วุฒิสภา ประชุมลับ ก่อนลงมติไม่เห็นชอบ ศาสตราจารย์ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี-ชาตรี อรรจนานันท์ ให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นันทนา นันทวโรภาส ชง ญัตติชะลอลงมติ รอดีเอสไอ-ศาลรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบที่มา สว.ให้เสร็จ ก่อน พลเอก เกรียงไกร รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ในฐานะประธานในที่ประชุม วินิจฉัย ไม่รับญัตติชะลอ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 18 มีนาคม 2568 ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาระเบียบวาระ เรื่องด่วน ให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 ราย ได้แก่ 1.ศาสตราจารย์ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แทนนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากครบวาระการดำรงตำแหน่ง เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2567 และ 2.นายชาตรี อรรจนานันท์ อดีตอธิบดีกรมการกงสุล แทนนายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากครบวาระการดำรงตำแหน่ง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567
รายงานข่าวระบุว่า ภายหลังวุฒิสภาประชุมลับ ที่ประชุมวุฒิสภามีมติไม่เห็นชอบให้ ศาสตราจารย์ สิริพรรณ และนายชาติ ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากได้รับคะแนนเสียงเห็นด้วยน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งมดเท่าที่มีอยู่ หรือ น้อยกว่า 100 คะแนน โดยมีผลการลงมติดังนี้
- ศาสตราจารย์ สิริพรรณ ได้รับคะแนนเสียงเห็นด้วย 43 คะแนน ไม่เห็นด้วย 136 คะแนน งดออกเสียง 7 คน ไม่ลงคะแนน 1 คน จำนวนผู้ลงมติ 187 คน
- นายชาตรี ได้รับคะแนนเสียงเห็นด้วย 47 คะแนน ไม่เห็นด้วย 115 คะแนน งดออกเสียง 22 คน ไม่ลงคะแนนเสียง 3 คน จำนวนผู้ลงมติ 187 คน
รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนที่พลเอก เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ในฐานะประธานในที่ประชุมวุฒิสภาจะให้มีการลงมติบุคคลให้ตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นางนันทนา นันทวโรภาส สว. ได้เสนอญัตติให้ชะลอการลงมติเห็นชอบบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากขณะนี้สังคมกำลังตั้งคำถามต่อกระบวนการได้มาซึ่ง สว.คณะนี้อยู่ ประชาชนสงสัยว่า กระบวนการเลือกกันเองนี้มีความผิดปกติหรือไม่ ในเรื่องที่มาของสว.
“ทำไมไม่รอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบที่มาของสว.ให้สิ้นสงสัยก่อน หากผลการตรวจสอบออกมาแล้วว่า สุจริตและโปร่งใสก็จะสง่างาม นอกจากนี้ยังมีผู้ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้สว.หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งอาจเข้าข่ายรัฐธรรมนูญมาตรา 113 เรื่องการแทรกแซง ครอบงำจากพรรคการเมือง ซึ่งหากเราดึงดันที่จะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้อาจส่งผลต่ออนาคตของผู้ดำรงตำแหน่ง ซึ่งอยู่ในวาระถึง 7 ปี อาจจะโมฆะได้ หากพบว่าผู้ลงมติขาดคุณสมบัติไป เพื่อให้การทำหน้าที่วุฒิสมาชิกสง่างาม ไม่ตกเป็นจำเลยของสังคม ดิฉันจึงขอเสนอญัตติให้วุฒิสมาชิกชะลอการลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกไปก่อน จนกว่าการตรวจสอบที่มาของสว.จะสิ้นสงสัยแล้วจึงกลับมาลงมติกันใหม่”นางนันทนากล่าว
ขณะที่พลเอก สวัสดิ์ ทัศนา สว. ลุกขึ้นอภิปรายว่า การเสนอญัตติให้ชะลอการลงมติเพื่อเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกไป เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เป็นการละเว้นการปฏิบัุติหน้าที่ของวุฒิสภา จึงของให้มีการปฏิบัติตามระเบียบวาระการประชุมต่อไป
อย่างไรก็ตาม พลเอก เกรียงไกร ในฐานะประธานในที่ประชุม กล่าวในที่ประชุมว่า ได้วินิจฉัยแล้วว่า เป็นญัตติที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ ขอไม่รับเป็นญัตติ เนื่องจากขณะนี้วุฒิสภามีอำนาจเต็ม และเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทุกประการ จึงขอให้ดำเนินตามระเบียบวาระการประชุมเพื่อลงมติบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไป