“…การกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอในการคัดเลือกเอกชน ให้ต้องมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธาโดยมีผลงานก่อสร้างงานโยธาที่แล้วเสร็จ และเป็นผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทย รวมถึงเงื่อนไขอื่นๆที่เกี่ยวข้อง จึงมิได้มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนบางรายตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างแต่อย่างใด…”
.....................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษา ‘ยกฟ้อง’ ในคดีที่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTSC (ผู้ฟ้องคดี) ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี)
ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีการเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) นั้น (อ่านประกอบ : ‘ศาลปค.สูงสุด’ยกฟ้องคดีประมูลรถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’-‘สุริยะ’เร่งชง‘ครม.’อนุมัติเซ็นสัญญา BEM)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอสรุปรายละเอียดเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาให้ ‘ยกฟ้อง’ ในคดีนี้ (คดีหมายเลขดำที่ อ.1437/2566 คดีหมายเลขแดงที่ อ.574/2567) ซึ่งแบ่งเนื้อหาเป็น 2 ตอน
โดยในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา ได้นำเสนอสาระสำคัญของคำเป็นวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด กรณีที่ว่าการประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค.2565 และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน ฉบับเดือน พ.ค.2565 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
และกรณีที่ว่า บอร์ดคัดเลือกฯ และการไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอและหลักเกณฑ์การประเมินคัดเลือกข้อเสนอของเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ (อ่านประกอบ : เปิดคำพิพากษาคดีประมูล‘สายสีส้ม’ (1) ‘ศาล ปค.สูงสุด’ชี้‘รฟม.’ออกTORถูกต้องตามขั้นตอนกม.)
ในตอนนี้ ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย สำนักข่าวอิศรา ขอสรุปคำวินิจฉัยของศาลฯต่อจากในตอนที่แล้ว ในประเด็นที่ว่า ผู้ถูกฟ้องคดี (คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม.) กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอและหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอของเอกชนโดยอำเภอใจหรือไม่ และบอร์ดคัดเลือกฯ และรฟม. มีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ มีรายละเอียด ดังนี้
@รับฟังไม่ได้‘รฟม.’ออก‘เกณฑ์คัดเลือกฯ’โดยอำเภอใจ
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม.) กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอและหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอของเอกชนโดยอำเภอใจหรือไม่ โดยศาลฯกำหนดประเด็นวินิจฉัยเป็น 4 ประการ คือ
ประการที่หนึ่ง การพิจารณาวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้อาศัยข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้องหรือไม่
เห็นว่า ...ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ได้พิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ มีแนวเส้นทางที่ผ่านพื้นที่อ่อนไหว จึงให้ความสำคัญกับด้านเทคนิคและได้พิจารณาแนวทางปฏิบัติของกรมบัญชีกลาง การกำหนดผลงานในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ที่ได้ดำเนินการประกวดราคาเสร็จสิ้นไปแล้ว รวมถึงข้อเท็จจริงกรณีที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล ที่เกิดจากการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอการคัดเลือกเอกชนแล้ว
จากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ไม่ปรากฎว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้พิจารณาวินิจฉัยกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอและหลักเกณฑ์การประเมินคัดเลือกข้อเสนอของเอกชน โดยอาศัยข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้องแต่อย่างใด กรณีจึงรับฟังได้ว่า การพิจารณาวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้อาศัยข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแล้ว
ประการที่สอง การพิจารณาวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การวินิจฉัยทั่วไปที่ยอมรับกันหรือไม่
ในปัญหาข้อนี้ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์โต้แย้งว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ได้กำหนดรายละเอียดของเอกสารแผนดำเนินธุรกิจและแผนการเงินตามเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยกำหนดให้ผู้ที่จะเข้าร่วมการประมูลโครงการที่พิพาทต้องใช้ประมาณการจำนวนผู้โดยสารตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองประมาณการไว้ เป็นฐานในการคำนวณรายได้ และผลตอบแทน อันเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ทำให้รัฐต้องเสียโอกาสที่จะได้รับข้อเสนอผลตอบแทนที่สูงที่สุด
เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (บอร์ดคัดเลือกฯ และรฟม.) ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ ได้กำหนดรายละเอียดของเอกสารแผนดำเนินธุรกิจและแผนการเงินตามเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์และตรวจสอบโดยที่ปรึกษาโครงการ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดข้อเปรียบเทียบกันได้ในระหว่างผู้ยื่นข้อเสนอด้วยกัน
โดยผู้ยื่นเสนอแต่ละรายจะจัดทำข้อเสนอผลตอบแทน โดยใช้ประมาณการจำนวนผู้โดยสารที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกำหนดมาเป็นฐานในการวิเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอผลตอบแทน ซึ่งจะทำให้ข้อเสนอผลตอบแทนของผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละรายอยู่บนสมมุติฐานเดียวกัน เพื่อที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะพิจารณาประเมินและตัดสินข้อเสนอดังกล่าวต่อไปได้ ดังนั้น การพิจารณาวินิจฉัยดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์การวินิจฉัยทั่วไปที่ยอมรับกันแล้ว
@เงื่อนไข TOR ไม่กีดกัน-‘เกณฑ์คัดเลือก’ไม่เอื้อปย.บางราย
ประการที่สาม การพิจารณาวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองขัดต่อหลักความเสมอภาค หรือไม่
ในปัญหาข้อนี้ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์โต้แย้งว่า การกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอในการคัดเลือกเอกชนว่า จะต้องมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการก่สร้างงานโยธา โดยมีผลงานก่อสร้างงานโยธาที่แล้วเสร็จและเป็นผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทย
เป็นการกีดกันไม่ให้ผู้รับจ้างงานโยธาที่มีศักยภาพและความเชี่ยวซาญที่สามารถดำเนินโครงการที่พิพาทได้อย่างแท้จริงเข้าร่วมการคัดเลือกเอกชนในโครงการที่พิพาท ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันระหว่างเอกชนผู้ที่มีความสนใจเข้าร่วมประมูล และเป็นการจำกัดหรือกีดกันการแข่งขันจนอาจเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนบางราย
เนื่องจากทำให้เอกชนที่สามารถยื่นข้อเสนอในโครงการที่พิพาทได้มีเพียง 2 ราย คือ กลุ่มผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งได้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ซึ่งรวมถึงบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (CK) และกลุ่มผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาของโครงการดังกล่าว ซึ่งได้แก่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD)
ส่วนบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STECON) ซึ่งเป็นพันธมิตรของผู้ฟ้องคดีที่ได้รวมกลุ่มกับผู้ฟ้องคดี เพื่อเข้าร่วมการคัดเลือกเอกชนในโครงการที่พิพาทตามประกาศเชิญชวนฉบับเดิมขาดคุณสมบัติ เพราะในขณะที่มีการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค.2565
และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน ฉบับเดือ น พ.ค.2565 นั้น บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างงานโยธาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันออก ซึ่งยังไม่ใช่ผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่แล้วเสร็จจึงทำให้กลุ่มของผู้ฟ้องคดีขาดคุณสมบัติ
เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (บอร์ดคัดเลือกฯ และรฟม.) ได้กำหนดคุณสมบัติด้านเทคนิคประสบการณ์ และผลงานในการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธาดังกล่าว โดยคำนึงถึงลักษณะของโครงการที่พิพาทที่เป็นการก่อสร้างโครงสร้างใต้ดินทั้งหมด
การกำหนดคุณสมบัติด้านเทคนิค ประสบการณ์ และผลงานในการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธาของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงเป็นไปเพื่อให้รัฐเกิดความมั่นใจว่า จะได้ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาที่มีศักยภาพ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์งานก่อสร้างในลักษณะเช่นเดียวกันกับการก่สร้างงานโยธาตามโครงการที่พิพาทในประเทศไทย
และสำหรับในส่วนของผลงานการก่อสร้างงานโยธานั้น ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอสามารถใช้ผลงานของตนเองที่มีโดยตรง ประกอบการยื่นข้อเสนอหรือในกรณีผู้ยื่นข้อเสนอขาดประสบการณ์ในการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธาโดยไม่มีผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทย
ผู้ยื่นข้อเสนอก็สามารถใช้ผลงานของผู้รับจ้างงานโยธา (Contractor) ที่มีผลงานและประสบการณ์ โดยไม่ได้มีข้อจำกัดไว้ว่าผู้รับจ้างงานโยธา จะต้องเป็นนิติบุคคลไทยรายเดียวที่มีผลงานก่อสร้างงานโยธาครบทั้งสามประเภท (งานอุโมงค์ งานสถานี และงานราง) เท่านั้น
หากแต่ผู้ยื่นข้อเสนอสามารถใช้ผลงานของผู้รับจ้างงานโยธาทั้งในประเทศและต่างประเทศ มารวมกลุ่มเป็นนิติบุคคลที่มีผลงานครบทั้งสามประเภทได้ ดังที่ปรากฎตามรายงานการประชุมผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ครั้งที่ 9/2565 เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2565
ระเบียบวาระที่ 2 : เรื่องเสนอเพื่อพิจารณา ข้อ 2.2 สรุปสาระสำคัญร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) เล่มที่ ๑ ข้อแนะนำผู้อื่นข้อเสนอ ซึ่งที่ปรึกษาโครงการได้นำเสนอสรุปสาระสำคัญร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) ต่อที่ประชุมเกี่ยวกับผู้รับจ้างงานโยธา (ผู้รับเหมา) ที่มีผลงานด้านงานโยธา
โดยมีผู้รับจ้างที่มีผลงานออกแบบก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดิน จำนวน 10 ราย ผลงานออกแบบก่อสร้างสถานีรถไฟใต้ดิน จำนวน 10 ราย และผลงานออกแบบก่อสร้าง Ballastless Trackwork with Third Rail จำนวน 5 ราย
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า มีผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาที่มีผลงานครบทุกประเภท จำนวน 2 ราย คือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD) กับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (CK) และผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธารายอื่นที่มีผลงาน 1 ถึง 2 ประเภท รวม 12 ราย ซึ่งสามารถรวมกันเป็นกลุ่มนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติการก่อสร้างงานโยธาที่ครบทั้งสามประเภทได้ในหลายรูปแบบ
ดังนั้น ถึงแม้ในขณะที่มีการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค.2565 และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน ฉบับเดือน พ.ค.2565 นั้น
บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งผู้ฟ้องคดี (BTSC) กล่าวอ้างว่า เป็นพันธมิตรของผู้ฟ้องคดีอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างงานโยธาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันออก โดยบริษัทดังกล่าวยังไม่ได้มีผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่แล้วเสร็จก็ตาม
แต่ผู้ฟ้องคดี (BTSC) กับพันธมิตรดังกล่าวของผู้ฟ้องคดี ซึ่งแม้จะมีผลงานก่อสร้างงานโยธาไม่ครบทุกประเภท ก็สามารถที่จะไปรวมกลุ่มกับผู้รับจ้างรายอื่นดังกล่าว เพื่อให้มีผลงานการก่อสร้างงานโยธาครบทุกประเภทได้ และกรณีเป็นเงื่อนไขที่ผู้ฟ้องคดียังสามารถที่จะปฏิบัติได้
เห็นได้จากการที่ผู้พีองคดีได้มีหนังสือลงวันที่ 19 มิ.ย.2565 ขอเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลายื่นซองเอกสารข้อเสนอและขยายระยะเวลาการรับซองเอกสารข้อเสนอโครงการที่พิพาท เพื่อไปดำเนินการเจรจากับผู้รับจ้างงานโยธาในต่างประเทศเพื่อเชิญชวนมาร่วมในการจัดทำข้อเสนอ
กรณีการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการบีบให้เอกชนที่ผ่านคุณสมบัติตามข้อ 3.3.1 (1) ของประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค.2565 และข้อ 10.4.1 (1) ของเอกสาร RFP เล่มที่ 1 : ข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่เอกชนที่มีประสบการณ์ในการดำเนินการก่อสร้างงานโยธาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง
ดังนั้น ลำพังเพียงการถือหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (รฟม.) ซึ่งเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามที่ศาลปกครองชั้นต้นได้วินิจฉัย ย่อมไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่ามีข้อพิรุธใดๆ
ส่วนกรณีที่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทดังกล่าวเข้าร่วมการคัดเลือกเอกชนในโครงการที่พิพาทที่มีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าเป็นพฤติการณ์ที่ส่อให้เห็นข้อพิรุธที่อาจมีการดำเนินการคัดเลือกเอกชนโครงการที่พิพาทโดยทุจริต และโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในลักษณะที่อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทดังกล่าวนั้น ก็ไม่ปรากฎว่าผู้ฟ้องคดีมีพยานหลักฐานใดที่จะสนับสนุนหรือแสดงให้เห็นได้อย่างชัดแจ้ง ตามข้อกล่าวอ้างดังกล่าว
การกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอในการคัดเลือกเอกชน ให้ต้องมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธาโดยมีผลงานก่อสร้างงานโยธาที่แล้วเสร็จ และเป็นผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทย รวมถึงเงื่อนไขอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
จึงมิได้มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนบางรายตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างแต่อย่างใด ดังนั้น การพิจารณาวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในประเด็นนี้ จึงไม่ขัดต่อหลักความเสมอภาค
@ไม่ปรากฎข้อเท็จจริง ‘รฟม.’ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอก
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ต่อมาว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ได้กำหนดให้ในกรณีที่ผู้ยื่นข้อเสนอใช้ผลงานก่อสร้างงานโยธาของผู้รับจ้างงานโยธารายเดียว ผู้รับจ้างงานโยธาดังกล่าว จะต้องเป็นนิติบุคคลไทย แต่หากผู้ยื่นข้อเสนอใช้ผลงานก่อสร้างงานโยธาของผู้รับจ้างงานโยธาที่เป็นกลุ่มนิติบุคคลเพื่อให้มีผลงานครบทุกประเภท กลุ่มนิติบุคคลดังกล่าวจะต้องมีนิติบุคคลไทยที่ถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 นั้น เป็นการสร้างภาระเกินสมควรหรือไม่ นั้น
เห็นว่า ...แม้การกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะมีผลทำให้ผู้ฟ้องคดี และเอกชนผู้สนใจเ ข้าร่วมประมูลโครงการพิพาทจะต้องรับภาระในการจัดหาผู้รับจ้าง เพื่อให้มีผลงานก่อสร้างงานโยธาครบทุกประเภทเพิ่มขึ้นจากปกติก็ตาม แต่เมื่อคำนึงถึงเหตุผลและความจำเป็นดังที่กล่าวมาแล้ว กรณียังถือไม่ได้ว่า เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของเอกชนที่เกินความจำเป็นแก่การดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้รับจ้างงานโยธาโดยจำกัดว่าผู้รับจ้างงานโยธาจะต้องเป็นนิติบุคคลไทยหรือกลุ่มนิติบุคคลที่มีนิติบุคคลไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 จึงมิได้เป็นการสร้างภาระเกินสมควรให้แก่ผู้ฟ้องคดีและเอกชนผู้สนใจเข้าร่วมประมูลโครงการที่พิพาทดังที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างแต่อย่างใด อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
ประการที่สุดท้าย การพิจารณาวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกหรือปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยหรือไม่
เห็นว่า คดีนี้ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่า การพิจารณาวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกหรือปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยแต่ประการใด
ด้วยเหตุผลดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วนั้น กรณีจึงยังรับฟังไม่ได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (บอร์ดคัดเลือกฯ และ รฟม.) กำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอและหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอของเอกชนโดยอำเภอใจ และกรณีต้องถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้พิจารณาวินิจฉัยกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอและหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอของเอกชนเป็นไปเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
โดยมีการคำนึงถึงการใช้ความรู้ ความสามารถความเชี่ยวชาญ และนวัตกรรมของเอกชนในการให้บริการสาธารณะของโครงการร่วมลงทุนและการถ่ายทอดความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญไปยังหน่วยงานและบุคลากรของภาครัฐ ตลอดจนความโปร่งใสและตรวจสอบได้ตามมาตรา 6 (4) และ (5) แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 แล้ว อุทธรณ์ในข้อนี้ของผู้ฟ้องคดีจึงฟังไม่ขึ้น
@ไม่รับวินิจฉัยคำร้อง ปม‘อิตาเลียนไทย’ขาดคุณสมบัติ
สำหรับกรณีที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้เร่งรัดดำเนินการคัดเลือกเอกชนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มนิติบุคคล (กลุ่ม ITD) มีกรรมการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการของนิติบุคคลที่เคยได้รับโทษ โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ซึ่งมิใช่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
และบุคคลดังกล่าวยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) มาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนการยื่นข้อเสนอในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ครั้งที่ 2 กลุ่ม ITD ที่มีบริษัทดังกล่าวเป็นสมาชิกของกลุ่มนิติบุคคล จึงเป็นเอกชนที่มีลักษณะไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนและไม่มีสิทธิเข้าร่วม หรือได้รับเลือกเป็นคู่สัญญาร่วมลงทุนในโครงการที่พิพาทได้ตามกฎหมาย
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีหน้าที่ตามกฎหมาย ที่จะต้องตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ แต่ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอราคารายบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) จนทำให้บริษัทดังกล่าวผ่านการประเมินข้อเสนอซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ
ทั้งที่ในความเป็นจริงมีเพียง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เท่านั้นที่ผ่านคุณสมบัติ และผ่านการประเมินข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค และได้ดำเนินการประมูลโครงการที่พิพาทต่อไป อันเป็นพฤติการณ์ที่เป็นการทำให้กระบวนการประมูลโครงการที่พิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมายเพิ่มมากขึ้นจากเดิม และแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ที่ไม่สุจริตของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง นั้น
เห็นว่า ...โดยที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลังจากผู้ฟ้องคดี (BTSC) ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นแล้ว ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องและคำขอท้ายคำฟ้อง ลงวันที่ 1 พ.ค.2566 ต่อศาลปกครองชั้นต้น โดยเนื้อหาสาระของคำร้องดังกล่าว เป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการประมูลโครงการที่พิพาทตามประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค.2565
และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน ฉบับเดือน พ.ค.2565 อันเนื่องจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้กลุ่มนิติบุคคล (กลุ่ม ITD) ซึ่งมีลักษณะไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนตามกฎหมาย เป็นผู้ผ่านคุณสมบัติในการเข้าร่วมประมูล เพื่อแสดงให้เห็นว่าได้มีเอกชนเข้าร่วมในการประมูลโครงการที่พิพาทมากกว่า 1 ราย อันเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต และจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง พิจารณาให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เป็นผู้ชนะการประมูลสูงสุด
ทั้งที่ข้อเสนอของบริษัทดังกล่าวไม่ใช่ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน หากแต่ทำให้รัฐมีภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมีคำขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการกระทำและการดำเนินการใดๆ ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองที่เกิดขึ้นจากประกาศเชิญชวนที่พิพาทและเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน ฉบับเดือน พ.ค.2565 ทั้งหมด
ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า คำร้องขออนุญาตยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องและคำขอท้ายคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีเป็นคำฟ้องเพิ่มเติมที่ยื่นต่อศาลหลังวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ศาลรับไว้เป็นส่วนหนึ่งของสำนวนคดีและไม่ต้องส่งสำเนาให้คู่กรณีที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ตามข้อ 62 วรรคสาม แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543
ศาลปกครองชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องขออนุญาตยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องและคำขอท้ายคำฟ้อง ลงวันที่ 1 พ.ค.2566 ของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุดเป็นคดีคำร้องที่ 1473/2566
ต่อมา ศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่าวได้มีคำสั่งที่ 1947/2566 ยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำร้องขออนุญาตยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องและคำขอท้ายคำฟ้อง ลงวันที่ 1 พ.ค.2566 ของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา ซึ่งจากกรณีดังกล่าวย่อมมีผลให้คดีนี้ไม่มีประเด็นตามคำร้องขออนุญาตยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องและคำขอท้ายคำฟ้อง ของผู้ฟ้องคดีที่ศาลจำต้องวินิจฉัยอีกต่อไป
ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินการคัดเลือกเอกชนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเหตุที่กลุ่ม ITD ซึ่งมีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นสมาชิกของกลุ่มนิติบุคคลเป็นเอกชนที่มีลักษณะไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนและไม่มีสิทธิเข้าร่วมหรือได้รับเลือกเป็นคู่สัญญาร่วมลงทุนในโครงการที่พิพาทได้ตามกฎหมาย
อันเป็นประเด็นเดียวกันกับประเด็นตามคำร้องขออนุญาตยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องและคำขอท้ายคำฟ้อง ลงวันที่ 1 พ.ค.2566 ของผู้ฟ้องคดีที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งถึงที่สุดไม่รับไว้พิจารณาไปแล้วขึ้นอุทธรณ์ จึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลปกครองชั้นต้น
ทั้งกรณีปัญหาดังกล่าวมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือปัญหาเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะที่ผู้ฟ้องคดีจะยกขึ้นกล่าวในคำอุทธรณ์ได้ ทั้งนี้ ตามข้อ 101 วรรคสอง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ศาลปกครองสูงสุดจึงไม่อาจรับวินิจฉัยประเด็นตามอุทธรณ์ข้อนี้ของผู้ฟ้องคดีได้
อีกทั้งในขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนเกี่ยวกับการยื่นข้อเสนอ ซึ่งเป็นขั้นตอนภายหลังจากได้มีการประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค.2565 และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน ฉบับเดือน พ.ค.2565 ไปแล้ว ซึ่งหากบุคคลผู้ที่ได้ยื่นข้อเสนอรายใดเห็นว่าข้อเสนอของตนได้รับการพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ย่อมมีสิทธิที่จะโต้แย้งคัดค้านหรือฟ้องคดีต่อศาลได้
แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้เข้าร่วมการรับฟังความคิดเห็นในการกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอและหลักเกณฑ์การประเมินเท่านั้น ผู้ฟ้องคดีมิได้มีการยื่นข้อเสนอใดๆ ผู้ฟ้องคดีเพียงกล่าวอ้างว่าการกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่อาจยื่นข้อเสนอได้
และในประเด็นดังกล่าว ศาลก็ได้วินิจฉัยไปแล้วข้างต้นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ใช้ดุลพินิจกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติและหลักเกณฑ์การประเมินเป็นไป โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว กรณีจึงไม่มีเหตุที่ศาลจะเข้าไปพิจารณาตรวจสอบการตรวจคุณสมบัติของบุคคลผู้ยื่นข้อเสนออีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเนื้อหาของบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่บัญญัติกำหนดลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ประกอบข้อ 3 (3) ข้อ และข้อ 5 ของประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน พ.ศ.2562 แล้ว
จะเห็นได้ว่า กรณีบุคคลเอกชนต้องไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษตามข้อ 3 (3) ของประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน พ.ศ.2562 นั้นมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ดังนี้
ประการที่หนึ่ง ในระหว่างที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาย่อมต้องถือว่าบุคคลผู้นั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ แม้จะพบว่ามีการดำเนินคดีกับบุคคลผู้ยื่นข้อเสนอในระหว่างกระบวนการคัดเลือกคูสัญญา กรณีย่อมจะต้องถือว่าบุคคลผู้นั้นยังไม่มีลักษณะต้องห้าม
ประการที่สอง ลักษณะต้องห้ามของบุคคลจะต้องปรากฏอยู่ในขณะที่ฝ่ายปกครองวินิจฉัยว่าบุคคลผู้นั้นได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาร่วมลงทุนตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. ๒๕๖๒ หรือไม่
และประการที่สาม ถ้าปรากฎภายหลังว่าเอกชนผู้ได้รับการคัดเลือกมีลักษณะต้องห้าม โดยลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่เกิดขึ้นภายหลัง ย่อมไม่กระทบต่อความชอบด้วยกฎหมายของการดำเนินการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เพราะหากกำหนดให้ลักษณต้องห้ามมีผลย้อนหลังไปในเวลาใดเวลาหนึ่งได้ ย่อมจะกระทบต่อความมั่นคงของนิติฐานะ อีกทั้งย่อมจะไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายที่ว่า บุคคลย่อมต้องถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด
เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า กลุ่ม ITD ไม่ได้รับการคัดเลือกให้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ กรณีจึงไม่จำต้องพิจารณาว่า กลุ่ม ITD มีลักษณะต้องห้ามในขณะทำสัญญาหรือไม่ ประกอบกับเมื่อบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ซึ่งรวมถึงบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (CK) เป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือก โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นิติบุคคลดังกล่าว รวมถึงกรรมการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการของนิติบุคคลนั้น มีลักษณะต้องห้ามในขณะที่ได้รับการคัดเลือกจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1
อีกทั้งเมื่อพิจารณาความในมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ที่บัญญัติให้อำนาจผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินการคัดเลือกต่อไปได้ หากเห็นว่ารัฐจะได้ประโยชน์ แม้จะมีเอกชนยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียวหรือมีเอกชนยื่นข้อเสนอหลายราย แต่ยื่นข้อเสนอถูกต้องตามรายการในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพียงรายเดียว ซึ่งเมื่อพิจารณาความตามมาตรา 41 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 แล้ว
จะเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ ยังจะต้องส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาอีกครั้ง โดยที่แม้จะต้องผ่านการให้ความเห็นชอบของรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัด โดยคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้ใช้ดุลพินิจพิจารณาให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน ก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะมีอำนาจลงนามในสัญญาตามความในมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ มิได้มีอำนาจอนุมัติให้มีการทำสัญญาแต่อย่างใด
ดังนั้นการคัดเลือกคู่สัญญา จึงยังไม่ถือว่าเสร็จสิ้น หากแต่เป็นดุลพินิจของคณะรัฐมนตรีในการพิจารณาให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกในขั้นตอนสุดท้ายต่อไป ข้อกล่าวอ้างในข้อนี้ของผู้ฟ้องคดีจึงฟังไม่ขึ้น
“ด้วยเหตุผลดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จึงเห็นว่า ประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค.2565 และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน ฉบับเดือน พ.ค.2565 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว”
@ทีโออาร์ชอบด้วย กม. ‘รฟม.’ไม่ต้องรับผิดทางละเมิด
ประเด็นที่สอง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่
เห็นว่า มาตรา 420 แห่งประมาลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
คดีนี้ เมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอและหลักเกณฑ์การประเมินคัดเลือกข้อเสนอของเอกชน โดยสอดคล้องเป็นไปตามเป้าประสงค์ของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนตามที่กฎหมายกำหนด และโดยถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดไว้
และมิได้เป็นการกระทำ อันเป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือผู้ยื่นข้อเสนอรายใดจนเกินสมควร ซึ่งมีผลให้ประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค.2565 และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน ฉบับเดือน พ.ค.2565 ชอบด้วยกฎหมาย
กรณีจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงไม่จำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามคำฟ้องแต่อย่างใด และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นข้ออุทธรณ์อื่นๆ อีก เนื่องจากมิได้ทำให้ผลแห่งคดีที่ได้วินิจฉัยมาแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไป การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย
จากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่า หลังจาก ‘ศาลปกครองสูงสุด’ มีคำพิพากษาในคดีประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ดังกล่าว ซึ่งเป็นคดีพิพาทสุดท้ายแล้ว รฟม. จะมีการลงนามสัญญากับเอกชนที่ชนะการประมูล คือ BEM ได้เมื่อใด
อ่านประกอบ :
เปิดคำพิพากษาคดีประมูล‘สายสีส้ม’(1) ‘ศาล ปค.สูงสุด’ ชี้‘รฟม.’ออกTORถูกต้องตามขั้นตอนกม.
‘ศาลปค.สูงสุด’ยกฟ้องคดีประมูลรถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’-‘สุริยะ’เร่งชง‘ครม.’อนุมัติเซ็นสัญญา BEM
‘ศาลปค.สูงสุด’นัดอ่านคดี BTS ฟ้อง‘รฟม.’ออกTORประมูล‘สายสีส้ม’ส่อกีดกันแข่งขัน 12 มิ.ย.
สศช.แนะ‘รฟม.’ปรับแผนเดินรถไฟฟ้าสายสีส้ม‘ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี’-เร่งหาเอกชนวิ่งสายสีม่วง
ไม่กีดกัน-เอื้อเอกชนรายใด! ‘ศาลปค.’ยกฟ้องคดี‘รฟม.’ออกประกาศเชิญชวนประมูล‘สายสีส้ม’ขัดกม.
มีผลเท่ากับยกเลิกมติครม.! เปิดความเห็นแย้ง ตุลาการ‘เสียงข้างน้อย’ คดีล้มประมูล‘สายสีส้ม’
ศาลปค.สูงสุด’พิพากษากลับ‘ยกฟ้อง’ คดี BTSC ฟ้อง‘รฟม.’ล้มประมูลรถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’ไม่ชอบ
‘ศาลปค.สูงสุด’นัดตัดสิน คดี BTSC ฟ้อง‘รฟม.’ล้มประมูลรถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’ไม่ชอบ 30 มี.ค.นี้
‘สภาผู้บริโภค’ แนะทางออก 2 รถไฟฟ้า ‘สายสีส้มประมูลใหม่’ - ‘สายสีเขียวไม่ต่อสัมปทาน’
ครม.ตีกลับ ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ 1.4 แสนล้าน โยนครม.ชุดใหม่พิจารณา
เปิดชื่อ 20 ตุลาการฯ'เสียงข้างน้อย' เห็นแย้งคดีแก้TORสายสีส้มฯ ชี้'รฟม.'ใช้อำนาจโดยพลการ
มีอำนาจ-ใช้ดุลพินิจโดยชอบ!‘ศาลปค.สูงสุด’ยกฟ้องคดี‘บอร์ดคัดเลือกฯ-รฟม.’แก้ TOR สายสีส้มฯ
‘ศักดิ์สยาม’ สอน ‘ชูวิทย์’ รถไฟฟ้าสายสีส้ม อย่าพูดลอยๆ ต้องมีหลักฐานชัดๆ
‘ชูวิทย์’ แฉสายสีส้มมีพิรุธ ‘เงินทอน-กระบวนการยุติธรรม’ รฟม.โต้โปร่งใสทุกขั้นตอน
'รฟม.'รอศาลปค.สูงสุดชี้ขาด 3 คดีก่อนชง'ครม.'เคาะสายสีส้ม-โต้'ก้าวไกล'ยันประมูลชอบด้วยกม.
ส่อผิดกม.ฮั้ว! ฝ่ายค้านฯยื่น‘ป.ป.ช.’ไต่สวน‘บิ๊กตู่-ศักดิ์สยาม’กรณีประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ