4 กสทช. ออกแถลงการณ์ตอบโต้ ‘ประธาน กสทช.’ นัดประชุมบอร์ด 17 พ.ย.นี้ ทั้งที่ทราบมี ‘กรรมการ’ ติดภารกิจ พร้อมระบุ ‘4 กรรมการฯ’ แจ้งขอเลื่อนวันประชุมแล้ว แต่ไม่รับฟัง
.......................................
เมื่อวันที่ 14 พ.ย. กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 4 ราย ได้แก่ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ,ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต ,รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และรศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ถึง ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. โดยเรียกร้องให้ ประธาน กสทช. กำหนดและจัดการประชุม กสทช. โดยการรับฟังและคำนึงถึงผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. บนหลักความโปร่งใส เป็นธรรม และหลักประโยชน์สาธารณะ
ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวมีเนื้อหาว่า การจัดประชุม กสทช. ที่ผ่านมา มีการตกลงร่วมกันให้จัดประชุมทุกวันพุธของสัปดาห์ ต่อมาประธาน กสทช. ได้แจ้งหลักการกำหนดวันประชุม กสทช. ใหม่ โดยกำหนดให้ กสทช. แต่ละคนแจ้งวันที่สามารถเข้าประชุมร่วมภายในวันศุกร์ของแต่ละสัปดาห์ เพื่อประธาน กสทช. จะได้จัดให้มีการประชุมในวันที่ กสทช. สามารถเข้าร่วมประชุมพร้อมกันได้ แต่ในการประชุมในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ (ซึ่ง กสทช. จะต้องแจ้งวันที่สามารถเข้าร่วมประชุมพร้อมกันได้ภายในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566)
แต่สำนักงาน กสทช. มีบันทึก ด่วนมาก ที่ สทช 2001.1/2778 เรียน กสทช. ทุกคน ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ขอเชิญประชุม กสทช. ครั้งที่ 22/2566 วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ซึ่ง กสทช. 4 คน ได้แก่ กสทช. พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช. ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กสทช. รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ กสทช. รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ได้มีบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด ที่ สทช 1002/210 เรียน ประธาน กสทช. ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 แจ้งว่า กสทช. ทั้งสี่คนไม่อาจเข้าร่วมประชุมได้ เนื่องจากมีภารกิจอื่นของ กสทช. ตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติ
กสทช. ทั้งสี่คน มีความเห็นต่อสิ่งที่ประธาน กสทช. ดำเนินการกำหนดนัดหมายการประชุม กสทช. ดังกล่าวว่า เป็นการดำเนินการโดยไม่คำนึงถึงภารกิจของ กสทช. คนอื่น โดยมีเหตุผลและข้อเสนอดังนี้
1.การที่ประธาน กสทช. กำหนดนัดหมายวันประชุมในวันศุกร์ที่ 17 พ.ย. 2566 โดยที่สำนักงาน กสทช. ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการ ทราบดีอยู่แล้วว่า ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรองฯ ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองหรือผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ เพราะเป็นช่วงเวลาที่อยู่ระหว่างการเดินทางบนเครื่องบินหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจในการเข้าร่วมงานประชุม Horizons 2023 : The Media Distribution and Platform Technology Conference
และเข้าร่วมหารือกับประธาน The Federal Communications Commission (ComCom) ในระหว่างวันที่ 13 – 17 พฤศจิกายน 2566 ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งกำหนดการเดินทางดังกล่าว มีการเสนอขออนุมัติจาก รสทช. รักษาการแทนเลขาฯ ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2566 การที่ประธาน กสทช. กำหนดนัดหมายวันประชุมเป็นวันศุกร์ที่ 17 พ.ย. ทั้งที่ทราบดีอยู่แล้วว่า ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรองฯ ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ ซึ่งตามหลักธรรมาภิบาลแล้ว ประธาน กสทช. ควรกำหนดนัดหมายวันประชุมเป็นวันที่กรรมการทุกคนสามารถเข้าร่วมประชุมได้พร้อมเพรียง โดยไม่กระทบต่อภารกิจของกรรมการ กสทช. คนอื่น
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการประชุม กสทช. ครั้งที่ 22/2566 จะมีวาระสำคัญที่ค้างพิจารณามาแล้วหลายเดือน เช่น วาระเรื่องการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. และวาระเรื่อง (ร่าง) โครงสร้างของสำนักงาน กสทช. เป็นต้น
กรณีดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยถึงเจตนาในการกระทำดังกล่าวว่า ประสงค์ให้เกิดสภาวะที่จำเป็นต้องมีการลงคะแนนเสียงในที่ประชุม โดยให้มีกรรมการคงเหลือจำนวนเพียง 6 คน ซึ่งหากมีการลงคะแนนเสียงและกรรมการมีความเห็นต่างกัน จนเกิดสภาวะที่มีคะแนนเสียงสองฝ่ายเท่ากัน เป็นเหตุให้ประธานที่ประชุมอาจพิจารณาและใช้ดุลยพินิจในการลงคะแนนเสียงชี้ขาดหรือโหวตซ้ำหรือไม่ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC
2.ส่วนงานเลขานุการประธาน กสทช. ได้มีบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด ที่ สทช 1001/84 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 เรียนสอบถาม กสทช. ว่า “เพื่อให้การกำหนดนัดประชุมคราวต่อไปเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีกรรมการเข้าร่วมประชุมครบองค์ประชุมทุกครั้ง จึงขอความกรุณาท่าน กสทช. โปรดแจ้งวันเวลาที่ว่างในแต่ละสัปดาห์ โดยขอให้แจ้งทุกวันศุกร์ว่า ในสัปดาห์ถัดไปมีภารกิจสำคัญที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ในวันใดบ้าง เพื่อประธาน กสทช. จะได้กำหนดวันประชุมให้ตรงตามวันที่ กสทช. ทุกท่านมีวันเวลาที่ว่างตรงกันครบองค์ประชุมเป็นครั้งๆ ไป”
ต่อมา สำนักงาน กสทช. ได้ส่งบันทึกข้อความด่วนที่สุด ที่ สทช 2001/2749 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 เพื่อสอบถามวันเวลาที่ กสทช. ทุกคนสะดวกเข้าร่วมประชุมตามแบบฟอร์มที่แนบมา โดยระบุให้ กสทช. ทุกคนตอบกลับสำนักงาน กสทช. ภายในวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2566 และ กสทช. ทั้งสี่คนได้ส่งบันทึกข้อความตอบกลับถึงสำนักงาน กสทช. ภายในระยะเวลาที่สำนักงาน กสทช. กำหนด รายละเอียดโดยสรุปแจ้งว่า วันที่สะดวกเข้าร่วมประชุม คือ วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน 2566
หากแต่ปรากฏว่า สำนักงาน กสทช. ได้ส่งบันทึกข้อความด่วนมาก ที่ สทช 2001.1/2778 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ถึง กสทช. เพื่อขอเชิญประชุม กสทช. ครั้งที่ 22/2566 ในวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2566 อันเป็นการส่งหนังสือเชิญประชุมก่อนกรอบเวลาที่สำนักงาน กสทช. ได้แจ้งไว้ กรณีดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยในเรื่องของเจตนา
3.แม้ประธาน กสทช. ได้รับทราบแล้วว่า กสทช. ทั้งสี่คนสะดวกเข้าร่วมประชุมในวันพุธที่ 22 พฤศจิกายน 2566 และไม่สะดวกเข้าร่วมประชุมในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 เนื่องจากมีภารกิจในฐานะ กสทช. ซึ่งมีการกำหนดนัดหมายไว้ล่วงหน้า แต่ประธาน กสทช. กลับไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงกำหนดวันประชุมให้เหมาะสมแต่อย่างใด ทั้งที่ ตามหลักธรรมาภิบาลควรกำหนดวันประชุมเป็นวันที่กรรมการ กสทช. สามารถที่จะเข้าประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน หรือหากมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดไม่อาจก้าวล่วงได้ก็ควรเป็นวันที่กรรมการ กสทช. สามารถเข้าประชุมจนครบเป็นองค์ประชุมได้
อนึ่ง ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 กสทช. ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรองฯ ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ เพราะอยู่ระหว่างการเดินทางบนเครื่องบินดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ส่วน กสทช. 3 คน กสทช. พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ฯ กสทช. รศ.ดร.ศุภัชฯ และ กสทช. รศ.สมภพฯ ติดภารกิจร่วมประชุมกับรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อหารือโครงการขับเคลื่อนระบบนิเวศการเรียนรู้ดิจิทัลของโรงเรียนในสังกัด กทม. ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญที่ได้มีการนัดหมายไว้ล่วงหน้าแล้ว
กรณีดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยถึงเจตนาในการกระทำดังกล่าวว่า ประสงค์จะกำหนดนัดหมายการประชุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพื่อให้กรรมการทุกคนสามารถเข้าร่วมประชุมได้โดยพร้อมเพรียงหรือไม่
4.การที่ประธาน กสทช. ได้แจ้งให้กรรมการ กสทช. แจ้งวันเวลาที่ว่างในแต่ละสัปดาห์ โดยขอให้แจ้งทุกวันศุกร์ว่า มีภารกิจสำคัญที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ในวันใดบ้าง เพื่อประธาน กสทช. จะได้กำหนดวันประชุมให้ตรงตามวันที่ กสทช. ทุกคนมีวันเวลาที่ว่างตรงกันครบองค์ประชุมเป็นครั้งๆ ไป นั้น เป็นแนวทางกำหนดวันประชุมที่ขาดความชัดเจน ซึ่งการกำหนดวันประชุมถือเป็นเรื่องที่ต้องการความแน่นอนของเวลา
ดังนั้น การดำเนินการนัดประชุมเป็นครั้งๆไป ไม่เอื้ออำนวยในการปฏิบัติภารกิจของกรรมการ กสทช. ทุกคน ทำให้ไม่สามารถวางแผนการปฏิบัติภารกิจอื่นที่ชัดเจนได้ อีกทั้งยังเป็นอุปสรรค และสร้างภาระงานที่เพิ่มขึ้นต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช. ก่อให้เกิดความล่าช้าของการทำงานต่าง ๆ ของสำนักงาน กสทช. ซึ่งกรรมการ กสทช. ทั้งสี่คน ได้เคยเสนอประธาน กสทช. เป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 ขอให้กำหนดวันประชุมเป็นทุกวันพุธของทุกสัปดาห์
ดังนั้น กรรมการ กสทช. ทั้งสี่คนจึงขอให้ประธาน กสทช. จัดทำปฏิทินการประชุมรายไตรมาส เพื่อเป็นการกำหนดนัดหมายวันประชุมล่วงหน้าตามแนวปฏิบัติที่เคยดำเนินการกันมาก่อน โดยขอให้กำหนดวันประชุมเป็นทุกวันพุธ หรือวันพุธ สัปดาห์เว้นสัปดาห์ เพื่อนำเสนอเข้าที่ประชุม กสทช. พิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นข้อปฏิบัติร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติงานของ กสทช. เป็นไปด้วยความชัดเจน และไม่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ