‘ศาลปกครองสูงสุด’ ยกฟ้องคดี ‘บีทีเอส’ ฟ้อง ‘บอร์ดคัดเลือกฯ-รฟม.’ ปมออกทีโออาร์ประมูลรถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ ไม่ชอบ ชี้การออก ‘ทีโออาร์’ ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย-ระเบียบ ไม่เหตุรับฟังได้ว่า 'ไม่ชอบด้วยกฎหมาย' ด้าน ‘สุริยะ’ เร่งชง ‘ครม.’ ไฟเขียวเซ็นสัญญา BEM โดยเร็วที่สุด คาดก่อสร้างแล้วเสร็จ พ.ค.71
....................................
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง ในคดีที่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTSC (ผู้ฟ้องคดี) ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค.2565 ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนก่อนดำเนินการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน และวิธีการที่ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้แล้ว และไม่มีเหตุผลที่จะรับฟังว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายในลักษณะใด
นอกจากนี้ มติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศ (รฟม.) เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการยกเลิกคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯดังกล่าว และเพิกถอนประกาศการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
และการยกเลิกคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯดังกล่าว ลงวันที่ 3 ก.พ. 2564 ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. มีประกาศดังกล่าว นั้น หรือมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และ รฟม. ในการประชุมแต่ละครั้ง เพื่อพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติ ในการคัดเลือกเอกชน เห็นชอบร่างประกาศเชิญชวน และร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน นั้น
เป็นเพียงขั้นตอนการเตรียมการและดำเนินการภายในของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองทั่วไป คือ ประกาศเชิญชวนฉบับที่พิพาทในคดีนี้ ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่ของ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ และเอกชนรายอื่น ที่จะเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกประกาศเชิญชวนที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้
สำหรับคดีนี้ ผู้ฟ้องคดี (BTSC บริษัทในเครือ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS) ฟ้องว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีร่วมกันออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค.2565
และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิมตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือน ก.ค.2563 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ชอบด้วยกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีแล้ว อันมีลักษณะเป็นการกีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรม จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล
ต่อมา ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอเหมาะสมและความจำเป็นแห่งกรณีเพื่อประโยชน์ของรัฐ ไม่มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์เป็นการเฉพาะเจาะจงที่จะทำให้เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกีดกันไม่ให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมการคัดเลือกให้เอกชนร่วมลงทุน
นอกจากนี้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค ให้แตกต่างจากประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนฯ ลงวันที่ 3 ก.ค.2563 โดยปรับเกณฑ์คะแนน เพื่อให้ได้ผู้รับจ้างที่มีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ที่จะสามารถดำเนินการตามโครงการให้เกิดผลสำเร็จสูงสุด หากได้เอกชนผู้ยื่นข้อเสนอที่มีศักยภาพไม่เพียงพอ ย่อมเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการ
การกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาให้คะแนนข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค จึงไม่อาจรับฟังว่า เป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน และก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ี 2 จะมีประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนฯ ลงวันที่ 24 พ.ค.2565 ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้แล้ว และไม่มีเหตุผลที่จะรับฟังว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายในลักษณะใด
เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า ประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค.2565 และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนที่ออกโดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ไม่มีลักษณะประการใดที่จะทำให้เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว กรณีจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุดได้มีพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น
@‘สุริยะ’เร่งชง‘ครม.’ไฟเขียวเซ็นสัญญา BEM เร็วที่สุด
ด้าน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม กล่าวว่า หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาชี้ขาดออกมาแล้ว ก็ถือว่าโครงการไม่มีปัญหาติดขัดใดๆ ซึ่งทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งว่าจะเสนอผลการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด และเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนต่อไปตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนฯ ต่อกระทรวงคมนาคม ได้ภายในสัปดาห์นี้
ทั้งนี้ ตามพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ คณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นผู้อำนาจพิจารณา โดยกระทรวงคมนาคมมีระยะเวลาในการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญากับผู้ได้รับการคัดเลือกฯ คือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) โดยเร็วที่สุด
“กระทรวงคมนาคมไม่สามารถแทรกแซงได้ตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ โดยมีหน้าที่นำเสนอ ครม. ตามขั้นตอน ซึ่งจากคำพิพากษาที่ออกมา แสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการตามระเบียบ ครบทุกประเด็นแล้ว ดังนั้นเมื่อศาลปกครอง สูงสุดได้มีคำตัดสินชี้ขาดออกมา ซึ่งถือเป็นคดีสุดท้าย ส่งผลให้คดีในศาลปกครองทุกคดีเกี่ยวกับประเด็นพิพาทการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ มีคำพิพากษาถึงที่สุดทุกคดีแล้ว” นายสุริยะกล่าว
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า เมื่อ ครม. มีมติให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ แล้ว รฟม. จะเร่งรัดการดำเนินงาน โดยมีแผนเปิดให้บริการโครงการสำหรับส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายในเดือน พ.ค.2571 และหากมีความคืบหน้าของการเปิดให้บริการโครงการตลอดทั้งเส้นทางจะแจ้งให้ประชาชนได้ทราบต่อไป
“การคัดเลือกผู้ประกอบการรถไฟฟ้าสีส้มนั้น เรื่องนี้เคยเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว โดยทางรัฐมนตรีคมนาคมในขณะนั้นได้เสนอให้ที่ประชุมให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสีส้มที่ทางบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ชนะการประกวดราคา
แต่ทางคณะรัฐมนตรี ซึ่งผมร่วมอยู่ในขณะนั้นด้วย มีความเห็นว่าเรื่องนี้ยังไม่ควรให้ความเห็นชอบเนื่องจากยังมีประเด็นฟ้องร้องกันอยู่ที่ศาลปกครอง จึงควรรอให้คดีสิ้นสุดที่ศาลปกครองก่อนตามคำแนะนำของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเมื่อศาลมีคำตัดสินออกมาแล้วก็ถือว่าไม่มีประเด็นปัญหาอีกแล้วและโครงการจะได้เดินหน้าต่อ” นายสุริยะ กล่าว
นายสุริยะ กล่าวว่า ในส่วนของกรณีที่ทาง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ร้องเรียนมายังกระทรวงคมนาคม ซึ่งทางกระทรวงฯได้ส่งเรื่องให้ รฟม.ดำเนินการชี้แจง และในขณะนี้ รฟม. ได้รายงานกลับมายังกระทรวงฯเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อ่านประกอบ :
‘ศาลปค.สูงสุด’นัดอ่านคดี BTS ฟ้อง‘รฟม.’ออกTORประมูล‘สายสีส้ม’ส่อกีดกันแข่งขัน 12 มิ.ย.
สศช.แนะ‘รฟม.’ปรับแผนเดินรถไฟฟ้าสายสีส้ม‘ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี’-เร่งหาเอกชนวิ่งสายสีม่วง
ไม่กีดกัน-เอื้อเอกชนรายใด! ‘ศาลปค.’ยกฟ้องคดี‘รฟม.’ออกประกาศเชิญชวนประมูล‘สายสีส้ม’ขัดกม.
มีผลเท่ากับยกเลิกมติครม.! เปิดความเห็นแย้ง ตุลาการ‘เสียงข้างน้อย’ คดีล้มประมูล‘สายสีส้ม’
ศาลปค.สูงสุด’พิพากษากลับ‘ยกฟ้อง’ คดี BTSC ฟ้อง‘รฟม.’ล้มประมูลรถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’ไม่ชอบ
‘ศาลปค.สูงสุด’นัดตัดสิน คดี BTSC ฟ้อง‘รฟม.’ล้มประมูลรถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’ไม่ชอบ 30 มี.ค.นี้
‘สภาผู้บริโภค’ แนะทางออก 2 รถไฟฟ้า ‘สายสีส้มประมูลใหม่’ - ‘สายสีเขียวไม่ต่อสัมปทาน’
ครม.ตีกลับ ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ 1.4 แสนล้าน โยนครม.ชุดใหม่พิจารณา
เปิดชื่อ 20 ตุลาการฯ'เสียงข้างน้อย' เห็นแย้งคดีแก้TORสายสีส้มฯ ชี้'รฟม.'ใช้อำนาจโดยพลการ
มีอำนาจ-ใช้ดุลพินิจโดยชอบ!‘ศาลปค.สูงสุด’ยกฟ้องคดี‘บอร์ดคัดเลือกฯ-รฟม.’แก้ TOR สายสีส้มฯ
‘ศักดิ์สยาม’ สอน ‘ชูวิทย์’ รถไฟฟ้าสายสีส้ม อย่าพูดลอยๆ ต้องมีหลักฐานชัดๆ
‘ชูวิทย์’ แฉสายสีส้มมีพิรุธ ‘เงินทอน-กระบวนการยุติธรรม’ รฟม.โต้โปร่งใสทุกขั้นตอน
'รฟม.'รอศาลปค.สูงสุดชี้ขาด 3 คดีก่อนชง'ครม.'เคาะสายสีส้ม-โต้'ก้าวไกล'ยันประมูลชอบด้วยกม.
ส่อผิดกม.ฮั้ว! ฝ่ายค้านฯยื่น‘ป.ป.ช.’ไต่สวน‘บิ๊กตู่-ศักดิ์สยาม’กรณีประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ