‘ศาลปกครองกลาง’ ยกฟ้องคดี ‘บีทีเอส’ ฟ้อง ‘บอร์ดคัดเลือก-รฟม.’ ปมออกประกาศเชิญชวนฯประมูลรถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ ไม่ชอบ ชี้ไม่มีลักษณะ ‘เอื้อประโยชน์แก่เอกชนรายใดรายหนึ่ง’-ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกีดกันไม่ให้ BTS เข้าร่วมคัดเลือกฯ
.............................
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง ในคดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอส) ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2)
กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค.2565 (ครั้งที่ 2) และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือน ก.ค.2563 เนื่องจากศาลเห็นว่า ประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวไม่มีลักษณะประการใด ที่จะทำให้เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
“เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 กำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ ในข้อ 3.1 คุณสมบัติทั่วไปว่า ผู้ยื่นข้อเสนอต้องเป็นนิติบุคคลไทย สำหรับนิติบุคคลต่างประเทศจะต้องรวมกลุ่มกับนิติบุคคลไทย และนิติบุคคลไทยต้องมีสัดส่วนการถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 ของทั้งหมด
และในข้อ 3.3 คุณสมบัติทางด้านเทคนิค ประสบการณ์ และผลงาน ว่า ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธา โดยมีผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่แล้วเสร็จภายในช่วงระยะเวลา 20 ปี และกำหนดไว้ในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request For Proposal หรือ RFP) ข้อ 10.2 และข้อ 11.4 ในลักษณะเดียวกัน
แม้ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชน พ.ศ.2563 จะไม่ได้กำหนดให้มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอไว้ เว้นแต่เฉพาะเอกชนที่อยู่ในบังคับตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน พ.ศ.2562
ประกอบกับ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 จะบัญญัติเหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล เพื่อให้การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการลงทุนของรัฐมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และปราศจากการมีส่วนได้เสียในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน อันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในการได้รับการบริการของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ย่อมถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (รฟม.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน มีดุลพินิจในการกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอได้ตามที่เห็นสมควร โดยคำนึงถึงความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ปราศจากการมีส่วนได้เสีย การเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และสอดคล้องกับเป้าประสงค์ของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอข้างต้น โดยกำหนดให้ใช้ผลงานก่อสร้างงานโยธากับหน่วยงานของรัฐบาลไทยและต้องเป็นผลงานที่แล้วเสร็จ เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ผู้รับจ้างงานโยธาที่มีศักยภาพ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์งานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าและงานที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันในประเทศไทยมาแล้ว ทำให้สามารถตรวจสอบผลงานก่อสร้างของผู้ยื่นข้อเสนอได้อย่างละเอียดครบถ้วน
สอดคล้องกับการกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอในข้อ 1.1.4 ของหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/214 ลงวันที่ 18 พ.ค.2563 ที่แจ้งเวียนแนวทางปฏิบัติในการกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ การกำหนดผลงาน การระบุคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุหรือยี่ห้อพัสดุ และการพิจารณาคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอของหน่วยงานของรัฐกรณีกำหนดสิ่งที่ไม่ใช่สาระสำคัญ
และยังเป็นไปเพื่อการส่งเสริมผู้ประกอบการไทย ทำให้รัฐมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินงานก่อสร้างได้แล้วเสร็จเรียบร้อย ป้องกันการทำนิติกรรมอำพราง โดยใช้ผู้ประกอบการต่างชาติที่ผ่านคุณสมบัติด้านงานโยธา แต่ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินงานก่อสร้างจริง
กรณีจึงต้องรับฟังว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองใช้ดุลพินิจในการกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอตามความเหมาะสมและความจำเป็นแห่งกรณี เพื่อประโยชน์ของรัฐ ไม่มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจงที่จะทำให้เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกีดกันไม่ให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมการคัดเลือกให้เอกชนร่วมลงทุน
และข้อเท็จจริงรับฟังได้ต่อไปว่า ภายหลังจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (รฟม.) มีประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค.2565 แล้ว ผู้ฟ้องคดี (บีทีเอส) มีหนังสือลงวันที่ 17 มิ.ย.2565 ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองพิจารณาขยายระยะเวลาการรับซองเอกสารข้อเสนอออกไปอีก 3 เดือน จากกำหนดเดิมในวันที่ 27 ก.ค.2565
เพื่อที่ผู้ฟ้องคดีจะได้มีระยะเวลาในการเจรจาหาผู้รับจ้างงานโยธา ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างประเทศที่เคยรับงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (รฟม.) และจัดเตรียมข้อเสนอเพื่อเข้าร่วมในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่พิพาทนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีเข้าใจถึงหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอตามประกาศเชิญชวนเป็นอย่างดี โดยสามารถรวมเป็นกลุ่มนิติบุคคลกับนิติบุคคลต่างประเทศที่มีผลงานประสบการณ์งานโยธาตามที่กำหนดในประกาศเชิญชวนที่พิพาทได้
ดังนั้น กรณีจึงต้องรับฟังตามหนังสือของผู้ฟ้องคดีฉบับนี้ได้ว่า การกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอไม่ได้มีผลทำให้มีเอกชนเพียงรายเดียวเท่านั้น ที่จะสามารถยื่นข้อเสนอตามประกาศเชิญชวนและเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่พิพาทตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง
นอกจากนี้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคให้แตกต่างจากประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ ๓ ก.ค.2563 โดยปรับเกณฑ์คะแนนด้านเทคนิคขั้นต่ำให้สูงขึ้น และกำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องได้รับคะแนนด้านเทคนิคในแต่ละหมวดไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 และมีคะแนนรวมทุกหมวดไม่น้อยกว่าร้อยละ 90
รวมถึงการกำหนดสัดส่วนคะแนนของงานเทคนิคงานโยธา งานเทคนิคไฟฟ้า การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการฝึกอบรม เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีโครงสร้างโยธาส่วนใหญ่เป็นอุโมงค์และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่มีความซับซ้อนและต้องใช้เทคนิคด้านวิศวกรรมชั้นสูงในการก่อสร้าง ซึ่งผ่านพื้นที่สำคัญในกรุงเทพมหานครที่ต้องคำนึงถึงข้อกำหนดด้านวิศวกรรม เทคนิค ความปลอดภัยในการก่อสร้างและการให้บริการเดินรถ เพื่อให้ได้ผู้รับจ้างที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ที่จะสามารถดำเนินการตามโครงการให้เกิดผลสำเร็จสูงสุด
หากได้เอกชนผู้ยื่นข้อเสนอที่มีศักยภาพไม่เพียงพอ ย่อมเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (รฟม.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการ ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาให้คะแนนข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค จึงไม่อาจรับฟังว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2565 พิจารณาร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่มีโครงสร้างโยธาส่วนใหญ่เป็นอุโมงค์และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่ต้องใช้เทคนิคด้านวิศวกรรมชั้นสูงในการก่อสร้าง หากใช้เกณฑ์คุณภาพควบคู่กับเกณฑ์ราคา (Price & Performance) ตัดสินผู้ชนะ
การคัดเลือกจากคะแนนรวมข้อเสนอด้านเทคนิคและด้านการเงินควบคู่กัน อาจมีปัญหาการร้องเรียน จึงได้พิจารณาใช้เกณฑ์การคัดเลือกจากผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุด (Price) โดยผู้ที่จะได้รับการพิจารณาผลประโยชน์ทางการเงินจะต้องผ่านเกณฑ์การประเมินด้านเทคนิคขั้นต่ำ ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในเอกสารสำหรับการคัดเลือก มิฉะนั้นจะถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ
และจะไม่พิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค และผู้ยื่นข้อเสนอต้องได้รับคะแนนด้านเทคนิคในแต่ละหมวดไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 และมีคะแนนรวมทุกหมวดไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 หากไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 จะไม่พิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน
เมื่อผู้ยื่นข้อเสนอผ่านเกณฑ์การประเมินข้อเสนอซองที่ 2 จะพิจารณาข้อเสนอที่มีมูลค่าปัจจุบัน (NPV หรือ Net Present Value) ของผลประโยชน์ทางการเงินสูงที่สุดเป็นผู้ชนะการคัดเลือก ส่วนข้อเสนอซองที่ 4 เป็นสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะพิจารณาหรือไม่ก็ได้ โดยจะพิจารณาข้อเสนอจากผู้ชนะการคัดเลือกเท่านั้น
กรณีจึงรับฟังได้ว่า เกณฑ์ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ใช้ในการพิจารณาคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค.2565 และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน เป็นการพิจารณาคัดเลือกจากผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุด ไม่ได้นำผลการพิจารณาของซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคไปเป็นผลรวมคะแนนของผู้ที่จะได้รับการคัดเลือก
แต่พิจารณาเพียงว่า จะต้องได้รับคะแนนด้านเทคนิคผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้แล้วเท่านั้น ผู้ยื่นข้อเสนอที่จะได้รับการคัดเลือกในชองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน จะต้องมีผลประโยชน์ทางการเงินสุทธิสูงที่สุด เกณฑ์การคัดเลือกเอกชนจึงไม่ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ม.ค.2563 ที่อนุมัติหลักการขอบเขตและเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โดยให้พิจารณาจากเอกชนรายที่มีข้อเสนอเป็นประโยชน์ที่สุดแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2...” คำพิพากษาฯระบุ
นอกจากนี้ ศาลฯยังได้วินิจฉัยกรณีที่ว่า ประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค.2565 และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน ได้มีการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนโดยชอบแล้วหรือไม่ นั้น
ศาลฯเห็นว่า ประกาศเชิญชวนฯ ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนกาอนดำเนินการคัดเลือกเอกชนฯถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน และวิธีการที่ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ และประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ และไม่มีเหตุผลที่จะรับฟังได้ว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมายในลักษณะใด
ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดี (บีทีเอส) อ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่เคยนำคุณสมบัติด้านเทคนิคประสบการณ์ และผลงาน ในการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธา การตัดหัวข้อประสบการณ์จัดหาและติดตั้งระบบรถไฟฟ้า แผนดำเนินธุรกิจและแผนการเงิน และหลักเกณฑ์การให้คะแนนในข้อเสนอซองที่ 2 ตามประกาศเชิญชวนฉบับที่พิพาท เสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและแตกต่างจากรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว นั้น
ศาลฯเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) ได้จัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ เสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัด คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ และคณะรัฐมนตรี ตามลำดับ เพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการที่ปรากฏตามเอกสารท้ายคำฟ้องได้ระบุถึงความเหมาะสมทางเทคนิค เช่น โครงการทางวิ่งใต้ดิน ลักษณะทางธรณีวิทยาและวิศวกรรมปฐพีในเขตแนวเส้นทาง
วิธีการก่อสร้างโครงสร้างใต้ดิน อุโมงค์ทางวิ่งรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน งานระบบราง ระบบรถไฟฟ้า ถือได้ว่ามีรายละเอียดด้านความเหมาะสมทางเทคนิค ที่เป็นหลักการในการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เรื่อง รายละเอียดที่ต้องมีในผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการของหน่วยงานเจ้าของโครงการ พ.ศ.2557 โดยไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเสนอหลักเกณฑ์การให้คะแนนในข้อเสนอซองที่ 2 ข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีรับฟังไม่ได้
สำหรับกรณีที่ผู้ฟ้องคดี (บีทีเอส) อ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (รฟม.) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อยู่ในบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นลำดับที่ 2 จำนวน 1,256,259,584 หุ้น คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 8.22 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และบริษัทดังกล่าวได้ยื่นข้อเสนอตามประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 3 ก.ค.2563
และเป็นผู้ซื้อซองข้อเสนอในการประมูลตามประกาศเชิญชวนครั้งที่พิพาทนี้ด้วย ซึ่งจะทำให้บริษัทนี้ได้รับประโยชน์เป็นพิเศษ และส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ที่อาจจะเป็นการกระทำความผิด ตามมาตรา 11 และมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 นั้น
ศาลฯเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (รฟม.) เข้าถือหุ้นใน บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นไปตามสิทธิในสัญญาโครงการระบบรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางชื่อ) และได้ดำเนินการตามมาตรา 75 (9) แห่ง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 31 พ.ค.2548
ประกอบกับการถือหุ้นยังเป็นไปเพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีส่วนร่วมกำกับดูแลและกำหนดนโยบายในการดำเนินกิจการโครงการระบบรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกปลอดภัยยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ มาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 บัญญัติห้ามเฉพาะแต่บุคคลที่เป็นกรรมการในผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในระหว่างดำรงตำแหน่งถือหุ้นในเอกชนที่ได้รับคัดเลือกเกินกว่าอัตราร้อยละศูนย์จุดห้าของทุนที่ชำระแล้ว ซึ่งการถือหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (รฟม.) ไม่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบของคณะกรรมการผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน
และกรณีไม่อาจคาดหมายได้ว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จะเป็นผู้ชนะการประมูลเช่นเดียวกับกรณีการประมูลคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมประมูลด้วย แต่ผลการประมูลปรากฏว่า กลุ่มกิจการร่วมค้าของผู้ฟ้องคดี (บีทีเอส) เป็นผู้ชนะการประมูลทั้งสองโครงการ
และเมื่อได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอและเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว กรณีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำการโดยทุจริตมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันเสนอราคาอย่างเป็นธรรม ซึ่งจะเป็นความผิดตามมาตรา 11 และมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2562
“เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า ประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค.2565 และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน ที่ออกโดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ไม่มีลักษณะประการใดที่จะทำให้เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว กรณีจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี
สำหรับกรณีที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้เพิกถอนมติที่เกี่ยวข้องกับการออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค.2565 และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน
เมื่อประเด็นที่พิพาทในคดีนี้เป็นการวินิจฉัยว่า ประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค.2565 และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งประกาศเชิญชวนที่พิพาทเป็นการประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณสมบัติของผู้มีสิทธิยื่นข้อเสนอเพื่อคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ โดยมิได้มุ่งหมายให้ใช้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจง
แต่ประสงค์ให้ใช้สำหรับการเชิญชวนเข้าร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เฉพาะครั้งที่พิพาทในคดีนี้ ประกาศเชิญชวนจึงมีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครองทั่วไป เข้าลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
มติของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองที่เกี่ยวข้องกับการออกประกาศ หรือมติของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในการประชุมแต่ละครั้งเพื่อพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ คุณสมบัติ ในการคัดเลือกเอกชน เห็นชอบร่างประกาศเชิญชวนและร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน จึงเป็นเพียงขั้นตอนการเตรียมการและดำเนินการภายในของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองทั่วไป
คือ ประกาศเชิญชวนฉบับที่พิพาทในคดีนี้ ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีที่จะเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากมติของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองที่เกี่ยวข้องเพื่อออกประกาศเชิญชวนที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 พิพากษายกฟ้อง” คำพิพากษาศาลปกครองกลางคดีหมายเลขดำที่ 1646/2565 คดีหมายเลขแดงที่ 1353/2566 ลงวันที่ 25 ก.ค.2566 ระบุ
อ่านประกอบ :
มีผลเท่ากับยกเลิกมติครม.! เปิดความเห็นแย้ง ตุลาการ‘เสียงข้างน้อย’ คดีล้มประมูล‘สายสีส้ม’
ศาลปค.สูงสุด’พิพากษากลับ‘ยกฟ้อง’ คดี BTSC ฟ้อง‘รฟม.’ล้มประมูลรถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’ไม่ชอบ
‘ศาลปค.สูงสุด’นัดตัดสิน คดี BTSC ฟ้อง‘รฟม.’ล้มประมูลรถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’ไม่ชอบ 30 มี.ค.นี้
‘สภาผู้บริโภค’ แนะทางออก 2 รถไฟฟ้า ‘สายสีส้มประมูลใหม่’ - ‘สายสีเขียวไม่ต่อสัมปทาน’
ครม.ตีกลับ ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ 1.4 แสนล้าน โยนครม.ชุดใหม่พิจารณา
เปิดชื่อ 20 ตุลาการฯ'เสียงข้างน้อย' เห็นแย้งคดีแก้TORสายสีส้มฯ ชี้'รฟม.'ใช้อำนาจโดยพลการ
มีอำนาจ-ใช้ดุลพินิจโดยชอบ!‘ศาลปค.สูงสุด’ยกฟ้องคดี‘บอร์ดคัดเลือกฯ-รฟม.’แก้ TOR สายสีส้มฯ
‘ศักดิ์สยาม’ สอน ‘ชูวิทย์’ รถไฟฟ้าสายสีส้ม อย่าพูดลอยๆ ต้องมีหลักฐานชัดๆ
‘ชูวิทย์’ แฉสายสีส้มมีพิรุธ ‘เงินทอน-กระบวนการยุติธรรม’ รฟม.โต้โปร่งใสทุกขั้นตอน
'รฟม.'รอศาลปค.สูงสุดชี้ขาด 3 คดีก่อนชง'ครม.'เคาะสายสีส้ม-โต้'ก้าวไกล'ยันประมูลชอบด้วยกม.
ส่อผิดกม.ฮั้ว! ฝ่ายค้านฯยื่น‘ป.ป.ช.’ไต่สวน‘บิ๊กตู่-ศักดิ์สยาม’กรณีประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ