาทดังกล่าวทั้งหมดเกี่ยวข้องสัญญาสัมปทานฉบับเดียวกัน ซึ่งบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ที่เป็นคู่พิพาท ได้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการในทุกข้อพิพาทเพียงคนเดียว
กระทรวงฯจึงเห็นควรว่า เพื่อประโยชน์ในการดำเนินข้อพิพาททุกข้อพิพาทให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงขอความอนุเคราะห์ให้อัยการสูงสุดพิจารณาบุคคลที่มีความเป็นกลาง และเป็นอิสระมีคุณสมบัติที่เหมาะสม เพื่อทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงฯ ในทุกข้อพิพาทเพียงคนเดียว โดยขอเปลี่ยนแปลงจากอนุญาโตตุลาการเดิมที่อัยการสูงสุดได้มอบหมายไว้” หนังสือกระทรวงดีอีเอส ด่วนที่สุดที่ ดศ 0202.3/6373 ลงวันที่ 11 มิ.ย.2564 ระบุ
ก่อนหน้านี้ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า สาเหตุที่กระทรวงดีอีเอสขอเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการคดีพิพาทกิจการดาวเทียม กรณีข้อพิพาทการส่งมอบดาวเทียมทดแทนดาวเทียมไทยคม 5 และกรณีข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 ว่า เป็นดาวเทียมภายใต้สัมปทานหรือไม่ ระหว่างกระทรวงดีอีเอส และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ให้เป็นอัยการคนเดียวกัน เพราะเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวกับสัญญาดาวเทียมเหมือนกัน
@ผู้ตรวจการอัยการขอปลัดดีอีเอสชี้แจง-พร้อมแสดงหลักฐาน
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศราได้รับข้อมูลว่า หลังจากนางสุรางค์ ได้รับทราบแจ้งคำสั่งการเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทเลขที่ A27/2020 แล้ว นางสุรางค์ ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ อส 0001 (ผต.)/172 ลงวันที่ 27 มิ.ย.2564 ถึงปลัดกระทรวงดีอีเอส เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขอเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการกรณีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียม และขอให้ปลัดกระทรวงดีอีเอสแจ้งเป็นหนังสือมาภายใน 15 วัน
สำหรับหนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาสรุปได้ว่า กรณีที่ปลัดกระทรวงดีอีเอสขอเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการฯ ในข้อพิพาทเลขที่ A27/2020 ของ THAC ของสถาบันอนุญาโตตุลาการกระทรวงยุติธรรม เนื่องจากเห็นว่า อาจถูกคู่พิพาทอีกฝ่ายคัดค้าน โดยอาศัยเหตุมีผลประโยชน์ขัดกัน ขาดความเป็นกลางนั้น
นางสุรางค์ เห็นว่า พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 19 บัญญัติว่า อนุญาโตตุลาการต้องมีความเป็นกลาง และเป็นอิสระ รวมทั้งต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้
โดยบุคคล ซึ่งจะถูกแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการจะต้องเปิดเผยข้อเท็จจริง ซึ่งอาจเป็นเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลาง หรือความเป็นอิสระของตน นับตั้งแต่เวลาที่ได้รับการตั้งและตลอดระยะเวลาการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ และอนุญาโตตุลาการอาจถูกคัดค้านได้ หากปรากฏข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลาง หรือความเป็นอิสระ หรือการขาดคุณสมบัติที่คู่พิพาทตกลงกัน
ขณะที่มาตรา 20 ระบุว่า ในกรณีที่คู่พิพาทไม่ได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น คู่พิพาทที่ประสงค์จะคัดค้านอนุญาโตตุลาการจะต้องยื่นหนังสือแสดงเหตุแห่งการคัดค้านคณะอนุญาโตตุลาการภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รู้ถึงการตั้งอนุญาโตตุลาการ หรือรู้ข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลาง หรือความเป็นอิสระ หรือการขาดคุณสมบัติที่คู่พิพาทตกลงกัน
หากอนุญาโตตุลาการซึ่งถูกคัดค้านไม่ถอนตัวจากการเป็นอนุญาโตตุลาการ หรือคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยกับข้อคัดค้านนั้น ให้คณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้วินิจฉัยคำชี้ขาด
นอกจากนี้ ยังมีข้อบังคับสถาบันอนุญาโตตุลาการ ว่าด้วยสถาบันอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2558 ได้กำหนดข้อบังคับในเรื่องคุณสมบัติและการคัดค้านอนุญาโตตุลาการสอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
ดังนั้น ความเป็นกลาง ความเป็นอิสระ และการไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องของอนุญาโตตุลาการจึงเป็นเรื่องสำคัญ และผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการจะต้องปฏิบัติตนตามบทกฎหมายและข้อบังคับดังกล่าวโดยเคร่งครัด
หนังสือของนางสุรางค์ ระบุต่อไปว่า โดยเฉพาะในการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการในคดีที่ A/27/2020 ของ THAC ของสถาบันอนุญาโตตุลาการกระทรวงยุติธรรม ที่นางสุรางค์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมนั้น เป็นการแต่งตั้งโดยการเสนอจากสำนักงานอัยการสูงสุด และนางสุรางค์ ได้ยึดถือปฏิบัติตนตามบทบัญญัติของกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยยึดถือความเป็นกลางอย่างยิ่งยวด ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในข้อพิพาทและคู่กรณีพิพาทใดๆ ทั้งสิ้น
โดยข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในข้อพิพาทที่ A27/2020 ของ THAC สถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรมดังกล่าว บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท อินทัช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นคู่พิพาทอีกฝ่าย ได้ยื่นคัดค้านอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดที่มีการแต่งตั้งในครั้งที่ 1 (ท่านที่ 1) เป็นเหตุให้อนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดที่มีการแต่งตั้งในครั้งที่ 1 ถอนตัว
และเมื่อมีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดท่านที่ 2 แทน แต่ผู้คัดค้านทั้งสอง ก็ได้ยื่นคำร้องคัดค้านอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดท่านที่ 2 อีก แต่ผู้คัดค้านทั้งสอง (บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง) ไม่เคยคัดค้านการเป็นอนุญาโตตุลาการของนางสุรางค์ เลย
@เตือนหากไม่ชี้แจงถือว่ามีเจตนากล่าวร้ายโดยไม่มีมูล
ดังนั้น การที่ปลัดกระทรวงดีอีเอสกล่าวหานางสุรางค์ ว่า เป็นบุคคลที่อาจถูกคู่พิพาทอีกฝ่ายคัดค้าน โดยอาศัยเหตุมีผลประโยชน์ขัดกัน ขาดความเป็นกลาง
ทั้งขอความอนุเคราะห์ให้อัยการสูงสุดพิจารณาบุคคลที่มีความเป็นกลางและเป็นอิสระมีคุณสมบัติที่เหมาะสม โดยเปลี่ยนแปลงการเป็นอนุญาโตตุลาการของนางสุรางค์ ซึ่งเป็นการกล่าวหาที่ร้ายแรงต่อผู้บังคับบัญชาสูงสุด ทำให้นางสุรางค์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติยศ เกียรติคุณ และการปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งอย่างยิ่ง จึงขอให้ปลัดดีอีเอสชี้แจงในเรื่องดังกล่าว
“ขอให้ท่าน (ปลัดกระทรวงดีอีเอส) ชี้แจงต่อข้าพเจ้า (นางสุรางค์) ดังนี้
1.ท่านมีข้อเท็จจริงหรือหลักฐานใดที่แสดงว่าข้าพเจ้ามีผลประโยชน์ขัดกัน ขาดความเป็นกลาง อันอาจถูกคู่พิพาทอีกฝ่ายคัดค้านโดยอาศัยเหตุดังกล่าว
2.ที่ท่านขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาบุคคลที่มีความเป็นกลางและเป็นอิสระมีคุณสมบัติที่เหมาะสมเพื่อทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแทนข้าพเจ้านั้น เป็นการกล่าวอ้างว่าข้าพเจ้าขาดความเป็นกลาง ความเป็นอิสระและไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม หรือไม่ อย่างใด หากเป็นการกล่าวอ้างดังกล่าว ให้ท่านแสดงข้อเท็จจริงและหลักฐานประกอบโดยชัดแจ้ง
ทั้งนี้ ขอให้ท่านชี้แจงต่อข้าพเจ้าเป็นหนังสือภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือนี้ หากท่านไม่ได้ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนด หรือชี้แจงโดยปราศจากข้อเท็จจริง หรือชี้แจงโดยปราศจากเหตุผลที่ควรรับฟัง ข้าพเจ้าจะถือว่าท่านเจตนากล่าวร้ายต่อข้าพเจ้าโดยไม่มีมูล และจะพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป” หนังสือด่วนที่สุด ที่ อส 0001 (ผต.)/172 ลงวันที่ 27 มิ.ย.2564 ลงนามโดยนางสุรางค์ นาสมใจ ผู้ตรวจการอัยการ ระบุ
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า จนถึงวันนี้ (12 ก.ค.) นางสุรางค์ ยังไม่ได้รับหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงจากปลัดกระทรวงดีอีเอสแต่อย่างใด
อ่านประกอบ :
ข้องใจ! ‘ผู้ตรวจฯอัยการ’ ถาม ‘ดีอีเอส’ หลัง ‘อสส.’ เปลี่ยน ‘อนุญาโตฯ’ คดีไทยคม
อสส.ตั้ง 'เลขาฯ’ตัวเองนั่งอนุญาโตฯ ‘คนเดียว’ พิจารณาข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 3 คดี
เลื่อนเคาะราคาเป็น 28 ส.ค.!'บอร์ด กสทช.'ขยายเวลาประมูลใบอนุญาตใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียม
ไม่มีการแข่งขัน! ‘ชัยวุฒิ’ เสนอล้มประมูลใบอนุญาตดาวเทียม หลัง ‘ไทยคม’ ยื่นรายเดียว
มารายเดียว! ‘บ.ลูกไทยคม’ ยื่นเอกสารประมูลใบอนุญาตดาวเทียม-‘มิวสเปซ’ ถอดใจ
ส่อวุ่น! ศึกประมูลดาวเทียม ‘ดีอีเอส’ งัดข้อ กสทช. -‘มิว สเปซ’ เขย่าบังลังก์ ‘ไทยคม’
ยิงดาวเทียมต้องใช้เวลา 2 ปี! ‘กสทช.’ ยันเดินหน้าเคาะประมูลใบอนุญาตฯ 24 ก.ค.นี้
กระทบดาวเทียมเก่า! ‘ไทยคม’ ร้อง ‘ดีอีเอส’ ถก ‘กสทช.’ ทบทวนเปิดประมูลสิทธิ 2 วงโคจร
วงเสวนาชำแหละ! ประมูลไลเซ่นส์ดาวเทียม ส่อมีเจ้าเดียว-ห่วงนอมินี
‘กสทช.’ เปิดฟังความเห็นร่างประกาศประมูล 'ใบอนุญาตดาวเทียม' 4 ชุด 2.2 พันล้าน
แบ่งใบอนุญาตเป็น 4 ชุด! กสทช.เดินหน้าคัดเลือกผู้รับสิทธิใช้ 'วงโคจรดาวเทียม' ปลายปีนี้
ท้าชิงไทยคมฯ ‘มิว สเปซ’ บ.ลูกชายอดีตหน.สนง.ทบ. จ่อร่วมประมูลใบอนุญาตดาวเทียม
บอร์ดกสทช.ไฟเขียวร่างประกาศกิจการดาวเทียม 3 ฉบับ
กางพิมพ์เขียวเปิดเสรี‘ดาวเทียมไทย’ กสทช..ประชาพิจารณ์21ต.ค.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/