‘ชูวิทย์’ แฉรถไฟฟ้าสายสีส้มไม่ชอบมาพากล ทั้งเรื่องจ่ายเงินที่เมืองนอก 3 หมื่นล้าน และกระบวนการยุติธรรม ด้านรฟม.โต้กลับประมูลโปร่งใส ท้าถ้ามีหลักฐานการจ่าย 30,000 ล้านจริงให้เอามาแสดง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย เดินทางมาบริเวณข้างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ริมคลองตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล เพอื่แถลงเปิดโปงการทุจริตเพิ่มเติม
โดยนายชูวิทย์ระบุว่า วันนี้บ้านเมืองถึงกลียุค เพราะการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึมลึกไปยังหน่วยงานราชการ หน่วยงานต่างๆไม่ว่านักการเมืองที่จะเอาเงินจากการเมืองกลับมาใช้กับการเมืองอีก จากการดูดวงทำนายพบว่า มีดาวราหูกับดาวพฤหัสมาทับกัน มีชะตาถึงฆาตและพัง และวันนี้ตนจะไม่เอ่ยชื่อพรรคว่า พรรคไหนชะตาจะพัง และทุกท่านไม่ต้องมาเลือกตน ตนเพียงแต่จะทำให้ประชาชนเป็นใหญ่ ในแผ่นดินนี้ ไม่ใช่ข้าราชการและนักการเมือง เพราะมีแต่คำโกหกทั้งเพ ขอให้อยู่ข้างตนก็พอ
จากนั้น นายชูวิทย์ ระบุถึงการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงมีนบุรี (สุวินทวงศ์) - บางขุนนนท์ ว่า เรื่องนี้แบ่งได้ 5 สถานี สถานีแรก สถานีโกง เพราะมีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลทั้งๆที่ปิดรับซองข้อเสนอไปแล้ว โดยเปลี่ยนจากการจ่ายผลตอบแทนให้รัฐจาก 7,000 ล้านบาท กลายเป็นรัฐต้องจ่ายผลตอบแทนให้เอกชนในราคา 70,000 ล้านบาท
สถานที่ 2 การทุจริต มีการร้องไปที่ศาลปกครอง ศาลชั้นต้นไม่ให้เปลี่ยนหลักเกณฑ์ แต่ในชั้นพิจารณาศาลปกครองสูงสุด รู้มาว่ามีความพยายามในการทำอะไรบางอย่างอยู่
สถานีที่ 3 สถานีฮั้ว มีบางบริษัทไม่มีคุณสมบัติ แต่ขอยื่นเปลี่ยนหลักเกณฑ์ เพื่อให้บางบริษัทเข้าเกณฑ์เพียงบริษัทเดียว
สถานที่ 4 เงินทอน ได้ทราบว่า ในจำนวนวงเงิน 70,000 ล้านบาท มีการจ่ายเงินจำนวน 30,000 ล้านบาทที่ประเทศสิงคโปร์ จ่ายผ่านธนาคาร HSBC เข้ากระเป๋าใคร ลองไปหาดู
และสถานที่ 5 เปิดประมูลรอบที่ 2 กำหนดหลักเกณฑ์ต้องเคยเป็นคู่สัญญากับรัฐเท่านั้น ทำให้เหลือบริษทเดียวมันล็อกสเปกกันทุเรศทุรัง ไม่โทษใคร แม้แต่รัฐบาล เพราะรัฐบาลก็ต้องการลงสมัครการเมือง เพื่อหวนคืนอำนาจ ประชาชนอยู่ที่ไหน พวกเราก็หมดหวัง บรรดาพรรคการเมืองมีสุภาษิตให้เห็น 10 ประการ ได้แก่ ฉกฉวยแย่งชิง ผูกขาด ตัดตอน ริดลอนสิทธิ์ เพื่อนแทงหน้า แทงหลัง มือใครยาวสาวได้สาวเอา หน้าด้านหน้าทน ได้ฝากเมียเสียฝากเพื่อน เงื่อนเวลา อ้างฟ้าดิน สิ้นศรัทธา
“โครงการใหญ่ แต่เขายอมที่จะเอาเงินเรา 70,000 ล้านบาท เอาไปจ่ายค่าคอมฯ 30,000 ล้านบาทที่สิงคโปร์แต่อย่าหาว่าไม่มีหลักฐาน แต่บอกได้ไม่หมด” นายชูวิทย์กล่าว
นายชูวิทย์ย้ำว่า ที่รู้ว่ามีกระบวนการบางประการนั้น เพราะเป็นการวางแผนเพื่อเอาทุนมาลงในการเมืองกี่ครั้งแล้วที่ต้องเห็นละครซ้ำๆแบบนี้ เรื่องนี้ต้องติดตามในฐานะประชาชน และการเลือกตั้งเป็นเพียงเกมที่หลอกประชาชน ถ้าแน่จริง พรรคการเมืองบอกเลยว่า จะผสมกับใคร อย่างไร อย่าเอาตัวหลอกมาหลอกประชาชน เพราะหลังเลือกตั้งก็รวมผสมกัน
นายชูวิทย์พร้อมด้วยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หลังเข้าหารือ 1 ชม.ที่ทำเนียบรัฐบาล
ทั้งนี้ ต่อมานายชูวิทย์ได้รับการติดต่อให้เข้าในทำเนียบรัฐบาล และได้เข้าพบนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่ตึกบัญชาการ 1 โดยหารือกันประมาณ 1 ชม. จึงลงมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยในส่วนของประเด็นรถไฟฟ้าสายสีส้มระบุว่า จะนำเอกสารและหลักฐานต่างๆในคดีนี้มอบให้นายพีระพันธุ์และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยในส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการศาลสถิตยุติธรรม ได้ข้อมูลมาว่า มีการพิจารณาคดีแล้ว ก็ได้ส่งมอบข้อมูลให้แล้วเช่นกัน
นอกจากนี้ รถไฟฟ้าสายสีส้มยังเกี่ยวข้องกับการจ่ายวิ่งเต้นกันมหาศาล เป็นการเมืองสีเทาที่เที่ยวไล่ซื้อคนนั้นคนนี้ และเอามาสังกัดพรรค กระบวนการนี้ต้องเลิกเสีย ซึ่งตนก็ได้เรียนกับนายพีระพันธุ์แล้ว แต่ทางนั้นขอเวลาตรวจสอบ โดยนัดหมายจะส่งข้อมูลให้อีกครั้งในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดสุดท้ายในเดือน มี.ค.นี้
@รฟม.โต้กระบวนการโปร่งใส
ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ชี้แจงว่า ประเด็นการปรับปรุงเกณฑ์การประเมินข้อเสนอในการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1 รฟม. ได้ปรับปรุงเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) เฉพาะวิธีการประเมินข้อเสนอ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการเสนอผลตอบแทนให้แก่ภาครัฐตามที่นายชูวิทย์ฯ กล่าวอ้างแต่อย่างใด และได้ขยายระยะเวลาการยื่นซองข้อเสนอออกไปอีก 45 วัน
อีกทั้ง ประเด็นนี้มีคดีฟ้องร้องในศาลปกครอง โดยมีความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ศาลปกครองสูงสุดได้นั่งพิจารณาคดีครั้งแรก โดยตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) และ รฟม. ดำเนินการแก้ไขเอกสาร RFP เพิ่มเติมครั้งที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และไม่ทำให้ผู้ยื่นข้อเสนอได้รับความเสียหาย และไม่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ใด ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างรอศาลปกครองสูงสุดพิพากษา
สำหรับประเด็นที่นายชูวิทย์ ได้พูดพาดพิงถึงมติที่ประชุมศาลปกครองสูงสุดนั้น ถือเป็นกระบวนการภายในของศาลปกครองที่ไม่เปิดเผยแก่บุคคลภายนอก ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรต้องรอให้ปรากฏในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดต่อไป
2. ประเด็นการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนครั้งแรก ประเด็นนี้มีคดีฟ้องร้องในศาลปกครอง โดยมีความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ตุลาการผู้แถลงคดี ศาลปกครองสูงสุด ได้แถลงสรุปว่า การยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งแรก ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว และเป็นการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นอันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชน โดยเห็นควรให้ยกฟ้อง อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
3. ประเด็นการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่มีการล็อกสเปค ประเด็นนี้มีคดีฟ้องร้องในศาลปกครอง โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการ ศาลปกครองกลาง พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า การดำเนินการคัดเลือกดำเนินการตามกฎหมาย มีการเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมในการคัดเลือกมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น และไม่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิหรือกีดกันผู้ใดมิให้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอ จึงมีคำสั่งยกคำร้องคุ้มครองชั่วคราว
4. ประเด็นการดำเนินการของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งและเป็นการปฏิบัติโดยไม่ชอบ หรือไม่ ประเด็นนี้มีคดีฟ้องร้องในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
โดยศาลได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า ผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้แก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ยื่นข้อเสนอรายใด และกรณีที่มีการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ไม่มีการกลั่นแกล้งผู้ใดหรือกระทำนอกขอบเขตของกฎหมาย ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จึงไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
@ท้าโชว์หลักฐานรับเงิน 3 หมื่นล้าน
5. ประเด็นมีเงินทอน 3 หมื่นล้านบาท ผ่านบัญชีธนาคาร รฟม. ขอเรียนว่า หากนายชูวิทย์ฯ มีหลักฐานเอกสารตามที่กล่าวอ้าง ก็ขอให้นำมาแสดงให้สาธารณชน และส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเพื่อเป็นที่ประจักษ์ด้วย ว่าเป็นการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมายหรือไม่
ทั้งนี้ การดำเนินการประกาศเชิญชวนฯ และคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เป็นการดำเนินการโดยคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ และ รฟม. ตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดในมาตรา 35 ถึงมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนตามาตรา 41 เรียบร้อยแล้ว สำหรับในขั้นตอนต่อไป รฟม. จะรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ถูกฟ้องคดี มาประกอบเรื่องเพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัด และคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่ารฟม.
อ่านประกอบ
- ส่อผิดกม.ฮั้ว! ฝ่ายค้านฯยื่น‘ป.ป.ช.’ไต่สวน‘บิ๊กตู่-ศักดิ์สยาม’กรณีประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ
-
‘รฟม.’ โต้ ‘คีรี’ ยันประมูลรถไฟฟ้า ‘สายสีส้มฯ’ โปร่งใส-ย้ำข้อเสนอ BTS ไม่น่าเชื่อถือ
-
อย่าให้เกินไป! ‘คีรี’จี้‘บิ๊กตู่’ทบทวนประมูล‘สายสีส้มฯ’-ชี้ปัญหาคอร์รัปชันไทยรุนแรงมาก
-
ปากพูดแต่ไม่ทำจริง! ACT ชี้ภาคการเมืองต้นตอ‘คอร์รัปชัน’-BTS ยกประมูล‘สายสีส้มฯ’สุดแปลก
-
‘ศักดิ์สยาม’ชี้ ‘สายสีส้ม’ รอศาลตัดสินจบทุกคดี โยน ‘รฟม.’ ตอบรับโอน ‘สายสีเขียว’
-
ยัน'โปร่งใส-ตรวจสอบได้'! 'รฟม.' แจง 5 ประเด็น ปมคัดค้านผลประมูลรถไฟฟ้า 'สายสีส้มฯ'
-
‘เวทีสาธารณะฯ’ จี้รัฐบาลตรวจสอบประมูล ‘สายสีส้ม’-ตั้งคำถามปม ‘ส่วนต่าง’ 6.8 หมื่นล้าน
-
รฟม.โต้ ACT ยันประมูล‘สายสีส้ม’เปิดกว้าง-ชี้ส่วนต่างผลปย.รัฐ 6.8 หมื่นล.ไม่น่าเชื่อถือ
-
เสนอผลปย.ต่างกัน 6.8 หมื่นล.! ACT ออกแถลงการณ์ ร้อง‘บิ๊กตู่’สอบประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ
-
BTS ยันข้อเสนอขอรัฐอุดหนุนรถไฟฟ้า 'สายสีส้ม' 9 พันล. ทำได้จริง-ย้ำประมูลส่อไม่สุจริต
-
‘บอร์ดคัดเลือกฯ’เคาะ BEM ชนะประมูลรถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’-ผู้ว่าฯรฟม.ยกเลิกแถลงข่าวกระทันหัน