"...มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในกันกลุ่มอัยการว่า การเปลี่ยนตัว ‘อัยการ’ ที่ทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส ในคดีพิพาทสัมปทานดาวเทียมไทยคม อาจส่งผลกระทบต่อการพิจารณาข้อพิพาทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่ ‘มูลค่าเรียกร้อง’ ของข้อพิพาทสัญญาสัมปทานไทยคมดังกล่าว มีมูลค่านับหมื่นล้านบาท..."
......................
เป็นประเด็นร้อนที่คนในแวดวง ‘อัยการ’
เมื่อ วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด แจ้งเปลี่ยนแปลง ‘อนุญาโตตุลาการ’ ฝ่ายกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) คดีพิพาทสัมปทานดาวเทียมไทยคม จำนวน 3 ข้อพิพาท โดยแต่งตั้ง ธีระวัฒน์ พุฒิบูรณวัฒน์ เลขานุการอัยการสูงสุด (วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์) เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส ทั้ง 3 ข้อพิพาท ได้แก่
1.ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นคดีพิพาทการดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศเกี่ยวกับดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 ระหว่าง บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง (ผู้เรียกร้อง) กับ กระทรวงดีอีเอส (ผู้คัดค้าน)
2.ข้อพิพาทเลขที่ A27/2020 (A27/2563) ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นคดีพิพาทการดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศเกี่ยวกับดาวเทียมไทยคม 5 ระหว่าง กระทรวงดีอีเอส (ผู้เรียกร้อง) กับ บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง (ผู้คัดค้าน)
3.ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2563 ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นคดีพิพาทการดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศเกี่ยวกับดาวเทียมไทยคม 5 ระหว่าง บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง (ผู้เรียกร้อง) กับ กระทรวงดีอีเอส (ผู้คัดค้าน)
(วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์)
หลังจาก อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอีเอส มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ดศ 0202.3/6373 ลงวันที่ 11 มิ.ย.2564 แจ้งไปยังอัยการสูงสุด ขอเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทเลขที่ A27/2020 เพราะเห็นว่าอัยการที่ได้รับแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทดังกล่าว
“อาจถูกคู่พิพาทอีกฝ่ายคัดค้าน โดยอาศัยเหตุมีผลประโยชน์ขัดกัน ขาดความเป็นกลาง…”
อีกทั้งหนังสือดังกล่าวได้ระบุว่า “เพื่อประโยชน์ในการดำเนินข้อพิพาททุกข้อพิพาทให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงขอความอนุเคราะห์ให้อัยการสูงสุดพิจารณาบุคคลที่มีความเป็นกลาง และเป็นอิสระมีคุณสมบัติที่เหมาะสม เพื่อทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงฯ ในทุกข้อพิพาทเพียงคนเดียว...”
ขณะที่ก่อนหน้านี้ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส ให้เหตุผลถึงการเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการในคดีพิพาทสัมปทานดาวเทียมไทยคม ให้เป็นอัยการคนเดียวกัน นั้น เพราะเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวกับสัญญาดาวเทียมเหมือนกัน (อ่านประกอบ : อสส.ตั้ง 'เลขาฯ’ตัวเองนั่งอนุญาโตฯ ‘คนเดียว’ พิจารณาข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 3 คดี)
“ข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 5 ที่หายไป ซึ่งตามหลัก เขา (ไทยคม) ต้องหาดาวเทียมมาแทนให้เรา (ดีอีเอส) แต่ไทยคมยังไม่ดำเนินการ เราจึงได้ฟ้องเขาไปแล้ว มีอนุญาโตตุลาการ 1 ชุด
หรือกรณีข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นดาวเทียมภายใต้สัมปทาน แต่ไทยคมยืนยันว่า ไม่ใช่ ก็มีอนุญาโตตุลาการอีก 1 ชุด แต่อนุญาโตตุลาการฝ่ายเรา เป็นคนละคนกัน เรามีความเห็นว่าควรจะเปลี่ยนให้เป็นคนเดียวกัน เพราะเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นสัญญาเกี่ยวกับดาวเทียมเหมือนกัน” ชัยวุฒิ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา
แต่ทว่าต่อมา สุรางค์ นาสมใจ ผู้ตรวจการอัยการ ซึ่งเดิมได้รับแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทเลขที่ A27/2020 ได้ มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ อส 0001 (ผต.)/172 ลงวันที่ 27 มิ.ย.2564 ส่งไปถึงปลัดกระทรวงดีอีเอส เพื่อขอให้แจ้งข้อเท็จจริงกรณีการเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการ
เนื่องจาก สุรางค์ เห็นว่าข้อกล่าวหาที่ปลัดกระทรวงดีอีเอส ระบุในหนังสือที่ ดศ 0202.3/6373 ลงวันที่ 10 มิ.ย.2564 นั้น มีข้อความที่กล่าวหา สุรางค์ ในข้อหาที่ร้ายแรงต่อผู้บังคับบัญชา ทำให้ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติยศ เกียรติคุณ และการปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งอย่างยิ่ง
“ขอให้ท่าน (ปลัดกระทรวงดีอีเอส) ชี้แจงต่อข้าพเจ้า (สุรางค์) ดังนี้
1.ท่านมีข้อเท็จจริงหรือหลักฐานใดที่แสดงว่าข้าพเจ้ามีผลประโยชน์ขัดกัน ขาดความเป็นกลาง อันอาจถูกคู่พิพาทอีกฝ่ายคัดค้านโดยอาศัยเหตุดังกล่าว
2.ที่ท่านขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาบุคคลที่มีความเป็นกลางและเป็นอิสระมีคุณสมบัติที่เหมาะสมเพื่อทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแทนข้าพเจ้านั้น เป็นการกล่าวอ้างว่าข้าพเจ้าขาดความเป็นกลาง ความเป็นอิสระและไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม หรือไม่ อย่างใด หากเป็นการกล่าวอ้างดังกล่าว ให้ท่านแสดงข้อเท็จจริงและหลักฐานประกอบโดยชัดแจ้ง
ทั้งนี้ ขอให้ท่านชี้แจงต่อข้าพเจ้าเป็นหนังสือภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือนี้ หากท่านไม่ได้ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนด หรือชี้แจงโดยปราศจากข้อเท็จจริง หรือชี้แจงโดยปราศจากเหตุผลที่ควรรับฟัง
ข้าพเจ้าจะถือว่าท่านเจตนากล่าวร้ายต่อข้าพเจ้าโดยไม่มีมูล และจะพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป” หนังสือด่วนที่สุด ที่ อส 0001 (ผต.)/172 ลงวันที่ 27 มิ.ย.2564 ลงนามโดย สุรางค์ นาสมใจ ผู้ตรวจการอัยการ ระบุ (อ่านประกอบ : เสียหายต่อชื่อเสียง! ‘ผู้ตรวจอัยการ’ จี้ ‘ปลัดดีอีเอส’ แจงปมเปลี่ยน 'อนุญาโตฯ' คดีไทยคม)
@ย้อนรอยข้อพิพาทสัมปทานดาวเทียมไทยคม
มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในกันกลุ่มอัยการว่า การเปลี่ยนตัว ‘อัยการ’ ที่ทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส ในคดีพิพาทสัมปทานดาวเทียมไทยคม อาจส่งผลกระทบต่อการพิจารณาข้อพิพาทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่ ‘มูลค่าเรียกร้อง’ ของข้อพิพาทสัญญาสัมปทานไทยคมดังกล่าว มีมูลค่านับหมื่นล้านบาท ประกอบด้วย
ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 (ข้อพิพาทเกี่ยวกับดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8)
เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2560 กระทรวงดีอีเอส มีหนังสือแจ้งมายัง บมจ.ไทยคม ว่า ดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 เป็นดาวเทียมภายใต้สัญญาสัมปทาน ซึ่ง บมจ.ไทยคม ต้องชำระค่าตอบแทนต่างๆตามสัญญาให้กับกระทรวงดีอีเอส รวมทั้งต้องส่งมอบดาวเทียมทั้ง 2 ดวง มูลค่ารวมหลายพันล้านบาท ให้กับกระทรวงดีอีเอสตามสัญญา หลังสิ้นสุดสัมปทานในวันที่ 10 ก.ย.2564 ด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงดีอีเอส ระบุว่า การดำเนินการดังกล่าว สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2559 ที่มีมติว่า
“...แนวทางบริหารกิจการดาวเทียมสื่อสารของประเทศในระยะยาวและในช่วงเปลี่ยนผ่านนั้น กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ต่อมาเปลี่ยนเป็นกระทรวงดีอีเอส) ควรดำเนินการให้เกิดความเป็นธรรมและคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศเป็นสำคัญ…”
อย่างไรก็ตาม บมจ.ไทยคม เห็นว่าดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 ไม่ใช่ดาวเทียมภายใต้สัญญาสัมปทาน เพราะการดำเนินกิจการดาวเทียมทั้ง 2 ดวงนั้น อยู่ภายใต้กรอบการรับใบอนุญาตฯจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และยืนยันว่าบริษัทฯไม่ได้ดำเนินการที่ขัดต่อสัญญาใดๆ
ต่อมา บมจ.ไทยคม ยื่นเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ เพื่อพิจารณาชี้ขาดข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นไปตามสัญญาข้อ 45.1 โดยได้ยื่นข้อโต้แย้งต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2560 เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 และจะยังไม่มีการปฏิบัติตามที่กระทรวงดีอีเอสอ้างถึง จนกว่าอนุญาโตตุลาการจะมีการชี้ขาดใดๆออกมา
ขณะที่ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 12 ก.พ.2562 ให้กระทรวงดีอีเอสไปดำเนินคดีโดยกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการและหรือทางศาล เพื่อเรียกร้องให้ บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง ปฏิบัติตามข้อสัญญา ชำระค่าตอบแทนตามสัญญา ชำระค่าปรับ และค่าเสียหายต่างๆ กรณีดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม เป็นเงินทั้งสิ้น 199.88 ล้านบาท
“ดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 เราเชื่อว่าเป็นดาวเทียมสัมปทาน เราจะให้เอาคืนมา เพราะตามความหมายของกระทรวงฯ ดาวเทียม 7 และ 8 เป็นดาวเทียมตามสัมปทาน ซึ่งหลังวันที่ 10 ก.ย.2564 ต้องโอนมาให้ดีอีเอส แต่ไทยคม (บมจ.ไทยคม) ยืนยันว่า ไม่ใช่ เพราะเป็นดาวเทียมรุ่นใหม่ ซึ่งคดีนี้น่าจะใช้เวลาพิจารณาหลายปี” รมว.ดีอีเอส กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา เมื่อเร็วๆนี้
(ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์)
ข้อพิพาทเลขที่ A27/2020 (A27/2563) (ข้อพิพาทเกี่ยวกับดาวเทียมไทยคม 5)
เมื่อต้นปี 2563 โดยขณะนั้นเกิดกรณีการขัดข้องของดาวเทียมไทยคม 5 และเป็นเหตุให้ต้องปลดระวางดาวเทียมไทยคม 5 เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2563
ต่อมาในช่วงต้นเดือน พ.ย.2563 บมจ.ไทยคม ได้รับหนังสือฉบับลงวันที่ 2 พ.ย.2563 ว่า กระทรวงดีอีเอส ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อ THAC สถาบันอนุญาโตตุลาการ เป็นคดีหมายเลขดำที่ A27/2020 (A27/2563) โดยเรียกร้องให้ บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง ดำเนินการ ดังนี้
(1) สร้างและส่งมอบดาวเทียมทดแทนดาวเทียมไทยคม 5 หรือ ‘ให้ใช้’ ราคาดาวเทียม จำนวน 7,790.09 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค.2563 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
(2) ชำระค่าปรับเป็นเงิน 4.98 ล้านบาท (คำนวนจากวันที่ 25 ก.พ.2563 ถึงวันที่ 30 ต.ค.2563) พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี
(3) ค่าปรับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2563 เป็นต้นไป จนกว่าจะส่งมอบดาวเทียมทดแทนดาวเทียมไทยคม 5 หรือชำระเงินค่าเสียหายครบถ้วน
อย่างไรก็ตาม บมจ.ไทยคม ระบุว่า ได้ดำเนินการตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารฯ ครบถ้วนถูกต้องแล้ว เช่น แจ้งแผนการปลดระวางให้ทุกฝ่ายทราบและขออนุมัติก่อน บริษัทฯยังได้นำส่วนแบ่งรายได้จากลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ นำส่งกระทรวงฯเป็นค่าชดเชย รวมถึงเจรจากับบริษัทประกันภัยเพื่อนำเงินสินไหมทดแทนส่งมอบกระทรวงฯ
ดังนั้น บมจ.ไทยคม จึงไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของกระทรวงดีอีเอส และได้แต่งตั้งทนายความเพื่อเป็นตัวแทนในการแก้ข้อพิพาทตามกระบวนการทางกฎหมาย
ส่วนการดำเนินการของกระทรวงดีอีเอสนั้น กระทรวงฯได้มีหนังสือ ลับมาก ด่วนที่สุดที่ ดศ.0202.3/859 ลงวันที่ 28 ต.ค.2563 ขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาสรรหาพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด "ซึ่งมีความเป็นกลางและเป็นอิสระ เพื่อทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส"
ต่อมาวันที่ 10 พ.ย.2563 ไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานต่างประเทศ รักษาการในตำแหน่งอธิบดีอัยการ สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ ในขณะนั้น เสนอเรื่องไปยังอัยการสูงสุด ให้แต่งตั้ง สุรางค์ นาสมใจ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีภาษี รักษาการในตำแหน่งผู้ตรวจการอัยการ เพื่อทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส
ก่อนที่ในเวลาต่อมาอัยการสูงสุด (วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์) ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง สุรางค์ เป็นอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2563
@ปมปัญหาแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการคดีไทยคม
นอกจากนี้ คำสั่งเปลี่ยนแปลง ‘อนุญาโตตุลาการ’ ฝ่ายกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) คดีพิพาทสัมปทานดาวเทียมไทยคม จำนวน 3 ข้อพิพาท ของอัยการสูงสุด (วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์) ในช่วงที่ผ่านมา ยังทำให้เกิดคำถามใหญ่ตามมาอย่างน้อย 2 ประเด็น คือ
1.กรณีที่ วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ลงนามคำสั่งแต่งตั้งตัวเองเป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส ทั้ง 3 ข้อพิพาท ก่อนที่จะมีหนังสือสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการอนุญาโตตุลาการ 2 ด่วนที่สุด ที่ อส 0024/197 ลงวันที่ 11 มิ.ย.2564 แจ้งไปยังกระทรวงดีอีเอสนั้น เป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่
แม้ว่าต่อมา วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด จะแจ้งคำสั่งเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการอีกครั้ง ตามหนังสือที่ อส 0001/197 ลงวันที่ 7 ก.ค.2564 แต่งตั้ง ธีรวัฒน์ พุฒิบูรณวัฒน์ เลขานุการอัยการสูงสุด (วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์) เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส ทั้ง 3 ข้อพิพาทแทน
แต่นั่นก็ทำให้เกิดคำถามว่า จะมีการแทรกแซงการทำหน้าที่ของ ธีรวัฒน์ ในฐานะอนุญาโตตุลาการ หรือไม่
2.กรณีที่ วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง ธีรวัฒน์ (เลขานุการอัยการสูงสุด) ทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส ทั้ง 3 ข้อพิพาท ส่งผลให้ สุรางค์ นาสมใจ ผู้ตรวจการอัยการ พ้นจากการทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส ข้อพิพาทเลขที่ A27/2020 (A27/2563) (คดีพิพาทไทยคม 5) นั้น
ขัดต่อ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 19 และมาตรา 20 หรือไม่
เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในข้อพิพาทที่ A27/2020 ของ THAC สถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรมนั้น บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง ไม่เคยคัดค้านการเป็นอนุญาโตตุลาการของ สุรางค์ เลย ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ ทั้ง 2 บริษัท ยื่นได้คัดค้านอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดถึง 2 ครั้ง 2 ครา
ในขณะที่มาตรา 19 วรรคสอง บัญญัติว่า “อนุญาโตตุลาการอาจถูกคัดค้านได้ หากปรากฏข้อเท็จจริงซึ่งเป็นเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระ หรือการขาดคุณสมบัติตามที่คู่พิพาทตกลงกัน แต่คู่พิพาทจะคัดค้านอนุญาโตตุลาการซึ่งตนเป็นผู้ตั้งหรือร่วมตั้งมิได้ เว้นแต่คู่พิพาทฝ่ายนั้นมิได้รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการคัดค้านในขณะที่ตั้งอนุญาโตตุลาการนั้น”
และมาตรา 20 วรรคแรก บัญญัติว่า “ในกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น คู่พิพาทฝ่ายที่ประสงค์จะคัดค้านอนุญาโตตุลาการจะต้องยื่นหนังสือแสดงเหตุแห่งการคัดค้านต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รู้ถึงการตั้งอนุญาโตตุลาการ หรือรู้ถึงข้อเท็จจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 วรรคสาม และหากอนุญาโตตุลาการซึ่งถูกคัดค้านไม่ถอนตัวจากการเป็นอนุญาโตตุลาการหรือคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยกับข้อคัดค้านนั้น ให้คณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้วินิจฉัยคำคัดค้านนั้น”
แม้ว่าการพิจารณาชี้ขาดข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม ทั้ง 3 ข้อพิพาท ยังต้องใช้เวลาอีกหลายปี
แต่ทว่าการเปลี่ยนตัว ‘อนุญาโตตุลาการ’ ทั้ง 3 ข้อพิพาท กลับสร้างความกังขาให้กับสังคมและคนในวงการอัยการเป็นอย่างยิ่ง
อ่านประกอบ :
เสียหายต่อชื่อเสียง! ‘ผู้ตรวจอัยการ’ จี้ ‘ปลัดดีอีเอส’ แจงปมเปลี่ยน 'อนุญาโตฯ' คดีไทยคม
ข้องใจ! ‘ผู้ตรวจฯอัยการ’ ถาม ‘ดีอีเอส’ หลัง ‘อสส.’ เปลี่ยน ‘อนุญาโตฯ’ คดีไทยคม
อสส.ตั้ง 'เลขาฯ’ตัวเองนั่งอนุญาโตฯ ‘คนเดียว’ พิจารณาข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 3 คดี
เลื่อนเคาะราคาเป็น 28 ส.ค.!'บอร์ด กสทช.'ขยายเวลาประมูลใบอนุญาตใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียม
ไม่มีการแข่งขัน! ‘ชัยวุฒิ’ เสนอล้มประมูลใบอนุญาตดาวเทียม หลัง ‘ไทยคม’ ยื่นรายเดียว
มารายเดียว! ‘บ.ลูกไทยคม’ ยื่นเอกสารประมูลใบอนุญาตดาวเทียม-‘มิวสเปซ’ ถอดใจ
ส่อวุ่น! ศึกประมูลดาวเทียม ‘ดีอีเอส’ งัดข้อ กสทช. -‘มิว สเปซ’ เขย่าบังลังก์ ‘ไทยคม’
ยิงดาวเทียมต้องใช้เวลา 2 ปี! ‘กสทช.’ ยันเดินหน้าเคาะประมูลใบอนุญาตฯ 24 ก.ค.นี้
กระทบดาวเทียมเก่า! ‘ไทยคม’ ร้อง ‘ดีอีเอส’ ถก ‘กสทช.’ ทบทวนเปิดประมูลสิทธิ 2 วงโคจร
วงเสวนาชำแหละ! ประมูลไลเซ่นส์ดาวเทียม ส่อมีเจ้าเดียว-ห่วงนอมินี
‘กสทช.’ เปิดฟังความเห็นร่างประกาศประมูล 'ใบอนุญาตดาวเทียม' 4 ชุด 2.2 พันล้าน
แบ่งใบอนุญาตเป็น 4 ชุด! กสทช.เดินหน้าคัดเลือกผู้รับสิทธิใช้ 'วงโคจรดาวเทียม' ปลายปีนี้
ท้าชิงไทยคมฯ ‘มิว สเปซ’ บ.ลูกชายอดีตหน.สนง.ทบ. จ่อร่วมประมูลใบอนุญาตดาวเทียม
บอร์ดกสทช.ไฟเขียวร่างประกาศกิจการดาวเทียม 3 ฉบับ
กางพิมพ์เขียวเปิดเสรี‘ดาวเทียมไทย’ กสทช..ประชาพิจารณ์21ต.ค.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/