4 กสทช. แพร่เอกสารแถลงข่าวร่วม ยก 6 พฤติกรรม ‘ประธาน กสทช.’ ต้นเหตุภารกิจ ‘บอร์ด กสทช.’ ติดขัด-งานไม่เดิน ยืนยันการทำหน้าที่ 'เป็นไปตามกม.-ถูกต้อง-คำนึงประโยชน์สาธารณะ' ไม่ใช่เป็นไปตามที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ‘พอใจ’
..........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 4 คน ได้แก่ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต, รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ เผยแพร่เอกสารแถลงข่าวร่วมกรณีสื่อบางแขนงได้รายงานข่าวว่า ภายในคณะกรรมการ กสทช.มีความแตกแยก ส่งผลให้งานไม่เดิน และไม่ปรากฏผลงาน
โดยมีเนื้อหาว่า ตามที่ปรากฏในรายงานข่าวของสื่อบางแขนงว่า ภายในคณะกรรมการ กสทช.มีความแตกแยก ส่งผลให้งานไม่เดิน และไม่ปรากฏผลงาน นั้น กรรมการ กสทช. 4 คน ได้แก่ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต, รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งในเรื่องส่วนตัว
แต่เกิดจากการที่ประธาน กสทช. ไม่ยอมรับรูปแบบการบริหารงานของ กสทช. ที่กฎหมายกำหนดให้เป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ และใช้อำนาจหน้าที่ในรูปแบบของคณะกรรมการ ที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติที่ประชุม กสทช. ซึ่งไม่ใช่อำนาจของประธาน กสทช.หรือ กรรมการ กสทช.เพียงคนใดคนหนึ่งเท่านั้น และขอยกตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้น ดังนี้
1.ประธาน กสทช.พยายามที่จะรวบอำนาจในการบริหารจัดการสำนักงาน กสทช. แต่เพียงผู้เดียว โดยเห็นได้จากกระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. แทนตำแหน่งที่ว่างเว้นเป็นระยะเวลานานเกือบ 4 ปี
โดยพยายามที่จะกล่าวอ้าง และใช้อำนาจเฉพาะตัวประธาน กสทช. แต่เพียงผู้เดียวในการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช.คนใหม่ ซึ่งขัดกับระเบียบของ กสทช.ฯ ที่กำหนดให้ประธานกรรมการ โดยความเห็นชอบของที่ประชุม กสทช. เป็นผู้แต่งตั้ง และถอดถอนเลขาธิการ กสทช. ซึ่งหมายถึง กสทช.ทั้งคณะ ไม่ได้ให้อำนาจประธาน กสทช.แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น
ประกอบกับแนวทางปฏิบัติในการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช.ในทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา ก็ดำเนินการพิจารณาแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ในรูปแบบของคณะกรรมการ กสทช.ทั้งคณะ มาโดยตลอด ไม่ใช่กระทำโดยออกประกาศของประธาน กสทช. หรือใช้อำนาจของประธาน กสทช. แต่เพียงผู้เดียวในการสรรหา ทั้งการออกประกาศประธาน กสทช. รับสมัคร/ดำเนินการคัดเลือกเองทั้งหมด นำมาซึ่งความขัดแย้งในการบริหารงานในรูปแบบองค์กรกลุ่ม/คณะกรรมการ กสทช. ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่ประธาน กสทช. ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมายของ กสทช.อย่างถูกต้อง
2.มูลเหตุอีกประการหนึ่งเกิดจากการที่ประธาน กสทช. ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามมติที่ประชุม กสทช. ทั้งๆ ที่ประธาน กสทช.เอง ก็ได้เข้าร่วมประชุม และลงมติในการประชุมนั้นด้วย เช่น มติ กสทช. ครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2566 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้เปลี่ยนตัวผู้รักษาการเลขาธิการ กสทช. จาก นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ เป็น ผศ.ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ
อันเนื่องจากกรณีเงินสนับสนุนซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก จำนวน 600 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา ซึ่งมี ‘รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย’ ระบุว่า นายไตรรัตน์ฯ รองเลขาธิการ มีการกระทำที่อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศที่เกี่ยวข้อง และมติที่ประชุมของ กสทช.
ภายหลังจากที่ประชุม กสทช. มีมติเสียงส่วนใหญ่ให้เปลี่ยนตัวรักษาการเลขาธิการฯ แล้ว ประธาน กสทช.เอง กลับไม่ยอมลงนามในคำสั่งแต่งตั้งรักษาการเลขาธิการ กสทช.คนใหม่ ตามมติที่ประชุม กสทช. ทั้ง ๆ ที่ตัวประธานเองก็ได้ลงมติเห็นชอบให้เปลี่ยนตัวผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.ดังกล่าวด้วยเช่นกัน
การที่ประธาน กสทช. ปฏิเสธที่จะลงนามในคำสั่งดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการบริหารงานของสำนักงาน กสทช. โดยนายไตรรัตน์ฯ ยังคงปฏิบัติหน้าที่และลงนามในคำสั่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งโยกย้ายพนักงาน กสทช. ในตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง
หรือการที่นายไตรรัตน์ฯ ออกคำสั่งยกเลิกคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยตนเอง กรณีเงินสนับสนุนซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก จำนวน 600 ล้านบาท ที่นายไตรรัตน์ฯ มีความเกี่ยวข้อง ทั้งๆ ที่มติ กสทช. ให้ปรับเปลี่ยนตัวรักษาการเลขาธิการ กสทช. มีผลสมบูรณ์นับแต่มีมติแล้ว
3.ไม่นำวาระปรับปรุงโครงสร้างสำนักงาน กสทช.เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ทั้งๆที่ กสทช. ได้มีมติเห็นชอบในหลักการไปแล้ว แต่กลับมีเจตนาข้ามการพิจารณาวาระนี้ ทำให้เป็นวาระตั้งแต่การประชุม กสทช. ครั้งที่ 14/2566 วันที่ 26 มิ.ย.2566) ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการปรับปรุงโครงสร้าง
ในทางกลับกัน นายไตรรัตน์ ฯ รองเลขาธิการ กลับมีคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารในตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ ทั้งๆ ที่ มติ กสทช. ให้ชะลอการแต่งตั้งไปจนกว่าจะได้เลขาธิการ กสทช. และโครงสร้างใหม่แล้วเสร็จ คำสั่งโยกย้ายพนักงานในตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งของนายไตรรัตน์ฯ เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ เพราะนายไตรรัตน์ฯ ไม่ใช่รักษาการเลขาธิการ กสทช. แล้วตามมติ กสทช.
นอกจากนี้ นายไตรรัตน์ฯ ยังออกหนังสือสั่งการ ไม่ให้พนักงาน สำนักงาน กสทช. สนับสนุนกรรมการ กสทช. คนอื่นๆ โดยต้องรายงานให้ประธาน กสทช. พิจารณาก่อนเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะกสทช. เป็นองค์กรกลุ่มที่ขับเคลื่อนนโยบายในลักษณะองค์คณะและสำนักงาน กสทช. ก็มีหน้าที่สนองนโยบายของกรรมการ กสทช.ทุกคน ไม่ใช่ประธานแต่เพียงผู้เดียว เพียงเพราะประธานกำกับดูแลสำนักงานและให้คุณให้โทษกับเจ้าหน้าที่ได้
4.ไม่ยอมให้กรรมการ กสทช.พิจารณางบประมาณรายจ่ายของสำนักงาน กสทช.ประจำปี 2567 ตามระเบียบ กสทช.ว่าด้วยงบประมาณที่ กสทช. มีมติเห็นชอบปฏิทินงบประมาณที่กำหนดขั้นตอนการดำเนินการไว้ชัดเจนว่า จะต้องเสนอให้ที่ประชุมกรรมการ กสทช. เห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ก่อนที่จะส่งไปยังคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (คณะกรรมการดีอีเอส) แม้ว่ากรรมการ กสทช. 4 คนจะทักท้วงแล้ว แต่ก็ไม่ฟัง
และเมื่อนายไตรรัตน์ฯ รักษาการเลขาธิการ กสทช. ได้กระทำการข้ามขั้นตอนโดยส่งให้คณะกรรมการดีอีเอส พิจารณา ผลปรากฎว่า คณะกรรมการดีอีเอส ไม่รับพิจารณาให้ความเห็น และส่งเรื่องกลับมายังสำนักงาน กสทช.
และด้วยเงื่อนไขของเวลาที่ใกล้จะสิ้นปีงบประมาณ ประธาน กสทช. มีความพยายามจะบีบให้กรรมการ กสทช. อนุมัติงบประมาณฯ ทั้งๆ ที่เป็นการดำเนินการที่ผิดขั้นตอนและไม่ละเอียดรอบคอบเท่าที่ควร โดยไม่ยอมให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงบประมาณที่มีผู้แทนจากกรรมการ กสทช. ทุกคนเข้าร่วม
ทำให้ กรรมการ กสทช. แต่ละคน ต้องใช้เวลาในการกลั่นกรองพิจารณารายละเอียดของโครงการที่มีมูลค่าหลายพันล้านบาทด้วยตนเองทั้งหมดในระยะเวลาที่จำกัด ซึ่งอาจกระทบความละเอียดรอบคอบและการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใสในการอนุมัติงบประมาณ นอกจากนี้ ในการปฏิบัติงานของ กสทช.ทุกชุดที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีการกระทำหรือปฏิบัติเช่นนี้มาก่อน
5.ไม่บรรจุวาระสำคัญเข้าสู่การพิจารณาในการประชุม กสทช. ทำให้ภารกิจต้องหยุดชะงักในหลายเรื่อง ตัวอย่าง เช่น (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ...ซึ่งเป็นการปรับปรุงประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 (ประกาศฯ ปี 2561)
และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... ซึ่งเป็นการปรับปรุงประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ที่ รศ.ดร.ศุภัชฯ ได้มีบันทึก ส่งให้ ประธาน กสทช. พิจารณาเพื่อบรรจุเป็นวาระพิจารณาในการประชุม กสทช. ตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. 2566 แต่จนถึงขณะนี้ (27 ธ.ค.) ประธาน กสทช. ยังไม่ได้ลงนามคำสั่งบรรจุวาระพิจารณา แต่อย่างใด
สำหรับ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง การให้บริการแพร่เสียงแพร่ภาพผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะระบุหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล OTT ประธาน กสทช. ได้มีบันทึกลงวันที่ 25 ต.ค.2566 ไม่บรรจุวาระการขอความเห็นชอบให้นำไปรับฟังความคิดเห็น โดยตั้งคำถามเกี่ยวกับนิยามในร่างประกาศ และขั้นตอนในการประสานงานเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย
ทั้งนี้ ศ.กิตติคุณ พิรงรองฯ ได้ชี้แจงถึงการกำหนดนิยาม และชี้แจงอย่างชัดเจนว่าได้มีการหารือร่วมกับผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) แล้วในทุกขั้นตอน ซึ่งขั้นต่อไปคือการนำร่างประกาศฯ ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ จึงจะเดินหน้าต่อไปได้ ในระหว่างนี้ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มแพร่เสียงแพร่ภาพผ่านอินเทอร์เน็ตจึงต้องไปแจ้งข้อมูลกับ ETDA ไปก่อน
นอกจากนี้ ยังมี (ร่าง) ประกาศอื่นๆ ที่รอการบรรจุวาระเพื่อพิจารณาอีก เช่น (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนการผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (ประกาศฯ ตามมาตรา 52) และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนเกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ.2566 ที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเรียบร้อยแล้ว
รวมถึงการปรับปรุงประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อม และสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชนที่มีคุณภาพด้วย
6.กำหนดนัดวันประชุม กสทช. เอง โดยไม่ปรึกษา กสทช. ทุกคน และแจ้งกำหนดวันประชุมล่วงหน้ากระชั้นชิด รวมถึงการนัดประชุมในวันที่ทราบอยู่แล้วว่ากรรมการบางคนติดภารกิจ
แม้ว่าในข้อบังคับการประชุม กสทช. จะกำหนดว่า ให้ประธาน กสทช. นัดประชุมล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน แต่ที่ผ่านมาในระยะหลายปี เป็นที่รับทราบว่า กสทช.จะมีการประชุมกันทุกวันพุธ และมีตารางนัดหมายล่วงหน้าเป็นเวลานาน (เป็นเดือน) เว้นแต่มีกรณีจำเป็นเร่งด่วน อีกทั้งในการให้เกียรติเพื่อนร่วมงานและเพื่อให้การทำงานร่วมกันเป็นองค์คณะมีความราบรื่น ประธานจะมีการสอบถามความพร้อมของกรรมการก่อนตัดสินใจนัดหมาย
แต่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ประธาน กสทช. กลับไม่ยอมแจ้งกำหนดการประชุมตามธรรมเนียมปกติทั่วไปที่เคยปฏิบัติมา และเมื่อกรรมการ กสทช. ไม่ได้เข้าร่วมประชุม/องค์ประชุมไม่ครบ ก็จะกล่าวอ้างว่าเป็นความผิด/ความขัดแย้งของกรรมการ กสทช. นั้น
ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2566 ประธาน กสทช. มีบันทึกเรื่อง ขอเชิญประชุม กสทช. ในวันพฤหัสบดีที่ 7 ธ.ค.2566 ซึ่งตรงกับวันที่สำนักงาน กสทช. จัดการประชุมนานาชาติ Regulatory Network Meeting 2023 ที่จังหวัดภูเก็ต โดยมีผู้แทนจากองค์กรกำกับดูแลในประเทศต่างๆ จากทั่วโลกเข้าร่วม และมีการเตรียมงานล่วงหน้าเป็นเวลาหลายเดือน
อีกทั้งทราบว่า กรรมการ กสทช. 4 คนจะไปร่วมงาน มีการอนุมัติค่าใช้จ่ายในการเดินทางล่วงหน้า ในขณะที่ประธาน กสทช. เลือกที่จะไม่นัดประชุมในวันพุธที่ 6 ธ.ค.2566 เนื่องจากตนเองและ กสทช.อีก 1 คนติดภารกิจ
อนึ่ง การเลือกนัดประชุมในวันที่มีกรรมการ กสทช. บางคนติดภารกิจ นับว่ามีความอ่อนไหวต่อการลงมติในวาระสำคัญ เนื่องจากในกรณีที่มีเสียงเท่ากัน ประธาน กสทช. มีสิทธิออกเสียงซ้ำ ซึ่งอาจทำให้ผลการลงมติไม่เป็นไปตามคะแนนเสียงที่แท้จริง เกิดเป็นข้อกังขาถึงความชอบธรรมของมติได้
“จากพฤติกรรมของประธาน กสทช. ดังที่กล่าวมา ทำให้การดำเนินงานของ กสทช. ในลักษณะของคณะกรรมการมีความติดขัด ซึ่งมิใช่เกิดจากความขัดแย้งส่วนตัวแต่ประการใด เพียงแต่ กสทช. 4 คน ยืนยันว่าต้องปฏิบัติภารกิจ ทำหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ด้วยความถูกต้อง คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ผลประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ มิใช่ตามความสะดวกหรือความพึงพอใจของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ” เอกสารแถลงข่าวร่วมระบุ
อ่านประกอบ :
ได้ข้อมูล‘ทรู’ฝ่ายเดียว! ‘บอร์ด กสทช.’ยังไม่สรุปค่าบริการมือถือลด 12% หลังควบ TRUE-DTAC
‘ภูมิศิษฐ์’ร้อง‘ปธ.วุฒิ’ตรวจสอบคุณสมบัติ‘ประธาน กสทช.’-‘โฆษกฯ’ชี้แจงไม่มีลักษณะต้องห้าม
ศาลฯรับไต่สวนมูลฟ้อง คดี‘ไตรรัตน์’ฟ้อง‘4 กสทช.-พวก’ ปมตั้งกก.สอบ-เปลี่ยนตัวรักษาการเลขาฯ
‘สภาผู้บริโภค’จ่อยื่น‘ป.ป.ช.’ ถอดถอน‘กสทช.’ทั้งคณะ ปมเปิดทาง‘ผูกขาด’ในธุรกิจโทรคมนาคม
ถก‘บอร์ด กสทช.’ล่มรอบ4! 'เลขาฯ'แจงเหตุ'ประธาน'ไม่เลื่อนประชุม เพราะมีวาระค้างพิจารณามาก
ข้อสงสัยในเจตนา! 4 กสทช.ออกแถลงการณ์โต้‘ปธ.’นัดประชุมบอร์ด ทั้งที่รู้มี'กรรมการ'ติดภารกิจ
ห้ามขึ้นราคา-ลดคุณภาพ! มติ 4:1 กสทช.อนุญาตรวมธุรกิจเน็ตบ้าน AIS-3BB กำหนด 22 มาตรการเฉพาะ
อาจจ่ายแพงขึ้น 9.5-22.9%! ‘สภาผู้บริโภค’ค้าน ‘กสทช.’ ไฟเขียวรวมธุรกิจเน็ตบ้าน AWN-3BB
องค์ประชุมไม่ครบ! ถกบอร์ด‘กสทช.’ล่มรอบ3-‘สรณ’พร้อมรับ‘แรงกระแทก’ปมควบรวมเน็ตบ้าน AWN-3BB
กรรมการ 3 รายติดภารกิจ! 4 กสทช.ทักท้วง‘นพ.สรณ’นัดประชุม‘บอร์ด’โดยไม่ปรึกษาหารือล่วงหน้า
แจ้ง‘กสทช.’ดูข้อกม.อีกครั้ง ก่อนชง‘คกก.ดิจิทัล’เคาะงบ 5.2 พันล.-บอร์ดเลื่อนถกควบ AWN-3BB
‘บอร์ด กสทช.’นัดถกควบรวมเน็ตบ้าน‘AWN-3BB’-ยังไม่พิจารณาวาระแต่งตั้ง‘เลขาธิการฯ’คนใหม่
เลื่อนฟังคำสั่งคดี‘ไตรรัตน์’ฟ้อง‘4 กสทช.’ ปมสอบค่าลิขสิทธิ์บอลโลก-เปลี่ยน‘รษก.เลขาธิการ’
‘ภูมิศิษฐ์’ฟ้อง‘ปธ.กสทช.’ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ฯ ไม่เซ็นตั้ง‘รักษาการเลขาธิการ’ตามมติบอร์ด
อ้างใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ! 'สุรางคณา'ฟ้อง'ศาล ปค.'ขอเพิกถอนคำวินิจฉัยเลือกเลขาธิการ กสทช.
ไม่เคยมี'คลินิก'ทั้งในและตปท.! 'นพ.สรณ'แจงผู้บริหาร‘กสทช.’-บอกยินดีให้คำปรึกษา'โรคหัวใจ'
ส่อไม่ชอบด้วยกม.-เอื้อบางคน! เปิดบันทึก 4 กสทช.ค้าน‘นพ.สรณ’บรรจุวาระแต่งตั้ง‘เลขาธิการฯ’
ละเลยหน้าที่! ‘4 กสทช.’ฟ้อง‘นพ.สรณ’ ปมไม่เซ็นแต่งตั้ง‘ภูมิศิษฐ์’นั่งรักษาการเลขาธิการฯ