ตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นหนังสือ ‘ป.ป.ช.’ ขอไต่สวนฯ ฯ ‘บิ๊กตู่-ศักดิ์สยาม-พวก’ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่-ส่อทำผิดกฎหมายฮั้ว กรณีประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ด้าน 'สามารถ' ชี้ส่วนต่างอุดหนุนสร้างรถไฟฟ้าฯพุ่ง 7.5 หมื่นล้าน
...................................
เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. ตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกอบด้วย นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ,พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ,นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ, นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังปวงชนไทย และนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ,นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และพวก จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือไม่ โดยเฉพาะความผิดว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ (ฮั้วประมูล) กรณีการเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
ทั้งนี้ หนังสือของผู้ยื่นคำร้องดังกล่าว ระบุพฤติกรรมเกี่ยวกับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่อาจมีการประพฤติมีชอบ ดังนี้
1.เดิมการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ในรอบแรกปี 2563 คณะกรรมการคัดเลือกฯ และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศ (รฟม.) มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ตัดสินชี้ขาดผู้ชนะการประมูล จากจำนวนเงินที่ขอรับอุดหนุนจากรัฐบาล มาเป็นเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอการเงินร่วมกับเทคนิคในสัดส่วน 70:30 จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2563 ซึ่งต่อมาศาลปกครองได้ตัดสินว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ตัดสินชี้ขาดดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย
2.เมื่อปรากฏว่าศาลปกครองได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับหลักเกณฑ์ที่แก้ไข จึงต้องกลับมาใช้หลักเกณฑ์ตัดสินชี้ขาดจากจำนวนเงินที่ขอรับอุดหนุนจากรัฐบาล คณะกรรมการคัดเลือกฯและ รฟม. รีบประชุมยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 โดยไม่มีเหตุผลสมควร ซึ่งต่อมาศาลปกครองได้ตัดสินว่าการยกเลิกประมูลนั้น ใช้ดุลยพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย
3.ในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ รอบใหม่ ในปี 2565 คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. กำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอขึ้นใหม่ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้องานเลย แต่ที่เปลี่ยนไป คือ คุณสมบัติผู้เสนอราคา โดยเพิ่มคุณสมบัติเดินรถไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศไทยเท่านั้น มาจากต่างประเทศก็ได้ ส่วนคุณสมบัติผู้รับเหมาต้องมีผลงานตรงกับรัฐบาลไทยที่แล้วเสร็จเท่านั้น ไม่เป็นไปตามหลักการ International Competitive Bidding ทำให้ไม่สามารถมีผู้เข้าแข่งได้มากราย
จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2563 อีกทั้ง มีการกีดกันไม่ให้กลุ่ม BTS ซึ่งเคยสามารถเข้าเสนอราคาได้เพราะเป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ประเทศไทยยาวนานประมาณ 23 ปี กลายเป็นผู้ไม่ให้มีสิทธิ์เข้าประมูลรอบใหม่ เพราะขาดคุณสมบัติต้องห้ามด้านการรับเหมา ไม่สามารถเข้าร่วมการยื่นข้อเสนอในครั้งนี้ ทำให้การประมูลใหม่ปี 2565 นี้ไม่เกิดการแข่งขันราคาอย่างธรรมและเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เสนอราคาเฉพาะราย
4.กรณีไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ให้กลุ่ม ITD ที่เข้าประมูล ประธานบริหารและกรรมการ ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ขัดพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 มาตรา 33 ไม่อาจผ่านคุณสมบัติได้ และการที่กลุ่ม ITD เข้ามา จึงเข้าลักษณะเป็นเพียงจัดให้เป็นคู่เทียบ ดังนั้น ด้วยบทบัญญัติของกฎหมายที่มีสภาพบังคับให้เอกชนที่มีลักษณะดังกล่าว ไม่มีสิทธิได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน แต่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็ให้บริษัท ITD ผ่านทั้งเกณฑ์คุณสมบัติ และเทคนิค แม้จะมีเสียงทักท้วงถึงความไม่ถูกต้อง
จึงมองได้อย่างเดียวว่า มีเจตนาเคลือบแฝง คือต้องการให้มีผู้ผ่านเกณฑ์มากกว่า 1 ราย เพื่อเปิดซองราคา เป็นคู่เทียบ แท้จริงแล้วการประมูลครั้งนี้ ไม่มีการแข่งขัน เพราะผู้เสนอราคามีได้แค่รายเดียวคือ BEM ซึ่งเสนองานแพงกว่ากลุ่ม BTS ที่เสนอราคาครั้งที่ 1 มากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท จึงมีคำถามว่า ทำไมรัฐต้องไปจ่ายเงินเพิ่มถึง 6.8 หมื่นล้านบาท
5.ตามมาตรา 10 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ระบุว่า “เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใดซึ่งมีอำนาจหรือหน้าที่ในการอนุมัติการพิจารณาหรือการดําเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอราคาครั้งใด รู้หรือมีพฤติการณ์ปรากฏแจ้งชัดว่าควรรู้ว่าการเสนอราคาในครั้งนั้นมีการกระทําความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ละเว้นไม่ดําเนินการเพื่อให้มีการยกเลิกการดําเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคาในครั้งนั้น มีความผิดฐานกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท”
ดังนั้น การกระทำของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ตามมาตรา 36 ของ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนโครงการสายสีส้มฯ ,นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัด ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีหน้าที่ ต้องพิจารณาผลการคัดเลือกและร่างสัญญาเอกชนร่วมลงทุน ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบาย มีหน้าที่และอำนาจตามมาตรา 20(10) เรียกให้หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่ดำเนินโครงการร่วมลงทุนเข้าชี้แจง ให้ความเห็นหรือจะส่งข้อมูล หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการร่วมลงทุน
แต่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้ง 2 จงใจละเว้นไม่ดำเนินการตรวจสอบหรือหยุดยั้งการกระทำอันผิดต่อกฎหมายของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ทั้งที่กฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้ใดซึ่งมีอำนาจหรือหน้าที่ในการอนุมัติ การพิจารณาหรือการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอราคาครั้งใด รู้หรือมีพฤติการณ์ แจ้งชัดว่า ควรรู้ว่าการเสนอราคาในครั้งนั้น มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ
ละเว้นไม่ดำเนินการเพื่อให้มีการยกเลิกการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคา มีความผิดฐานกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ตามมาตรา 10 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และมีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 172 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561
จึงมายื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หน่วยงานตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการ ไต่สวนและมีความเห็น กรณีผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง และคณะกรรมการคัดเลือกที่จงปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐและประชาชนที่ต้องช่วยกันขจัดอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งผู้ที่ชี้การชี้เบาะแส รัฐธรรมนูญได้ให้ความคุ้มครอง (ตามมาตรา 63) และหน้าที่ของปวงชนชาวไทยต้องไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ
วันเดียวกัน นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ในฐานะนักวิชาการด้านวิศวกรรมขนส่ง โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte’ โดยมีเนื้อหาว่า “สุดช็อก ! ข้อมูลใหม่ ดันผลต่างประมูลสายสีส้มพุ่งจาก 6.8 เป็น 7.5 หมื่นล้าน
เดิมเราเข้าใจกันว่า เงินสนับสนุนสุทธิในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 2 มากกว่าครั้งที่ 1 ถึง 6.8 หมื่นล้าน แต่มาวันนี้ ตัวเลขนี้อาจพุ่งขึ้นเป็น 7.5 หมื่นล้าน ! ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
1.การประมูลครั้งที่ 1
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประกาศเชิญชวนเอกชนให้ร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) และเดินรถตลอดสายทั้งช่วงตะวันตกและตะวันออก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) แต่ในระหว่างการประมูล รฟม. ได้เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล และในที่สุดได้ล้มประมูล
การประมูลครั้งที่ 1 มีเอกชนยื่นข้อเสนอ 2 ราย ประกอบด้วย (1) บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC และ (2) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM
แม้การประมูลครั้งที่ 1 จะถูกล้มไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อไม่นานมานี้ BTSC ได้ขอเอกสารที่ยื่นประมูลคืนจาก รฟม. และได้เปิดซอง “ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน” ต่อหน้าสื่อมวลชน พบว่า BTSC ได้เสนอเงินตอบแทนให้ รฟม. 70,144.98 ล้านบาท และขอรับเงินสนับสนุนจาก รฟม. 79,820.40 ล้านบาท เป็นผลให้ รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนสุทธิ (เงินที่ รฟม. ต้องสนับสนุน หักด้วย เงินตอบแทนที่ รฟม. ได้รับ) แก่ BTSC 9,675.42 ล้านบาท (79,820.40-70,144.98)
2.การประมูลครั้งที่ 2
หลังจากการประมูลครั้งที่ 1 ถูกล้มไปแล้ว รฟม. ได้ประกาศเชิญชวนเอกชนให้ร่วมลงทุนครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ปรากฏว่ามีเอกชนยื่นข้อเสนอ 2 ราย ได้แก่ (1) BEM และ (2) ITD Group ซึ่งประกอบด้วย ITD และ Incheon Transit Corporation หรือ ITC ผู้เดินรถไฟฟ้าจากเกาหลี ส่วน BTSC ไม่สามารถยื่นข้อเสนอได้ เพราะหาผู้รับเหมามาเป็นผู้ร่วมยื่นข้อเสนอไม่ได้ เนื่องจากมีการปรับแก้คุณสมบัติของผู้รับเหมาให้ผ่านเกณฑ์ยากขึ้นกว่าครั้งที่ 1
ก่อนหน้าที่ BTSC จะเปิดซอง “ข้อเสนอการลงทุนและผลตอบแทน” ของตนเองนั้น รฟม. ได้เปิดซองดังกล่าวของ BEM และของ ITD Group พบว่า รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนสุทธิ (เงินที่ รฟม. ต้องสนับสนุน หักด้วย เงินตอบแทนที่ รฟม. ได้รับ) แก่ BEM 78,287.95 ล้านบาท และให้แก่ ITD Group 102,635.66 ล้านบาท ส่งผลให้ BEM เป็นผู้ชนะการประมูล เนื่องจาก รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนสุทธิน้อยกว่านั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตาม รฟม. ไม่ได้เปิดเผยจำนวนเงินตอบแทนที่ BEM เสนอให้แก่ รฟม. และจำนวนเงินที่ BEM ขอรับเงินสนับสนุนจาก รฟม. เพียงแต่เปิดเผยจำนวนเงินที่ รฟม. จะต้องสนับสนุนสุทธิเท่านั้น
3.เป็นไปได้หรือไม่ ถ้าไม่ล้มประมูลครั้งที่ 1 BTSC จะคว้าชัย ?
ในการประมูลครั้งที่ 1 ไม่มีการเปิดเผยว่า BEM ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิเท่าไหร่ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการประมูลครั้งที่ 2 ซึ่ง BEM ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิ 78,287.95 ล้านบาท โดยที่แบบการก่อสร้างยังเหมือนเดิม ราคากลางค่าก่อสร้างก็ยังเท่าเดิม อีกทั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง ซึ่ง BEM ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิสูงกว่า BTSC นับแสนล้านบาท ทำให้เกิดคำถามดังนี้
(1) ในการประมูลครั้งที่ 1 เป็นไปได้หรือไม่ ? ที่ BEM จะขอรับเงินสนับสนุนสุทธิต่ำกว่า BTSC ซึ่งขอ 9,6758.42 ล้านบาท
(2) ในการประมูลครั้งที่ 1 เป็นไปได้หรือไม่ ? ที่ BTSC ซึ่งเป็นบริษัทแรกที่ก่อสร้างและให้บริการเดินรถไฟฟ้าในเมืองไทย และโชกโชนกับการประมูลโครงการขนาดใหญ่ด้านขนส่งมาหลายโครงการ จะไม่ผ่านการพิจารณาข้อเสนอด้านคุณสมบัติ และข้อเสนอด้านเทคนิค
หากเป็นไปไม่ได้ กรณีไม่ล้มการประมูลครั้งที่ 1 อาจเป็นไปได้ที่ BTSC จะชนะการประมูล !
4.ผลต่างเงินสนับสนุนสุทธิเพิ่มจาก 6.8 หมื่น เป็น 7.5 หมื่น ?
เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 รฟม. แถลงข่าวผลการประมูลครั้งที่ 2 ว่า BEM ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิ 78,287.95 ล้านบาท ผมได้เปรียบเทียบกับการประมูลครั้งที่ 1 ซึ่ง BTSC ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิ 9,675.42 ล้านบาท พบว่าเงินสนับสนุนสุทธิที่ BEM ขอในการประมูลครั้งที่ 2 มากกว่าเงินสนับสนุนสุทธิที่ BTSC ขอในการประมูลครั้งที่ 1 ถึง 68,612.53 ล้านบาท
แต่ต่อมา ในวันที่ 26 ธันวาคม 2565 รฟม. ชี้แจงผลการประมูลครั้งที่ 2 ระบุว่า BEM ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิ 85,432 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขใหม่ ไม่เหมือนเดิม ไม่มีการชี้แจงว่า ทำไมเงินสนับสนุนสุทธิจึงเปลี่ยนไป ? ทำให้ผลต่างเงินสนับสนุนสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 75,756.58 ล้านบาท
สรุป
เดิมเราแทบล้มทั้งยืนเมื่อรู้ว่า การประมูลครั้งที่ 2 มีเงินสนับสนุนสุทธิมากกว่าครั้งที่ 1 ถึง 68,612.53 ล้านบาท มาบัดนี้ถ้าผลต่างพุ่งขึ้นเป็น 75,756.58 ล้านบาท เราจะไม่ช็อกจนหมดสติกันหรือครับ?”
อ่านประกอบ :
‘รฟม.’ โต้ ‘คีรี’ ยันประมูลรถไฟฟ้า ‘สายสีส้มฯ’ โปร่งใส-ย้ำข้อเสนอ BTS ไม่น่าเชื่อถือ
อย่าให้เกินไป! ‘คีรี’จี้‘บิ๊กตู่’ทบทวนประมูล‘สายสีส้มฯ’-ชี้ปัญหาคอร์รัปชันไทยรุนแรงมาก
ปากพูดแต่ไม่ทำจริง! ACT ชี้ภาคการเมืองต้นตอ‘คอร์รัปชัน’-BTS ยกประมูล‘สายสีส้มฯ’สุดแปลก
‘ศักดิ์สยาม’ชี้ ‘สายสีส้ม’ รอศาลตัดสินจบทุกคดี โยน ‘รฟม.’ ตอบรับโอน ‘สายสีเขียว’
ยัน'โปร่งใส-ตรวจสอบได้'! 'รฟม.' แจง 5 ประเด็น ปมคัดค้านผลประมูลรถไฟฟ้า 'สายสีส้มฯ'
‘เวทีสาธารณะฯ’ จี้รัฐบาลตรวจสอบประมูล ‘สายสีส้ม’-ตั้งคำถามปม ‘ส่วนต่าง’ 6.8 หมื่นล้าน
รฟม.โต้ ACT ยันประมูล‘สายสีส้ม’เปิดกว้าง-ชี้ส่วนต่างผลปย.รัฐ 6.8 หมื่นล.ไม่น่าเชื่อถือ
เสนอผลปย.ต่างกัน 6.8 หมื่นล.! ACT ออกแถลงการณ์ ร้อง‘บิ๊กตู่’สอบประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ
BTS ยันข้อเสนอขอรัฐอุดหนุนรถไฟฟ้า 'สายสีส้ม' 9 พันล. ทำได้จริง-ย้ำประมูลส่อไม่สุจริต
‘บอร์ดคัดเลือกฯ’เคาะ BEM ชนะประมูลรถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’-ผู้ว่าฯรฟม.ยกเลิกแถลงข่าวกระทันหัน