เวทีสาธารณะฯ เรียกร้อง ‘รัฐบาล’ ตรวจสอบการประมูลรถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ หวังให้เกิดความโปร่งใส ด้าน ‘บีทีเอส’ ตั้งคำถาม ‘ส่วนต่าง’ 6.8 หมื่นล้าน ‘ไปอยู่ตรงไหน’ ขณะที่ ‘สามารถ’ ตั้ง 10 ข้อสังเกต ข้องใจ ‘รฟม.’ รื้อกติการประมูล ่ส่วน ‘ทีดีอาร์ไอ’ ชี้ผูก ‘สัญญาก่อสร้าง-เดินรถ’ เข้าด้วยกัน ทำให้มีผู้เข้าแข่งขันได้น้อยราย
............................................
เมื่อวันที่ 21 ต.ค. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT จัดเวทีสาธารณะค้นหาความจริง ‘กรณี 6.8 หมื่นล้าน ในการประมูล รถไฟสายสีส้ม ผลประโยชน์..หรือค่าโง่!! ที่รัฐฯต้องมีคำตอบ’
โดยนายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า การเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ต้องถือว่าล่าช้าจากแผนเดิมมากว่า 2 ปีแล้ว และการล่าช้ามาจากสาเหตุที่เริ่มจะอธิบายไม่ได้ เช่น การเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลไปมา จนนำไปสู่การยกเลิกการประมูลแล้วเปิดประมูลใหม่
“ปกติโครงการรถไฟฟ้าบ้านเร็ว เร็วกว่าปกติ ไม่เคยมีแล้ว เรามีสายสีชมพู สายสีเหลือง ซึ่งช้า แต่ก็อธิบายได้ในระดับหนึ่ง เพราะสถานการณ์มีความไม่แน่นอนสูง มีโควิด อะไรหลายๆอย่าง ทำให้เข้าไปก่อสร้างไม่ได้ อันนี้เข้าใจได้ แต่ตรงนี้มีความล่าช้าที่รู้สึกว่าเริ่มอธิบายไม่ได้ เช่น มีการเปลี่ยนเกณฑ์ไป เปลี่ยนเกณฑ์มา ทำให้เกิดล่าช้า”นายสุเมธ ระบุ
นายสุเมธ ยังกล่าวว่า อีกปัญหาหนึ่งของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ คือ การเปิดประมูลที่ใช้รูปแบบ PPP Net Cost และมีการผูกสัญญาก่อสร้างกับสัญญาเดินรถเข้าด้วยกันนั้น ทำให้เอกชนเข้ามาแข่งขันได้น้อยราย ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วสัญญาก่อสร้างและสัญญาเดินรถแทบไม่เกี่ยวข้องกันเลย ขณะเดียวกัน บริษัทก่อสร้างและบริษัทเดินรถ ส่วนใหญ่เป็นคนละบริษัทกัน เพราะมีความเชี่ยวชาญในการทำงานที่แตกต่างกัน
“เดินรถ คือ เดินรถ ก่อสร้าง คือ ก่อสร้าง แต่พอเอา 2 สัญญามารวมกัน แล้วให้มาประมูลในครั้งเดียวกัน จึงเกิดคำถามว่า ทำไมต้องมารวมกันอย่างนี้ เพราะเมื่อรวมสัญญาเสร็จ การกำหนดเงื่อนไข จะทำให้เอกชนหลายๆรายถูกจำกัดสิทธิ์ ยกตัวอย่างเช่นการสร้างรถไฟทางคู่ ถ้าสัญญาเป็นสายยาวก็เข้าได้ทุกบริษัทใหญ่ ถ้าตัดสัญญาให้สายสั้นลง รายเล็กจะเข้าได้และเพิ่มการแข่งขัน แต่ถ้าสายยาว เอางานอุโมงค์ คันดินมารวมกัน ก็จะเริ่มจำกัดผู้เข้าแข่งขัน” นายสุเมธ ระบุ
นายสุเมธ กล่าวด้วยว่า การเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ที่มียื่นข้อเสนอประมูลเพียง 2 ราย จากบริษัทที่ซื้อซองเอกสารประมูล 14 ราย นั้น ทำให้การแข่งขันที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ และหากเปรียบเทียบกับการแข่งขันฟุตบอล หากผู้เข้าแข่งขันแข่งขันกันอย่างเต็มที่ บอลก็สนุก ผลลัพธ์ก็ออกมาดี แต่ถ้าแข่งขันกันไม่เต็มที่ หรือมีการกำหนดผลการแข่งขันไว้ตั้งแต่ช่วงต้น ก็จะมีปัญหา บอลก็แข่งไม่สนุก และผลลัพธ์ที่ออกมาก็ไม่ค่อยดี
นายสุเมธ ระบุว่า หากรัฐบาลเห็นว่าการเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ กระบวนการที่ทำมาถูกต้อง ครบถ้วน ก็เซ็นสัญญาไป ซึ่งคงต้องมีการฟ้องร้องกันบ้าง แต่หากรัฐบาลเห็นว่ายังมีข้อข้องใจ อยากจะเริ่มต้นใหม่ TDRI มีข้อเสนอว่า 1.ควรเปลี่ยนรูปแบบการประมูลโครงการ โดยแยกสัญญาก่อสร้างและสัญญาเดินรถออกจากกัน 2.เปลี่ยนรูปแบบการหาแหล่งเงินทุน โดยให้รัฐเป็นผู้จัดหาแหล่งทุนให้ตั้งแต่เริ่มโครงการ เพราะรัฐเข้าถึงต้นทุนดอกเบี้ยต่ำกว่าเอกชน และ 3.ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขสัญญาให้เหมาะสมต่อการกำหนดค่าโดยสารร่วม
@‘บีทีเอส’ ตั้งคำถาม ‘ส่วนต่าง’ 6.8 หมื่นล้าน 'ไปอยู่ตรงไหน'
ด้าน พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษากรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) ระบุว่า การเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ไม่ได้เริ่มทำในปี 2565 แต่ทำมาตั้งแต่กลางปี 2563 แล้ว โดยครั้งนั้นเมื่อมีการเปิดประมูลไปแล้ว ก็มีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การคัดเลือก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา เมื่อบีทีเอสไปร้องเรียนให้มีการตรวจสอบการกระทำที่ไม่เป็นไปตามครรลอง ไม่เป็นไปตามกฎหมายไปยังผู้มีอำนาจ แต่ 2 ปีที่ผ่านมา เราไม่ได้รับคำตอบหรือหนังสือชี้แจงใดๆ
“รัฐมีนโยบายต่อต้านการทุจริตคอรัปชัน แต่ในโลกความเป็นจริงเป็นอย่างนั้นหรือไม่ หนังสือร้องเรียนจากเอกชนรายหนึ่งที่ทำไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอำนาจ ท่านอาจมองว่าเป็นแค่ความคิดความเห็น ไม่มีความจริงปรากฏอยู่ แต่ต่อมาศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเบื้องต้นออกมาว่า การดำเนินงานของรัฐนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายจริง เราก็แจ้งข้อมูลไปให้ฝ่ายบริหาร ผู้มีอำนาจ เจ้าหน้าที่รัฐอีกครั้ง แต่ก็ไม่มีการดำเนินการตรวจสอบใดๆ” พ.ต.อ.สุชาติ กล่าว
พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวต่อว่า เมื่อมีการเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ครั้งที่ 2 ในปี 2565 บีทีเอสโต้แย้งมาตลอดว่า มีการกระทำที่ไม่ค่อยถูกต้องนัก และแฝงไปด้วยคำถามอย่างน้อย 2 ประเด็น คือ
1.หลังจากมีการยื่นซองประมูลไปแล้ว บีทีเอสพบว่ามีผู้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐในการแข่งขันในครั้งนี้ 1 ราย จากผู้ยื่นข้อเสนอทั้งหมด 2 ราย ขาดคุณสมบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เนื่องจากมีกรรมการหรือผู้มีอำนาจของบริษัทฯ ต้องโทษจำคุก แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ ชี้แจงว่าให้ผ่านเข้ามาได้ และหากนิติบุคคลรายนี้ชนะประมูล ก็ให้ไปแปลงร่างนิติบุคคลไปเป็นร่างอื่น แล้วให้มาเป็นผู้ชนะ ซึ่งเป็นการแปลงกฎหมายที่ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ
2.บีทีเอสเชื่อว่า ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ครั้งที่ 2 และการทำวิถีทางเพื่อไม่ให้บีทีเอสเข้าไปร่วมแข่งขันนั้น เนื่องจากในการเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯครั้งที่ 1 บีทีเอสเสนอขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ 9,800 ล้านบาท เทียบกับการเปิดประมูลครั้ง 2 ซึ่งบีทีเอสไม่มีโอกาสเข้าไปแข่งขันนั้น ผู้ชนะประมูลเสนอขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ 7.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีส่วนต่างกันถึง 6.8 หมื่นล้านบาท
“วันที่ 8 ก.ย.เป็นวันประกาศว่าผู้ชนะเสนอราคาเท่าไหร่ จากนั้นวันที่ 12 ก.ย.เรา (บีทีเอส) ได้ไปขอรับเอกสารข้อเสนอประมูลครั้งที่ 1 ที่ รฟม. แล้วเปิดราคาต่อสื่อ ที่เราเปิดราคาให้เห็น เพื่อจะบอกว่าตัวเลขคุณเสนอมา 7.6 หมื่นล้าน กับตัวเลขของเรา 9,800 ล้าน แตกต่างกันมากมายมหาศาล ตัวเลขตัวนี้ไปอยู่ตรงไหน ไปอยู่กับใคร หายไปได้อย่างไร ที่สำคัญตัวเลขนี้เป็นตัวบ่งบอกให้เห็นว่า ทำไมถึงได้พยายามทำทุกวิถีทางให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้” พ.ต.อ.สุชาติระบุ
@ตั้ง 10 ข้อสังเกตประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม-ข้องใจ ‘รฟม.’ รื้อกติกา
นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตนติดตามการเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯมากว่า 2 ปีแล้ว และมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ 10 ประเด็น ได้แก่
1.ในการประมูลครั้งที่ 1 หาก รฟม. ไม่เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลและไม่ล้มประมูล มีความเป็นไปได้ที่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ร่วมกับ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) จะชนะการประมูล เนื่องจาก BTSC-STEC ขอรับเงินสนับสนุนค่าก่อสร้างรัฐเพียง 9,675.42 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้รัฐประหยัดค่าก่อสร้างได้ถึง 6.8 หมื่นล้านบาท
2.รฟม.เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ครั้งที่ 1 เป็นเกณฑ์ใหม่ตามคำขอของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) หลังจาก ITD ได้ขอให้เปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลโดยใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ ทั้งๆที่ รฟม.ใช้เวลาศึกษาเกณฑ์การประมูลโครงการฯนี้มาอย่างละเอียดรอบคอบมาแล้วเกือบ 2 ปี
และที่ รฟม.บอกว่าที่ต้องเปลี่ยนหลักเกณฑ์ประมูล เพราะรถไฟฟ้าสายสีส้มต้องผ่านพื้นที่ซับซ้อน ต้องลอดพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ และต้องขุดอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา มีความยุ่งยากในการก่อสร้าง จึงต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง แต่เกณฑ์ใหม่ของ รฟม.กลับให้คะแนนด้านเทคนิคเพียงแค่ 30% เท่านั้น ซึ่งย้อนแย้งกับเหตุผลที่ รฟม. กล่าวอ้าง และหาก รฟม.มุ่งหวังจะได้เอกชนที่เก่งด้านเทคนิคจริงจะต้องใช้เกณฑ์เดิม เพราะให้คะแนนด้านเทคนิค 100%
3.ในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 2 เหตุใด รฟม. จึงลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง แต่เพิ่มคุณสมบัติของผู้รับเหมาขึ้น ซึ่งในทางที่ถูกต้องแล้ว หาก รฟม.ต้องการได้ผู้ยื่นประมูลที่มีคุณสมบัติสูงขึ้น ควรเพิ่มคุณสมบัติทั้งของผู้เดินรถไฟฟ้าและของผู้รับเหมา ไม่ใช่ลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง แต่เพิ่มคุณสมบัติของผู้รับเหมาขึ้น
4.หาก รฟม. ไม่ลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง จะทำให้ Incheon Transit Corporation หรือ ITC ผู้เดินรถไฟฟ้าจากเกาหลีใต้ไม่สามารถร่วมยื่นประมูลกับ ITD ได้ และหาก รฟม. ไม่เพิ่มคุณสมบัติของผู้รับเหมาขึ้น จะทำให้ BTSC ร่วมกับ STEC ที่เคยยื่นประมูลครั้งที่ 1 จะสามารถยื่นประมูลครั้งที่ 2 ได้ด้วย
5.กรณีที่ ITD ไม่สามารถยื่นประมูลกับ ITC ได้ ITD ก็ยังสามารถยื่นประมูลกับ BTSC ได้ จะทำให้ BTSC ร่วมกับ ITD เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของ BEM ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง
6.รฟม.ให้ผู้รับเหมาเป็นผู้นำกลุ่มผู้ยื่นประมูลได้ ทำให้ ITD สามารถเป็นผู้นำกลุ่ม ITD Group ซึ่งประกอบด้วย ITD และ ITC ได้ หากผู้รับเหมาไม่สามารถเป็นผู้นำกลุ่มได้ ผู้เดินรถไฟฟ้าจะต้องเป็นผู้นำกลุ่มเหมือนกับการประมูลครั้งที่ 1 ถามว่า ITC จะยอมเป็นผู้นำกลุ่มหรือไม่ เนื่องจากผู้นำกลุ่มจะต้องถือหุ้นมากที่สุดและไม่น้อยกว่า 35% ขณะที่ในความเป็นจริงผู้นำกลุ่มควรเป็นผู้เดินรถไฟฟ้า เนื่องจากจะต้องรับผิดชอบการบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้ารวมทั้งซ่อมบำรุงรักษารถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดทั้งสายเป็นเวลาถึง 30 ปี ไม่ใช่ผู้รับเหมาที่ทำการก่อสร้างสายสีส้มตะวันตกเพียง 6 ปี
@ห่วง ACT เป็นแค่ ‘ตรายาง’ รับรองการประมูลไม่มีพฤติกรรมส่อทุจริต
7.กรณี ITD ซึ่งมีกรรมการคนหนึ่งได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก อาจทำให้มีคุณสมบัติขัดหรือแย้งกับประกาศของคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนหรือไม่ โดยเอกชนที่มีลักษณะดังกล่าวไม่มีสิทธิ์ได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ แต่เหตุใด รฟม. จึงพิจารณาให้ ITD ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รฟม. เคยให้ข่าวว่าจะสอบถามขอความกระจ่างไปยังคณะกรรมการ PPP และถึงเวลาที่ รฟม. ควรเปิดเผยความเห็นของคณะกรรมการ PPP ว่า มีความเห็นอย่างไร อีกทั้ง รฟม. ควรเปิดเผยรายงานการประชุมและ เทปบันทึกเสียงให้เห็นว่ามีการทักท้วงกรณีคุณสมบัติของ ITD หรือไม่
8.รฟม.เพิ่มคะแนนผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคในการเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯครั้งที่ 2 ให้สูงขึ้นกว่าครั้งที่ 1 และสูงกว่าโครงการอื่นที่ก่อสร้างในพื้นที่เดียวกัน และใช้เทคนิคการก่อสร้างเหมือนกัน ได้แก่ โครงการส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ จึงทำให้เป็นที่สงสัยว่ามีการกีดกันเอกชนรายใดรายหนึ่งไม่ให้ผ่านเกณฑ์เทคนิคหลังจากผ่านเกณฑ์คุณสมบัติมาแล้วหรือไม่
9.จากการเปรียบเทียบการประมูลครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 ทำให้รัฐต้องจ่ายค่าก่อสร้างแพงขึ้นถึง 6.8 หมื่นล้านบาท จึงเกิดคำถามว่าการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วยปกป้องผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติหรือไม่
ส่วนข้อสงสัยที่ว่า ข้อเสนอของ BTSC ร่วมกับ STEC ในการประมูลครั้งที่ 1 สามารถนำมาเปรียบเทียบกับข้อเสนอของ BEM ในการประมูลครั้งที่ 2 ได้หรือไม่นั้น ตนขอตอบว่า ได้ เพราะราคากลางค่าก่อสร้างในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯทั้ง 2 ครั้ง เท่ากัน คือ 96,012 ล้านบาท รวมทั้งระยะเวลาก่อสร้างไม่เกิน 6 ปี และระยะเวลาเดินรถ 30 ปี เหมือนกัน
10.การลงนามในข้อตกลงคุณธรรม 3 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย รฟม. ผู้ยื่นประมูล และผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการกระทำการทุจริตในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้วยเหตุนี้ ACT จึงควรทบทวนบทบาทของตนเองในการส่งผู้สังเกตการณ์ไปร่วมสังเกตการประมูล หากผู้สังเกตการณ์จาก ACT ไม่รักษาจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ ACT ก็จะกลายเป็นตรายางรับรองการประมูลว่าไม่มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต
@‘ACT’ เผยเปิดเวทีสาธารณะ มุ่งหวังให้เกิดการตรวจสอบสายสีส้มฯ
ขณะที่ นายมานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ACT ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ โดย ACT ไม่ได้ชี้เป้าว่ามีฮั้วประมูลเกิดขึ้นหรือมีการทุจริตเกิดขึ้นแล้ว แต่เป็นการยกประเด็นขึ้นมาเพื่อให้มีการตรวจสอบกันอย่างตรงไปตรงมา ขณะที่การเรียกร้องให้ตรวจสอบโครงการลงทุนขนาดใหญ่ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก แต่ ACT ทำอย่างนี้มาแล้วหลายครั้ง เช่น การประมูลรถไฟทางคู่สายใหม่
“โครงการล่าสุดที่นายกฯสั่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบ คือ โครงการรถไฟทางคู่ ซึ่งคณะทำงานใช้เวลาตรวจสอบ 2 เดือน แน่นอนว่าเมื่อมีการตรวจสอบ คณะทำงานฯจะต้องสอบสวน มีการบันทึกถ้อยคำ และบันทึกหลักฐานเหล่านั้นไว้ในเอกสารของคณะทำงานฯ ซึ่งสิ่งที่เราคาดหวัง คือ บุคคลทุกคนและคณะกรรมการทุกคณะที่เกี่ยวข้อง เมื่อถูกบันทึกหลักฐานไว้ทุกคนจะต้องแสดงความรับผิดชอบ จะต้องมีการร้อนตัว และกลับมาสู่สิ่งที่ถูกต้องมากขึ้น” นายมานะ กล่าว
นอกจากนี้ นายมานะ กล่าวถึงกรณีที่มีการแสดงความเป็นห่วงว่า อาจมีการใช้ ‘ผู้สังเกตการณ์’ ของ ACT เป็นตรายางในการรับรองว่าไม่มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตในการประมูลโครงการต่างๆ ว่า เราจะเห็นตลอดเวลาว่าโครงการที่สุดท้ายมีการโกง มีการคอร์รัปชั่น มีการฮั้วประมูล มีการรับสินบน และรับเงินโต๊ะ เช่น จัดซื้อรถ เรือ กำจัดขยะ หรือแม้แต่โครงการเสาไฟกินรี คนที่มีอำนาจมักพูดว่าทุกอย่างถูกระเบียบ เป็นไปตามขั้นตอน ไม่มีการโกงแน่นอน แต่สุดท้ายก็โกง
อย่างไรก็ตาม การโกงในบ้านเรา มีการโกงหรือฮั้วประมูล ตั้งแต่ขั้นตอนการเขียนทีโออาร์ มีการเจรจานอกรอบกันแล้ว หรือเมื่อประมูลแล้วมีการไปตบทรัพย์ เรียกค่าน้ำหมึกค่าเซ็น เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และหลายครั้งจะได้ยินว่าผู้มีอำนาจจะพูดโครงการที่เปิดประมูลนั้นๆ มีผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรมอยู่แล้ว ไม่มีการโกง ซึ่งพอเข้าใจว่าท่านต้องอ้างแบบนั้น ขณะที่หลายกรณีก็เป็นการบิดเบือนข้อสังเกตของผู้สังเกตการณ์
“มีข้อมูลหนึ่งที่เราไม่สบายใจ เป็นการบิดเบือน เป็นการโกหกของผู้บริหารองค์กรหนึ่ง ที่ให้ข่าวเกี่ยวกับโครงการหนึ่งว่า โครงการนี้จะลดสเปค จะลดสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานี โดยตัดลิฟต์ ตัดบันไดเลื่อนออก คนก็ถามว่าทำไมถึงตัดออก เขาไปให้เหตุผลว่า ผู้สังเกตการณ์ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันบอกให้ตัดออก ซึ่งเป็นการโกหก เพราะความเป็นจริงแล้วผู้สังเกตการณ์พูดว่า การลงทุนในลักษณะนี้ขอให้มีการศึกษาความเหมาะสมในการลงทุนเท่านั้น” นายมานะ ระบุ
นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้จากการจัดเวทีสาธารณะในครั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. จะนำไปใช้ประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่มีการพูดคุยกัน ป.ป.ช. คงไม่สามารถก้าวล่วงได้ เพราะมีผู้ยื่นคำร้องเกี่ยวกับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯดังกล่าวไป ป.ป.ช.แล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจสอบ
ทั้งนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ทำหนังสือเชิญ รฟม. และบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เข้าร่วมเวทีสาธารณะครั้งนี้ด้วย แต่ทั้ง 2 หน่วยงาน ไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมเวทีสาธารณะ โดย รฟม. ระบุเหตุผลว่า เนื่องจากคดีเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯอยู่ในชั้นการพิจารณาคดีของศาลฯ จึงไม่สะดวกส่งผู้แทนเข้าร่วม ส่วน BEM ระบุว่า เนื่องจากโครงการฯยังอยู่ระหว่างคัดเลือกเอกชน บริษัทฯจึงไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้
อ่านประกอบ :
รฟม.โต้ ACT ยันประมูล‘สายสีส้ม’เปิดกว้าง-ชี้ส่วนต่างผลปย.รัฐ 6.8 หมื่นล.ไม่น่าเชื่อถือ
เสนอผลปย.ต่างกัน 6.8 หมื่นล.! ACT ออกแถลงการณ์ ร้อง‘บิ๊กตู่’สอบประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ
BTS ยันข้อเสนอขอรัฐอุดหนุนรถไฟฟ้า 'สายสีส้ม' 9 พันล. ทำได้จริง-ย้ำประมูลส่อไม่สุจริต
‘บอร์ดคัดเลือกฯ’เคาะ BEM ชนะประมูลรถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’-ผู้ว่าฯรฟม.ยกเลิกแถลงข่าวกระทันหัน
BEM พร้อมก่อสร้าง ‘สายสีส้ม’ เมิน BTS โชว์ราคาต่ำกว่า
‘รฟม.’ประกาศ‘BEM-ITD’ผ่าน‘ซองเทคนิค’ประมูลสายสีส้มฯ-‘สามารถ’ท้วงบางเจ้าขาดคุณสมบัติ
‘ศาลปค.’สั่งยกคำร้อง‘BTSC’ขอระงับประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม-‘รฟม.’เดินหน้าเปิดซองข้อเสนอ
โต้นัว!‘สามารถ’ยันวิจารณ์รถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’สุจริต หลัง‘รฟม.’กล่าวหาใช้ดุลพินิจบิดเบือน
แนะ‘รฟม.’ชะลอเปิดซองรถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’ รอ‘ศาลปค.สูงสุด’ชี้ล้มประมูล‘รอบแรก’ชอบหรือไม่
มาแค่ 2 เจ้า! ‘BEM-อิตาเลียนไทย’ ยื่นซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม-กลุ่ม‘บีทีเอส’ไม่ร่วม
'รฟม.'โต้'บีทีเอส'ยันกติกาประมูลรถไฟฟ้า'สายสีส้ม'เปิดกว้าง-ไม่เอื้อประโยชน์เอกชนรายใด
พลิกคำพิพากษาศาลปค.! ยก 3 ปม ก่อนชี้‘รฟม.’ใช้ดุลพินิจไม่ชอบ คดีล้มประมูลสายสีส้ม ปี 64
ใช้ดุลพินิจมิชอบ!‘ศาล ปค.’สั่งเพิกถอนประกาศฯล้มประมูล‘สายสีส้ม’-‘รฟม.’จ่อยื่นอุทธรณ์
‘ศาลปค.กลาง’ นัดชี้ขาดคดี ‘บีทีเอส’ ฟ้อง ‘รฟม.’ ล้มประมูลรถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ โดยมิชอบ
เบื้องลึก!ศึกประมูล‘สายสีส้ม’ เขียนกติกาล็อก‘รับเหมา’? ‘ศักดิ์สยาม’ปัดกีดกันเอกชนบางเจ้า