เปิดความแย้ง ‘ตุลาการเสียงข้างน้อย’ คดีประมูลรถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ ชี้ ‘รฟม.’ รื้อ ‘เกณฑ์คัดเลือก’ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ระบุต้องเสนอ ‘ครม.’ อนุมัติก่อน เหตุกระทบ 'เงินรัฐ' ใช้อุดหนุนครงการฯ
..........................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษา ‘ยกฟ้อง’ ในคดีที่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTSC (บริษัทในเครือ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS) (ผู้ฟ้องคดี) ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี)
ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีการเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลแห่งประเทศไทย (รฟม.) นั้น (อ่านประกอบ : ‘ศาลปค.สูงสุด’ยกฟ้องคดีประมูลรถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’-‘สุริยะ’เร่งชง‘ครม.’อนุมัติเซ็นสัญญา BEM)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการพิจารณาและพิพากษาในคดีการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ดังกล่าว (คดีหมายเลขดำที่ อ.1437/2566 คดีหมายเลขแดงที่ อ.574/2567) นางสุมาลี ลิมปโอวาท ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเป็นตุลาการเสียงข้างน้อย ได้มีความเห็นแย้ง ไม่เห็นด้วยกับตุลาการเสียงข้างมากในคดีนี้
โดยนางสุมาลี มีความเห็นว่า กรณีที่ รฟม.ปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จากเดิมที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2563 อนุมัติหลักการโครงการฯว่า ให้ผู้ยื่นข้อเสนอที่ขอรับเงินสนับสนุนค่างานโยธาต่ำสุดเป็นผู้ชนะการคัดเลือก (Price) ไปเป็นการใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาคุณภาพควบคู่กับเกณฑ์ราคา (Price & Performance) นั้น เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ เนื่องจากการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์คัดเลือกฯดังกล่าว คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ไม่ใช่ผู้มีอำนาจ แต่มีหน้าที่ต้องเสนอเรื่องให้ ครม. ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจได้พิจารณาและมีมติอีกครั้ง อีกทั้งการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การคัดเลือกฯ ยังมีผลต่อวงเงินค่างานโยธาที่รัฐต้องสนับสนุนต่อเอกชนผู้ชนะ และส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินและการรักษาวินัยการเงินการคลัง
“โครงการรถฟฟ้าพิพาทเป็นโครงการที่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 มาตรา 27 และมาตรา 28 และ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 มาตรา 29 และมาตรา 30 ที่ต้องเสนอโครงการต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินโครงการ และให้ถือว่าการอนุมัติวงเงินงบประมาณรายจ่ายหรือวงเงินที่จะใช้ในการก่อหนี้โครงการของคณะรัฐมนตรีเป็นการอนุมัติ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ แล้วแต่กรณี
โดยก่อนการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (รฟม.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการต้องเสนอผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐให้ความเห็นชอบ และในการเสนอเรื่องให้คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ให้เสนอความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
และในกรณีที่โครงการจะต้องมีการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน ให้มีความเห็นของสำนักงบประมาณประกอบด้วย หรือในกรณีที่ต้องมีการใช้จ่ายเงินจากเงินกู้ที่เป็นหนี้สาธารณะ ให้มีความเห็นของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะประกอบการพิจารณาด้วย
คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน มีหนังสือลงวันที่ 23 ส.ค.2562 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการพิพาทโดยมีสาระสำคัญว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้จัดทำรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ ตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ในส่วนของรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนและหน้าที่ของรัฐและเอกชน
จากผลการประเมินความคุ้มค่าของเงิน (Value for Money : VfM) เห็นว่า การให้เอกชนร่วมลงทุนโดยใช้รูปแบบ PPP Net Cost ระยะเวลาการดำเนินงาน 30 ปี ร่วมก่อสร้างงานโยธาของโครงการเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐสูงสุด ในการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ควรกำหนดให้เอกชนแยกเสนอมูลค่าผลตอบแทนแก่รัฐหรือเงินที่ต้องการให้รัฐสนับสนุนเป็น 6 ส่วน ได้แก่ ค่าลงทุนจัดหาระบบรถไฟฟ้าและให้บริการเดินรถไฟฟ้า และค่าลงทุนงานโยธา
รวมถึงเพดานอัตราดอกเบี้ยที่เอกชนจะให้รัฐรับชำระคืน โดยกำหนดเงื่อนไขการชำระคืนที่เป็นประโยชน์แก่ภาครัฐเพื่อให้คณะกรรมการคัดเลือกสามารถประเมินข้อเสนอในแต่ละส่วนได้อย่างครบถ้วน ผู้ยื่นข้อเสนอที่ขอรับเงินสนับสนุนรวมทั้งสองส่วนจากภาครัฐเมื่อคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (NPV ต่ำที่สุดจะเป็นผู้ชนะการคัดเลือก โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนค่างานโยธา และรัฐจะทยอยชำระคืนเอกชนค่างานโยธาตามที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินวงเงิน 96,112 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการพิพาท ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐตามลำดับ โดยมีความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ
โดยคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐได้มีมติเห็นชอบในหลักการของโครงการ ดังนี้ ให้ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าพิพาทในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธา ค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา รวมทั้งค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ โดยมีระยะเวลาเดินรถ 30 ปี นับจากเริ่มเปิดให้บริการโครงการส่วนตะวันออกเป็นต้นไป
เอกชนเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารและรับความเสี่ยงด้านรายได้ค่าโดยสาร รายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด โดยภาครัฐไม่มีภาระสนับสนุนทางการเงิน (Subsidy) แก่เอกชน ในส่วนงานระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถ และงานเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาของโครงการ อนุมัติกรอบวงเงินสนับสนุนให้เอกชนตามที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินวงเงินค่างานโยธา โดยรัฐทยอยชำระคืนให้เอกชนหลังจากเปิดเดินรถทั้งเส้นทางแล้ว และแบ่งจ่ายเป็นรายปี กำหนดระยะเวลาแบ่งจ่ายไม่ต่ำกว่า 10 ปี พร้อมดอกเบี้ย โดยใช้อัตราส่วนลดหรืออัตราดอกเบี้ยตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2563 คณะรัฐมนตรีพิจารณาความเห็นของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐแล้วมีมติอนุมัติการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าพิพาทตามที่คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเสนอ จึงเห็นได้ว่า คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการในส่วนของการพิจารณาผู้ชนะการคัดเลือกว่า ผู้ยื่นข้อเสนอที่ขอรับเงินสนับสนุนค่างานโยธาต่ำที่สุดจะเป็นผู้ขนะการคัดเลือก
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ คณะรัฐมนตรีมีมติในหลักการให้ใช้หลักผลตอบแทนทางการเงินสูงสุด (Price) ซึ่งเป็นหลักการที่สนับสนุนการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ เนื่องจากโครงการพิพาทมีมูลค่าสูงและการอนุมัติกรอบวงเงินสนับสนุนค่างานโยธาให้แก่เอกชนมีผลผูกพันตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ มติคณะรัฐมนตรีจึงมีผลผูกพันผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง การเปลี่ยนแปลงหลักการดังกล่าวจึงต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง
ภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (รฟม.) เห็นว่าโครงการรถไฟฟ้าพิพาทมีโครงสร้างงานโยธาส่วนใหญ่เป็นอุโมงค์และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่ต้องใช้เทคนิคด้านวิศวกรรมชั้นสูงในการก่อสร้าง เนื่องจากการก่อสร้างจะผ่านพื้นที่สำคัญในกรุงเทพมหานครควรใช้เกณฑ์คุณภาพควบคู่กับเกณฑ์ราคา (Price & Performance) ซึ่งให้ความสำคัญกับด้านเทคนิคและผลตอบแทนด้านการเงินควบคู่กัน เป็นหลักเกณฑ์ในการตัดสินผู้ชนะการคัดเลือก ส่วนเกณฑ์การคัดเลือกจากผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุด เป็นวิธีการที่ดำเนินการโดยทั่วไปในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงได้กำหนดเกณฑ์การประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคให้มีรายละเอียดมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องวิธีการเทคนิคและความปลอดภัยในการก่อสร้างและปรับเกณฑ์คะแนนเทคนิคขั้นต่ำให้สูงกว่าที่กำหนดในการคัดเลือกครั้งแรก โดยผู้ยื่นข้อเสนอต้องได้รับคะแนนด้านเทคนิคในแต่ละหมวดไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 และมีคะแนนรวมทุกหมวดไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 หากไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอทางด้านเทคนิค จะไม่พิจารณาข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน
รวมทั้งกำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีประสบการณ์และผลงานการก่อสร้างงานโยธาทั้งสามประเภทที่แล้วเสร็จและผลงานนั้นจะต้องเป็นผลงานในประเทศไทย หากผู้ยื่นข้อเสนอไม่มีประสบการณ์และผลงานการก่อสร้างงานโยธา ผู้ยื่นข้อเสนอสามารถใช้ผลงานของผู้รับจ้าง (ผู้รับเหมา) ที่มีผลงานด้านงานโยธาได้ โดยผู้รับจ้างจะต้องเป็นนิติบุคคลไทยหรือกลุ่มนิติบุคคลที่มีนิติบุคคลไทยถือหุ้นในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50
เห็นได้ว่าการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการใช้เกณฑ์คุณภาพควบคู่กับเกณฑ์ราคา (Price & Performance) ในการพิจารณาเอกชนผู้ชนะข้อเสนอร่วมลงทุน ซึ่งย่อมมีผลต่อวงเงินค่างานโยธาที่รัฐต้องสนับสนุนต่อเอกชนผู้ชนะข้อเสนอร่วมลงทุน ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินและการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ และยังขัดต่อมติของคณะรัฐมนตรีที่ให้ใช้หลักการผลตอบแทนทางการเงินสูงสุด (Price) เป็นสำคัญ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงไม่ใช่ผู้มีอำนาจ แต่มีหน้าที่ต้องเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้มีอำนาจได้พิจารณาและมีมติอีกครั้ง
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค.2565 ซึ่งมีผลเท่ากับเป็นการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ใช้หลักการผลตอบแทนทางการเงินสูงสุด (Price) ในการพิจารณาเอกชนผู้ชนะข้อเสนอร่วมลงทุน ประกาศดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ความเห็นแย้งในคดีหมายเลขดำที่ อ.1437/2566 คดีหมายเลขแดงที่ อ.574/2567) ของนางสุมาลี ระบุ
อ่านประกอบ :
เปิดคำพิพากษาคดีประมูล‘สายสีส้ม’(จบ) 'เกณฑ์คัดเลือก'ไม่เอื้อ BEM-ตีตกปม ITD ขาดคุณสมบัติ
เปิดคำพิพากษาคดีประมูล‘สายสีส้ม’(1) ‘ศาล ปค.สูงสุด’ ชี้‘รฟม.’ออกTORถูกต้องตามขั้นตอนกม.
‘ศาลปค.สูงสุด’ยกฟ้องคดีประมูลรถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’-‘สุริยะ’เร่งชง‘ครม.’อนุมัติเซ็นสัญญา BEM
‘ศาลปค.สูงสุด’นัดอ่านคดี BTS ฟ้อง‘รฟม.’ออกTORประมูล‘สายสีส้ม’ส่อกีดกันแข่งขัน 12 มิ.ย.
สศช.แนะ‘รฟม.’ปรับแผนเดินรถไฟฟ้าสายสีส้ม‘ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี’-เร่งหาเอกชนวิ่งสายสีม่วง
ไม่กีดกัน-เอื้อเอกชนรายใด! ‘ศาลปค.’ยกฟ้องคดี‘รฟม.’ออกประกาศเชิญชวนประมูล‘สายสีส้ม’ขัดกม.
มีผลเท่ากับยกเลิกมติครม.! เปิดความเห็นแย้ง ตุลาการ‘เสียงข้างน้อย’ คดีล้มประมูล‘สายสีส้ม’
ศาลปค.สูงสุด’พิพากษากลับ‘ยกฟ้อง’ คดี BTSC ฟ้อง‘รฟม.’ล้มประมูลรถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’ไม่ชอบ
‘ศาลปค.สูงสุด’นัดตัดสิน คดี BTSC ฟ้อง‘รฟม.’ล้มประมูลรถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’ไม่ชอบ 30 มี.ค.นี้
‘สภาผู้บริโภค’ แนะทางออก 2 รถไฟฟ้า ‘สายสีส้มประมูลใหม่’ - ‘สายสีเขียวไม่ต่อสัมปทาน’
ครม.ตีกลับ ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ 1.4 แสนล้าน โยนครม.ชุดใหม่พิจารณา
เปิดชื่อ 20 ตุลาการฯ'เสียงข้างน้อย' เห็นแย้งคดีแก้TORสายสีส้มฯ ชี้'รฟม.'ใช้อำนาจโดยพลการ
มีอำนาจ-ใช้ดุลพินิจโดยชอบ!‘ศาลปค.สูงสุด’ยกฟ้องคดี‘บอร์ดคัดเลือกฯ-รฟม.’แก้ TOR สายสีส้มฯ
‘ศักดิ์สยาม’ สอน ‘ชูวิทย์’ รถไฟฟ้าสายสีส้ม อย่าพูดลอยๆ ต้องมีหลักฐานชัดๆ
‘ชูวิทย์’ แฉสายสีส้มมีพิรุธ ‘เงินทอน-กระบวนการยุติธรรม’ รฟม.โต้โปร่งใสทุกขั้นตอน
'รฟม.'รอศาลปค.สูงสุดชี้ขาด 3 คดีก่อนชง'ครม.'เคาะสายสีส้ม-โต้'ก้าวไกล'ยันประมูลชอบด้วยกม.
ส่อผิดกม.ฮั้ว! ฝ่ายค้านฯยื่น‘ป.ป.ช.’ไต่สวน‘บิ๊กตู่-ศักดิ์สยาม’กรณีประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ