'รฟม.’ เผยศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำร้อง BTSC ขอระงับการเปิดประมูลรถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ ขณะที่ ‘รฟม.’ เดินหน้าเปิดซองข้อเสนอ ด้าน ‘สามารถ’ ข้องใจแก้ ‘ทีโออาร์’ เปิดทางผู้เดินรถไฟฟ้าเกาหลีใต้
....................................
เมื่อวันที่ 9 ส.ค. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เผยแพร่เอกสารข่าวต่อสื่อมวลชน โดยมีเนื้อหาว่า ตามที่ รฟม. ได้มีประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2565
และต่อมาบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลเพิกถอนหรือยกเลิกประกาศเชิญชวนฉบับเดือน พ.ค.2565 และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) รวมทั้งประกาศกับมติที่เกี่ยวข้องด้วย และขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวห้ามการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ นั้น
ล่าสุดศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาเมื่อวันที่ 8 ส.ค.2565 ยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามที่ BTSC ร้องขอ โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองกลางได้พิจารณาแล้วมีความเห็น โดยสรุปดังนี้
1.การรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเพื่อประกอบการจัดทำประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือน พ.ค.2565 เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (ประกาศคณะกรรมการ PPP) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน พ.ศ. 2563
2.ประกาศเชิญชวนฯ ได้เผยแพร่ตามขั้นตอนเป็นระยะเวลากว่า 60 วันก่อนกำหนดวันเปิดรับซองเอกสารในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ตามที่ได้กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการ PPP เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชน พ.ศ. 2563
3.ประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวที่ได้กำหนดคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ให้มีประสบการณ์ด้านการก่อสร้างงานโยธาในระดับสูง เป็นไปเพื่อให้ใช้ความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญของเอกชน ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ตาม มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
4.ประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือน พ.ค.2565 มีเอกชนผู้ซื้อเอกสาร RFP ทั้งในและต่างประเทศ รวม 14 ราย ซึ่งเห็นได้ว่ามีการเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมในการคัดเลือกมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นกว่าประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือน ก.ค.2563 ที่มีเอกชนผู้ซื้อเอกสาร RFP เพียง 10 ราย
5.การเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ไม่อาจมีเอกชนรายหนึ่งรายใดเพียงรายเดียวที่จะมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในประกาศเชิญชวน แต่จะต้องเป็นกรณีที่มีเอกชนหลายรายร่วมกันเพื่อเข้าร่วมการยื่นข้อเสนอ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการร่วมลงทุน ประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิหรือกีดกัน BTSC มิให้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอ ซึ่ง BTSC สามารถยื่นข้อเสนอได้เช่นเดียวกับเอกชนรายอื่นๆ
สำหรับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ซึ่งภายหลังจากการรับซองเอกสารข้อเสนอฯ เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2565 ที่มีเอกชน 2 รายยื่นข้อเสนอ และได้เปิดซองข้อเสนอซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2565 ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินของ รฟม. เพื่อนำเสนอคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์–มีนบุรี (สุวินทวงศ์) พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
วันเดียวกัน นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะนักวิชาการด้านวิศวกรรมขนส่ง ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ‘ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte’ โดยตั้งข้อสังเกตกรณีการเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ครั้งที่ 2 ซึ่งมีการปรับปรุงทีโออาร์จากการประมูลครั้งที่ 1 และทำให้ Incheon Transit Corporation (ITC) ผู้เดินรถไฟฟ้าจากเกาหลีใต้ มีคุณสมบัติเข้าประมูลได้ ดังนี้
“ถามดังๆ "อินชอน" ผู้เดินรถไฟฟ้าเกาหลี
เคยจัดหา-ติดตั้งรถไฟฟ้า ไม่น้อยกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท หรือไม่ ?
ในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 2 รฟม. ตัดประสบการณ์ของผู้เดินรถไฟฟ้า "ในการจัดหาและติดตั้งรถไฟฟ้า มูลค่าไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท" ที่กำหนดไว้ในการประมูลครั้งที่ 1 ออก จึงชวนให้น่าสงสัยว่า "อินชอน" ผู้เดินรถไฟฟ้าเกาหลี ซึ่งเข้าร่วมประมูลครั้งที่ 2 มีประสบการณ์นี้หรือไม่ ?
1.ประสบการณ์ของผู้เดินรถไฟฟ้าในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม
ในการประมูลครั้งที่ 1 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำหนดให้ผู้เดินรถไฟฟ้าจะต้องมีประสบการณ์ในการจัดหาหรือผลิตระบบรถไฟฟ้าพร้อมติดตั้งที่แล้วเสร็จภายในช่วงระยะเวลา 25 ปี นับถึงวันยื่นข้อเสนอ โดยผลงานต้องมีลักษณะและความซับซ้อนเทียบเท่ากับโครงการนี้ มีมูลค่าสัญญาเดียวหรือรวมกันทุกสัญญาไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท
แต่ในการประมูลครั้งที่ 2 รฟม. ตัดประสบการณ์ “ในการจัดหาหรือผลิตระบบรถไฟฟ้าพร้อมติดตั้งที่แล้วเสร็จ ภายในช่วงระยะเวลา 25 ปี นับถึงวันยื่นข้อเสนอ โดยผลงานต้องมีลักษณะและความซับซ้อนเทียบเท่ากับโครงการนี้ มีมูลค่าสัญญาเดียวหรือรวมกันทุกสัญญาไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท” ออกไป “จึงชวนให้น่าสงสัยว่า Incheon Transit Corporation (ITC) ผู้เดินรถไฟฟ้าจากเกาหลีที่ร่วมยื่นประมูลกับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ในการประมูลครั้งที่ 2 มีคุณสมบัติเหล่านี้หรือไม่ ? ถ้าไม่มี และ รฟม. ไม่ตัดประสบการณ์นี้ออก ITC ก็จะไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้”
ITC จึงมีบทบาทสำคัญในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 2 เพราะหาก ITC ไม่สามารถจับมือร่วมยื่นประมูลกับ ITD ได้ ก็จะเหลือผู้ยื่นประมูลเพียงรายเดียวคือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมกับ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ซึ่งย่อมไม่ใช่ความต้องการของ รฟม. อย่างแน่นอน
จากการที่ผมได้ค้นหาประสบการณ์ของ ITC ไม่พบว่ามีประสบการณ์ในการจัดหาและติดตั้งระบบรถไฟฟ้า หรือในกรณีที่มีแต่ผมหาไม่พบก็คงมีน้อยมาก คาดว่ามีมูลค่าไม่ถึง 15,000 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อความถูกต้องแม่นยำ และเพื่อคลายข้อสงสัยของสาธารณชน ผมใคร่ขอวิงวอนให้ รฟม. ตรวจสอบอีกครั้งว่า ICT มีประสบการณ์นี้หรือไม่ ? แล้วตอบออกมาดังๆ ว่า มีหรือไม่มี ?
2.การประมูลรถไฟฟ้าสายอื่นของ รฟม. กำหนดประสบการณ์ของผู้เดินรถไฟฟ้าไว้อย่างไร?
การประมูลรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ของ รฟม. ในปี 2559 ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้างเกือบแล้วเสร็จ และจะเปิดให้บริการในอีกไม่นาน รฟม. ได้กำหนดให้ผู้เดินรถไฟฟ้าจะต้องมีประสบการณ์ในการจัดหาหรือผลิตระบบรถไฟฟ้าพร้อมติดตั้งที่แล้วเสร็จภายในช่วงระยะเวลา 20 ปี นับถึงวันยื่นข้อเสนอ มีมูลค่าของสัญญารวมกันทั้งหมดแล้วไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท
ด้วยเหตุนี้ จึงสรุปได้ว่าประสบการณ์นี้มีความสำคัญที่ผู้เดินรถไฟฟ้าจะต้องมี แต่ทำไม รฟม. จึงตัดประสบการณ์นี้ออกไปในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 2 ทั้งๆ ที่ ในประกาศเชิญชวนหาผู้ร่วมลงทุน รฟม. ได้ระบุหน้าที่ของผู้ร่วมลงทุนไว้ชัดเจนว่า “ผู้ร่วมลงทุนมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง และทดสอบระบบรถไฟฟ้า”
3.ข้อสงสัย
ในกรณี ITC ไม่มีประสบการณ์นี้ การที่ รฟม. ตัดข้อความ "ประสบการณ์ในการจัดหาหรือผลิตระบบรถไฟฟ้าพร้อมติดตั้งที่แล้วเสร็จ ภายในช่วงระยะเวลา 25 ปี นับถึงวันยื่นข้อเสนอ โดยผลงานต้องมีลักษณะและความซับซ้อนเทียบเท่ากับโครงการนี้ มีมูลค่าสัญญาเดียวหรือรวมกันทุกสัญญาไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท" ออก ทำให้เกิดคำถามว่า “การตัดเงื่อนไขสำคัญนั้นออกเพื่ออะไร ? และ/หรือ เพื่อใคร ? หรือไม่?
และมีเหตุผลสำคัญอย่างไรจึงต้องตัดออก การตัดเงื่อนไขสำคัญดังกล่าวออกไปนั้น ทำให้ใครได้รับประโยชน์ ? หรือเสียประโยชน์อย่างไร ? หรือไม่ ? และสำคัญที่สุดคือ ประชาชนชาวไทยได้รับประโยชน์ ? หรือเสียประโยชน์อย่างไร ? หรือไม่?" ควรอย่างยิ่งที่จะต้องชี้แจงให้ประชาชนชาวไทยได้รับทราบโดยทั่วกัน
อ่านประกอบ :
โต้นัว!‘สามารถ’ยันวิจารณ์รถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’สุจริต หลัง‘รฟม.’กล่าวหาใช้ดุลพินิจบิดเบือน
แนะ‘รฟม.’ชะลอเปิดซองรถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’ รอ‘ศาลปค.สูงสุด’ชี้ล้มประมูล‘รอบแรก’ชอบหรือไม่
มาแค่ 2 เจ้า! ‘BEM-อิตาเลียนไทย’ ยื่นซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม-กลุ่ม‘บีทีเอส’ไม่ร่วม
'รฟม.'โต้'บีทีเอส'ยันกติกาประมูลรถไฟฟ้า'สายสีส้ม'เปิดกว้าง-ไม่เอื้อประโยชน์เอกชนรายใด
พลิกคำพิพากษาศาลปค.! ยก 3 ปม ก่อนชี้‘รฟม.’ใช้ดุลพินิจไม่ชอบ คดีล้มประมูลสายสีส้ม ปี 64
ใช้ดุลพินิจมิชอบ!‘ศาล ปค.’สั่งเพิกถอนประกาศฯล้มประมูล‘สายสีส้ม’-‘รฟม.’จ่อยื่นอุทธรณ์
‘ศาลปค.กลาง’ นัดชี้ขาดคดี ‘บีทีเอส’ ฟ้อง ‘รฟม.’ ล้มประมูลรถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ โดยมิชอบ
เบื้องลึก!ศึกประมูล‘สายสีส้ม’ เขียนกติกาล็อก‘รับเหมา’? ‘ศักดิ์สยาม’ปัดกีดกันเอกชนบางเจ้า
ศาลปค.นัดพิจารณาคดี‘รฟม.’ยกเลิกประมูลรถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’โดยมิชอบด้วยกฎหมาย 23 มิ.ย.นี้