"...แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ และรฟม.) จะมีอำนาจใช้ดุลพินิจออกมติยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนและออกประกาศให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนในทุกกรณี โดยมิต้องพิจารณาว่า การออกมติและประกาศดังกล่าวเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดให้อำนาจไว้หรือไม่ แต่อย่างใด..."
..................................
จากกรณีที่ศาลปกครองกลาง พิพากษาเพิกถอนมติของคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ลงวันที่ 3 ก.ค.2563
พร้อมทั้งให้เพิกถอนประกาศของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว ลงวันที่ 3 ก.พ.2564
เนื่องจากศาลฯพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ยังฟังไม่ได้ว่ามติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) และประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (รฟม.) ออกมาโดยมีเหตุสมควรและมีความจำเป็น เพื่อให้การบังคับใช้ตามมติและประกาศดังกล่าวบรรลุ ซึ่งประโยชน์สาธารณะตามเป้าประสงค์ที่มาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2562 บัญญัติไว้ อันถือว่าเป็นมติและประกาศที่ออกโดยใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปสาระสำคัญของคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในคดีดังกล่าว (คดีหมายเลขดำที่ 580/2564 ดดีหมายเลขแดงที่ 1455/2565) ให้สาธารชนรับทราบถึงที่มาที่ไป รวมคำวินิจฉัยในประเด็นต่างๆของศาลปกครองกลาง ดังนี้
@ที่มาคดี ‘BTSC’ ฟ้อง ‘บอร์ดคัดเลือกฯ-รฟม.’ ล้มประมูลสายสีส้มฯมิชอบ
ผู้ฟ้องคดี : บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC)
ผู้ถูกฟ้องคดี : คณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2)
คดีนี้ ผู้ฟ้องคดี (BTSC) ฟ้องว่า ผู้ฟ้องถูกฟ้องคดีที่ 2 (รฟม.) ได้ออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 3 ก.ค.2563 ผู้ฟ้องคดี จึงได้ซื้อซอง และยื่นเอกสารข้อเสนอตามประกาศดังกล่าว
แต่ระหว่างที่ผู้ซื้อซองเตรียมเอกสารข้อเสนอ ผู้ฟ้องคดีทั้ง 2 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ และรฟม.) ได้แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการในการพิจารณาคัดเลือก เป็นว่า จะเปิดซองที่ 2 ข้อเสนอเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ‘พร้อมกัน’ แบ่งเป็นข้อเสนอเทคนิค 30 คะแนน และข้อเสนอผลตอบแทน 70 คะแนน
จากหลักเกณฑ์เดิมที่จะเปิดซองที่ 2 และซองที่ 3 ‘แยกกันทีละซอง’ คือ เมื่อคะแนนผ่านเกณฑ์ของข้อเสนอเทคนิค จึงจะได้รับการพิจารณาข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม. ความเห็นหน่วยงานของรัฐต่างๆ รายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และประกาศเชิญชวนเอกชนฯ
ผู้ฟ้องคดี (BTSC) จึงยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ซึ่งศาลปกครองกลางเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์ที่แก้ไขเพิ่มเติม
ต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งกำหนดวันสิ้นสุดแสวงหาข้อเท็จจริง และแจ้งให้คู่ความทุกฝ่ายทราบในช่วงประมาณวันที่ 25 ม.ค.2564
แต่ทันทีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ทราบว่าศาลปกครองกลางใกล้จะมีคำพิพากษาในประเด็นพิพาท ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) ได้มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 ให้ยกเลิกการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
และในวันเดียวกันนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (รฟม.) ได้ออกประกาศ เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ณ วันที่ 3 ก.ค.2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว
จากนั้นวันที่ 9 ก.พ.2564 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลจำหน่ายคดี โดยอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายพิจารณายกเลิกประกาศเชิญชวนและการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนแล้ว ซึ่งทำให้คำสั่งอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีสิ้นไป และวันที่ 5 มี.ค.2564 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี
ผู้ฟ้องคดี (BTSC) เห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 ให้ยกเลิกการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ
และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (รฟม.) ได้ออกประกาศ เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ณ วันที่ 3 ก.ค.2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว ลงวันที่ 3 ก.พ.2564 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เนื่องจากเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ กีดกันทางการค้า ขัดต่อแนวปฏิบัติในการคัดเลือกเอกชนในโครงการร่วมทุนอื่นๆ และอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางราย อีกทั้งยังเป็นการกระทำที่หลีกเลี่ยงการตรวจสอบโดยศาลปกครอง ละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียหาย
@ขอศาลสั่งเพิกถอน ‘มติบอร์ดคัดเลือกฯ-ประกาศ รฟม.’ ยกเลิกการประมูล
ผู้ฟ้องคดี (BTSC) จึงขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่ง ดังนี้
1.เพิกถอนหรือยกเลิกมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) ที่ให้ยกเลิกการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
2.เพิกถอนหรือยกเลิกประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (รฟม.) เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ณ วันที่ 3 ก.ค.2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว
3.ให้ทุเลาการบังคับตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ให้ยกเลิกการคัดเลือกโครงการพิพาท และประกาศยกเลิกการคัดเลือกโครงการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2
และห้ามไม่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 กระทำการหรือดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนในโครงการพิพาทครั้งใหม่ เช่น การรับฟังความคิดเห็น การออกประกาศเชิญชวน และการออกเอกสารการคัดเลือก เป็นต้น ทั้งนี้ จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
4.ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 หยุดการกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไป ซึ่งการออกคำสั่งหรือกระทำทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำละเมิด และไม่สุจริตของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ในโครงการพิพาท รวมถึงห้ามไม่ให้ออกคำสั่งหรือกระทำทางการปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ฯ
(โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) หรือโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง)
@‘BTSC’ มีสิทธิ์ฟ้องคดี-ไม่ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อ‘คณะกรรมการร่วมทุนฯ’ก่อน
ศาลได้ตรวจพิจารณาพยานหลักฐานในคำฟ้อง คำให้การ คำคัดค้านคำให้การ คำให้การเพิ่มเติม คำชี้แจง รวมถึงตรวจพิจารณาข้อกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยแล้ว จึงกำหนดประเด็นวินิจฉัยไว้ 3 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ฟ้องคดี (BTSC) มีสิทธิฟ้องคดีหรือไม่
เห็นว่า เมื่อผู้ฟ้องคดี เป็นหนึ่งในกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ ซึ่งได้ร่วมยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ณ วันที่ 3 ก.ค.2563 การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติยกเลิกการคัดเลือก และผู้ถูกฟ้องคดี 2 ยกเลิกประกาศเชิญชวนและการคัดเลือกตามประกาศดังกล่าว
ทำให้ผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ ไม่ได้เข้าสู่การิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน อันถือว่าได้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายจากมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) และประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (รฟม.) ผู้ฟ้องคดี (BTSC) จึงมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาล
ประเด็นที่ 2 ผู้ฟ้องคดีต้องยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ก่อนการฟ้องคดีหรือไม่
เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีไม่จำเป็นต้องยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ก่อนการฟ้องคดีนี้
เนื่องจาก พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2562 บัญญัติให้คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนฯ มีอำนาจวินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ มิได้บัญญัติให้ผู้ยื่นข้อเสนอการคัดเลือกต้องใช้สิทธิอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำส่งของคณะกรรมคัดเลือกหรือหน่วยงานเจ้าของโครงการต่อคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนฯแต่อย่างใด
@ชี้ ‘บอร์ดคัดเลือกฯ-รฟม.’ มีอำนาจยกเลิกการประมูลสายสีส้มฯ
ประเด็นที่ 3 มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 ที่ให้ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 3 ก.ค.2563
และประกาศการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว ลงวันที่ 3 ก.พ.2564 ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่
กรณีดังกล่าว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีอำนาจยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีอำนาจออกประกาศ รฟม. เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนฯ หรือไม่
เห็นว่า เมื่อพิจารณาตามมาตรา 39 มาตรา 40 และมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2562
รวมทั้งประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนฯ เรื่อง รายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และสาระสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุน พ.ศ.2563 ข้อ 4 ที่กำหนดให้ร่างประกาศเชิญชวน อย่างน้อยต้องแสดงการสงวนสิทธิ์ที่จะยกเลิกประกาศเชิญชวนหรือเอกสาร สำหรับการคัดเลือกเอกชน หรือยกเลิกการคัดเลือกเอกชน โดยไม่พิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอรายใดเลย แล้ว
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) มีอำนาจยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน และเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 เห็นชอบให้ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ จึงถือว่าผู้ฟ้องคดีที่ 2 (รฟม.) มีอำนาจออกประกาศ รฟม. ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนฯ
@ศาลฯระบุยกเลิกการประมูลต้อง ‘สมเหตุสมผล-คุ้มต่อความเสียหาย’
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 จะมีอำนาจยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว
แต่มิใช่จะมีอำนาจใช้ดุลพินิจออกมติยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน และออกประกาศให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนในทุกกรณี
ทั้งนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 จะใช้อำนาจออกมติยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน และยกเลิกประกาศเชิญชวนดังกล่าวได้ ต่อเมื่อมีเหตุตามที่กฎหมายกำหนดให้ออกคำสั่งยกเลิกได้เกิดขึ้น
และแม้การออกมติและประกาศดังกล่าว จะเพื่อประโยชน์ของรัฐหรือประชาชนอันถือว่าเป็นประโยชน์สาธารณะตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 กล่าวอ้าง
แต่ต้องเป็นไปเพื่อให้เกิดหรือรักษาไว้ ซึ่งประโยชน์สาธารณะที่อยู่ในเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของอำนาจในการออกคำสั่งยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ
และหากการออกคำสั่งยกเลิกการคัดเลือกและประกาศเชิญชวนดังกล่าว มีผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ต้องออกคำสั่งคำนึงถึงความสมเหตุสมผลและความจำเป็น เพื่อให้การบังคับใช้ตามคำสั่งดังกล่าวสมเจตนารมณ์ของกฎหมาย และคุ้มต่อความเสียหายที่จะตกแก่ประชาชน
ส่วนการที่ประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ ๓ ก.ค.2563 ข้อ 12.1 และเอกสารการคัดเลือกเอกชน เล่ม 1 : ข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ ข้อ 35.1 มีข้อกำหนดที่เป็นข้อความเดียวกันว่า
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 สงวนสิทธิ์ตามดุลพินิจที่จะยกเลิกการประกาศเชิญชวนข้อเสนอหรือยกเลิกการคัดเลือก โดยไม่พิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอรายใดเลยหรือจะไม่คัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอผลประโยชน์สุทธิที่สูงสุดก็ได้ โดยที่ผู้ยื่นข้อเสนอไม่สามารถเรียกร้องค่าใช้จ่ายหรือค่าเสียหายใดๆได้ นั้น
เป็นเพียงการกำหนดข้อสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกประกาศเชิญชวนและยกเลิกการคัดเลือกเอกชนไว้ โดยที่ผู้ยื่นข้อเสนอไม่สามารถเรียกร้องค่าใช้จ่ายหรือค่าเสียหายใดๆได้ไว้เท่านั้น
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ และรฟม.) จะมีอำนาจใช้ดุลพินิจออกมติยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนและออกประกาศให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนในทุกกรณี โดยมิต้องพิจารณาว่า การออกมติและประกาศดังกล่าวเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดให้อำนาจไว้หรือไม่ แต่อย่างใด
@ยก 3 ปมวินิจฉัย ก่อนชี้‘รฟม.’ใช้ดุลพินิจไม่ชอบ ล้มประมูลสายสีส้ม
จึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ออกประกาศ รฟม. เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ลงวันที่ 3 ก.พ.2564 นั้น เป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าปัญหาเกี่ยวกับความล่าช้าและความไม่ชัดเจนในการคัดเลือกดังกล่าว เกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ได้มีการแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการคัดเลือกตามเอกสารข้อเสนอการร่วมทุน ทำให้ผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563
กรณีจึงเห็นได้ว่า ปัญหาความล่าช้าในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน และไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาดำเนินการคัดเลือกเอกชนจนแล้วเสร็จที่ชัดเจน นั้น โดยแท้จริงแล้วเกิดจากการที่ผู้ฟ้องคดี (BTSC) มีความสงสัยในความโปร่งใสในการดำเนินคัดเลือกของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2
ดังนั้น ควรที่จะให้องค์กรตุลาการ ซึ่งมีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย ได้ตรวจสอบว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ใช้อำนาจออกหลักเกณฑ์การคัดเลือกที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
มิเช่นนั้นแล้ว แม้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 จะยกเลิกและออกประกาศเชิญชวนเพื่อดำเนินการคัดเลือกใหม่ ผู้ฟ้องคดี ซึ่งยังมีความสงสัยในความโปร่งใสในการดำเนินการดังกล่าว ย่อมนำประกาศเชิญชวนดังกล่าวมาฟ้องต่อศาล เพื่อให้ศาลพิพากษาเพิกถอน อันทำให้การดำเนินการคัดเลือกตามโครงการไม่อาจสำเร็จได้ดังที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 อ้าง
กรณีจึงฟังไม่ได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 มีความจำเป็นหรือมีเหตุสมสมควรที่จะใช้วิธีการยกเลิกการคัดเลือกและยกเลิกประกาศเชิญชวนเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความล่าช้าในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน และการไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาดำเนินการคัดเลือกเอกชนจนแล้วเสร็จที่ชัดเจนได้
ส่วนการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติยกเลิกการคัดเลือกและเห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวน เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดูแลบำรุงรักษาโครงการงานโยธาสายสีส้มตะวันออก และเพื่อลดความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของโครงการ นั้น
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎตามรายงานการประชุมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 ว่า ในการวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) ทางเลือกแนวทางที่ 1 รอข้อสรุปทางคดีและดำเนินการคัดเลือกเอกชนต่อไป
มีข้อเสีย ในส่วนความล่าช้าที่เกิดขึ้น จะทำให้การเปิดบริการส่วนตะวันออกล่าช้าออกไปจากเดือน มี.ค.2567 เป็นเดือน มี.ค.2569 มีความเสี่ยงที่ รฟม. อาจมีค่าใช้จ่าย Care of Works งานโยธาตะวันออกที่แล้วเสร็จเพิ่มขึ้นเป็นระยะเวลา 24 เดือน และเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ
กรณีจึงเห็นได้ว่า เมื่อตามประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ข้อ 1.4 (1) ก.กำหนดให้ผู้ร่วมลงทุนมีระยะเวลาดำเนินงานการออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง ทดสอบระบบรถไฟฟ้า และทดสอบเดินรถไฟฟ้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) 3 ปี 6 เดือน นับจากวันที่แจ้งให้เริ่มงาน
ซึ่งหากพิจารณาจากระยะเวลาดำเนินการ ตามการเปรียบเทียบด้านระยะเวลาที่กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาฯ จัดทำเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (รฟม.) กรณียกเลิกและคัดเลือกใหม่ โดยคาดว่าจะเสนอ ครม. ให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนภายในเดือน ก.ค.2564 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับเอกขนที่ได้รับการคัดเลือกได้
เมื่อรวมกับระยะเวลา 3 ปี 6 เดือน นับจากวันดังกล่าว จึงเปิดบริการเดินรถส่วนตะวันออกได้อย่างเร็วที่สุดประมาณเดือน ม.ค.2568 อันเป็นการล่าช้ากว่าแผนงานที่กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาฯ ได้แจ้งไว้ในรายงานการประชุมเช่นกัน
ประกอบกับ หากผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 รอให้ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งเกี่ยวกับคำสั่งทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ได้แก้ไขเพิ่มเติม ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่นเสียก่อน ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ย่อมทราบดีว่ามีระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดได้ไต่สวนคู่กรณีไปแล้วเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2563
โดยหากศาลปกครองสูงสุด กลับคำสั่งของศาลปกครองกลาง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ก็มีอำนาจดำเนินการคัดเลือกและเสนอผลการคัดเลือกต่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัด และครม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและทำสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกต่อไปได้
อันจะทำให้การดำเนินการเปิดบริการรถไฟฟ้าส่วนตะวันออกเป็นไปตามแผนการที่กำหนด และทำให้ลดความเสี่ยงที่อาจมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดูแลบำรุงรักษาโครงการงานโยธาสายสีส้มตะวันออก เนื่องจากมิต้องไปดำเนินการยกเลิกประกาศเชิญชวนและการคัดเลือก รับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
และนำความคิดเห็นมาพิจารณาประกอบการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน และร่างเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชน และเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาตามที่กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คาดการณ์ไว้ประมาณ 6 ถึง 8 เดือน และยังอาจเสี่ยงต่อการถูกโต้แย้งและนำข้อพิพาทมาสู่ศาลด้วย
แต่หากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 จึงอาจพิจารณายกเลิกการคัดเลือกและยกเลิกประกาศเชิญชวนต่อไป
หรือหากผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 รอศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ซึ่งในการประชุมดังกล่าวผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ทราบแล้วว่า ศาลปกครองกลางได้กำหนดวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงแล้ว และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ก็ได้คาดการณ์ว่าศาลปกครองกลางจะมีคำพิพากษาภายใน 3 เดือน
ส่วนระยะเวลาในการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่าวนั้น หากผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 เห็นว่าเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองก็ขอบจะยื่นคำร้องแจ้งเหตุจำเป็นเร่งด่วนดังกล่าวให้ศาลปกครองสูงสุดทราบเพื่อขอศาลเร่งรัดการพิจารณาได้ ซึ่งการดำเนินการตามวิธีการดังกล่าวอยู่ในวิสัยที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 สามารถกระทำได้
กรณีจึงฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 มีความจำเป็นหรือมีเหตุสมควรที่จะใช้วิธีการยกเลิกการคัดเลือกและยกเลิกประกาศเชิญชวนเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดูแลบำรุงรักษาโครงการงานโยธาสายสีส้มตะวันออก และเพื่อลดความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของโครงการ
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาตามมาตรา 6 (5) แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2562 ที่บัญญัติให้การดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.นี้ ต้องเป็นไปเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ของการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน ในด้านความโปร่งใส และตรวจสอบได้ และตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน
แต่การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติให้ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ออกประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ลงวันที่ 3 ก.พ.2564 นั้น มิได้คำนึงถึงความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการจัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุน รวมถึงกระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของความเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างรัฐและเอกชน ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2562 ที่มุ่งประสงค์ให้การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการของรัฐ มีโปร่งใสตรวจสอบได้ และปราศจากการมีส่วนได้เสียในการดำเนินการคัดเลือกฯ อันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในการได้รับการบริการของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ
“ดังนั้น ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น จึงฟังไม่ได้ว่ามติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ออกมาโดยมีเหตุสมควรและมีความจำเป็น เพื่อให้การบังคับใช้ตามมติและประกาศดังกล่าวบรรลุซึ่งประโยชน์สาธารณะตามเป้าประสงค์ที่มาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 บัญญัติไว้
และตามเจตนารมณ์ที่ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 บัญญัติไว้อย่างครบถ้วน อันถือว่าเป็นมติและประกาศที่ออกโดยใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อวินิจฉัยได้ดังนี้ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายอื่นตามข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีอีกต่อไป เนื่องจากไม่ทำให้ผลแห่งคำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป”
@ย้ำ ‘มติบอร์ดคัดเลือกฯ-ประกาศ รฟม.’ ไม่ชอบด้วยกม.-ต้องเพิกถอน
กรณีจึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า มีเหตุสมควรที่ศาลต้องพิพากษามีคำบังคับให้เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามการประชุม ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 ที่มีมติให้ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 3 ก.ค.2563
และประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว ลงวันที่ 3 ก.พ.2564 หรือไม่ เพียงใด
เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยไปข้างต้นแล้วว่า มติของผู้ถูกพ้องคดีที่ 1 และประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในการพิพากษาคดี ศาลจึงต้องกำหนดคำบังคับให้เพิกถอนมติและคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว และให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติและตั้งแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ออกประกาศดังกล่าว
@ศาลไม่ให้ข้อสังเกตกรณีการเปิดประมูลรถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ รอบใหม่
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดี (BTSC) อ้างในคำแถลงว่า หากศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่พิพาท ขอให้ศาลมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาไว้ในคำพิพากษา โดยห้ามผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ใช้เอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนฉบับเดือน พ.ค.2565 และกลับไปคัดเลือกเอกชนตามหลักเกณฑ์วิธีการตามเอกสารการคัดเลือกเอกชนเดิม นั้น
เห็นว่า เมื่อเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนฉบับเดือน พ.ค.2565 มิใช่ประเด็นที่พิพาทกันในคดีนี้ ประกอบกับคดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ 354/2564 ยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ที่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องในข้อหาที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ศาลพิพากษาห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 กระทำการที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ไว้พิจารณาแล้ว ผู้ฟ้องคดี จึงไม่อาจขอให้ศาลมีข้อสังเกตตามข้ออ้างดังกล่าวได้ ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว จึงไม่อาจรับฟังได้
“พิพากษาเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามการประชุม ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 3 ก.ค.2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว
และเพิกถอนประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว ลงวันที่ 3 ก.พ.2564
ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติ และตั้งแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีประกาศดังกล่าว” คำพิพากษาศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 580/2564 ดดีหมายเลขแดงที่ 1455/2565 ระบุ
อย่างไรก็ตาม หลังจากศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาดังกล่าว ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าฯ รฟม. ให้สัมภาษณ์ว่า รฟม. จะเร่งคัดคำพิพากษา เพื่อตรวจสอบรายละเอียด และดำเนินการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ตามขั้นตอต่อไป
พร้อมทั้งระบุว่า การเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รอบสอง ยังคงดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป โดย รฟม.มีกำหนดเปิดให้เอกชนยื่นซองข้อเสนอวันที่ 27 ก.พ.2565
“ไม่มีผล เนื่องจากคดียังไม่สิ้นสุด และ รฟม.ใช้สิทธิ์ในการยื่นอุทธรณ์” ภคพงศ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าว หลังจากถูกถามว่า คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง จะมีผลต่อการประกวดราคาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รอบใหม่ ที่ รฟม. กำลังดำเนินการอยู่หรือไม่
จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า การเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านบาท และข้อพิพาทระหว่าง ‘กลุ่มบีทีเอส’ และ ‘รฟม.’ จะมีบทสรุปอย่างไร
อ่านประกอบ :
ใช้ดุลพินิจมิชอบ!‘ศาล ปค.’สั่งเพิกถอนประกาศฯล้มประมูล‘สายสีส้ม’-‘รฟม.’จ่อยื่นอุทธรณ์
‘ศาลปค.กลาง’ นัดชี้ขาดคดี ‘บีทีเอส’ ฟ้อง ‘รฟม.’ ล้มประมูลรถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ โดยมิชอบ
เบื้องลึก!ศึกประมูล‘สายสีส้ม’ เขียนกติกาล็อก‘รับเหมา’? ‘ศักดิ์สยาม’ปัดกีดกันเอกชนบางเจ้า
ศาลปค.นัดพิจารณาคดี‘รฟม.’ยกเลิกประมูลรถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’โดยมิชอบด้วยกฎหมาย 23 มิ.ย.นี้
14 เอกชน ซื้อซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ‘GULF’มาด้วย-‘รฟม.’เปิดชี้แจง RFP 15 มิ.ย.นี้
เชื่อมีผู้แข่งขันน้อยราย! กังขา RFP รถไฟฟ้าสายสีส้มฯ สกัด'รับเหมา'-BTS ส่อชวดประมูล
เปิด RFP ประมูลสายสีส้ม‘บางขุนนนท์-มีนบุรี’-ตั้งเกณฑ์ผ่าน‘ซองเทคนิค’ต้องได้ 90 คะแนน
'รฟม.' เปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม 'บางขุนนนท์-มีนบุรี' 1.28 แสนล. 'รอบใหม่' มี.ค.นี้
‘ศาลปค.กลาง’ชี้ ‘รฟม.’แก้กติกาประมูล‘สายสีส้ม’ ไม่ชอบด้วยกม.-ยกฟ้องชดใช้ ‘BTSC’ 5 แสน
ศาลปค.กลางนัดอ่านคำพิพากษา คดี ‘บีทีเอส’ ฟ้อง ‘รฟม.’แก้กติกาประมูลสายสีส้ม 9 ก.พ.นี้
‘ศาลคดีทุจริตฯ’ เลื่อนพิจารณาหลักฐาน คดีแก้ทีโออาร์รถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ เป็น 25 ต.ค.