‘ครป.-สภาผู้บริโภค’ ออกแถลงการณ์เรียกร้อง ‘สำนักงาน กสทช.’ เรียกหลักฐาน-เปิดเผย ‘คุณสมบัติต้องห้าม’ ของ ‘ประธาน กสทช.’ หลัง 'ม.มหิดล' ระบุมีสถานะเป็น 'ลูกจ้างรายชั่วโมง' พร้อมเข้ายื่นหนังสือถึง ‘กมธ.ไอซีที’ วุฒิสภา เผยรายงานตรวจสอบคุณสมบัติ ‘นพ.สรณ’ 28 พ.ค.นี้
...........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ค. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการเรียกหลักฐานจากมหาวิทยาลัยมหิดล
ที่แสดงถึงสถานะการเป็น “ลูกจ้างรายชั่วโมง” ที่ได้รับผลตอบแทนของ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ก่อนและหลังการได้รับการสรรหาเป็นกรรมการ กสทช. ซึ่งเป็นคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 8 (2) ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีดำเนินการเพื่อยุติหน้าที่ของนพ.สรณ หยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการและประธานกรรมการ กสทช. โดยทันที
ทั้งนี้ มาตรา 8 (2) ของ พ.ร.บ. กสทช. มีข้อบัญญัติกำหนดไว้ว่า กรรมการต้อง “ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ ...” ซึ่งการลาออกจากตำแหน่งหน้าที่หรืออาชีพนั้น ควรกระทำก่อนการลงชื่อเป็นผู้สมัครในการสรรหา และแสดงหลักฐานต่อประธานวุฒิสภาตามวันที่ประธานวุฒิสภาประกาศ คือ ภายในวันที่ 10 มกราคม 2565
แม้ นพ.สรณได้ประกาศลาออกจากหน้าที่รองอธิการบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันที่ 7 มกราคม 2565 แต่ในเอกสารของมหาวิทยาลัยมหิดลเลขที่ อว. 78/ล ที่ส่งไปยังคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา ตามคำขอจากกรรมาธิการ ปรากฏในสื่อสาธารณะเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ชี้ชัดว่า ในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2564 จนถึงวันที่ 12 เมษายน 2565
นพ.สรณ ยังมีสถานะเป็น “พนักงานมหาวิทยาลัย” ทำหน้าที่ตรวจและรักษาคนไข้ ผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และนอกจากนั้น นพ.สรณก็มีสถานะเป็น "แพทย์ค่าตอบแทนรายชั่วโมง" ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2565 จนถึงวันที่ 12 เมษายน 2565 และแม้ นพ.สรณ ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรองอธิการบดี แล้วก็ตาม แต่ นพ.สรณ ยังคงปฏิบัติงานในฐานะ “ลูกจ้างรายชั่วโมง” ที่ได้รับรายได้จากมหาวิทยาลัยมหิดล (อ้างอิง ข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดลว่าด้วยการบริหารบุคคลลูกจ้างเงินรายได้ พ.ศ. 2561)
ดังนั้น นพ.สรณ จึงมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 (2) ซึ่งหากพบหลักฐานแล้ว สามารถดำเนินการตามมาตรา 18 ที่กำหนดว่า “ผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาให้เป็นกรรมการซึ่งยังมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 (1) (2) หรือ (3) อยู่ ต้องแสดงหลักฐานว่าได้ลาออกหรือเลิกประกอบอาชีพหรือวิชาชีพดังกล่าวแล้วนั้นต่อประธานวุฒิสภาภายในเวลาที่ประธานวุฒิสภากำหนด ซึ่งต้องเป็นเวลาก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ในกรณีที่ไม่ได้แสดงหลักฐานภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้นั้นสละสิทธิและให้ดำเนินการสรรหาใหม่ โดยผู้ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาในครั้งนี้จะเข้ารับการสรรหาในครั้งใหม่ไม่ได้ และให้นำความในมาตรา 16 วรรคห้าเพื่อเสนอวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ”
ทั้งนี้ การดำเนินการเพื่อยุติหน้าที่จากการมีคุณสมบัติต้องห้ามของกรรมการ กสทช. สามารถกระทำได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านการมีมติของวุฒิสภา ซึ่งสำนักงาน กสทช. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการทำงานของคณะกรรมการ กสทช. จึงควรทำหนังสือขอหลักฐานจากมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อดำเนินการอย่างเร่งด่วน หากสำนักงาน กสทช. ดำเนินการอย่างล้าช้าจะมีผลเสียหายต่อสำนักงาน กสทช. คณะกรรมการ กสทช. และกิจการภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการชุดนี้
อนึ่ง ครป. และสภาผู้บริโภค ขอเรียกร้องผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดลเปิดเผยหลักฐานทุกชิ้นในการเป็น “ลูกจ้างรายชั่วโมง” ของ นพ.สรณ ทั้งก่อนและหลังการดำรงตำแหน่งกรรมการ กสทช. จนถึงสถานะในปัจจุบันที่เป็นไปตามกฎและระเบียบของมหาวิทยาลัย โดยไม่ปิดบังเพื่อให้สาธารณะชนได้รับทราบอย่างเปิดเผยโปร่งใส ในฐานะสถาบันการศึกษาหลักแห่งชาติที่ได้รับความเชื่อถือระดับภูมิภาคและระดับโลก
“ประชาชนชาวไทย ครป. และสภาผู้บริโภคมีความคาดหวังด้านจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งใดๆ ที่ได้มาจากการเลือกตั้ง การสรรหา การแต่งตั้งที่มีคุณค่าทางสังคม มากไปกว่าข้อกำหนดทางกฎหมาย จึงเรียกร้องให้ นพ.สรณ แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการลาออกจากตำแหน่งกรรมการ กสทช. และประธาน กสทช. โดยทันที ซึ่งการกระทำเช่นนี้จะเป็นความสง่างามของผู้บริหารองค์กรสาธารณะ
เป็นการสร้างบรรทัดฐานผู้ดำรงตำแหน่งจากการสรรหาในองค์กรอิสระ และเป็นการกระทำที่ได้รับความยกย่องระดับสากล” แถลงการณ์ร่วมของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย และสภาองค์กรของผู้บริโภค ลงวันที่ 27 พ.ค.2567 ระบุ
รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันพรุ่งนี้ (28 พ.ค.) ครป. และสภาองค์กรของผู้บริโภค เตรียมเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา เพื่อขอให้เปิดเผยรายงานการตรวจสอบคุณสมบัติ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ในฐานะประธาน กสทช.
ก่อนหน้านี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด (ลับ) ชี้แจงคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ กรณีร้องเรียนกล่าวหา ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่า ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งประธาน กสทช. หรือไม่
โดยหนังสือฯดังกล่าว ระบุว่า ในช่วงตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.2564 ถึงวันที่ 12 เม.ย.2565 ศ.คลินิก นพ.สรณ มีสถานะเป็น “พนักงานมหาวิทยาลัย” ทำหน้าที่ตรวจและรักษาคนไข้ ผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และต่อมาตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2565 ถึงวันที่ 12 เม.ย.2565 มีสถานะเป็น “แพทย์ค่าตอบแทนรายชั่วโมง” หรือเพียง 1 วัน ก่อนที่ ศ.คลินิก นพ.สรณ จะได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นประธาน กสทช. ในวันที่ 13 เม.ย.2565
ต่อมา พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการประจำประธาน กสทช. (ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ว่า หลังจาก ศ.คลินิก นพ.สรณ ได้รับเลือกจากที่ประชุมวุฒิสภาให้เป็นกรรมการ กสทช. แล้ว ศ.คลินิก นพ.สรณ ก็ได้ยื่นหนังสือลาออกจากโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งต่อมาในวันที่ 6 ม.ค.2565 ทางโรงพยาบาลฯได้มีคำสั่งอนุมัติให้ ศ.คลินิก นพ.สรณ ลาออกจากตำแหน่ง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2565 เป็นต้นไป
“มีหนังสือจากโรงพยาบาลรามาฯลงวันที่ 6 ม.ค.2565 อนุมัติให้ ศ.คลินิก นพ.สรณ ลาออก โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2565 และมีการส่งหลักฐานดังกล่าว รวมทั้งหลักฐานว่าได้ลาออกจากทุกตำแหน่งแล้ว ไปถึงประธานวุฒิสภาแล้วตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2565 ซึ่งตรงนี้เรามีหลักฐานแน่นอน ชัดเจน” พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าว
สำหรับการอนุมัติให้ ศ.คลินิก นพ.สรณ ลาออกจากตำแหน่งในโรงพยาบาลรามาธิบดีนั้น เป็นไปตามคำสั่งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ ล.บค. 26ว/2565 เรื่อง อนุญาตให้พนักงานมหาวิทยาลัยลาออกจากงาน โดยให้ ศ.คลินิก นพ.สรณ ลาออกจากตำแหน่ง รองศาสตรจารย์ (ตำแหน่งบริหาร-รองคณบดีฝ่ายสวัสดิการและกิจการพิเศษ) ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2565 เป็นต้นไป พร้อมทั้งระบุในหมายเหตุด้วยว่า ‘ประกอบอาชีพอื่น’ (อ่านเอกสารประกอบ)
วันเดียวกัน (27 พ.ค.) ได้มีการประชุมคณะกรรมการ กสทช. ครั้งที่ 11/2567 ซึ่งเป็นการประชุมต่อเนื่องจากการประชุมฯเมื่อวันที่ 23 พ.ค.2567 โดยหนึ่งในวาระสำคัญที่จะมีการเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา คือ หนังสือคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ ซึ่งยื่นโดยบริษัททรู ดิจิทัล กรุ๊ปและบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งระเบียบวาระดังกล่าวเป็นการประชุมแบบจำกัดจำนวนผู้เข้าฟัง (ลับ)
อ่านประกอบ :
เลขาฯโชว์คำสั่ง‘สรณ’ลาออก‘รพ.รามาฯ’มีผล 8 ม.ค.65 ตอกย้ำ‘ปธ.กสทช.’ไม่มีลักษณะต้องห้าม
เลขาฯยัน‘สรณ’ไม่มีลักษณะต้องห้าม-'ม.มหิดล’แจงเป็น‘พนง.มหาวิทยาลัย’ก่อนเป็น'ปธ.กสทช.'1 วัน
‘วุฒิสภา’มีมติส่งผลศึกษาฯปมสรรหา‘เลขาฯกสทช.’ช้า ให้‘ป.ป.ช.’-สว.เผย‘นพ.สรณ’ส่อพ้นเก้าอี้
'นพ.สรณ' ร้อง ‘ปธ.วุฒิสภา’ ตรวจสอบ ‘กมธ.เทคโนโลยีฯ’ ก้าวก่าย-แทรกแซงหน้าที่ ‘ปธ.กสทช.’
ชง‘วุฒิสภา’ 1 เม.ย.ถกผลศึกษาฯปมแต่งตั้ง‘เลขาธิการ กสทช.’ล่าช้า-เสนอ‘ป.ป.ช.’เปิดไต่สวนฯ
จับตาถกบอร์ด กสทช.เคาะชื่อ‘เลขาธิการฯ’คนใหม่ ส่อวุ่น-พบชงหนังสือ‘ไตรรัตน์’ค้าน 4 กก.โหวต
บรรจุเป็นวาระพิเศษ! ‘ประธาน กสทช.’นัด‘กรรมการ’ถกแต่งตั้ง‘เลขาธิการฯ’คนใหม่ 17 ม.ค.นี้
ไม่ได้ขัดแย้งส่วนตัว! 4 กสทช. แถลงร่วมยก 6 พฤติกรรม‘ปธ.’ทำภารกิจบอร์ดฯติดขัด-งานไม่เดิน
ได้ข้อมูล‘ทรู’ฝ่ายเดียว! ‘บอร์ด กสทช.’ยังไม่สรุปค่าบริการมือถือลด 12% หลังควบ TRUE-DTAC
‘ภูมิศิษฐ์’ร้อง‘ปธ.วุฒิ’ตรวจสอบคุณสมบัติ‘ประธาน กสทช.’-‘โฆษกฯ’ชี้แจงไม่มีลักษณะต้องห้าม
ศาลฯรับไต่สวนมูลฟ้อง คดี‘ไตรรัตน์’ฟ้อง‘4 กสทช.-พวก’ ปมตั้งกก.สอบ-เปลี่ยนตัวรักษาการเลขาฯ
‘สภาผู้บริโภค’จ่อยื่น‘ป.ป.ช.’ ถอดถอน‘กสทช.’ทั้งคณะ ปมเปิดทาง‘ผูกขาด’ในธุรกิจโทรคมนาคม
ถก‘บอร์ด กสทช.’ล่มรอบ4! 'เลขาฯ'แจงเหตุ'ประธาน'ไม่เลื่อนประชุม เพราะมีวาระค้างพิจารณามาก
ข้อสงสัยในเจตนา! 4 กสทช.ออกแถลงการณ์โต้‘ปธ.’นัดประชุมบอร์ด ทั้งที่รู้มี'กรรมการ'ติดภารกิจ
กรรมการ 3 รายติดภารกิจ! 4 กสทช.ทักท้วง‘นพ.สรณ’นัดประชุม‘บอร์ด’โดยไม่ปรึกษาหารือล่วงหน้า
แจ้ง‘กสทช.’ดูข้อกม.อีกครั้ง ก่อนชง‘คกก.ดิจิทัล’เคาะงบ 5.2 พันล.-บอร์ดเลื่อนถกควบ AWN-3BB
‘บอร์ด กสทช.’นัดถกควบรวมเน็ตบ้าน‘AWN-3BB’-ยังไม่พิจารณาวาระแต่งตั้ง‘เลขาธิการฯ’คนใหม่
เลื่อนฟังคำสั่งคดี‘ไตรรัตน์’ฟ้อง‘4 กสทช.’ ปมสอบค่าลิขสิทธิ์บอลโลก-เปลี่ยน‘รษก.เลขาธิการ’
‘ภูมิศิษฐ์’ฟ้อง‘ปธ.กสทช.’ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ฯ ไม่เซ็นตั้ง‘รักษาการเลขาธิการ’ตามมติบอร์ด
อ้างใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ! 'สุรางคณา'ฟ้อง'ศาล ปค.'ขอเพิกถอนคำวินิจฉัยเลือกเลขาธิการ กสทช.
ไม่เคยมี'คลินิก'ทั้งในและตปท.! 'นพ.สรณ'แจงผู้บริหาร‘กสทช.’-บอกยินดีให้คำปรึกษา'โรคหัวใจ'
ส่อไม่ชอบด้วยกม.-เอื้อบางคน! เปิดบันทึก 4 กสทช.ค้าน‘นพ.สรณ’บรรจุวาระแต่งตั้ง‘เลขาธิการฯ’
ละเลยหน้าที่! ‘4 กสทช.’ฟ้อง‘นพ.สรณ’ ปมไม่เซ็นแต่งตั้ง‘ภูมิศิษฐ์’นั่งรักษาการเลขาธิการฯ