‘ศาลปกครองกลาง’ สั่งเพิกถอน ‘มติบอร์ดคัดเลือกฯ-ประกาศฯ รฟม.’ ยกเลิกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ 'รอบแรก' ชี้เป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่ ‘ภคพงศ์’ เตรียมยื่นอุทธรณ์ ยันเดินหน้ารับซองประมูล 'รอบใหม่' ตามกำหนดเดิม
...................................
เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ศาลปกครองกลาง พิพากษาเพิกถอนมติของคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ลงวันที่ 3 ก.ค. 2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว
พร้อมทั้งให้เพิกถอนประกาศของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว ลงวันที่ 3 ก.พ.2564 ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติ และตั้งแต่วันที่ รฟม. มีประกาศดังกล่าว
เนื่องจากศาลฯพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ยังฟังไม่ได้ว่ามติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ) และประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (รฟม.) ออกมาโดยมีเหตุสมควรและมีความจำเป็น เพื่อให้การบังคับใช้ตามมติและประกาศดังกล่าวบรรลุ ซึ่งประโยชน์สาธารณะตามเป้าประสงค์ที่มาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2562 บัญญัติไว้ และตามเจตนารมณ์ที่ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2562 บัญญัติไว้อย่างครบถ้วน อันถือว่าเป็นมติและประกาศที่ออกโดยใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ด้าน นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส กล่าวว่า การที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36ฯ และเพิกถอนประกาศ รฟม. เรื่อง การยกเลิกการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯนั้น ศาลฯให้ความยุติธรรมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานเกี่ยวกับการประมูลในประเทศไทย
“การตัดสินของศาลครั้งนี้ เราก็ดีใจ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการสร้างบรรทัดฐานการประมูลบ้านเรา ซึ่งการต่อสู้ครั้งนี้ก็ยังไม่รู้ว่าเราจะชนะหรือแพ้ แต่เราอยากให้เกิดการประมูลที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นธรรม เพราะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ศาลฯจะเน้นในเรื่องนี้มาก เพราะเป็นเรื่องสำคัญ เกี่ยวข้องกับชื่อเสียงของประเทศ และความเชื่อมั่นของนักลงทุน เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่” นายสุรพงษ์ กล่าว
นายสุรพงษ์ ยังระบุว่า จากคำพิพากษาของศาลปกครองกลางดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าการเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ครั้งแรก ยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการ เพราะคำสั่งยกเลิกการประมูลไม่มีผล ดังนั้น จึงต้องรอดูว่า รฟม. ซึ่งกำลังเปิดรับซองเอกสารข้อเสนอจากเอกสารในการเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ครั้งที่สอง ในวันที่ 27 ก.ค.นี้ จะดำเนินการอย่างไร ขณะที่ในวันนี้ทางศาลฯเองได้ชี้ว่าการประมูลรอบใหม่สามารถยกเลิกได้
“การเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯรอบใหม่ บีทีเอสได้เข้าร่วมการซื้อซองเอกสารประกวดราคาแล้ว และได้มีการสอบถามไปยัง รฟม.หลายเรื่อง โดยเฉพาะเกณฑ์ในเรื่องคุณสมบัติการเข้าประมูลของเอกชน เพราะแตกต่างจากเกณฑ์รอบแรกอย่างมาก ซึ่งต้องรอในวันพรุ่งนี้ว่ารฟม.จะตอบมาอย่างไรบ้าง เพราะมีเงื่อนไขที่ไม่ชัดเจนอยู่หลายเรื่อง และคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในวันนี้ก็จะมีผลด้วย ซึ่งรฟม.ก็ต้องนำกลับไปพิจารณาเช่นกัน” นายสุรพงษ์ ระบุ
ขณะที่ นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าฯ รฟม. กล่าวว่า รฟม.จะเร่งคัดคำพิพากษา เพื่อตรวจสอบรายละเอียด และดำเนินการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ตามขั้นตอต่อไป พร้อมทั้งระบุว่า การเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รอบสอง ยังคงดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป โดย รฟม.มีกำหนดเปิดให้เอกชนยื่นซองข้อเสนอในวันที่ 27 ก.พ.2565
“ไม่มีผล เนื่องจากคดียังไม่สิ้นสุด และ รฟม.ใช้สิทธิ์ในการยื่นอุทธรณ์” นายภคพงศ์ ตอบผู้สื่อข่าว หลังจากถูกถามว่า คำพิพากษาของศาลปกครองกลางในวันนี้ จะมีผลต่อการประกวดราคาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รอบใหม่ ที่ รฟม. กำลังดำเนินการอยู่หรือไม่
สำหรับคดีนี้ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BSTC) ฟ้องว่า คณะกรรมการคดัเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 2 คน กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
กรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติยกเลิกการประมูลในโครงการรถฟ้าสายสีส้มฯ และ รฟม. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) มีประกาศ ลว. 3 ก.พ.2564 ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดี (BTSC) ซึ่งเป็นผู้ซื้อและยื่นเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย
อ่านประกอบ :
‘ศาลปค.กลาง’ นัดชี้ขาดคดี ‘บีทีเอส’ ฟ้อง ‘รฟม.’ ล้มประมูลรถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ โดยมิชอบ
เบื้องลึก!ศึกประมูล‘สายสีส้ม’ เขียนกติกาล็อก‘รับเหมา’? ‘ศักดิ์สยาม’ปัดกีดกันเอกชนบางเจ้า
ศาลปค.นัดพิจารณาคดี‘รฟม.’ยกเลิกประมูลรถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’โดยมิชอบด้วยกฎหมาย 23 มิ.ย.นี้
14 เอกชน ซื้อซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ‘GULF’มาด้วย-‘รฟม.’เปิดชี้แจง RFP 15 มิ.ย.นี้
เชื่อมีผู้แข่งขันน้อยราย! กังขา RFP รถไฟฟ้าสายสีส้มฯ สกัด'รับเหมา'-BTS ส่อชวดประมูล
เปิด RFP ประมูลสายสีส้ม‘บางขุนนนท์-มีนบุรี’-ตั้งเกณฑ์ผ่าน‘ซองเทคนิค’ต้องได้ 90 คะแนน
'รฟม.' เปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม 'บางขุนนนท์-มีนบุรี' 1.28 แสนล. 'รอบใหม่' มี.ค.นี้
‘ศาลปค.กลาง’ชี้ ‘รฟม.’แก้กติกาประมูล‘สายสีส้ม’ ไม่ชอบด้วยกม.-ยกฟ้องชดใช้ ‘BTSC’ 5 แสน
ศาลปค.กลางนัดอ่านคำพิพากษา คดี ‘บีทีเอส’ ฟ้อง ‘รฟม.’แก้กติกาประมูลสายสีส้ม 9 ก.พ.นี้
‘ศาลคดีทุจริตฯ’ เลื่อนพิจารณาหลักฐาน คดีแก้ทีโออาร์รถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ เป็น 25 ต.ค.