‘ผู้ว่าฯรฟม.’ แจงประมูลรถไฟฟ้า 'สายสีส้มฯ' ชอบด้วยกฎหมาย หลัง ‘ส.ส.ก้าวไกล’ อภิปรายทั่วไปฯกล่าวหาการประมูลไม่ชอบ เผยล่าสุด ‘อัยการ’ ตรวจร่างสัญญาเสร็จแล้ว แต่รอ ‘ศาลปกครองสูงสุด’ ชี้ขาด 3 คดี ก่อนชง ‘รมว.คมนาคม-ครม.’ อนุมัติ
......................................
เมื่อวันที่ 16 ก.พ. นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงกรณีที่นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
โดยระบุว่า กรณีที่มีการอภิปรายว่า การปรับปรุงเกณฑ์การประเมินข้อเสนอฯ ในการคัดเลือกเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ครั้งที่ 1 ไม่ชอบนั้น ขอชี้แจงว่า ในการดำเนินการของ รฟม. ดังกล่าว บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ได้ฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563
อย่างไรก็ดี ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ 300/2564 พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีในข้อหาที่ BTSC ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนฯ ที่แก้ไขเพิ่มเติมและการเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1
ขณะเดียวกัน ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 192/2565 พิพากษายกฟ้อง ในข้อหาที่ BTSC ฟ้องว่าการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ฯ เป็นการละเมิด เรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 500,000 บาท ปัจจุบันข้อหานี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากคู่ความได้ยื่นอุทธรณ์
ส่วนประเด็นเรื่องคำวินิจฉัยที่ ส.ส.ก้าวไกล กล่าวอ้างว่า ศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยว่า การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกเป็นการกระทำที่ ‘ไม่ชอบด้วยกฎหมาย’ ปรากฏในคำพิพากษาคดีดังกล่าวศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้อง นั้น
เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2565 ศาลปกครองสูงสุดได้นั่งพิจารณาคดีครั้งแรก โดยตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ดำเนินการแก้ไขเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินดังกล่าวไม่จำต้องรับฟังความเห็นของเอกชนใหม่ และไม่ทำให้ BTSC ได้รับความเสียหาย ไม่เป็นการละเมิดต่อ BTSC แต่อย่างใด ซึ่งปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างรอศาลปกครองสูงสุดพิพากษา
นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนประเด็นการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งที่ 1 ซึ่ง BTSC ได้ฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 580/2564 นั้น ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (16 ก.พ.) ตุลาการผู้แถลงคดี ศาลปกครองสูงสุด ได้แถลงสรุปว่า การยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งแรก ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว เนื่องจากเหตุผลสรุปได้ ดังนี้
1.คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีอำนาจยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
2.การใช้ดุลพินิจยกเลิกการคัดเลือก เป็นการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นเพื่อให้โครงการสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ตามกรอบระยะเวลา อันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชนในการจัดทำบริการสาธารณะแล้ว
ดังนั้น เมื่อการยกเลิกการคัดเลือกชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ตุลาการผู้แถลงคดีจึงเห็นควรพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น โดยเห็นควรให้ยกฟ้อง อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างรอศาลปกครองสูงสุดพิพากษา
สำหรับประเด็นการกีดกัน BTSC ไม่ให้เข้าร่วมการประมูลการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 2 นั้น ประเด็นนี้ BTSC ได้ฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1646/2565
ต่อมาศาลปกครองกลางมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ลงวันที่ 8 ส.ค.2565 โดยยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับลงวันที่ 24 พ.ค.2565 ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ตามที่ BTSC ร้องขอ โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการ ศาลปกครองกลาง พิจารณาแล้วมีความเห็นโดยสรุปว่า
1.การรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนและประกาศเชิญชวนฯ ได้ดำเนินการตามที่ได้กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการ PPP เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชน พ.ศ.2563
2.ประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวที่ได้กำหนดคุณสมบัติให้มีประสบการณ์ด้านการก่อสร้างงานโยธา ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ตาม มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
3.ประกาศเชิญชวนฯ มีการเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมในการคัดเลือกมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นกว่าประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือน ก.ค.2563
4.ประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิหรือกีดกัน BTSC มิให้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอ จึงรับฟังไม่ได้ว่าประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวเป็นคำสั่งศาลปกครองทั่วไปที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่อาจถือได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถหาผู้รับจ้างงานโยธาเพื่อจัดเตรียมข้อเสนอให้ทันภายในกำหนดเวลาเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรงของบริษัท BTSC ผู้ฟ้องคดี ที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขภายหลังอันเกิดจากประกาศเชิญชวนฯ ที่พิพาท
ประกอบกับหากมีคำสั่งทุเลาการบังคับคดีตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ย่อมจะเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ หรือแก่บริการสาธารณะ ของ รฟม. ซึ่ง BTSC สามารถยื่นข้อเสนอได้เช่นเดียวกับเอกชนรายอื่นๆ
นายภคพงศ์ กล่าวว่า ส่วนประเด็นการพิจารณาคุณสมบัติของ ITD Group นั้น ประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2562 โดยประกาศฯ ดังกล่าว ได้กำหนดว่า เอกชนที่มีลักษณะดังกล่าวไม่มีสิทธิได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาในโครงการร่วมลงทุน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการดำเนินการคณะกรรมการคัดเลือกฯ
จึงมีข้อสรุปว่า เมื่อได้ผู้ผ่านการคัดเลือก แล้วหากพบว่ามีข้อสงสัยในประเด็นตามประกาศฯ ดังกล่าว จะสอบถามไปยังคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ก่อนการประกาศรายชื่อผู้ชนะการคัดเลือกต่อไป ทั้งนี้ เมื่อ ITD Group ไม่ได้เป็นผู้ผ่านการคัดเลือกฯ จึงไม่ต้องดำเนินการใดๆ
ขณะที่ประเด็นส่วนต่างของข้อเสนอ 68,613 ล้านบาท ของข้อเสนอ BTSC รฟม. ขอชี้แจงว่า แม้ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนของ BTSC ตามที่เป็นข่าวนั้น จะมีมูลค่าการให้ผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ค่อนข้างสูง แต่ในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน จะต้องมีการประเมินซองข้อเสนออื่นๆ ด้วย
ไม่ว่าจะเป็นการประเมินซองข้อเสนอด้านคุณสมบัติ และซองข้อเสนอด้านเทคนิค รวมถึงความน่าเชื่อถือของข้อเสนอทางการเงิน เพื่อให้ รฟม. มั่นใจได้ว่าผู้ยื่นข้อเสนอจะสามารถดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่จะเกิดต่อประเทศชาติและประชาชนได้จริง มิใช่การพิจารณาเพียงตัวเลขสรุปผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐเท่านั้น
ดังนั้น แม้บริษัทฯ จะนำข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนในการยื่นข้อเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เมื่อปี 2563 มาแสดง แต่ข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถนำตัวเลขมาเปรียบเทียบผลการยื่นข้อเสนอในการคัดเลือกเอกชนปัจจุบันได้ เนื่องจากไม่ทราบว่าข้อเสนอด้านคุณสมบัติ และข้อเสนอด้านเทคนิคของบริษัทฯ จะผ่านเกณฑ์การพิจารณาหรือไม่ รวมทั้งข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนมีความเป็นไปได้ ถูกต้อง และน่าเชื่อถือเพียงใด จึงไม่อาจชี้ชัดได้ว่าข้อเสนอของ BTSC จะเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐจริง
ทั้งนี้ รายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการได้ดำเนินการโดยใช้สมมุติฐานทางการเงินตาม MRT Assessment Standardization ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับทุกโครงการที่ รฟม. ดำเนินการมา มิได้เป็นการอุปโลกน์ข้อมูลขึ้นมาแต่อย่างใด นอกจากนี้ ในขั้นตอนการเจรจาต่อรองของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีการพิจารณาประเด็นต่างๆ อย่างรอบคอบเพื่อประโยชน์สูงสุด ซึ่งทำให้รัฐได้รับผลประโยชน์เพิ่มเติมขึ้นจากเดิมมูลค่ากว่า 13,000 ล้านบาท
นายภคพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ อท 30/2564 โดยศาลได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า ผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้แก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอ ฉบับเดือน ก.ค.2563 ตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดใน พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน การแก้ไขหลักเกณฑ์เป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐ ไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ยื่นข้อเสนอรายใด
และกรณีที่มีการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือน ก.ค.2563 ไม่มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์หรือกระทำนอกขอบเขตของกฎหมาย ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จึงไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
นายภคพงศ์ กล่าวว่า ในการดำเนินการประกาศเชิญชวนฯและคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เป็นการดำเนินการโดยคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ และ รฟม. ตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดในมาตรา 35 ถึงมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนตามมาตรา 41 เรียบร้อยแล้ว
สำหรับในขั้นตอนต่อไป รฟม. จะรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีที่ BTSC เป็นผู้ฟ้องคดี รวม 3 คดี มาประกอบเรื่องเพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัด และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ต่อไป
อ่านประกอบ :
ส่อผิดกม.ฮั้ว! ฝ่ายค้านฯยื่น‘ป.ป.ช.’ไต่สวน‘บิ๊กตู่-ศักดิ์สยาม’กรณีประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ
‘รฟม.’ โต้ ‘คีรี’ ยันประมูลรถไฟฟ้า ‘สายสีส้มฯ’ โปร่งใส-ย้ำข้อเสนอ BTS ไม่น่าเชื่อถือ
อย่าให้เกินไป! ‘คีรี’จี้‘บิ๊กตู่’ทบทวนประมูล‘สายสีส้มฯ’-ชี้ปัญหาคอร์รัปชันไทยรุนแรงมาก
ปากพูดแต่ไม่ทำจริง! ACT ชี้ภาคการเมืองต้นตอ‘คอร์รัปชัน’-BTS ยกประมูล‘สายสีส้มฯ’สุดแปลก
‘ศักดิ์สยาม’ชี้ ‘สายสีส้ม’ รอศาลตัดสินจบทุกคดี โยน ‘รฟม.’ ตอบรับโอน ‘สายสีเขียว’
ยัน'โปร่งใส-ตรวจสอบได้'! 'รฟม.' แจง 5 ประเด็น ปมคัดค้านผลประมูลรถไฟฟ้า 'สายสีส้มฯ'
‘เวทีสาธารณะฯ’ จี้รัฐบาลตรวจสอบประมูล ‘สายสีส้ม’-ตั้งคำถามปม ‘ส่วนต่าง’ 6.8 หมื่นล้าน
รฟม.โต้ ACT ยันประมูล‘สายสีส้ม’เปิดกว้าง-ชี้ส่วนต่างผลปย.รัฐ 6.8 หมื่นล.ไม่น่าเชื่อถือ
เสนอผลปย.ต่างกัน 6.8 หมื่นล.! ACT ออกแถลงการณ์ ร้อง‘บิ๊กตู่’สอบประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ
BTS ยันข้อเสนอขอรัฐอุดหนุนรถไฟฟ้า 'สายสีส้ม' 9 พันล. ทำได้จริง-ย้ำประมูลส่อไม่สุจริต
‘บอร์ดคัดเลือกฯ’เคาะ BEM ชนะประมูลรถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’-ผู้ว่าฯรฟม.ยกเลิกแถลงข่าวกระทันหัน