“..เห็นควรให้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีการดำเนินงานให้เป็นไปตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ รวมทั้งพิจารณาผลกระทบ ความเสียหายที่เกิดขึ้น ผู้รับผิดชอบ และแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว...”
............................
กำลังเป็นที่จับตาของ ‘สาธารณชน’ และนักการเมือง ‘ขั้วตรงข้าม’
เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ ถือหุ้นใน บมจ.ไทยคม ไม่ต่ำกว่า 51% ของหุ้นทั้งหมด จากปัจจุบันที่ 41.13% หากไม่สามารถทำให้ลุล่วงได้ ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เจรจากับคู่สัญญาเพื่อชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการลดหุ้นลงเหลือ 40% (หากมี)
พร้อมทั้งเห็นชอบให้ผนวกดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) เป็นดาวเทียมภายใต้สัญญาสัมปทาน โดยให้ดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯพ.ศ.2562 หากไม่สามารถทำสำเร็จลุล่วงได้ ให้ ดศ. ดำเนินการด้วยวิธีอื่นตามระเบียบและขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อให้ดาวเทียมฯเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ
ครม.ยังมอบหมาย วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ หรือ ‘สัญญาสัมปทานไทยคม’ ว่า เกิดความเสียหายอย่างไร และมีใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบ
โดยเฉพาะในกรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานให้ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น (ปัจจุบัน คือ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์) ลดสัดส่วนการถือหุ้นใน บมจ.ไทยคม จากไม่น้อยกว่า 51% เป็นไม่น้อยกว่า 40% และกรณีการไม่เปิดให้มีการประมูลแข่งขันดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ซึ่งเป็นดาวเทียมนอกสัญญาสัมปทาน
หลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำวินิจฉัยในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 1/2553 วันที่ 26 ก.พ.2553 ว่า การกระทำทั้ง 2 กรณีดังกล่าว เป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น และ บมจ.ไทยคม ผู้รับสัมปทานจากรัฐโดยไม่สมควร
“เห็นควรให้ ดศ. แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีการดำเนินงานให้เป็นไปตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ
รวมทั้งพิจารณาผลกระทบ ความเสียหายที่เกิดขึ้น ผู้รับผิดชอบ และแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว แล้วเสนอครม.เพื่อทราบต่อไป” ข้อเสนอสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ตามเอกสารประกอบการพิจารณาของ ครม. ด่วนที่สุด ที่ นร 0506/5722/พ เรื่อง รายงานผลการพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินการตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2564 ระบุ
แต่ทว่า ครม. ได้มีมติมอบหมายให้ รองนายกฯ วิษณุ แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ แทนที่จะมอบหมายให้ ดศ. เป็นผู้แต่งตั้ง ตามที่ สลค.เสนอ (อ่านประกอบ : ครม.ไฟเขียวแก้สัญญาดาวเทียม ให้‘อินทัช’ ถือหุ้น‘ไทยคม’ไม่ต่ำกว่า 51%-ผนวก'ไอพีสตาร์')
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปเส้นทางการแก้สัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม กรณีการให้ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ลดสัดส่วนการถือหุ้นใน บมจ.ไทยคม เป็นไม่น้อยกว่า 40% และกรณีการไม่เปิดประมูลแข่งขันดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) มาให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
‘ชินวัตรคอมพิวเตอร์’ ได้สัมปทานดาวเทียม 30 ปี
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2534 และ 6 ส.ค.2534 ครม.มีมติอนุมัติให้ บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น และปัจจุบัน คือ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง) เป็นผู้ได้รับสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี
ต่อมาได้มีการลงนามในสัญญาฯเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2534 กับกระทรวงคมคมนาคม (ต่อมาเปลี่ยนโอนงานมายังกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือกระทรวงไอซีที และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือกระทรวงดีอีเอส) โดยสัญญาจะสิ้นสุดลงในวันที่ 10 ก.ย.2564
กรณีการลดสัดส่วนการถือหุ้นใน ‘บมจ.ไทยคม’
สัญญาฯข้อ 4 ที่ บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ ลงนามไว้เมื่อปี 2535 กำหนดให้บริษัทฯจะต้องจัดตั้ง ‘บริษัทใหม่’เพื่อดำเนินการโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ โดยมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท และบริษัทฯ จะต้องถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ไม่น้อยกว่า 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
ต่อมาในเดือน ธ.ค.2546 บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น (เดิมบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ) ส่งเรื่องไปยังกระทรวงไอซีที เพื่อขอลดสัดส่วนการถือหุ้น บมจ.ชินแซทเทลไลท์ (ต่อมาคือ บมจ.ไทยคม) จากที่กำหนดในสัญญาว่าต้องไม่น้อยกว่า 51% เป็นไม่น้อยกว่า 40% และมีการแก้ไขสัญญาในอีก 10 เดือนต่อมา ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
24 ธ.ค.2546 บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น เสนอเรื่องต่อกระทรวงไอซีที เพื่อขออนุมัติลดสัดส่วนการถือหุ้นใน บมจ.ชินแซทเทลไลท์
25 ก.พ.2547 กระทรวงไอซีที ส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) พิจารณากรณีลดสัดส่วนการถือหุ้นใน บมจ.ชินแซทเทลไลท์
3 มิ.ย.2547 สำนักงานอัยการสูงสุดแจ้งว่า กรณีเมื่อจะต้องพิจารณาเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาข้อนี้ (ข้อ 4) ซึ่งเป็นสาระสำคัญของสัญญา และเป็นส่วนหนึ่งแห่งที่มาของการอนุมัติโดยครม. ก็ควรให้กระทรวงไอซีที นำเรื่องเสนอให้ ครม.เพื่อพิจารณาก่อนลงนามสัญญา
17 มิ.ย.2547 กระทรวงไอซีที ส่งเรื่องการลดสัดส่วนการถือหุ้นตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ เพื่อเสนอ ครม. พิจารณา
20 ส.ค.2547 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แจ้งว่า เรื่องดังกล่าว ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเสนอให้ ครม.พิจารณา ประกอบกับ ครม.มีนโยบายที่จะลดเรื่องที่จะเสนอ ครม. จึงขอส่งเรื่องคืน
24 ก.ย.2547 กระทรวงไอซีที ขอหารือกับสำนักงานอัยการสูงสุด เรื่อง การลดสัดส่วนการถือหุ้นตามสัญญาฯ ว่า จะใช้ดุลพินิจในการแก้ไขสัญญาได้หรือไม่ เพียงใด โดยไม่ต้องส่งเรื่องให้ ครม.พิจารณา
13 ต.ค.2547 สำนักงานอัยการสูงสุด แจ้งว่า เมื่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เห็นว่า เรื่องนี้ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเสนอ ครม. พิจารณาดังข้อเสนอแนะของสำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงไอซีที จึงมีดุลพินิจที่จะแก้ไขสัญญาตามร่างที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจแก้ไขไว้ได้
27 ต.ค.2547 กระทรวงไอซีที บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น และบมจ.ชินแซทเทลไลท์ ลงนามในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) โดยยกเลิกข้อความในสัญญาหลักข้อ 4.2 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน “4.2 บริษัทจะต้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทใหม่ไม่น้อยกว่าร้อยละสี่สิบ (40) ของจำนวนหุ้นทั้งหมด”
อย่างไรก็ตาม ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ก.พ.2553 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำวินิจฉัยในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 1/2553 โดยวินิจฉัยว่า การอนุมัติให้มีการแก้ไขสัญญาสัมปทาน โดยให้ บมจ. ชินคอร์ปอเรชั่น ลดสัดส่วนการถือหุ้นใน บมจ.ชินแซทเทลไลท์ เป็นเหลือไม่น้อยกว่า 40% นั้น
สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.กระทรวงไอซีที ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหา ไม่ได้นำเสนอให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ จึงเป็นการอนุมัติโดยมิชอบ และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ บมจ. ชินคอร์ปอเรชั่น ผู้รับสัมปทาน
เนื่องจากกรณีที่ บมจ.ไทยคม (เดิม บมจ.ชินแซทเทลไลท์ ) ได้ทำการเพิ่มทุนเพื่อดำเนินโครงการใดๆ โดยเฉพาะโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 16,543.8 ล้านบาท นั้น บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บมจ.ไทยคม จะไม่ต้องระดมทุนหรือกู้เงินมาซื้อหุ้นเพื่อรักษาสัดส่วนหุ้นใน บมจ.ไทยคม ให้ไม่ต่ำกว่า 51%
ดังจะเห็นได้ว่า ในวันที่ 7 ม.ค.2547 และวันที่ 4 ก.พ.2547 บมจ.ไทยคม ได้ทำการเพิ่มทุน แต่ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ไม่ต้องซื้อหุ้นเพิ่มทุนเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้น 84.7 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นเงิน 1,196.01 ล้านบาท แต่กลับกระจายความเสี่ยงไปให้กับนักลงทุนรายย่อยในตลาดหลักทรัพย์ และลดสัดส่วนการถือหุ้นใน บมจ.ไทยคม ลง 11%
“การลดสัดส่วนดังกล่าว มีผลเป็นการลดทอนความเชื่อมั่นและความมั่นใจในการดำเนินโครงการดาวเทียมของ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ในฐานะผู้ได้รับสัมปทานโดยตรง ที่ต้องมีอำนาจควบคุมบริหารจัดการอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ และต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่น้อยกว่า 51% ใน บมจ.ไทยคม ซึ่งเป็นผู้บริหารโครงการดาวเทียมตามสัญญาสัมปทาน
แม้ว่า บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น และ บมจ.ไทยคม จะยังต้องร่วมกันรับผิดตามสัญญาสัมปทานอยู่ แต่การลดสัดส่วนการถือครองหุ้นดังกล่าว ก็ย่อมที่จะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความมั่นคงในการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมของรัฐ
องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยเสียงข้างมากว่า กรณีการอนุมัติแก้ไขสัญญาฯครั้งที่ 5 โดยลดสัดส่วนการถือหุ้นของ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ใน บมจ.ไทยคม จากไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น และ บมจ.ไทยคม ผู้รับสัมปทานจากรัฐโดยไม่สมควร” คำพิพากษาฯสรุป
กรณีการอนุมัติโครงการดาวเทียม ‘ไอพีสตาร์’
สัญญาฯข้อ 6 เรื่อง คุณสมบัติดาวเทียม กำหนดไว้ว่า รายละเอียดคุณสมบัติเฉพาะของดาวเทียม (Satellite Technical Specification) ทุกดาว ที่บริษัทจะจัดสร้างและจัดส่งตามสัญญานี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงก่อน และอุปกรณ์ทั้งหมดจะต้องเป็นอุปกรณ์ที่ยอมรับแล้วว่า สามารถปฏิบัติงานได้อย่างดี
ทั้งนี้ คุณสมบัติการใช้งานดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรอง ตั้งแต่ดวงที่สองเป็นต้นไป จะต้องมีคุณสมบัติไม่ด้อยกว่าคุณสมบัติการใช้งานดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองชุดที่ 1…
แต่ปรากฏว่าดาวเทียมไทยคม 4 ซึ่งควรจะเป็น ‘ดาวเทียมสำรอง’ ของดาวเทียมไทยคม 3 นั้น ได้มีการแก้ไข ‘ข้อกำหนดทางเทคนิค’ ของดาวเทียมไทยคม 4 เป็น ดาวเทียมไอพีสตาร์ ก่อนที่จะมีการส่งดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ขึ้นสู่วงโคจรในปี 2548 โดยไม่มีการประมูลแข่งขัน ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
17 ธ.ค.2536 มีการจัดส่งดาวเทียมหลัก คือ ดาวเทียมไทยคม 1
7 ต.ค.2537 มีการจัดส่งดาวเทียมสำรอง คือ ดาวเทียมไทยคม 2
16 เม.ย.2540 มีการจัดส่งดาวเทียมหลัก คือ ดาวเทียมไทยคม 3
27 ก.ค.2545 กระทรวงคมนาคม (ผู้ดูแลโครงการดาวเทียมใยขณะนั้น) อนุมัติให้มีการจัดสร้างดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม 3 ที่จะจัดส่งขึ้นสู่อวกาศ คือ ดาวเทียมไทยคม 4 แต่เมื่อถึงกำหนดที่จะต้องจัดส่งขึ้นสู่อวกาศ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น บริษัทผู้รับสัมปทาน ได้เลื่อนกำหนดการจัดส่งหลายครั้ง
ต่อมา บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ได้ขอแก้ขอกำหนดทางด้านเทคนิค โดยขอเปลี่ยนคุณสมบัติของดาวเทียมสำรอง คือ ดาวเทียมไทยคม 4 เป็นดาวเทียมไอพีสตาร์ โดย บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น มีหนังสือขอแก้ไขข้อกำหนดทางเทคนิค (Specification) ของดาวเทียมไทยคม 4
29 ส.ค.2545 คณะกรรมการประสานงานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ที่แต่งตั้งขึ้นตามสัญญาสัมปทาน) ครั้งที่ 1/2545 มีมติว่า ดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) เป็นดาวเทียมดวงใหม่ (ไม่ใช่ดาวเทียมสำรอง) เช่นเดียวกับความเห็นของกรมไปรษณีย์โทรเลข
10 ก.ย.2545 คณะกรรมการประสานงานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ครั้งที่ 2/2545 มีการแก้ไขรายงานการประชุมครั้งที่ 1/2545 และอนุมัติให้ดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) เป็นดาวเทียมสำรอง
24 ก.ย.2545 วันมูหะมัดนอร์ มะทา รมว.คมนาคม อนุมัติให้ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น นำรายละเอียดคุณสมบัติเฉพาะของดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ผนวกเป็นเอกสารแนบท้ายสัญญาหมายเลข 4 (เพิ่มเติม) และอนุมัติแผน back up ดาวเทียมไทยคม 3 ย่านความถี่ C-band และ Ku-band ตามข้อเสนอของ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น
พร้อมทั้งอนุมัติแผนการดำเนินงานของดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ซึ่งมีผลทำให้แก้ไขสัญญาแนบท้ายสัญญาหมายเลข 3 : แผนการดำเนินการ เฉพาะในส่วนของดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) และอนุมัติให้ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น จัดสร้างและส่งดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ขึ้นสู่ตำแหน่ง 120 องศาตะวันออก
27 ก.ย.2545 กระทรวงคมนาคม มีหนังสือแจ้งให้ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ทราบ
2 ต.ค.2545 โอนกิจการอวกาศ รวมถึงสัญญาสัมปทานดาวเทียม ในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคมมาเป็นของสำนักงานปลัดกระทรวงไอซีที
9 พ.ค.2548 สุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ไอซีที อนุมัติให้ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ใช้ตำแหน่งดาวเทียม THAICOM-IP1 (119.5 องศาตะวันออก) เพื่อจัดตั้งดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์)
11 ส.ค.2548 ดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรตำแหน่ง 119.5 องศาตะวันออก
สำหรับประเด็นนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำวินิจฉัยในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 1/2553 เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2553 ได้มีคำวินิจฉัย ว่า ดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) เป็นดาวเทียมหลัก ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศเป็นหลัก ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อสื่อสารภายในประเทศตามวัตถุประสงค์ของสัญญาสัมปทาน
และเป็นเรื่องที่อยู่ 'นอกกรอบแห่งสัญญา' ที่ว่า จะใช้เพื่อเป็นดาวเทียมสำหรับสื่อสารภายในประเทศ และหากเหลือใช้จึงจะใช้ต่างประเทศใช้บริการได้ตามที่ระบุไว้ในเงื่อนไขข้อกำหนดการเข้ารับสัมปทาน ซึ่งระบุไว้ในบทนำและจ้อที่ 13 ของสัญญาสัมปทาน
อีกทั้งพ้นระยะเวลาคุ้มครองสิทธิผูกขาดที่กระทรวงคมนาคม ผู้ให้สัมปทานจะไม่ให้ภาคเอกชนรายอื่นเข้ามาดำเนินกิจการแข่งขันกับบริษัทผู้รับสัมปทานที่มีกำหนดระยะเวลา 8 ปี ตามสัญญาข้อ 2
จึงถือว่าเป็น 'โครงการใหม่' ที่อยู่ 'นอกกรอบสัญญาสัมปทาน' และจะต้องเปิดประมูลแข่งขัน โดยเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนการเสนอโครงการใหม่อย่างเสรี และเป็นธรรม ทั้งในด้านการบริหารงานและอัตราการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐตามกระบวยการพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ.2535
องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยเสียงข้างมาก ว่า กรณีการอนุมัติโครงการดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) เป็นการกระทำโดยมิชอบ เอื้อประโยชน์แก่ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น และ บมจ.ไทยคม
เหล่านี้เป็น ‘ไทม์ไลน์’ และเส้นทางการดำเนินการที่เกี่ยวกับสัญญาสัมปทาน ‘ดาวเทียมไทยคม’ ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำวินิจฉัยเมื่อปี 2553 ว่า มีประเด็นที่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนคู่สัญญา 2 กรณี ก่อนที่ต่อมาในวันที่ 7 ก.ย.2564 ครม.ของ พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีคำสั่งให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานฯตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ
เพียงแต่มีคำถามว่า เหตุใด ครม. เพิ่งจะมีการมติให้แก้ไขและตรวจสอบกรณีสัมปทานดาวเทียมไทยคม
ทั้งๆที่ศาลฯมีคำตัดสินในเรื่องนี้มากว่า 11 ปีแล้ว!
อ่านประกอบ :
ครม.ไฟเขียวแก้สัญญาดาวเทียม ให้‘อินทัช’ ถือหุ้น‘ไทยคม’ไม่ต่ำกว่า 51%-ผนวก'ไอพีสตาร์'
แกะคู่มืออนุญาโตฯ เปิดช่อง ‘ไทยคม’ ได้เปรียบคดีดาวเทียม เดิมพันค่าโง่ 2.5 หมื่นล้าน
อภิปรายไม่ไว้วางใจ : ชำแหละมหากาพย์ 'ดาวเทียม’ เอื้อกลุ่มทุน-‘ชัยวุฒิ’ ปัดอุ้ม‘ไทยคม’
‘อสส.’ ส่งชื่อ ‘พฤฒิพร เนติโพธิ์’ เป็น ‘อนุญาโตฯ’ ชี้ขาดคดีไทยคม 2 ข้อพิพาท
ผู้ตรวจอัยการฯ VS ปลัดดีอีเอส : ขอให้ยึดถือความสัตย์จริง ตรงไปตรงมา
เสี่ยงถูกครอบงำ! ‘ผู้ตรวจอัยการ’ ค้านตั้ง ‘อนุญาโตฯ’ คนเดียว รวบคดีไทยคม
อ้างผิดพลาด! 'ปลัดดีอีเอส'ขออภัย 'ผู้ตรวจอัยการ’ ยันไม่เปลี่ยน‘อนุญาโตฯ’ คดีไทยคม 5
'รมว.ดีอีเอส' ยันเสนอชื่อ ‘อนุญาโตฯ’ คดี 'ไทยคม' ใหม่อีกรอบ ขึ้นอยู่กับ ‘อสส.’
‘ดีอีเอส’ ตีกลับ‘เลขาฯอสส.’! แจ้งขอเปลี่ยน 'อนุญาโตฯ' คดีพิพาทไทยคมอีกรอบ
4 ปมปัญหา! เบื้องหลังเปลี่ยน ’อนุญาโตฯ’คดีไทยคม หลังผลัดเก้าอี้ 'รมว.ดีอีเอส'
ปมขัดแย้งเปลี่ยน ‘อนุญาโตฯ’ ฝ่ายอัยการ คดีข้อพิพาท ‘ไทยคม’ เดิมพันผล ปย.หมื่นล้าน
เสียหายต่อชื่อเสียง! ‘ผู้ตรวจอัยการ’ จี้ ‘ปลัดดีอีเอส’ แจงปมเปลี่ยน 'อนุญาโตฯ' คดีไทยคม
ข้องใจ! ‘ผู้ตรวจฯอัยการ’ ถาม ‘ดีอีเอส’ หลัง ‘อสส.’ เปลี่ยน ‘อนุญาโตฯ’ คดีไทยคม
อสส.ตั้ง 'เลขาฯ’ตัวเองนั่งอนุญาโตฯ ‘คนเดียว’ พิจารณาข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 3 คดี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/