ที่ประชุม กสทช. มีมติ 4 ต่อ 1 เสียง อนุญาตการรวมธุรกิจเน็ตบ้าน AIS-3BB พร้อมกำหนด‘มาตรการเฉพาะ’ 22 ข้อ สั่งห้ามขึ้นค่าบริการ-ลดคุณภาพการบริการ-คงแพคเกจราคาต่ำสุดนาน 5 ปี
................................
เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นัดพิเศษ ครั้งที่ 12/2566 มีมติเสียงข้างมาก 4 ต่อ 1 ต่อ 2 เสียง ‘อนุญาต’ การรวมธุรกิจระหว่างบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN บริษัทลูกของ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ AIS และบมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์ หรือ 3BB แบบมีเงื่อนไข และให้กำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะรวม 22 ข้อ
สำหรับกรรมการ กสทช.เสียงข้างมาก ได้แก่ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ,รศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ,รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ส่วนกรรมการ กสทช.เสียงข้างน้อย 1 เสียง คือ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ ซึ่งลงมติ ‘งดออกเสียง’ ขณะที่ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. และ พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร ไม่ได้ลงมติ เนื่องจากไม่เข้าร่วมประชุม อย่างไรก็ดี ในช่วงเช้า ศ.คลินิก และ พล.ต.อ.ณัฐธร ได้ลงมติ ‘รับทราบ’ การรวมธุรกิจฯ
ทั้งนี้ ในส่วนเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะที่กำหนดให้ AWN และ 3BB ต้องปฏิบัติ หลัง กสทช. มีมติอนุญาตให้มีการรวมธุรกิจ มีดังนี้
1.ประเด็นเรื่องอัตราค่าบริการและคุณภาพการให้บริการ
1.1 ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลอัตราค่าบริการของ กสทช. อย่างเคร่งครัด
1.2 ห้ามขึ้นราคาและลดคุณภาพการให้บริการ โดยให้คงรายการส่งเสริมการขาย (Package) ซึ่งมีราคาต่ำที่สุด ที่มีอยู่ก่อนการรวมธุรกิจ และแจ้งให้ กสทช. ทราบ พร้อมทั้งจะต้องคงคุณภาพการให้บริการและราคาสำหรับรายการส่งเสริมการขาย (Package) ดังกล่าว เป็นระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่ได้รับอนุญาตให้รวมธุรกิจ
1.3 มีทางเลือกของราคาที่แยกรายบริการ
1.4 คุ้มครองผู้ใช้บริการรายปัจจุบัน โดยให้คงรายการส่งเสริมการขาย (Package) คุณภาพการให้บริการ และราคาแก่ลูกค้า ที่มีการใช้บริการอยู่ก่อนการรวมธุรกิจจนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาให้บริการซึ่งทำไว้กับผู้ให้บริการรายนั้น เว้นแต่ผู้ใช้บริการตกลงยกเลิกการใช้บริการ หรือผู้ใช้บริการประสงค์จะเปลี่ยนแปลงรายการส่งเสริมการขาย (Package) ภายหลังการรวมธุรกิจด้วยตัวเอง เป็นระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่ได้รับอนุญาตให้รวมธุรกิจ
1.5 รักษาคุณภาพการให้บริการ (QoS) ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมอย่างเคร่งครัด และต้องมีความพร้อมเพื่อรองรับจำนวนลูกค้าที่จะเพิ่มขึ้นจากการรวมธุรกิจ เพื่อให้คุณภาพในการให้บริการต่อผู้ใช้บริการไม่ด้อยไปกว่าเดิม เช่น จำนวนเจ้าหน้าที่ที่เพียงพอเพื่อรองรับการให้บริการทั้งในส่วนของศูนย์บริการ และพนักงานรับสาย (Call center) รวมถึงขนาดพื้นที่ของศูนย์บริการลูกค้าที่สามารถรองรับการเข้ามาติดต่อของผู้ใช้บริการ
1.6 อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ โดยต้องจัดช่องทางการให้บริการที่สะดวก รวดเร็ว เข้าถึงง่าย ครอบคลุมและง่ายต่อการเลือกซื้อ เปลี่ยนแปลง (เพิ่ม /ลด) การใช้บริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ได้ตามความต้องการของผู้ใช้บริการปลายทาง โดยปราศจากข้อจำกัด ทั้งนี้ ต้องแสดงรายละเอียดของบริการ อัตราค่าบริการแยกตามรายบริการ หรืออัตราค่าบริการแบบส่งเสริมการขาย ตลอดจนวิธีการ เงื่อนไขการเลือกรับบริการไว้โดยชัดแจ้ง และเป็นปัจจุบัน
1.7 ให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการให้บริการที่ครบถ้วนแก่ผู้ใช้บริการ โดยต้องกำหนดและแสดงอัตราค่าบริการแยกตามรายบริการ (Unbundle) หรือการส่งเสริมการขายแบบแยกรายบริการ (Unbundle Package) เช่น แยกอัตราค่าบริการเฉพาะอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประจำที่ออกจากอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และกล่องรับชมรายการโทรทัศน์และคอนเทนต์ ความบันเทิง เพื่อให้ผู้ใช้บริการปลายทางได้รับทราบก่อน
1.8 ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ต่อสาธารณชนว่าจะคงไว้ซึ่งบริการที่มีคุณภาพ และราคาค่าบริการที่เป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการ
1.9 นำส่งข้อมูลตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำรายงานบัญชีแยกประเภทในกิจการโทรคมนาคม ให้ครบถ้วน โดยให้แยกรายละเอียดเป็นรายเดือน และนำส่ง กสทช. ทุก 3 เดือน หรือเมื่อ กสทช. ร้องขอ
1.10 จัดให้มีที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญด้านการสอบทาน (Verify) ข้อมูลโครงสร้างต้นทุน อัตราค่าบริการ หรือข้อมูลด้านอัตราต่างๆ ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในต่างประเทศมาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยให้ กสทช. เป็นผู้กำหนด และให้บริษัท AWN เป็นผู้รับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายทั้งปวงที่เกิดขึ้นจากการจัดหาและจัดจ้างที่ปรึกษา
ทั้งนี้ ที่ปรึกษาจะต้องไม่มีความเกี่ยวข้อง เชื่อมโยง หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมของทั้งสองบริษัท เพื่อสอบทาน (Verify) ความถูกต้องของข้อมูลตามข้อ 1.9 ของทั้งสองบริษัท โดยจัดให้มีที่ปรึกษานี้เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนหลังการรวมธุรกิจ
1.11 ยึดหลักความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ต (Net Neutrality) โดยไม่จัดให้คุณภาพบริการแตกต่างกันเพียงเพราะว่าเข้าถึงเนื้อหาจากผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ให้บริการรายอื่น
1.12 แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการรวมธุรกิจและการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการให้บริการบางประการ เช่น การเปลี่ยนชื่อผู้ให้บริการ ช่องทางในการติดต่อ แอปพลิเคชัน และศูนย์รับเรื่อง
2.ประเด็นเรื่องการสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย
เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะเพื่อแก้ไขข้อกังวลในเรื่องภูมิศาสตร์ที่อาจมีการแข่งขันน้อยรายในบางพื้นที่ และเพื่อคงระดับการแข่งขันให้อยู่ในระดับเดิม โดยแก้ไขอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการ รายใหม่ และเพื่อส่งเสริมให้มีผู้ประกอบกิจการอินเทอร์เน็ตที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเองในพื้นที่เฉพาะ เพื่อแก้ไขปัญหาการแข่งขันในทางภูมิศาสตร์ (Geographic Coverage) ในบางพื้นที่ที่อาจมีผู้แข่งขัน น้อยราย
ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในตลาดมากขึ้น และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการที่ไม่ได้เป็นเจ้าของโครงข่ายหรือโครงสร้างพื้นฐาน สามารถเข้ามาแข่งขันใน ตลาดได้ รวมทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้อำนาจตลาดกีดกันหรือสร้างอุปสรรคในการประกอบธุรกิจของผู้รับ ใบอนุญาตรายอื่น จึงกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะภายหลังการรวมธุรกิจ (Ex Post) สำหรับผู้รวมธุรกิจ สำหรับบริษัท AWN และบริษัท TTTBB ดังต่อไปนี้
2.1 เปิดให้ผู้ให้บริการรายอื่นเช่าใช้โครงข่าย (open access) ให้ผู้ให้บริการรายอื่นเช่าใช้โครงข่ายของตัวเองในการให้บริการ โดยมีหน้าที่จัดทำข้อเสนอการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมของบริการค้าส่งบริการเข้าถึงบรอดแบนด์ในทุกเทคโนโลยีที่ให้บริการ พร้อมทั้งเอกสารประกอบข้อเสนอดังกล่าวที่แสดงหลักการและวิธีการคำนวณอัตราค่าตอบแทนการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมในลักษณะที่อ้างอิงต้นทุน และนำส่งให้สำนักงาน กสทช. ภายใน 60 วันหลังจากที่มีการรวมธุรกิจ
2.2 เปิดการให้บริการ Fixed Broadband Service Unbundling ในระดับค้าส่ง (Wholesale) ทุกพื้นที่บริการของทั้งสองบริษัท ภายใต้หลักการ Cost-based Basis และราคาไม่เกินอัตราที่ กสทช. กำหนดสำหรับผู้ร้องขอใช้บริการดังกล่าว โดยต้องสามารถเริ่มให้บริการได้ภายในระยะเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ผู้ร้องขอแสดงความประสงค์ขอใช้บริการ
2.3 จัดทำแผนขยายโครงข่าย Fixed Broadband Access ไปยังพื้นที่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่ำ โดยอาจใช้รูปแบบ Fixed Wireless Access เพื่อขยายโครงข่ายไปยังพื้นที่ที่ยังไม่มีโครงข่ายในปัจจุบัน โดยเพิ่มเติมจากแผนการลงทุนปกติประจำปีและไม่นับรวมโครงการที่ได้รับการอุดหนุนจาก ภาครัฐ ทั้งนี้ แผนดังกล่าวให้ครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี โดยต้องมีรายละเอียดแผนการลงทุนรายปี
และกำหนดจำนวนเงินที่จะนำไปลงทุนในการขยายโครงข่าย Fixed Broadband Access ดังกล่าวข้างต้นไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาทในระยะเวลา 5 ปี ทั้งนี้ต้องเสนอแผนดังกล่าวให้ กสทช. เห็นชอบก่อน และให้ดำเนินการตามแผนที่ กสทช. เห็นชอบ โดยให้นำส่งผลการดำเนินการ แก่ กสทช. ทุก 1 เดือน หรือเมื่อ กสทช. ร้องขอ เพื่อใช้ในการติดตามตรวจสอบ
2.4 ให้ผู้รับใบอนุญาตที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเองได้รับสิทธิ เงื่อนไขในการเข้าใช้โครงข่าย (Open Access) ได้เช่นเดียวกับบริษัทในกลุ่มหรือบริษัทในเครือของทั้งสองบริษัท
2.5 ให้ผู้รับใบอนุญาตที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเองที่เข้าใช้บริการโครงข่ายต้องได้รับการประกันสิทธิในการได้รับบริการภายใต้คุณภาพการให้บริการ (QoS) ตามมาตรฐานการให้บริการตามประกาศของ กสทช. หรือที่ กสทช. กำหนด
2.6 ห้ามปฏิเสธการให้บริการแก่ผู้รับใบอนุญาตที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง อันเกิดมาจากเหตุผลความไม่เพียงพอของโครงข่าย หรือตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่ กสทช. กำหนด
2.7 ไม่กำหนดปริมาณและราคาขั้นต่ำของการเช่าใช้บริการโครงข่ายของผู้รับใบอนุญาตที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง เพื่อให้สามารถเช่าใช้บริการโครงข่ายของทั้งสองบริษัทเฉพาะพื้นที่ที่ต้องการได้ โดยไม่จำเป็นต้องครอบคลุมทั้งประเทศ ทั้งนี้ การเรียกเก็บค่าบริการให้เป็นไปตามการใช้งานที่เกิดขึ้นจริง
2.8 เปิดโครงข่ายให้ผู้ให้บริการรายอื่นเช่าใช้โครงข่ายของตนเองในการให้บริการภายในอาคารหรือพื้นที่ส่วนบุคคลโดยไม่เลือกปฏิบัติทั้งในด้านการเข้าถึงบริการและด้านราคา
3.กลไกการติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจ
3.1 รายงานผลการประกอบธุรกิจ ภายใต้การดำเนินการตามกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขที่ได้รับจาก กสทช. เป็นราย 6 เดือน หรือตามแต่ระยะเวลาที่ กสทช. กำหนด ตามแบบที่ กสทช. กำหนด ไว้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี
3.2 ภายหลังการรวมธุรกิจ หาก กสทช. พิจารณาหรือได้รับการร้องเรียนว่ามีการกระทำ พฤติกรรม หรือเหตุอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการ กิจการโทรคมนาคมมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญทำให้เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะไม่เหมาะสมหรือไม่มีประสิทธิภาพ กสทช. อาจระงับ ยกเลิก เพิ่มเติม หรือปรับปรุงเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะใหม่ก็ได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็น
@มติ 5 ต่อ 2 ชี้ ‘กสทช.’มีอำนาจ‘อนุญาต’รวมธุรกิจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 12/2566 วันนี้ (10 พ.ย.) เริ่มในเวลาประมาณ 9.00 น. โดยประธานและกรรมการ กสทช. ทั้ง 7 ราย เข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่วาระพิจารณา สำนักงาน กสทช. ได้เสนอรายงานการรวมธุรกิจระหว่าง AWN และ 3BB ให้ที่ประชุมฯ ‘รับทราบ’ แต่ที่ประชุมฯมีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ไม่เห็นชอบรายงานการรวมธุรกิจระหว่าง AWN และ 3BB ตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอ
โดยกรรมการ กสทช. เสียงส่วนใหญ่ 5 เสียง เห็นว่า กสทช. มีอำนาจที่จะ ‘อนุญาต’ หรือ ‘ไม่อนุญาต’ ในการรวมธุรกิจครั้งนี้ได้ ซึ่งเป็นอำนาจตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 เนื่องจากการรวมธุรกิจระหว่าง AWN และ 3BB เป็นการเข้าซื้อหรือถือหุ้นในธุรกิจประเภทเดียวกันเกินกว่า 10%
สำหรับกรรมการ กสทช. เสียงข้างมาก 5 เสียงที่ลงมติว่า กสทช. มีอำนาจในการ ‘อนุญาต’ หรือ ‘ไม่อนุญาต’ การรวมธุรกิจระหว่าง AWN และ 3BB ได้แก่ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ,รศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ,รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ และนายต่อพงศ์ เสลานนท์ ส่วนกรรมการเสียงข้างน้อย ได้แก่ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. และ พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร
ทั้งนี้ ข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ระบุว่า “การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน โดยการเข้าซื้อหรือถือหุ้นเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นทั้งหมดของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น หรือการเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมดหรือบางส่วนเพื่อควบคุมนโยบายหรือการบริหารธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะการกระทำโดยทางตรงหรือทางอ้อมหรือผ่านตัวแทน จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ โดยผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะเข้าไปถือครองธุรกิจของผู้รับใบอนุณาตรายอื่นตามวรรดหนึ่ง มีหน้าที่ต้องแจ้งแก่คณะกรรมการ เพื่อขออนุญาตตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
กรณีที่คณะกรรมการพิจารณาว่า การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามวรรคหนึ่งอาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม คณะกรรมการอาจสั่งห้ามการถือครองกิจการหรือกำหนดมาตรการเฉพาะตามหมวด 4 ก็ได้”
รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากที่ประชุม กสทช. เสียงข้างมากลงมติว่า กสทช. มีอำนาจในการ ‘อนุญาต’ การรวมธุรกิจระหว่าง AWN และ 3BB แล้ว ที่ประชุมฯ ได้พิจารณารายละเอียดของ 'มาตรการเฉพาะ' เพื่อประกอบการอนุญาตการรวมธุรกิจฯ จนกระทั่งเวลาประมาณ 13.00 น. ศ.คลินิก ได้สั่งพักการประชุม เพื่อเดินทางไปรับกฐินพระราชทาน
ต่อมาเวลาประมาณ 15.00 น. ได้มีการประชุม กสทช. อีกครั้ง แต่ ศ.คลินิก นพ.สรณ และ พล.ต.อ.ณัฐธร ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย ทำให้มีกรรมการ กสทช. เพียง 5 ราย ที่ร่วมกันพิจารณารายละเอียดมาตรการเฉพาะ ก่อนในเวลาประมาณ 18.00 น. ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเสียงข้างมากมีมติ 4 ต่อ 1 เสียง อนุญาตการรวมธุรกิจระหว่าง AWN และ 3BB และกำหนดมาตรการเฉพาะ 22 ข้อ
อย่างไรก็ตาม มีกรรมการ กสทช. บางราย เสนอต่อที่ประชุมว่า ขอให้เชิญ ศ.คลินิก นพ.สรณ และพล.ต.อ.ณัฐธร เข้าร่วมประชุม เพื่อรับทราบมาตรการเฉพาะด้วย แต่ปรากฎว่า ศ.คลินิก นพ.สรณ และ พล.ต.อ.ณัฐธร ไม่ได้เดินทางเข้ามารับทราบรายละเอียดของมาตรการเฉพาะแต่อย่างใด จากนั้นในเวลาประมาณ 19.50 น. กรรมการ กสทช. 4 ราย คือ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ ,รศ.ดร.พิรงรอง ,รศ.ดร.ศุภัช และรศ.ดร.สมภพ จึงแถลงมติ กสทช. ต่อสื่อมวลชน
@สภาผู้บริโภคค้านรวมธุรกิจ หวั่นค่าบริการแพง
ในช่วงเช้าวันเดียวกัน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค พร้อมเครือข่ายผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการ กสทช. เรียกร้องให้ใช้อำนาจไม่อนุญาตการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท AWN และ 3BB โดยมีพล.อ.กิตติ เกตุศรี ที่ปรึกษาประจำ กสทช. เป็นผู้รับหนังสือ
น.ส.สุภิญญา ระบุว่า สภาผู้บริโภคขอเรียกร้องให้ กรรมการ กสทช. ใช้อำนาจตามที่ได้รับมอบหมายด้วยใจเป็นธรรม โดยการไม่อนุญาตให้มีการถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน หรือไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวมระหว่าง AWN และ 3BB เพื่อรักษาประโยชน์สูงสุดของสาธารณะและผู้บริโภค และเห็นว่าหากประธาน กสทช. รวบรัดไม่ให้ที่ประชุม กสทช. ลงมติในประเด็นอำนาจของ กสทช. ในการพิจารณาคำขอรวมธุรกิจในครั้งนี้ ย่อมกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค
นายอิฐบูรณ์ กล่าวว่า จากการศึกษาผลกระทบต่อผู้บริโภคที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการควบรวมระหว่าง AWN ในเครือ AIS และ 3BB พบว่า จะมีปัญหาเกิดขึ้นหลายประการ อาทิ ผลกระทบต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบ้านจะแตกต่างกันตามพื้นที่ โดยผู้บริโภคอาจต้องจ่ายแพงขึ้นประมาณ 9.5-22.9% อีกทั้งการมีคู่แข่งเหลืออยู่น้อยราย จะทำคู่แข่งรายเล็กอื่นๆ ในตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านถูกลดความสามารถในการแข่งขันลง และสุดท้ายจะเหลือคู่แข่งขันหลักเพียง 2 รายเท่านั้น
นายอิฐบูรณ์ ระบุว่า หาก กสทช. ละเว้นการใช้อำนาจตนเองในการ ‘ไม่อนุญาต’ แต่ลงมติ ‘รับทราบ’ เพื่อเปิดให้มีการรวมธุรกิจระหว่าง AWN และ 3BB แล้วกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะนั้น อาจทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงซ้ำรอยกรณี TRUE-DTAC ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภคเกือบทั้งหมดของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงขอคัดค้านต่อการลงมติใดๆ ที่เป็นการเปิดทางให้มีการควบรวมธุรกิจ AWN และ 3BB
นายอิฐบูรณ์ กล่าวด้วยว่า สภาผู้บริโภคได้ติดตามการบังคับใช้มาตรการป้องกันและเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนดไว้ในการควบรวม TRUE-DTAC เมื่อเดือน ต.ค.2565 พบว่า การบังคับใช้มาตรการต่างๆ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและทำให้ผู้ใช้บริการโทรคมนาคมจำนวนมากของบริษัทใหม่ในนาม บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่เกิดขึ้นหลังการควบรวม ไม่ได้รับความคุ้มครองหรือได้ประโยชน์ตามข้อกำหนดในมาตรการป้องกันและเงื่อนไขเฉพาะแต่อย่างใด
“ผ่านมากว่า 8 เดือน หลังบริษัทเปิดดำเนินกิจการ ไม่ปรากฏว่าบริษัทได้ปฏิบัติตามมาตรการเฉพาะที่กำหนด เช่น การลดราคาค่าบริการ 12% ภายใน 90 วัน ทั้งยังพบข้อร้องเรียนของผู้บริโภคในช่องทางต่างๆ ว่า บริษัทได้ฉวยโอกาสเปลี่ยนแปลงแพ็กเกจให้ผู้บริโภคโดยไม่สมัครใจ ทำให้ราคาแพงขึ้นรายละ 100 บาท มีการลดคุณภาพระบบอินเทอร์เน็ตลงจนเป็นปัญหาการใช้งาน และมีปัญหาการย่อหย่อนของคุณภาพบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น” นายอิฐบูรณ์กล่าว
อ่านประกอบ :
ตีตราวาระลับ แต่คนนอกฟังการประชุมได้! ‘ประธาน กสทช.’นัดถกควบเน็ตบ้าน AIS-3BB แบบเปิดเผย
อาจจ่ายแพงขึ้น 9.5-22.9%! ‘สภาผู้บริโภค’ค้าน ‘กสทช.’ ไฟเขียวรวมธุรกิจเน็ตบ้าน AWN-3BB
องค์ประชุมไม่ครบ! ถกบอร์ด‘กสทช.’ล่มรอบ3-‘สรณ’พร้อมรับ‘แรงกระแทก’ปมควบรวมเน็ตบ้าน AWN-3BB
กรรมการ 3 รายติดภารกิจ! 4 กสทช.ทักท้วง‘นพ.สรณ’นัดประชุม‘บอร์ด’โดยไม่ปรึกษาหารือล่วงหน้า
แจ้ง‘กสทช.’ดูข้อกม.อีกครั้ง ก่อนชง‘คกก.ดิจิทัล’เคาะงบ 5.2 พันล.-บอร์ดเลื่อนถกควบ AWN-3BB
‘บอร์ด กสทช.’นัดถกควบรวมเน็ตบ้าน‘AWN-3BB’-ยังไม่พิจารณาวาระแต่งตั้ง‘เลขาธิการฯ’คนใหม่
'สำนักงานฯ'แพร่ข่าวโต้'4 กสทช.' ยันเสนอร่างงบปี 67 กว่า 5.2 พันล. ถูกต้องตามขั้นตอนกม.
อาจมีปัญหาการตีความกม.ต่างกัน! 'ธนพันธุ์' กก.กสทช.ตอบสว.ปมขัดแย้งภายใน
‘4 กสทช.’ร้อง‘นายกฯเศรษฐา’สั่ง‘บอร์ดดิจิทัล’ชะลอ-ทบทวนบรรจุวาระถกงบสำนักงานฯ 5.2 พันล.
ไม่เสนอบอร์ดพิจารณาก่อน! 4 กรรมการฯจี้‘สรณ’ทบทวน ชง‘คกก.ดิจิทัล’เคาะ‘งบ กสทช.’5.2 พันล.
ถก‘บอร์ด กสทช.’ล่ม! 4 กรรมการฯค้านประชุม‘แบบเปิดเผย’-ห่วงข้อมูลผู้ประกอบการหลุดจะโดนฟ้อง