เปิดหนังสือ ‘ม.มหิดล’ แจง ‘กมธ.ไอซีที’ วุฒิสภา เผย ‘นพ.สรณ’ มีสถานะเป็น ‘พนักงานมหาวิทยาลัย’ ถึงวันที่ 12 เม.ย.64 ก่อนได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็น ‘ประธาน กสทช.’ เพียง 1 วัน ขณะที่ ‘เลขาฯประจำประธาน กสทช.’ ยืนยัน ‘ประธาน กสทช.’ ไม่มีลักษณะต้องห้าม พร้อมระบุต้องมีการวินิจฉัย ‘สถานะ’ ของ ‘นพ.สรณ’ ให้ชัดเจนก่อน
........................................
สืบเนื่องจากกรณีที่ นายภูมิสิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ สทช. 2300/33940 ลงวันที่ 28 ก.ย.2566 ถึงประธานวุฒิสภา ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ว่า ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 7 (12) มาตรา 8 มาตรา 18 และมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือไม่
ทั้งนี้ เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่า ศ.คลินิก นพ.สรณ ซึ่งได้รับคัดเลือกจากวุฒิสภาให้เป็นกรรมการ กสทช. เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2564 นั้น ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการธนาคารกรุงเทพ (BBL) เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2565 อันอาจเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 18 ที่บัญญัติว่า ผู้ที่ได้รับคัดเลือกจากวุฒิสภาให้เป็นกรรมการ กสทช. จะต้องลาออกจากตำแหน่งอื่นภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันได้รับคัดเลือก หากไม่ลาออกภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยได้รับเลือกให้เป็น กสทช.
อีกทั้งยังปรากฎข้อเท็จจริงในข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 11 มิ.ย.2566 ซึ่ง ศ.คลินิก นพ.สรณ ให้สัมภาษณ์ไว้มีใจความสำคัญระบุว่า “ยังรักษาคนไข้อยู่หรือไม่ ซึ่ง นพ. สรณ บอกว่า ไม่ได้จับมีดผ่าตัดโรคหัวใจมา 9 เดือนแล้ว ส่วนการตรวจคนไข้ ก็จะใช้เวลาหยุดราชการ เสาร์ อาทิตย์ แต่ไม่รับคนไข้ใหม่ เป็นการให้คำปรึกษารักษาคนไข้เก่าที่รักษากันมา 20-30 ปี เท่านั้น” นั้น อาจมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 (1) (2) หรือ (3) หรือไม่
และหาก ศ.คลินิก นพ.สรณ มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 8 (1) (2) หรือ (3) โดยยังคงดำรงตำแหน่งต้องห้ามตามมาตรา 8 (1) (2) หรือ (3) แล้ว แต่ไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันได้รับคัดเลือกจากวุฒิสภาเป็นกรรมการ กสทช. แล้ว จะถือว่าศ.คลินิก นพ.สรณ ไม่เคยได้รับเลือกให้เป็นกรรมการ กสทช. หรือไม่ (อ่านประกอบ : ‘ภูมิศิษฐ์’ร้อง‘ปธ.วุฒิ’ตรวจสอบคุณสมบัติ‘ประธาน กสทช.’-‘โฆษกฯ’ชี้แจงไม่มีลักษณะต้องห้าม)
ขณะที่ในเวลาต่อมา คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา ที่มี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้มีการประชุมครั้งที่ 42/2566 เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2566 มีมติรับเรื่องร้องเรียนของนายภูมิสิษฐ์ ไว้พิจารณา พร้อมมอบหมายคณะอนุกรรมาธิการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และการโทรคมนาคม ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริง รวบรวมข้อมูลเบื้องต้น นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำหนังสือด่วนที่สุด (ลับ) เรื่อง ชี้แจงข้อมูลพร้อมจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง หลังจากก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศฯ ได้แจ้งให้มหาวิทยาลัยมหิดลชี้แจงข้อเท็จจริงพร้อมส่งเอกสารให้คณะกรรมาธิการการฯ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณา กรณีร้องเรียนกล่าวหา ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. โดยหนังสือดังกล่าวมีเนื้อหา ว่า
“ตามหนังสืออ้างถึง 1 ,2 คณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา แจ้งให้มหาวิทยาลัยมหิดลชี้แจงข้อเท็จจริงพร้อมจัดส่งเอกสารให้กับคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา เพื่อใช้ประกอบการพิจารณา กรณีร้องเรียนกล่าวหาศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ นั้น
มหาวิทยาลัยมหิดลขอเรียนว่า
1) ข้อมูลเกี่ยวกับการทำหน้าที่ตรวจและรักษาคนไข้ของศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์
1.1 ช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2564 จนถึงวันที่ 12 เมษายน 2565 ศาสตราจารย์ คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ มีสถานะเป็น “พนักงานมหาวิทยาลัย” ทำหน้าที่ตรวจและรักษาคนไข้ ผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ต่อมาตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2565 จนถึงวันที่ 12 เมษายน 2565 มีสถานะเป็น "แพทย์ค่าตอบแทนรายชั่วโมง"
1.2 ช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 13 มกราคม 2566 ศาสตราจารย์ คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ไม่พบสถานะการเป็นบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
1.3 ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2566 ถึงปัจจุบัน ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง “อาจารย์แพทย์จิตอาสา” ทำหน้าที่ตรวจและรักษาผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน
2) ข้อมูลแสดงหลักฐานการจ่ายค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่แพทย์ของศาสตราจารย์ คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์
2.1 ช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2564 จนถึงเดือนเมษายน 2565 ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ได้รับค่าตอบแทนในการทำหน้าที่ตรวจและรักษาคนไข้ผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ตามระยะเวลาการปฏิบัติงานในข้อ 1.1
2.2 ในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 ถึงปัจจุบัน ไม่พบข้อมูลการได้รับค่าตอบแทนจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องจากศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สุรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ปฏิบัติหน้าที่ตรวจและรักษาผู้ป่วย ในตำแหน่ง “อาจารย์แพทย์จิตอาสา”
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ปรากฏในเอกสารสรุปข้อมูลรายได้ค่าตอบแทนประจำเดือนพฤศจิกายน 2565 จำนวน 72 บาท นั้น เป็นค่าตอบแทนจากการตรวจและรักษาผู้ป่วยของเดือนธันวาคม 2563 เนื่องจากผู้ป่วยได้ดำเนินการชำระค่ารักษาพยาบาลล่าช้า จึงทำให้ปรากฎรายการรับค่าตอบแทนดังกล่าว จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ”
รายงานข่าวแจ้งว่า ศ.คลินิก นพ.สรณ ได้รับคัดเลือกจากวุฒิสภาให้เป็นกรรมการ กสทช. ในวันที่ 20 ธ.ค.2564 และต่อมาวันที่ 14 เม.ย.2565 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการ กสทช. รวม 5 ตำแหน่ง ซึ่งมี ศ.คลินิก นพ.สรณ เป็นประธาน กสทช. โดยระบุว่า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง ประธานและกรรมการ กสทช. ตามที่เสนอทุกราย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย.2565
ในขณะที่หนังสือชี้แจงของมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.2564 จนถึงวันที่ 12 เม.ย.2565 ศ.คลินิก นพ.สรณ มีสถานะเป็น “พนักงานมหาวิทยาลัย” ทำหน้าที่ตรวจและรักษาคนไข้ ผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี หรือเพียง 1 วัน ก่อนที่ ศ.คลินิก นพ.สรณ จะได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธาน กสทช.
@เปิดข้อกฎหมายกำหนดคุณสมบัติ‘กรรมการ กสทช.’
ทั้งนี้ ตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติว่า “กรรมการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้…(12) เป็นหรือเคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ผู้บริหาร ที่ปรึกษา พนักงาน ผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลอื่นใดบรรดาที่ประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคม ในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนได้รับการคัดเลือกตามมาตรา 15”
ส่วนมาตรา 8 บัญญัติว่า “กรรมการต้อง
(1) ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
(2) ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่นและไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ
(3) ไม่ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอิสระอื่นใดที่มีส่วนได้เสียหรือมีผลประโยชน์ขัดแย้งไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งกรรมการ
ในขณะที่มาตรา 18 บัญญัติว่า "ในกรณีที่บุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 17 มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 (1) (2) หรือ (3) นายกรัฐมนตรีจะนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งได้ต่อเมื่อผู้นั้นได้ลาออกจากการเป็นบุคคลตามมาตรา 8 (1) หรือ (2) หรือแสดงหลักฐานให้เป็นที่เชื่อถือได้ว่าตนได้เลิกประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตามมาตรา 8 (3) แล้ว ซึ่งต้องกระทำภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเลือก แต่ถ้าผู้นั้นมิได้ลาออก หรือมิได้เลิกประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอิสระภายในเวลาที่กำหนดให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยได้รับเลือกให้เป็นกรรมการ และให้คณะกรรมการสรรหาคัดเลือกบุคคลจากรายชื่อผู้เข้ารับการคัดเลือกตามมาตรา 16 เพื่อเสนอวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ”
@เลขาฯชี้ต้องมีการวินิจฉัย-ตีความสถานะ‘นพ.สรณ’ก่อน
ด้าน พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการประจำประธาน กสทช. (ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) โดยยืนยันว่า แม้ว่า ศ.คลินิก นพ.สรณ จะเคยดำรงตำแหน่งกรรมการธนาคารกรุงเทพ แต่ก็ไม่ได้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7 (12) เพราะธนาคารกรุงเทพ ไม่ได้เป็นผู้ประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคม แต่อย่างใด
“ถ้าเปิดดูกฎหมาย การเป็นกรรมการบริษัทฯที่มีลักษณะต้องห้ามนั้น บริษัทนั้นๆจะต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตหรือเป็นผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคมฯ ซึ่งธนาคารกรุงเทพไม่ใช่ จะมองมุมไหนก็ไม่ใช่ และจริงๆแล้ว ท่าน (ศ.คลินิก นพ.สรณ) ไม่เคยไปรับตำแหน่ง หรือไปร่วมประชุมอะไรเลย และหลังจากที่ท่านทราบเรื่อง ก็บอกให้ทางโน่นเปลี่ยน ดังนั้น ในประเด็นนี้ จึงไม่ได้มีผลอะไรเลย และเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องทางการเมืองที่พูดกันไป” พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าว
ส่วนกรณีที่มหาวิทยาลัยมหิดลทำหนังสือชี้แจงว่า คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศฯ วุฒิสภา ว่า ศ.คลินิก นพ.สรณ มีสถานะเป็น “พนักงานมหาวิทยาลัย” ทำหน้าที่ตรวจและรักษาคนไข้ ผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.2564 ถึงวันที่ 12 เม.ย.2565 นั้น พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าวว่า ตนยังไม่ได้เห็นหนังสือดังกล่าว และคงต้องไปตีความกันว่าสถานะของ ศ.คลินิก นพ.สรณ คืออะไร
“ปกติแล้ว แพทย์หรือศูนย์แพทย์พัฒนาที่มีอาจารย์หมอที่เป็นการทำงานนอกเวลา ผมคิดว่าไม่น่าจะใช้คำว่าพนักงานมหาวิทยาลัย…และถ้าเป็นอย่างนี้ ก็ต้องไปดูว่า ที่มหาวิทยาลัยมหิดลระบุว่า ท่าน (ศ.คลินิก นพ.สรณ) มีสถานะเป็น ‘พนักงานมหาวิทยาลัย’ นั้น จะมีลักษณะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐหรือไม่นั้น ก็ต้องไปดูด้วยว่าใครหรือหน่วยงานไหนจะเป็นผู้วินิจฉัย เพราะกฎหมายไม่ได้เขียนไว้
อย่างองค์กรอิสระก็ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ กสทช. ไม่เขียนไว้ ผมเองก็ไม่ทราบเหมือนว่าจะไปช่องทางไหน ส่วนคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศฯ เอง ก็ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะวินิจฉัยในเรื่องนี้ และถ้าจะวินิจฉัย ก็ไม่ใช่อำนาจของคณะนี้ด้วย เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวบุคลากร แล้วก็ยังไม่รู้ด้วยว่า เมื่อคณะกรรมาธิการฯได้ข้อสรุปออกมาแล้ว เขาจะส่งเรื่องต่อไปให้หน่วยงานไหนวินิจฉัย และใครจะมีอำนาจวินิจฉัย” พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าว
พ.ต.อ.ประเวศน์ ระบุด้วยว่า จนถึงขณะนี้ ศ.คลินิก นพ.สรณ ยังไม่ได้รับแจ้งผลสรุปของคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศฯ วุฒิสภา ว่า ออกมาเป็นอย่างไร พร้อมทั้งย้ำว่า “เรื่องนี้ต้องมีคนชี้ แล้วใครเป็นคนชี้ และเมื่อชี้เสร็จแล้วใครจะเป็นคนถอดถอน หรือตัดสินตรงนี้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นศาลฯไหน เพราะกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ แล้วจะเปิดโอกาสให้ชี้แจงตรงไหนอย่างไร มันก็ต้องมีกระบวนการ”
อ่านประกอบ :
‘วุฒิสภา’มีมติส่งผลศึกษาฯปมสรรหา‘เลขาฯกสทช.’ช้า ให้‘ป.ป.ช.’-สว.เผย‘นพ.สรณ’ส่อพ้นเก้าอี้
'นพ.สรณ' ร้อง ‘ปธ.วุฒิสภา’ ตรวจสอบ ‘กมธ.เทคโนโลยีฯ’ ก้าวก่าย-แทรกแซงหน้าที่ ‘ปธ.กสทช.’
ชง‘วุฒิสภา’ 1 เม.ย.ถกผลศึกษาฯปมแต่งตั้ง‘เลขาธิการ กสทช.’ล่าช้า-เสนอ‘ป.ป.ช.’เปิดไต่สวนฯ
จับตาถกบอร์ด กสทช.เคาะชื่อ‘เลขาธิการฯ’คนใหม่ ส่อวุ่น-พบชงหนังสือ‘ไตรรัตน์’ค้าน 4 กก.โหวต
บรรจุเป็นวาระพิเศษ! ‘ประธาน กสทช.’นัด‘กรรมการ’ถกแต่งตั้ง‘เลขาธิการฯ’คนใหม่ 17 ม.ค.นี้
ไม่ได้ขัดแย้งส่วนตัว! 4 กสทช. แถลงร่วมยก 6 พฤติกรรม‘ปธ.’ทำภารกิจบอร์ดฯติดขัด-งานไม่เดิน
ได้ข้อมูล‘ทรู’ฝ่ายเดียว! ‘บอร์ด กสทช.’ยังไม่สรุปค่าบริการมือถือลด 12% หลังควบ TRUE-DTAC
‘ภูมิศิษฐ์’ร้อง‘ปธ.วุฒิ’ตรวจสอบคุณสมบัติ‘ประธาน กสทช.’-‘โฆษกฯ’ชี้แจงไม่มีลักษณะต้องห้าม
ศาลฯรับไต่สวนมูลฟ้อง คดี‘ไตรรัตน์’ฟ้อง‘4 กสทช.-พวก’ ปมตั้งกก.สอบ-เปลี่ยนตัวรักษาการเลขาฯ
‘สภาผู้บริโภค’จ่อยื่น‘ป.ป.ช.’ ถอดถอน‘กสทช.’ทั้งคณะ ปมเปิดทาง‘ผูกขาด’ในธุรกิจโทรคมนาคม
ถก‘บอร์ด กสทช.’ล่มรอบ4! 'เลขาฯ'แจงเหตุ'ประธาน'ไม่เลื่อนประชุม เพราะมีวาระค้างพิจารณามาก
ข้อสงสัยในเจตนา! 4 กสทช.ออกแถลงการณ์โต้‘ปธ.’นัดประชุมบอร์ด ทั้งที่รู้มี'กรรมการ'ติดภารกิจ
ห้ามขึ้นราคา-ลดคุณภาพ! มติ 4:1 กสทช.อนุญาตรวมธุรกิจเน็ตบ้าน AIS-3BB กำหนด 22 มาตรการเฉพาะ
อาจจ่ายแพงขึ้น 9.5-22.9%! ‘สภาผู้บริโภค’ค้าน ‘กสทช.’ ไฟเขียวรวมธุรกิจเน็ตบ้าน AWN-3BB
องค์ประชุมไม่ครบ! ถกบอร์ด‘กสทช.’ล่มรอบ3-‘สรณ’พร้อมรับ‘แรงกระแทก’ปมควบรวมเน็ตบ้าน AWN-3BB
กรรมการ 3 รายติดภารกิจ! 4 กสทช.ทักท้วง‘นพ.สรณ’นัดประชุม‘บอร์ด’โดยไม่ปรึกษาหารือล่วงหน้า
แจ้ง‘กสทช.’ดูข้อกม.อีกครั้ง ก่อนชง‘คกก.ดิจิทัล’เคาะงบ 5.2 พันล.-บอร์ดเลื่อนถกควบ AWN-3BB
‘บอร์ด กสทช.’นัดถกควบรวมเน็ตบ้าน‘AWN-3BB’-ยังไม่พิจารณาวาระแต่งตั้ง‘เลขาธิการฯ’คนใหม่
เลื่อนฟังคำสั่งคดี‘ไตรรัตน์’ฟ้อง‘4 กสทช.’ ปมสอบค่าลิขสิทธิ์บอลโลก-เปลี่ยน‘รษก.เลขาธิการ’
‘ภูมิศิษฐ์’ฟ้อง‘ปธ.กสทช.’ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ฯ ไม่เซ็นตั้ง‘รักษาการเลขาธิการ’ตามมติบอร์ด
อ้างใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ! 'สุรางคณา'ฟ้อง'ศาล ปค.'ขอเพิกถอนคำวินิจฉัยเลือกเลขาธิการ กสทช.
ไม่เคยมี'คลินิก'ทั้งในและตปท.! 'นพ.สรณ'แจงผู้บริหาร‘กสทช.’-บอกยินดีให้คำปรึกษา'โรคหัวใจ'
ส่อไม่ชอบด้วยกม.-เอื้อบางคน! เปิดบันทึก 4 กสทช.ค้าน‘นพ.สรณ’บรรจุวาระแต่งตั้ง‘เลขาธิการฯ’
ละเลยหน้าที่! ‘4 กสทช.’ฟ้อง‘นพ.สรณ’ ปมไม่เซ็นแต่งตั้ง‘ภูมิศิษฐ์’นั่งรักษาการเลขาธิการฯ