"...ในการประสานราชการในวาระต่อๆ ไป ขอให้ท่านยึดถือความสัตย์จริง โปร่งใสตรงไปตรงมา เพื่อให้การประสานราซการเป็นไปโดยราบรื่น เกิดประโยชน์ต่อทางราชการอย่างแท้จริง..."
........................
หมายเหตุ : นางสุรางค์ นาสมใจ ผู้ตรวจการอัยการ ในฐานะอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ข้อพิพาทเลขที่ A27/2020 (ข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 5) ทำหนังสือที่ อส 0001 (ผต)/185 ลงวันที่ 19 ก.ค.2564 ส่งถึงปลัดกระทรวงดีอีเอส เรื่อง การชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีขอเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการฯข้อพิพาทสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม
สืบเนื่องจากกรณีที่ น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอีเอส ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ ดศ.0202.3/7820 ลงวันที่ 15 ก.ค.2564 ถึง นางสุรางค์ นาสมใจ ผู้ตรวจการอัยการ ในฐานะอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส ข้อพิพาทเลขที่ A27/2020 (ข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 5)
โดยหนังสือฉบับดังกล่าว ระบุว่า นางสุรางค์ ยังคงเป็นอนุญาโตตุลาการฯ ข้อพิพาทเลขที่ A27/2020 และขออภัยในความผิดพลาดในเรื่องการประสานงานก่อนหน้านี้ (อ่านประกอบ : เสียหายต่อชื่อเสียง! ‘ผู้ตรวจอัยการ’ จี้ ‘ปลัดดีอีเอส’ แจงปมเปลี่ยน 'อนุญาโตฯ' คดีไทยคม)
ต่อมานางสุรางค์ ได้ทำหนังสือที่ อส 0001 (ผต)/185 ลงวันที่ 19 ก.ค.2564 ส่งถึง น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอีเอส เรื่อง การชี้แจงข้อเท็จจริง โดยหนังสือดังกล่าว นางสุรางค์ ตั้งข้อสังเกตกรณีที่กระทรวงดีอีเอส ขอเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการฯ ข้อพิพาทสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม ทั้ง 3 ข้อพิพาท ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายและประโยชน์สาธารณะ ใน 4 ประเด็น ดังนี้
@ขอให้ยึดถือความสัตย์จริง-โปร่งใสตรงไปตรงมา
1.ตามหนังสือกระทรวงฯ (ดีอีเอส) ด่วนที่สุด ที่ ดศ 0202/6373 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2564 ซึ่งขณะที่ออกหนังสือนั้น มีข้อพิพาทเกี่ยวกับดาวเทียมไทยคม ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงฯ อยู่แล้วจำนวน 2 ข้อพิพาท คือ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม และข้อพิพาทที่ A27/2020 ของ THAC สถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม
แต่ท่านจงใจกล่าวหาเฉพาะข้าพเจ้าคนเดียวว่า “อาจถูกคู่พิพาทอีกฝ่ายคัดค้าน โดยอาศัยเหตุมีผลประโยชน์ขัดกัน ขาดความเป็นกลาง” เป็นเหตุให้ข้าพเจ้ามีหนังสือ สำนักงานอัยการสูงสุด ด่วนที่สุด ที่ อส 0001 (ผต)/172 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ให้ท่านขี้แจงว่า ท่านมีข้อเท็จจริงหรือหลักฐานใดในการกล่าวหาดังกล่าว
แต่ตามหนังสือที่อ้างถึง (หนังสือด่วนที่สุด ที่ ดศ.0202.3/7820 ลงวันที่ 15 ก.ค.2564) ท่านกลับชี้แจงข้อเท็จจริงโดยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอื่นๆ ไม่ตรงตามประเด็นที่แจ้งให้ชี้แจง และกลับอ้างใหม่ว่าข้าพเจ้าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ เหมาะสมเป็นอนุญาโตตุลาการของกระทรวงฯ
เป็นการที่ท่านปฏิบัติราชการโดยไม่ยึดมั่นอยู่บนพื้นฐานแห่งความสัตย์จริง และไม่มุ่งต่อผลประโยชน์ของทางราชการโดยสุจริตแต่ต้น แต่เมื่อแจ้งให้ชี้แจงข้อเท็จจริง กลับบ่ายเบี่ยงกลบเกลื่อน
นอกจากนี้ ตามหนังสือที่อ้างถึง ย่อหน้าที่ 2 และย่อหน้าที่ 3 ท่านยังกลับกล่าวอ้างข้อความที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงอีกว่า.......ต่อมา เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 นายธีระวัฒน์ฯ ได้ยื่นหนังสือขอถอนตัวจากการเป็นอนุญาโตตุลาการ และกระทรวงฯ ต้องแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2563 ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม
กระทรวงฯ จึงขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาผู้มีความเหมาะสม จะเป็นอนุญาโตตุลาการของกระทรวงฯ ทั้ง 3 ข้อพิพาทเป็นบุคคลเดียวกัน ทั้งที่ท่านได้มีหนังสือขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการของกระทรวงฯ ทั้ง 3 ข้อพิพาทเป็นบุคคลเดียว เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2564 ก่อนที่นายธีระวัฒน์ฯ จะยื่นหนังสือขอถอนตัวจากการเป็นอนุญาโตตุลาการ ในวันที่ 17 มิถุนายน 2564
ดังนั้น ในการประสานราชการในวาระต่อๆ ไป ขอให้ท่านยึดถือความสัตย์จริง โปร่งใสตรงไปตรงมา เพื่อให้การประสานราซการเป็นไปโดยราบรื่น เกิดประโยชน์ต่อทางราชการอย่างแท้จริง
@ยกกฎหมายป้องกัน ‘อนุญาโตตุลาการ’ ไม่ให้ถูกครอบงำ
2.กรณีที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเห็นว่า ข้อพิพาททั้งสาม (ข้อพิพาทเลขดำที่ 97/2560 ข้อพิพาทที่ A/27/2020 และข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2563) ที่เกิดจากสัญญาสัมปทานฉบับเดียวกัน จึงเห็นควรว่า เพื่อประโยชน์ในการดำเนินข้อพิพาทให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงขอความอนุเคราะห์ให้อัยการสูงสุดพิจารณาบุคคลที่มีความเป็นกลางและเป็นอิสระมีคุณสมบัติที่เหมาะสม
เพื่อทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงฯ ในทุกข้อพิพาทเพียงคนเดียว (อันเป็นการขอให้มีการเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการของกระทรวงฯ ที่มีการแต่งตั้งไปแล้วในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม และข้อพิพาทที่ A27/2020 ของ THAC สถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม) นั้น
เห็นว่า เมื่อคู่พิพาทแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการแล้ว ย่อมอยู่ภายใต้บทบังคับตามพระราชบัญญัติอนุญโตตุลาการ พ.ศ.2545 ที่บัญญัติให้อนุญาโตตุลาการต้องมีอิสระและเป็นกลาง ไม่อยู่ภายใต้การครอบงำของบุคคลใดๆ รวมตลอดถึงคู่พิพาทที่ฝ่ายแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการด้วย
ดังนั้น จึงไม่มีบทบัญญัติของกฎหมาย ให้คู่พิพาทที่แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการมีอำนาจถอดถอนหรือเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการที่แต่งตั้งได้ ทั้งตามบทกฎหมายดังกล่าว มาตรา 19 วรรคสาม บัญญัติว่าคู่พิพาทจะคัดค้านอนุญาโตตุลาการที่ตนเป็นผู้แต่งตั้งมิได้ อันเป็นหลักประกันความเป็นอิสระและเป็นกลาง เพื่อป้องกันมิให้อนุญาโตตุลาการต้องถูกครอบงำให้ชี้ขาดข้อพิพาทไปตามความประสงค์ของบุคคลใดๆ
ดังนั้น การที่กระทรวงฯ ขอให้เปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการที่แต่งตั้งไปแล้ว จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อีกทั้งที่กระทรวงฯ ขอให้มีอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงฯ เพียงคนเดียวเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการทุกข้อพิพาทให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน กลับปรากฎว่าข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับไทยคม 7 และ 8 มีประเด็นพิพาทว่าดาวเทียมทั้งสองดังกล่าวเป็นดาวเทียมตามสัญญาสัมปทานหรือไม่
ส่วนข้อพิพาทที่ A27/2020 เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับไทยคม 5 ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทว่า จะต้องมีการยิงดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นทดแทนดาวเทียมไทยคม 5 หรือไม่
ดังนั้น แม้จะเป็นข้อพิพาทที่เกิดจากสัญญาสัมปทานเดียวกัน แต่เมื่อข้อเท็จจริงและข้อสัญญาที่กำหนดไว้ ที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาททั้งสองแตกต่างแยกออกจากกันและมิได้เกี่ยวพันกันแต่อย่างใด ย่อมไม่สามารถดำเนินข้อพิพาทให้เป็นแนวทางเดียวกันได้
@ให้คำมั่นวินิจฉัยโดย ‘อิสระ-เป็นกลาง-เที่ยงธรรม-สุจริต’
3.สำหรับข้อพิพาทที่ A27/2020 ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม ระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้เรียกร้อง กับบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ที่ 1 และบริษัทอินทัช โยลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ที่ 2 ผู้คัดค้าน ข้าพเจ้าได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงฯ ตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 และกระทรวงฯ ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเปลี่ยนแปลงการเป็นอนุญาโตตุลาการของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจึงมีสถานะเป็นอนุญาโตตุลาการนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งต่อเนื่องตลอดมาจนถึงปัจจุบัน และเพื่อธำรงไว้ซึ่งเกียรติ ศักดิ์ศรีของพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ที่บุคคลใดจะล่วงละเมิดโดยผิดกฎหมายมิได้ ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทดังกล่าวและจะวินิจฉัยชี้ขาด ข้อพิพาทโดยอิสระ เป็นกลาง เที่ยงธรรม และสุจริต
@ไม่ปฏิบัติราชการตามครรลองปกติก่อความ 'ไม่เชื่อมั่น-เสื่อมศรัทธา'
4.สำหรับข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรมและข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2563 ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม เนื่องจากการแจ้งความประสงค์ในการแต่งตั้ง การแต่งตั้งและเปลี่ยนแปลงตัวอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาททั้งสอง
มีการดำเนินการที่ไม่เป็นตามแนวทางปฏิบัติราชการตามครรลองปกติ อันอาจก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นและเสื่อมศรัทธาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงสาธารณชนต่อกระบวนการพิจารณาอนุญาโตตุลาการทั้งสองข้อพิพาทดังกล่าว
ข้าพเจ้าจึงไม่ประสงค์ที่เข้าเกี่ยวข้อง และไม่ประสงค์จะเป็นอนุญาโตตุลาการ ในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรมและข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2563 ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม
ขอแสดงความนับถือ
นางสุรางค์ นาสมใจ ผู้ตรวจการอัยการ
อ่านประกอบ :
เสี่ยงถูกครอบงำ! ‘ผู้ตรวจอัยการ’ ค้านตั้ง ‘อนุญาโตฯ’ คนเดียว รวบคดีไทยคม
อ้างผิดพลาด! 'ปลัดดีอีเอส'ขออภัย 'ผู้ตรวจอัยการ’ ยันไม่เปลี่ยน‘อนุญาโตฯ’ คดีไทยคม 5
'รมว.ดีอีเอส' ยันเสนอชื่อ ‘อนุญาโตฯ’ คดี 'ไทยคม' ใหม่อีกรอบ ขึ้นอยู่กับ ‘อสส.’
‘ดีอีเอส’ ตีกลับ‘เลขาฯอสส.’! แจ้งขอเปลี่ยน 'อนุญาโตฯ' คดีพิพาทไทยคมอีกรอบ
4 ปมปัญหา! เบื้องหลังเปลี่ยน ’อนุญาโตฯ’คดีไทยคม หลังผลัดเก้าอี้ 'รมว.ดีอีเอส'
ปมขัดแย้งเปลี่ยน ‘อนุญาโตฯ’ ฝ่ายอัยการ คดีข้อพิพาท ‘ไทยคม’ เดิมพันผล ปย.หมื่นล้าน
เสียหายต่อชื่อเสียง! ‘ผู้ตรวจอัยการ’ จี้ ‘ปลัดดีอีเอส’ แจงปมเปลี่ยน 'อนุญาโตฯ' คดีไทยคม
ข้องใจ! ‘ผู้ตรวจฯอัยการ’ ถาม ‘ดีอีเอส’ หลัง ‘อสส.’ เปลี่ยน ‘อนุญาโตฯ’ คดีไทยคม
อสส.ตั้ง 'เลขาฯ’ตัวเองนั่งอนุญาโตฯ ‘คนเดียว’ พิจารณาข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 3 คดี
เลื่อนเคาะราคาเป็น 28 ส.ค.!'บอร์ด กสทช.'ขยายเวลาประมูลใบอนุญาตใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียม
ไม่มีการแข่งขัน! ‘ชัยวุฒิ’ เสนอล้มประมูลใบอนุญาตดาวเทียม หลัง ‘ไทยคม’ ยื่นรายเดียว
มารายเดียว! ‘บ.ลูกไทยคม’ ยื่นเอกสารประมูลใบอนุญาตดาวเทียม-‘มิวสเปซ’ ถอดใจ
ส่อวุ่น! ศึกประมูลดาวเทียม ‘ดีอีเอส’ งัดข้อ กสทช. -‘มิว สเปซ’ เขย่าบังลังก์ ‘ไทยคม’
ยิงดาวเทียมต้องใช้เวลา 2 ปี! ‘กสทช.’ ยันเดินหน้าเคาะประมูลใบอนุญาตฯ 24 ก.ค.นี้
กระทบดาวเทียมเก่า! ‘ไทยคม’ ร้อง ‘ดีอีเอส’ ถก ‘กสทช.’ ทบทวนเปิดประมูลสิทธิ 2 วงโคจร
วงเสวนาชำแหละ! ประมูลไลเซ่นส์ดาวเทียม ส่อมีเจ้าเดียว-ห่วงนอมินี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/