‘ศาลปกครองสูงสุด’ พิพากษากลับ ให้ ‘ยกฟ้อง’ คดี ‘บีทีเอส’ ฟ้อง ‘บอร์ดคัดเลือกฯ-รฟม.’ ยกเลิกการประมูลรถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ ไม่ชอบ ชี้มิได้ยกเลิกโดยอำเภอใจ-กระทำสุจริตไม่เลือกปฏิบัติ
เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ศาลปกครองสูงสุดได้อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.1455/2565 ซึ่งเป็นคดีที่ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTSC (ผู้ฟ้องคดี) ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2)
ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย กรณียกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ณ วันที่ 3 ก.ค.2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าวลงวันที่ 3 ก.พ.2564
ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ได้ยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 นั้น มิได้เป็นไปโดยอำเภอใจ และการกระทำดังกล่าวไม่เป็นการเอื้อต่อเอกชนรายใดเป็นการเฉพาะ
อีกทั้งการยกเลิกก็เป็นไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ระหว่างรัฐและเอกชน ตามมาตรา 6 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 จึงถือเป็นการกระทำโดยสุจริตไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ และเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุดจึงไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น และพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
“กรณีจึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนและยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวโดยอำเภอใจหรือไม่ ดังนี้
ประการที่หนึ่ง การพิจารณาและวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้อาศัยข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฎว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองต้องการดำเนินการคัดเลือกเอกชนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เนื่องจากหากการดำเนินการของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในส่วนตะวันตกนี้ล่าช้าออกไป
นอกจากมีผลกระทบต่อผลตอบแทนด้านการเงินของโครงการส่วนตะวันตกแล้ว ยังจะมีผลทำให้การเปิดบริการส่วนตะวันออกต้องล่าช้าออกไปอีกด้วย อันจะทำให้มีค่าใช้จ่าย Care of Work ของงานโยธาส่วนตะวันออกตลอดเวลาจนกว่าโครงการรถฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในส่วนตะวันตกจะดำเนินการแล้วเสร็จ และเมื่อมีการคาดการณ์ว่า เมื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เปิดให้บริการทั้งเส้นทางจะมีผู้โดยสารประมาณ 439,736 คน/เที่ยว/วัน
ดังนั้น การเปิดให้บริการล่าช้าจะเป็นเหตุให้สิทธิและประโยชน์ของผู้รับบริการจากโครงการตามจำนวนดังกล่าวสูญเสียไป ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฎตามผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการ
กรณีจึงถือได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ใช้ข้อเท็จจริงที่เป็นฐานในการยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนและยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว เป็นไปตามรายละเอียดข้อเท็จจริงของโครงการดังกล่าวแล้ว กรณีจึงถือว่าการพิจารณาและวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้อาศัยข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแล้ว
ประการที่สอง การพิจารณาวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่เป็นไปตามหลักการวินิจฉัยทั่วไปที่ยอมรับกันหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฎว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้อธิบายระยะเวลาความล่าช้าของการคัดเลือก ประกอบกับคดีนี้มีการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลปกครองหลายสำนวนคดี และคดีดังกล่าวนั้นยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล โดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่าไม่อาจจะทราบระยะเวลาการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลได้อย่างชัดเจน
จึงต้องการลดความเสี่ยงโดยการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนที่มีปัญหานั้น ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างเรื่องผลกระทบเกี่ยวกับระยะเวลาการคัดเลือกที่ล่าช้าออกไป
อีกทั้งเมื่อไม่ปรากฏว่าพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองหยุดการดำเนินการคัดเลือกเอกชนเอาไว้จนกว่าศาลปกครองจะมีคำพิพากษาแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงย่อมมีดุลพินิจที่จะดำเนินการคัดเลือกต่อไปได้ โดยไม่จำต้องรอให้ศาลปกครองวินิจฉัยเป็นประการใดก่อน
ดังนั้น กรณีการพิจารณาวินิจฉัยยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนและยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงต้องถือว่าเป็นการพิจารณาวินิจฉัยตามหลักการวินิจฉัยทั่วไปที่ยอมรับกันได้
ประการที่สาม การพิจารณาวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองขัดต่อหลักความเสมอภาคหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฎว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนและยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว โดยยังไม่ได้ดำเนินการพิจารณาข้อเสนอของเอกชนรายใดก่อน
กรณีจึงไม่อาจจะถือได้ว่าการยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนและยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้ยื่นข้อเสนอรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะ ดังนั้น การพิจารณาวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงไม่ขัดต่อหลักความเสมอภาคแต่อย่างใด
และประการสุดท้าย การพิจารณาวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกหรือปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยหรือไม่
เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่า ความล่าช้าของการคัดเลือกเอกชน อันเนื่องมาจากมีการฟ้องร้องคดีต่อศาล ซึ่งก็ปรากฎมีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองเช่นว่านั้นจริง อันไม่ปรากฏว่าเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ไม่อาจจะแยกแยะระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายออกจากเหตุผลและความรู้สึกส่วนตัวได้
และแสดงออกให้เห็นได้ถึงการกระทำที่ปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่จนมีผลทำให้เหตุผล และความรู้สึกส่วนตัวมีอิทธิพลต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ดังนั้น การพิจารณาวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงมิได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกหรือปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยแต่อย่างใด
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว จึงมิได้เป็นไปโดยอำเภอใจ
หากแต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้พิจารณาวินิจฉัยยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯดังกล่าว โดยเป็นไปเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ และเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในข้อนี้จึงฟังขึ้น
และเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีอำนาจในการยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนและยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว และได้ใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนและยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย...
การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563
และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว และเพิกถอนประกาศของผู้ถูกพีองคดีที่ 2 เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติ และตั้งแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีประกาศดังกล่าว นั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ยกฟ้อง” คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.1455/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.254/2566 ลงวันที่ 28 มี.ค.2566 ระบุ
สำหรับคดีนี้ ผู้ฟ้องคดี (BTSC) ฟ้องว่า การที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ให้ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์- มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ได้ออกประกาศ เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ณ วันที่ 3 ก.ค.2563และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าวลงวันที่ 3 ก.พ.2564 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เนื่องจากเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม กีดกันทางการค้า ขัดต่อแนวทางปฏิบัติในการคัดเลือกเอกชนในโครงการร่วมทุนอื่นๆ และอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ของเอกชนบางราย เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ซื้อและยื่นเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย จึงนำ คดีมาฟ้องต่อศาล
ต่อมาศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามการประชุม ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 3 ก.ค.2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว
และเพิกถอนประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว ลงวันที่ 3 ก.พ.2564 ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติ และตั้งแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ี 2 มีประกาศดังกล่าว
เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติให้ยกเลิกการคัดเลือก และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ออกประกาศให้ยกเลิกประกาศเชิญชวน โดยพิจารณาแต่เพียงความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีความเสียหายใดๆ จากการยกเลิกการคัดเลือกดังกล่าว ทั้งที่อาจเปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีหรือผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นได้แสดงความคิดเห็น เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในเรื่องที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองประสงค์จะออกคำสั่ง มาเพื่อแก้ไขปัญหาว่าจะช่วยลดหรือแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งในการดำเนินโครงการได้จริงหรือไม่
หรือรอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้แก้ไขเพิ่มเติมไว้เป็นการชั่วคราว หรือคำสั่งเป็นอย่างอื่นเสียก่อน หรือรอคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ก่อน ซึ่งการดำเนินการตามวิธิการดังกล่าวอยู่ในวิสัยที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองสามารถที่จะกระทำได้ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นของเอกชนที่จะร่วมลงทุน ในความโปร่งใสและตรวจสอบได้ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของความเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างรัฐและเอกชน
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติให้ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ออกประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุน โดยมิได้พิจารณาที่จะดำเนินการดังกล่าว อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าในการมีมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และในการออกประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ี 2 มิได้คำนึงถึงความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการจัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุน รวมถึงกระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวข้อง
และความเชื่อมั่นของเอกชนที่จะร่วมลงทุนในความโปร่งใส และตรวจสอบได้ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดังกล่าว ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของความเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างรัฐและเอกชน ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ที่มุ่งประสงค์ให้การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการของรัฐ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และปราศจากการมีส่วนได้เสียในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน อันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในการได้รับการบริการของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ
จึงฟังไม่ได้ว่ามติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ออกมาโดยมีเหตุสมควรและมีความจำ เป็นเพื่อให้การบังคับใช้ตามมติและประกาศดังกล่าวบรรลุซึ่งประโยชน์สาธารณะตามเป้าประสงค์และตามเจตนารมณ์ที่ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 บัญญัติไว้อย่างครบถ้วน อันถือว่าเป็นมติและประกาศที่ออกโดยใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษากลับเป็นให้ยกฟ้องในคดีดังกล่าว
อ่านประกอบ :
‘ศาลปค.สูงสุด’นัดตัดสิน คดี BTSC ฟ้อง‘รฟม.’ล้มประมูลรถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’ไม่ชอบ 30 มี.ค.นี้
‘สภาผู้บริโภค’ แนะทางออก 2 รถไฟฟ้า ‘สายสีส้มประมูลใหม่’ - ‘สายสีเขียวไม่ต่อสัมปทาน’
ครม.ตีกลับ ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ 1.4 แสนล้าน โยนครม.ชุดใหม่พิจารณา
เปิดชื่อ 20 ตุลาการฯ'เสียงข้างน้อย' เห็นแย้งคดีแก้TORสายสีส้มฯ ชี้'รฟม.'ใช้อำนาจโดยพลการ
มีอำนาจ-ใช้ดุลพินิจโดยชอบ!‘ศาลปค.สูงสุด’ยกฟ้องคดี‘บอร์ดคัดเลือกฯ-รฟม.’แก้ TOR สายสีส้มฯ
‘ศักดิ์สยาม’ สอน ‘ชูวิทย์’ รถไฟฟ้าสายสีส้ม อย่าพูดลอยๆ ต้องมีหลักฐานชัดๆ
‘ชูวิทย์’ แฉสายสีส้มมีพิรุธ ‘เงินทอน-กระบวนการยุติธรรม’ รฟม.โต้โปร่งใสทุกขั้นตอน
'รฟม.'รอศาลปค.สูงสุดชี้ขาด 3 คดีก่อนชง'ครม.'เคาะสายสีส้ม-โต้'ก้าวไกล'ยันประมูลชอบด้วยกม.
ส่อผิดกม.ฮั้ว! ฝ่ายค้านฯยื่น‘ป.ป.ช.’ไต่สวน‘บิ๊กตู่-ศักดิ์สยาม’กรณีประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ