‘นักกฎหมาย’ ชี้ ‘นพ.สรณ’ ขาดคุณสมบัติเป็น ‘ประธาน-กรรมการ กสทช.’ ตั้งแต่แรก เหตุไม่ได้ลาออกจากการเป็น ‘พนักงานมหาวิทยาลัย’ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับเลือก เข้าข่ายผิดมาตรา 18 ขณะที่ ‘สภาผู้บริโภค’ โชว์หนังสือ ‘ม.มหิดล’ สรุปการจ่ายค่าตอบแทน ด้าน 'กมธ.ไอซีที' มีมติ ‘หมอสรณ’ ขาดคุณสมบัติ-มีลักษณะต้องห้ามเป็น 'กสทช.'
.......................................
เมื่อวันที่ 31 พ.ค. น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) เปิดเผยในเวทีเสวนา ‘เปิดกฎหมาย : ประธาน กสทช. ขาดคุณสมบัติหรือไม่’ โดยระบุว่า มาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ระบุว่า กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต้องไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น และไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ
ในขณะที่มาตรา 18 ระบุว่า หากบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งเป็น กรรมการ กสทช. มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 (1) (2) หรือ (3) นายกรัฐมนตรี จะนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งได้ ต่อเมื่อผู้นั้นลาออกจากการเป็นบุคคลมาตรา 8 (1) หรือ (2) หรือแสดงหลักฐานให้เป็นที่เชื่อถือได้ว่าตนได้เลิกประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตามมาตรา 8 (3) แล้ว โดยต้องกระทำภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับเลือก แต่ถ้าผู้นั้นมิได้ลาออก หรือมิได้เลิกประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอิสระภายในเวลาที่กำหนดให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยได้รับเลือกให้เป็นกรรมการ กสทช.
น.ส.สารี กล่าวต่อว่า ในการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 12 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2564 ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเลือก กรรมการ กสทช. รวม 5 คน ซึ่งรวมถึง ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ที่ได้รับเลือกเป็นกรรมการ กสทช. (ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค) ด้วย ดังนั้น ศ.คลินิก นพ.สรณ จะต้องแสดงหลักฐานว่า ได้ลาออกจากตำแหน่งตามมาตรา 8 (1) (2) หรือ (3) คือ ต้องลาออกจากการเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งรวมถึงการเป็นลูกจ้างรายชั่วโมง ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับเลือกเป็น กรรมการ กสทช.
ทั้งนี้ แม้ว่าในเวลาต่อมา ศ.คลินิก นพ.สรณ ทำหนังสือแจ้งไปยังประธานวุฒิสภา ว่า ได้ลาออกจากทุกตำแหน่ง ซึ่งรวมถึงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ (ตำแหน่งบริหาร-รองคณบดีฝ่ายสวัสดิการและกิจการพิเศษ) ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2565 แล้ว และต่อมาได้มีการออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง ศ.คลินิก นพ.สรณ เป็นประธาน กสทช. เมื่อวันที่ 13 เม.ย.2565 นั้น
แต่ปรากฏว่า เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีหนังสือด่วนที่สุด (ลับ) ของมหาวิทยาลัยมหิดล แจ้งไปยังคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา ว่า ในช่วงวันที่ 20 ธ.ค.2564-12 เม.ย.2565 ศ.คลินิก นพ.สรณ มีสถานะเป็น “พนักงานมหาวิทยาลัย” ทำหน้าที่ตรวจและรักษาคนไข้ ผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2565-12 เม.ย.2565 ศ.คลินิก นพ.สรณ มีสถานะเป็น “แพทย์ค่าตอบแทนรายชั่วโมง” และได้รับค่าตอบแทนจากมหาวิทยาลัยมหิดลด้วย
ดังนั้น จึงมีคำถามว่า ศ.คลินิก นพ.สรณ ยังคงเป็นลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 8 (2) หรือไม่ และหาก ศ.คลินิก นพ.สรณ มีสถานะเป็นลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐแล้ว โดยที่ไม่ได้ลาออกจากการเป็นลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับเลือก จะต้องถือว่า ศ.คลินิก นพ.สรณ ไม่เคยได้รับเลือกให้เป็น กรรมการ กสทช. มาตั้งแต่แรก ตามบทบัญญัติมาตรา 18 หรือไม่
รายงานข่าวแจ้งว่า ในเวทีเสวนาฯดังกล่าว สภาองค์กรของผู้บริโภค ยังได้นำเอกสารสรุปรายได้จากการตรวจรักษาผู้ป่วยโรงพยาบาลรามาธิบดี ของ ศ.คลินิก นพ.สรณ ในช่วงตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.2564-12 เม.ย.2565 และช่วงตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย.2565 จนถึงปัจจุบัน มาแสดงด้วย (อ่านเอกสารประกอบ)
ด้าน ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตามมาตรา 8 (2) ระบุว่า กรรมการ กสทช. ต้องไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ และต้องแสดงหลักฐานว่าได้ลาออก ซึ่งต้องกระทำภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับเลือก หรือภายในวันที่ 4 ม.ค.2565 ตามมาตรา 18 แต่จากหลักฐานที่ ศ.คลินิก นพ.สรณ แจ้งว่า ได้ลาออกจากทุกตำแหน่งแล้ว ลงวันที่ 8 ม.ค.2565 นั้น แต่ก็ไม่ทราบว่า ศ.คลินิก นพ.สรณ ลาออกตำแหน่งต่างๆ ก่อนวันที่ 4 ม.ค.2565 หรือไม่ เพราะหนังสือไม่ได้บอกไว้
“ที่กฎหมายให้ลาออกภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับเลือกนั้น ถ้านับรวมวันหยุดช่วงปีใหม่ด้วย ก็ไปถึงวันที่ 8 ม.ค.2565 ได้ แต่ถ้าเฉพาะแค่ 15 วัน ก็จะอยู่ในวันที่ 4 ม.ค.2565 ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นข้อกฎหมายว่า ถ้าเขียนแบบนี้สุดท้ายแล้วใครมีอำนาจตีความในเรื่อง 15 วัน ยกตัวอย่าง เช่น บอกว่าวาระ 4 ปี ผมก็บอกว่าวาระของผม ก็ไม่ครบ 4 ปีนะ เพราะต้องหักวันหยุดออกอย่างนั้นหรือ และถ้านับอย่างนี้ สว.ชุดนี้ ก็ยังไม่หมดวาระ เพราะต้องหักวันหยุดออก แล้วต่อกันไปเป็นปีเลย แต่เอาล่ะ อันนี้เป็นเรื่องรอง
แต่เรื่องใหญ่กว่า คือ ถ้าดูเอกสารชี้แจงของมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ตอบไม่ชัดเจน มีความคลุมเครืออยู่หลายประเด็น คือ บอกว่า ในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.2564-12 เม.ย.2565 ศ.คลินิก นพ.สรณ มีสถานะเป็น “พนักงานมหาวิทยาลัย” และตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.2564-12 เม.ย.2565 ศ.คลินิก นพ.สรณ มีสถานะเป็น “แพทย์ค่าตอบแทนรายชั่วโมง”
ความประหลาด คือ แทนที่จะบอกว่า วันที่ 20 ธ.ค.2564-7 ม.ค.2565 เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย และวันที่ 8 ม.ค.2565-12 เม.ย.2565 เป็นแพทย์ค่าตอบแทนรายชั่วโมง แต่ความเป็นพนักงานฯ กลับเลยไปถึงวันที่ 12 เม.ย.2565 จึงเหมือนกันว่า สิทธิของพนักงานมหาวิทยาลัยไปถึง 12 เม.ย.2565 แต่ในการรับค่าตอบแทนนั้น เป็นการรับค่าตอบแทนรายชั่วโมง ตั้งแต่ 8 ม.ค.2565
อย่างไรก็ดี ถ้าดูตามจดหมายนี้ จนถึง 12 เม.ย.2565 ศ.คลินิก นพ.สรณ ยังเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยอยู่ และถ้าเป็นแบบนี้แล้ว ก็จะเข้ามาตรา 8 (2) คือ เป็นทั้งพนักงานและเป็นลูกจ้างด้วย ซึ่งจะต้องลาออกทุกอย่าง ไม่มีสถานะตามมาตรา 8 ภายใน 15 วัน และต่อให้นับวันหยุดเข้าไปด้วย ถึงวันที่ 12 เม.ย.2565 มันก็เลยแล้ว” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวต่อว่า ส่วนคำว่า ‘ลูกจ้าง’ นั้น มีบรรทัดฐานของศาลรัฐธรรมนูญ คือ หากยังจำคดีของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ นายสมัคร ทำรายการทำกับข้าวออกทีวี ไม่มีสัญญาจ้างแรงงาน ไม่ได้ค่าตอบแทนรายชั่วโมง ไม่มีค่าไปออกทีวี มีเพียงค่ารถ ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 กำหนดว่า ลูกจ้าง คือ ผู้ที่ทำงานโดยได้ค่าตอบแทน ไม่ว่าจะเรียกค่าตอบแทนว่าอะไร ดังนั้น ค่ารถแท็กซี่ จึงนับเป็นค่าจ้าง นายสมัคร จึงต้องพ้นตำแหน่งนายกฯ ดังนั้น ค่าตอบแทนรายชั่วโมงจึงยิ่งหนักไปอีก เพราะชัดเจนว่าเป็นค่าตอบแทน
“ความเป็นลูกจ้างไม่ได้เกี่ยวว่า จะเป็นสัญญาประเภทไหน ถ้าเทียบกับคดีของนายสมัคร นายสมัครได้ค่ารถ ยังนับเป็นค่าจ้าง แล้วนี่เป็น ‘ค่าตอบแทนฯ’ ก็ยิ่งชัดเข้าไปใหญ่ และประเด็นอยู่ตรงที่ว่า มาตรา 18 บอกว่า เท่ากับไม่เป็นกรรมการ กสทช. มาตั้งแต่แรกแล้ว ก็แปลว่า สถานะของ ศ.คลินิก นพ.สรณ ไม่ได้เป็นมาตั้งแต่แรก และเมื่อทูลเกล้าฯขึ้นไปแล้ว ประเด็นทางกฎหมายก็อยู่ตรงนี้ ว่า เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นประธานกรรมการ กสทช. แล้ว ความเป็นกรรมการฯ ของ ศ.คลินิก นพ.สรณ จะถือว่าสมบูรณ์ขึ้นมาจากการโปรดเกล้าฯหรือไม่
แต่ในข้อกฎหมายเขาก็เถียงกันอีกว่า ไม่เป็นไร ตอนทูลเกล้าฯไป อาจมีความบกพร่อง แต่ตอนโปรดเกล้าฯแล้ว หรือขณะโปรดเกล้าฯ ไม่มีตำแหน่งทั้งลูกจ้างและพนักงานแล้ว ซึ่งตรงนี้มีข้อเทียบเคียงอีก คือ ในตอนที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ (พ.ร.บ.ป.ป.ช.) ผ่านวาระ 1 แบบองค์ประชุมไม่ครบ มีการโปรดเกล้าฯประกาศใช้เป็นกฎหมาย ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ เป็นกฎหมายเรียบร้อยทุกอย่าง แต่ก็มีคนไม่ร้องศาลรัฐธรรมนูญ ว่า พ.ร.บ.ฯ ตรงนี้ เมื่อรวมผู้ออกเสียงทุกคน ทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และงดออกเสียง มีแค่ 100 คน
แต่องค์ประชุมจะต้องมีอย่างน้อยกึ่งหนึ่ง ซึ่ง สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ตอนนั้นมี 249 คน จะต้องได้ 125 การที่องค์ประชุมตอบรับหลักการ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีผลให้วาระที่ 2 และ 3 ไม่ชอบไปด้วย กฎหมายก็สิ้นสภาพไป ถือว่าไม่เป็นกฎหมายมาตั้งแต่แรก ถ้าเทียบเคียงกันก็แบบเดียวกัน คือ แม้ว่าตอนหลังจะมีโปรดเกล้าฯ ประกาศชื่อ ศ.คลินิก นพ.สรณ ในราชกิจจาบุเบกษา แต่เมื่อขั้นตอนทูลเกล้าฯผิดมาตรา 18 ก็ต้องถือว่า ศ.คลินิก นพ.สรณ ไม่ได้เป็นกรรมการ กสทช. มาตั้งแต่แรก” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว
(ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล)
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่หลังวันที่ 12 เม.ย.2565 ศ.คลินิก นพ.สรณ ไม่ได้รับค่าตอบแทนแล้ว นั้น ถ้าดูหนังสือของมหาวิทยาลัยมหิดลก็มีความคลุมเครือ เช่น ที่บอกว่าตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค.2564 จนถึงเดือน เม.ย.2565 ศ.คลินิก นพ.สรณ ได้ค่าตอบแทนในการตรวจรักษาคนไข้ และเดือน พ.ค.2565 จนถึงปัจจุบัน ไม่ปรากฏว่าได้รับค่าตอบแทน
จึงมีคำถาม คือ ถ้ารับค่าตอบแทนถึงวันที่ 12 เม.ย.2565 เหตุใดจึงไม่ระบุมาเลยว่า ได้รับค่าตอบแทนตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค.2564 ถึง 12.เม.ย.2565 แต่กลับไปเขียนว่าถึงเดือน เม.ย.2565 จึงมีช่องว่างว่างระหว่าง 13 เม.ย.-30 เม.ย.2565 ศ.คลินิก นพ.สรณ ได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ และเหตุใดมหาวิทยาลัยมหิดล จึงบอกว่าตั้งแต่เดือน พ.ค.2565 ไม่พบข้อมูลว่า ศ.คลินิก นพ.สรณ ได้รับค่าตอบแทนแล้ว
“มันมีอะไรบางอย่าง ด้วยความเคารพ เรื่องนี้ผมคิดว่าผมคิดว่า ทางมหาวิทยาลัยอาจทำอะไรที่ไม่ชัดเจน จะด้วยเหตุใดก็ตาม แต่เรื่องนี้ต้องทำให้ชัดเจนว่า ถ้าหลังวันที่ 12 เม.ย.2565 ยังมีค่าตอบแทนรายชั่วโมงอยู่ จะไม่ใช่เรื่องการมีคุณสมบัติไม่ถูกต้อง ตอนเลือกมาเท่านั้น แต่ตอนเป็นแล้วก็ต้องพ้นตำแหน่งด้วย เพราะมาตรา 20 บอกว่า ถ้าหากมีการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 8 ก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง คือ เรียกว่าดูแล้ว ถ้าผมเป็นนักกฎหมายดูเรื่องนี้ให้ ศ.คลินิก นพ.สรณ ดูแล้วลำบากมาก เพราะมีจุดที่มีเป็นปัญหาหลายจุด” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานเพิ่มเติมว่า วันนี้ (31 พ.ค.) คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา ที่มีพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้เผยแพร่เอกสารข่าว สรุปผลการประชุมคณะกรรมาธิการฯ เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2567 ว่า ที่ประชุมได้พิจารณารายงานการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นและข้อเสนอแนวทางการดำเนินการกรณีขอความอนุเคราะห์ตรวจสอบคุณสมบัติของ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ตามที่ประธานวุฒิสภามอบหมาย
โดยคณะกรรมาธิการฯ พิจารณาข้อมูลจากผู้ร้องและข้อมูลที่ได้รวบรวมจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับบทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทำให้รับฟังได้ว่า ศ.คลินิก นพ.สรณ ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ซึ่งคณะกรรมาธิการฯจะได้นำกราบเรียนประธานวุฒิสภา เพื่อพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายต่อไป
อ่านประกอบ :
‘กมธ.ไอซีที’จ่อสรุปผลสอบฯลักษณะต้องห้าม‘ปธ.กสทช.’-'สรณ'ยันคุณสมบัติถูกต้องก่อนทูลเกล้าฯ
'ครป.-สภาผู้บริโภค'ออกแถลงการณ์ เรียกร้องเปิด'หลักฐาน'คุณสมบัติต้องห้าม‘ประธานฯกสทช.’
เลขาฯโชว์คำสั่ง‘สรณ’ลาออก‘รพ.รามาฯ’มีผล 8 ม.ค.65 ตอกย้ำ‘ปธ.กสทช.’ไม่มีลักษณะต้องห้าม
เลขาฯยัน‘สรณ’ไม่มีลักษณะต้องห้าม-'ม.มหิดล’แจงเป็น‘พนง.มหาวิทยาลัย’ก่อนเป็น'ปธ.กสทช.'1 วัน
‘วุฒิสภา’มีมติส่งผลศึกษาฯปมสรรหา‘เลขาฯกสทช.’ช้า ให้‘ป.ป.ช.’-สว.เผย‘นพ.สรณ’ส่อพ้นเก้าอี้
'นพ.สรณ' ร้อง ‘ปธ.วุฒิสภา’ ตรวจสอบ ‘กมธ.เทคโนโลยีฯ’ ก้าวก่าย-แทรกแซงหน้าที่ ‘ปธ.กสทช.’
ชง‘วุฒิสภา’ 1 เม.ย.ถกผลศึกษาฯปมแต่งตั้ง‘เลขาธิการ กสทช.’ล่าช้า-เสนอ‘ป.ป.ช.’เปิดไต่สวนฯ
จับตาถกบอร์ด กสทช.เคาะชื่อ‘เลขาธิการฯ’คนใหม่ ส่อวุ่น-พบชงหนังสือ‘ไตรรัตน์’ค้าน 4 กก.โหวต
บรรจุเป็นวาระพิเศษ! ‘ประธาน กสทช.’นัด‘กรรมการ’ถกแต่งตั้ง‘เลขาธิการฯ’คนใหม่ 17 ม.ค.นี้
ไม่ได้ขัดแย้งส่วนตัว! 4 กสทช. แถลงร่วมยก 6 พฤติกรรม‘ปธ.’ทำภารกิจบอร์ดฯติดขัด-งานไม่เดิน
ได้ข้อมูล‘ทรู’ฝ่ายเดียว! ‘บอร์ด กสทช.’ยังไม่สรุปค่าบริการมือถือลด 12% หลังควบ TRUE-DTAC
‘ภูมิศิษฐ์’ร้อง‘ปธ.วุฒิ’ตรวจสอบคุณสมบัติ‘ประธาน กสทช.’-‘โฆษกฯ’ชี้แจงไม่มีลักษณะต้องห้าม
ศาลฯรับไต่สวนมูลฟ้อง คดี‘ไตรรัตน์’ฟ้อง‘4 กสทช.-พวก’ ปมตั้งกก.สอบ-เปลี่ยนตัวรักษาการเลขาฯ
‘สภาผู้บริโภค’จ่อยื่น‘ป.ป.ช.’ ถอดถอน‘กสทช.’ทั้งคณะ ปมเปิดทาง‘ผูกขาด’ในธุรกิจโทรคมนาคม
ถก‘บอร์ด กสทช.’ล่มรอบ4! 'เลขาฯ'แจงเหตุ'ประธาน'ไม่เลื่อนประชุม เพราะมีวาระค้างพิจารณามาก
ข้อสงสัยในเจตนา! 4 กสทช.ออกแถลงการณ์โต้‘ปธ.’นัดประชุมบอร์ด ทั้งที่รู้มี'กรรมการ'ติดภารกิจ
กรรมการ 3 รายติดภารกิจ! 4 กสทช.ทักท้วง‘นพ.สรณ’นัดประชุม‘บอร์ด’โดยไม่ปรึกษาหารือล่วงหน้า
แจ้ง‘กสทช.’ดูข้อกม.อีกครั้ง ก่อนชง‘คกก.ดิจิทัล’เคาะงบ 5.2 พันล.-บอร์ดเลื่อนถกควบ AWN-3BB
‘บอร์ด กสทช.’นัดถกควบรวมเน็ตบ้าน‘AWN-3BB’-ยังไม่พิจารณาวาระแต่งตั้ง‘เลขาธิการฯ’คนใหม่
เลื่อนฟังคำสั่งคดี‘ไตรรัตน์’ฟ้อง‘4 กสทช.’ ปมสอบค่าลิขสิทธิ์บอลโลก-เปลี่ยน‘รษก.เลขาธิการ’
‘ภูมิศิษฐ์’ฟ้อง‘ปธ.กสทช.’ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ฯ ไม่เซ็นตั้ง‘รักษาการเลขาธิการ’ตามมติบอร์ด
อ้างใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ! 'สุรางคณา'ฟ้อง'ศาล ปค.'ขอเพิกถอนคำวินิจฉัยเลือกเลขาธิการ กสทช.
ไม่เคยมี'คลินิก'ทั้งในและตปท.! 'นพ.สรณ'แจงผู้บริหาร‘กสทช.’-บอกยินดีให้คำปรึกษา'โรคหัวใจ'
ส่อไม่ชอบด้วยกม.-เอื้อบางคน! เปิดบันทึก 4 กสทช.ค้าน‘นพ.สรณ’บรรจุวาระแต่งตั้ง‘เลขาธิการฯ’
ละเลยหน้าที่! ‘4 กสทช.’ฟ้อง‘นพ.สรณ’ ปมไม่เซ็นแต่งตั้ง‘ภูมิศิษฐ์’นั่งรักษาการเลขาธิการฯ