“…คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าในประเทศไทยมีแค่ 2 เจ้าใหญ่ ซึ่งถ้าบีทีเอสไม่เข้าร่วมยื่นซองประมูล ก็อาจไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติก็ได้ เพราะบีทีเอสอาจประเมินแล้วว่าไม่คุ้ม หรือไม่มีโอกาสได้ เขาคงไม่ยื่น แต่นั่นก็ต้องไปดูอีกว่า มีรายอื่นเปล่า เพราะหากเหลือผู้ยื่นซองรายเดียว รฟม. ก็ต้องพิจารณาว่าจะล้มประมูลหรือไม่…”
..................................
เหลือเวลาอีกเพียงไม่ถึง 1 เดือน
ก็จะถึงวันที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดรับ ‘เอกสารข้อเสนอ’ การคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 27 ก.ค.2565 นี้ (อ่านประกอบ : 14 เอกชน ซื้อซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ‘GULF’มาด้วย-‘รฟม.’เปิดชี้แจง RFP 15 มิ.ย.นี้)
แต่ทว่าการเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ‘ส่วนตะวันตก’ ซึ่งเป็นโครงการที่ภาครัฐสนับสนุน ‘ค่างานโยธา’ ให้เอกชนในวงเงินไม่เกิน 96,012 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่างานโยธาที่เกิดขึ้นจริงภายในวงเงิน 91,983 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายส่วนที่เป็น Provisional Sum (เงินสำรองเผื่อการใช้จ่าย) วงเงิน 4,229 ล้านบาท นั้น
กำลังถูกตั้งคำถามว่า การกำหนดเงื่อนไขต่างๆใน ‘เอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP)’ มีลักษณะที่เป็นการ ‘กีดกัน’ เอกชนบางกลุ่ม ส่งผลให้การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯโครงการนี้ มีผู้ยื่นซองประมูล ‘น้อยราย’ หรือไม่
“ผมคิดว่าจะมีผู้ยื่นซองน้อยราย เพราะข้อกำหนด (RFP) ที่เขียนไว้ ทำให้การหาทั้งผู้เดินรถไฟฟ้าและผู้รับเหมามารวมกลุ่มกัน ทำได้ยาก โดยเฉพาะกลุ่ม BTS น่าจะลำบากในการหาผู้รับเหมามาร่วมกลุ่มด้วย” สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ซึ่งติดตามโครงการลงทุนรถไฟฟ้า กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
@คาดประมูล‘สายสีส้ม’มีผู้แข่งขันน้อยราย-รฟม.ได้ผลตอบแทนน้อย
สามารถ ยังประเมินว่า การยื่นซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯครั้งนี้น่าจะมีเอกชนยื่นซอง 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม ช.การช่าง (บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM และบมจ. ช.การช่าง หรือ CK) และกลุ่มอิตาเลียนไทย (บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD) ร่วมกับพันธมิตรจากต่างประเทศ
สามารถ ได้ตั้งคำถามไปถึง ‘คณะผู้สังเกตการณ์’ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ว่า เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่า ในเมื่อการกำหนด RFP ครั้งนี้ จะทำให้มีผู้ยื่นซองประมูลน้อยราย แต่เหตุใดคณะผู้สังเกตการณ์ จึงไม่มีการตั้งข้อสังเกตในประเด็นเหล่านี้เลย
“ในฝั่งโอปอเรเตอร์ (ผู้เดินรถไฟฟ้า) รู้สึกว่าจะเปิดกว้าง แต่ฝั่งที่เป็นผู้รับเหมาจะค่อนข้างปิด และเข้าได้ลำบาก จึงเป็นคำถามว่า ทำไมคณะผู้สังเกตการณ์จึงไม่ตั้งข้อสังเกตเหล่านี้” สามารถ กล่าว
สามารถ ย้ำว่า “ถ้ามีคนที่ยื่นซองแล้วผ่านข้อกำหนดด้านเทคนิค ‘น้อยราย’ เอกชนก็ไม่จำเป็นต้องแข่งขันเสนอผลตอบแทนให้กับ รฟม. สูงๆ เพราะรู้อยู่แล้วกลุ่มไหนจะเข้าได้บ้าง ซึ่งจะทำให้ รฟม. จะได้ผลตอบแทนน้อยลง” พร้อมทั้งระบุว่า “หาก รฟม.ต้องการทบทวน RFP ให้เปิดกว้างมากกว่านี้ ก็ยังพอมีเวลา”
(สามารถ ราชพลสิทธิ์)
@‘รฟม.’ยันประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม‘เปิดกว้าง’-แข่งขันโปร่งใส
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ‘ส่วนตะวันตก’ น่าจะมีผู้เข้าแข่งขันน้อยราย
รฟม. ในฐานะเจ้าของโครงการได้ออกมาชี้แจงว่า ข้อกำหนดด้านคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ เป็นการกำหนดในลักษณะ ‘เปิดกว้าง’ ให้ผู้ยื่นข้อเสนอสามารถนำผลงานของผู้รับจ้างงานโยธาหลายรายมารวมกันได้ เพื่อให้มีผลงานครบทั้ง 3 งาน ซึ่งเป็นปกติของงานโครงการก่อสร้างโครงการใต้ดินขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ผู้รับจ้างงานโยธาหลายรายดำเนินงาน
“รฟม. ขอตั้งข้อสังเกต กรณีบุคคลบางท่านนำข้อมูลเพียงบางส่วนในเอกสารประกาศเชิญชวนมาใช้วิจารณ์และคาดการณ์สถานการณ์ต่างๆ ในการยื่นข้อเสนอของภาคเอกชนนั้น ควรพิจารณานำเสนอข้อเท็จจริงให้ถูกต้องและครบถ้วนเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณชน
ทั้งนี้ รฟม. ขอยืนยันว่า การกำหนดเงื่อนไขการคัดเลือก คุณสมบัติด้านเทคนิคประสบการณ์ และผลงานของผู้เข้ายื่นข้อเสนอตามประกาศเชิญชวน ได้ดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน เป็นการกำหนดที่เปิดกว้าง
ทำให้มีผู้ที่สามารถเข้าร่วมการคัดเลือกได้มากราย เกิดการแข่งขันที่โปร่งใส เป็นธรรม มีกระบวนการตรวจสอบจากภาคเอกชนตามระบบข้อตกลงคุณธรรม ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน” เอกสารข่าวของ รฟม. ชี้แจงข้อเท็จจริง เรื่อง การกำหนดคุณสมบัติด้านงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ลงวันที่ 7 มิ.ย.2565 ระบุ
@งานออกแบบ-ก่อสร้าง‘อุโมงค์ใต้ดิน’เหลือรับเหมาไม่เกิน 5 ราย
แต่ทว่าในความเป็นจริง คำชี้แจงของ รฟม. ที่ระบุว่า การเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีลักษณะ ‘เปิดกว้าง’ และ ‘ทำให้มีผู้ที่สามารถเข้าร่วมการคัดเลือกได้มากราย เกิดการแข่งขันที่โปร่งใส เป็นธรรม’ นั้น อาจไม่ได้เป็นดังเช่นที่มีการกล่าวอ้างก็เป็นได้
เพราะแม้ว่าข้อมูลจากกลุ่มบริษัท BMTO ที่ปรึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จะระบุว่า มีเอกชนหรือ ‘ผู้รับเหมา’ ที่มีผลงาน ‘งานโยธา’ และสามารถเข้าประมูลโครงการฯได้ 14 ราย
แต่ในท้ายที่สุด อาจมีเอกชนหรือผู้รับเหมาที่มี ‘คุณสมบัติ’ เข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าฯสายนี้ เพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น
เริ่มจาก ‘งานออกแบบก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดิน (TMB)’ ซึ่งผู้รับเหมาต้องมีผลงานมูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท นั้น แม้ว่าข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาฯ ระบุว่า มีผู้รับเหมาที่มีผลงานประเภทนี้ จำนวน 10 ราย ประกอบด้วย
1.บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) 2.บมจ. ช.การช่าง (CK) 3.บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) 4.บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ (NWR) 5.บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด 6.บิลฟิงเกอร์ เบอร์เกอร์ (Bilfinger Berger)
7.โตคิว คอนสตรัคชั่น (ญี่ปุ่น) หรือ Tokyu 8.กูมาไกกูมิ (ญี่ปุ่น) หรือ Kumagai 9.โอบายาชิ (Obayashi) และ 10.นิชิมัตสุ ก่อสร้าง (Nishimatsu)
แต่ปรากฏว่า ผู้รับเหมา 5 ราย ได้แก่ Bilfinger Berger ,Tokyu ,Kumagai ,Obayashi และ Nishimatsu อาจไม่มี ‘ผลงาน-คุณสมบัติ’ ที่จะเข้าไป ‘รวมกลุ่ม’ กับ 'ผู้รับเหมาหลัก' ได้
เพราะแม้ว่า Bilfinger Berger ,Tokyu ,Kumagai ,Obayashi และ Nishimatsu จะเคยมีผลงานก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน (Blue Line)
แต่เนื่องจากสัญญาการก่อสร้างอุโมงค์ (สัญญางานโยธา) แล้วเสร็จก่อนปี 2545 ซึ่งอาจเกินระยะเวลาของ RFP ที่กำหนดให้ผู้รับเหมาต้องมีผลงานกับหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่แล้วเสร็จ ‘ภายในช่วงเวลา 20 ปี’ และล่าสุดยังไม่มีความชัดเจนจาก รฟม. ว่า จะให้ผู้รับเหมาทั้ง 5 ราย นำผลงานการสร้างอุโมงค์ดังกล่าวมาอ้างอิงเป็นผลงานได้หรือไม่
จึงทำให้ผู้รับเหมาทั้ง 5 ราย อาจไม่มีคุณสมบัติที่จะมาเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯได้
นอกจากนี้ ในปัจจุบัน Bilfinger Berger ไม่ได้ดำเนินกิจการก่อสร้างแล้ว และขายกิจการก่อสร้างออกไปแล้ว ส่วน Kumagai ปัจจุบันได้ยกเลิกกิจการในไทยแล้วเช่นกัน หลังจากมีปัญหาโครงการก่อสร้างทางด่วน ขณะที่ Kumagai เป็นหนึ่งในพันธมิตรกับกลุ่ม ช.การช่าง ในการร่วมกันดำเนินงานโครงการทางด่วน
เช่นเดียวกับ Obayashi มีรายงานว่า บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นแจ้งว่า ไม่สนใจเข้าร่วมการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เพราะเคยมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่อง ‘ธรรมภิบาล’ ในโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ และ Obayashi ได้ตัดประเทศไทยออกจากประเทศที่จะดำเนินงานโยธา (Civil Works) ไปแล้ว คงเหลือแค่งานก่อสร้างอาคาร ซึ่งเป็นเอกชน
ส่วน Nishimatsu และบริษัท ไทยนิชิมัตสุ ก่อสร้าง นั้น ปัจจุบันไม่รับงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่แล้ว และมีรายงานว่า Nishimatsu ไม่สนใจเข้าร่วมประมูลโครงการฯนี้ จึงมีเพียง Tokyu ที่ยังรับงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ในไทยอยู่ ซึ่งปัจจุบัน Tokyu เป็นพันธมิตรกับกลุ่ม ช.การช่าง โดยจัดตั้งบริษัทร่วมทุนฯชื่อว่า ช.การช่าง-โตกิว คอนสตรัคชั่น
ส่งผลให้เอกชนที่มีคุณสมบัติประเภท ‘งานออกแบบก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดิน (TMB)’ และน่าจะเข้าร่วมกับผู้รับเหมาหลักในการประมูลรถไฟฟ้าประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มมี 5 ราย ได้แก่ อิตาเลียนไทย (ITD) , ช.การช่าง (CK) , ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) ,เนาวรัตน์พัฒนาการ (NWR) และ สี่แสงการโยธา (1979)
อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก แสงการโยธา (1979) มีเพียงผลงานการสร้างอุโมงค์ใต้ดินเพื่อวางระบบท่อน้ำประปา ดังนั้น หาก แสงการโยธา (1979) เข้ารวมกลุ่มกับผู้รับเหมาหลักรายอื่น ก็เป็นไปได้สูงที่กลุ่มผู้รับเหมารายนั้นๆ จะได้คะแนนประเมิน ‘ด้านเทคนิค’ ต่ำ เพราะ แสงการโยธา (1979) ไม่เคยมีผลงานการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินมาก่อน
@งานออกแบบ-ก่อสร้าง‘สถานีรถไฟฟ้า’ เหลือผู้รับเหมา 3 ราย
ส่วน ‘งานออกแบบก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินหรือยกระดับ’ ซึ่งผู้รับเหมาต้องมีผลงานมูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งจากข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาฯ ระบุว่า มีผู้รับเหมาที่มีผลงานประเภทนี้ จำนวน 10 ราย ประกอบด้วย
1.บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) 2.บมจ. ช.การช่าง (CK) 3.บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) 4.บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) 5.บิลฟิงเกอร์ เบอร์เกอร์ (Bilfinger Berger) 6.โตคิว คอนสตรัคชั่น (ญี่ปุ่น) หรือ Tokyu
7.กูมาไก (ญี่ปุ่น) หรือ Kumagai 8.โอบายาชิ (Obayashi) 9.นิชิมัตสุ ก่อสร้าง (Nishimatsu) และ10.บริษัท ซิโนไฮโดร (Sino Hydro) นั้น
ปรากฏว่า ผู้รับเหมา 5 ราย ได้แก่ Bilfinger Berger ,Tokyu ,Kumagai ,Obayashi และ Nishimatsu อาจไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเข้าไป ‘รวมกลุ่ม’ กับผู้รับเหมาหลักได้ เนื่องจาก รฟม. ยังไม่มีการยืนยันว่า ผู้รับเหมาทั้ง 5 ราย สามารถนำผลงานการก่อสร้างก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน (Blue Line) มาอ้างอิงเป็นผลงานได้หรือไม่
ขณะที่ผู้รับเหมาอีก 2 ราย ได้แก่ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) และซิโนไฮโดร (Sino Hydro) นั้น จากข้อมูลพบว่า แม้ว่าผู้รับเหมาทั้ง 2 ราย จะมีผลงานการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า แต่ไม่น่าจะมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเข้าร่วมการประมูลได้
โดย STEC แม้ว่าจะเคยมีผลงานก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้ายกระดับ (Elevated Station) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย แต่เนื่องจากเป็นการก่อสร้างตาม Detailed Design ที่ออกแบบไว้แล้ว จึงไม่เข้าเงื่อนไข RFP ที่กำหนดไว้ว่าต้องเป็นการ ‘ออกแบบและก่อสร้าง’
ขณะที่ Sino Hydro ซึ่งเคยมีผลงานก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้ายกระดับ (Elevated Station) โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงเช่นกัน แต่เนื่องจากเป็นการก่อสร้างตาม Detailed Design ที่ออกแบบไว้แล้ว จึงไม่เข้าเงื่อนไข RFP ที่กำหนดไว้ว่าต้องเป็นการ ‘ออกแบบและก่อสร้าง’ ขณะที่ทาง Sino Hydro ยอมรับว่า ‘ไม่มีคุณสมบัติที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการนี้’
ดังนั้น ในส่วนงานโยธาประเภท ‘งานออกแบบก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินหรือยกระดับ’ นั้น น่าจะมีผู้รับเหมาที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมประมูลฯได้เพียง 3 รายเท่านั้น ได้แก่ อิตาเลียนไทย (ITD) ,ช.การช่าง (CK) และบมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ)
@คาดมี‘ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้า’เข้าร่วมประมูลสายสีส้ม 3 ราย
สำหรับงานโยธาประเภท ‘งานออกแบบและก่อสร้างทางวิ่งพร้อมรางที่สาม แบบไม่ใช้หินโรยทาง’ ซึ่งผู้รับเหมาต้องมีผลงานมูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท นั้น
จากข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาฯ ระบุว่า มีผู้รับเหมาที่มีคุณสมบัติและมีผลงานประเภทดังกล่าว จำนวน 5 ราย ประกอบด้วย 1.บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) 2.บมจ. ช.การช่าง (CK) 3.บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) 4. AS Associates และ5.กลุ่ม SNC Lavalin
แต่จากรายงานล่าสุดพบว่าผู้รับเหมาที่มีคุณสมบัติตามที่ RFP ที่ รฟม.กำหนด และน่าจะเข้าร่วมการประมูลครั้งนี้เพียง 4 ราย คือ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ,บมจ. ช.การช่าง (CK) ,บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) และ AS Associates
ส่วน ‘งานเดินรถ’ ซึ่ง รฟม. กำหนดให้เอกชนที่เข้าร่วมประมูลต้องมีประสบการณ์การให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้า ในการให้บริการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Heavy Rail) ภายในระยะเวลา 25 ปี รับถึงวันยื่นข้อเสนอ และดำเนินงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี นับถึงวันยื่นข้อเสนอ อย่างน้อย 1 โครงการ นั้น
ผู้ที่อยู่ในวงการรับเหมาฯ ประเมินว่า เอกชนที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯครั้งนี้ จะมี 3 ราย ได้แก่ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) , บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) และ Incheon Transit Corporation
@จับตา ‘ITD-พันธมิตรต่างประเทศ’ ร่วมกลุ่มยื่นแข่งขันประมูล
แหล่งข่าวจากวงการผู้รับเหมา กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า จากเปรียบเทียบรายละเอียดและเงื่อนไขทีโออาร์ หรือ RFP โครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ครั้งนี้ หรือฉบับปี 2565 กับ RFP การประมูลโครงการฯครั้งก่อน หรือฉบับปี 2563 พบว่า มีความแตกต่างที่น่าสนใจ เช่น
เงื่อนไข RFP การประมูลฉบับปี 2565 ไม่ได้กำหนดให้ ‘เอกชน’ ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้าที่เข้าร่วมประมูล นั้น จะต้องเป็น ‘บริษัทที่เป็นผู้นำกลุ่ม (Lead Firm)’ ต่างจาก RFP การประมูลฉบับปี 2563 ที่กำหนดให้ บริษัทที่เป็น ‘ผู้นำกลุ่ม’ ต้องเป็นบริษัทผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าฯ
ที่สำคัญการที่ RFP ฉบับปี 2565 ได้ยกเลิกคุณสมบัติเรื่องประสบการณ์ ‘การจัดหาหรือผลิตระบบรถไฟฟ้า’ ของผู้เดินรถไฟฟ้าออก จึงเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทเดินรถไฟฟ้าจากต่างประเทศ เช่น Incheon Transit Corporation เข้ามารวมกลุ่มกับ ‘ผู้รับเหมาไทย’ ในการยื่นซองประมูลฯรอบนี้ได้ ดังนั้น หากกลุ่มบีทีเอสไม่สามารถเข้าร่วมประมูลฯได้ ก็จะมีเอกชนเข้ามายื่นซองอย่างน้อย 2 กลุ่ม
“ในประเทศไทย มีผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าอยู่ 3 เจ้า คือ BEM (กลุ่ม ช.การช่าง) , BTSC (กลุ่มบีทีเอส) และแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ (บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด) แต่ แอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ไม่น่าจะเข้าร่วมประมูลได้ เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงเหลือผู้เดินรถไฟฟ้า 2 ราย ที่จะไปจับกลุ่มกับผู้รับเหมารายอื่นๆ เพื่อให้มีคุณสมบัติครบตามทีโออาร์
แต่หากกลุ่มบีทีเอสไม่สามารถไปจับมือ หรือไปรวมกลุ่มกับผู้รับเหมารายอื่นๆที่มีคุณสมบัติครบตามทีโออาร์ได้ ก็จะไม่สามารถเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ได้ จึงเหลือกลุ่มเอกชนกลุ่มเดียว คือ กลุ่ม ช.การช่าง ที่มีทั้งบริษัทเดินรถไฟฟ้า (BEM) บริษัทก่อสร้าง (CK) และพันธมิตร ซึ่งมีคุณสมบัติครบตามทีโออาร์ ที่จะมีโอกาสชนะประมูลมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่ผู้รับเหมาที่มีคุณสมบัติงานโยธาครบทั้ง 3 ประเภท อย่างบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ที่อาจจะไปจับมือกับบริษัทเดินรถไฟฟ้าจากต่างประเทศ เช่น Incheon Transit Corporation เพื่อเข้าร่วมประมูลแข่งกับกลุ่ม ช.การช่าง ในครั้งนี้ แต่โอกาสชนะคงเป็นไปได้ยาก” แหล่งข่าวรายนี้ประเมินภาพการแข่งขันประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม
ด้าน สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ความเห็นกับสำนักข่าวอิศรา ว่า ขณะนี้ยังประเมินไม่ได้ว่า การเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯรอบใหม่ จะผู้ยื่นซองน้อยรายตามที่มีวิพากษ์วิจารณ์กันหรือไม่ เพราะต้องดูว่าในวันที่เปิดให้ยื่นซองมีผู้ยื่นกี่ราย
“ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าจะมีผู้ยื่นซองน้อยราย ตอนนี้คงบอกไม่ได้ เพราะต้องไปดูวันที่ยื่นซองว่ามีผู้ยื่นกี่ราย แต่ถ้ามีผู้ยื่นซองเพียงรายเดียวหรือกลุ่มเดียว อันนั้นก็จะเป็นปัญหา แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น ก็คงด่วนสรุปไม่ได้ว่าเป็นเพราะทีโออาร์ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องของธุรกิจ ซึ่งต้องนำเงื่อนไขหลายอย่างมาพิจารณาประกอบ
อย่างไรก็ดี ถ้าไปเทียบเคียงกับการประมูลรถไฟฟ้าสายอื่นๆที่มีเรื่องสัมปทานเดินรถไฟฟ้าด้วย ปกติแล้วจะยื่นกัน 2 ราย เช่น รถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน มีผู้ยื่น 2 ราย ,รถไฟฟ้าสายสีเหลืองก็มี 2 ราย ส่วนสายสีชมพู ก็มีผู้ยื่นซอง 2 ราย และถ้าในครั้งนี้กลุ่มบีทีเอสไม่ยื่น แล้วเหลือผู้ยื่นซองแค่รายเดียว ก็ต้องดูว่า รฟม.จะทำอย่างไร” สุเมธ กล่าว
สุเมธ ยังระบุว่า “คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าในประเทศไทยมีแค่ 2 เจ้าใหญ่ ซึ่งถ้าบีทีเอสไม่เข้าร่วมยื่นซองประมูล ก็อาจไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติก็ได้ เพราะบีทีเอสอาจประเมินแล้วว่าไม่คุ้ม หรือไม่มีโอกาสได้ เขาคงไม่ยื่น แต่นั่นก็ต้องไปดูอีกว่า มีรายอื่นเปล่า เพราะหากเหลือผู้ยื่นซองรายเดียว รฟม. ก็ต้องพิจารณาว่าจะล้มประมูลหรือไม่”
(สุเมธ องกิตติกุล)
@‘ศักดิ์สยาม’ยันไม่มีการกีดกัน‘เอกชนบางราย’ประมูลสายสีส้ม
ทั้งนี้ จากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงการผู้รับเหมาที่ว่า การกำหนด RFP โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ของ รฟม. มีลักษณะเอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางกลุ่มหรือไม่นั้น ในเรื่องดังกล่าว ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในฐานะกำกับดูแล รฟม. ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า รฟม.ชี้แจงเรื่องนี้ไปทั้งหมดแล้ว และผู้ประกอบการฯก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร
“รฟม.ชี้แจงไปหมดแล้ว และเข้าใจว่าเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีการเชิญผู้ประกอบการมาอธิบาย เท่าที่ทราบอย่างไม่เป็นทางการ ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพียงแต่มีเอกชนบางรายที่ขอให้ขยายเวลา เพื่อให้เขาสามารถไปหาผู้ที่มีคุณสมบัติ คือ ไปหาคนที่จะมาทำงานด้วย ซึ่งผมได้ถาม รฟม.ไปว่า อย่างนี้ข้อยุติคืออะไร แนวที่เคยปฏิบัติมาเป็นอย่างไร
และไม่ใช่แค่สายสีส้มเท่านั้น จะประมูลโครงการอะไรก็ตาม เมื่อประกาศไปตามระเบียบกฎหมาย แล้วมีคนมาบอกว่าอย่าเพิ่งเลย ขอให้ผมมีคุณสมบัติก่อนแล้วค่อยประมูล ยกตัวอย่างเช่น งานกรมทางฯ ซึ่งกำหนดว่าผู้รับเหมาต้องมีคุณสมบัติชั้น 1 พิเศษ แต่ผู้รับเหมาที่มีคุณสมบัติชั้น 4 ไปร้องว่าอย่างเพิ่งประกาศเลย รอให้เขามีคุณสมบัติชั้น 1 พิเศษก่อน ซึ่งผมว่ามันไม่เกี่ยว และในเมื่อเขาไม่มีคุณสมบัติ ก็เข้าร่วมประมูลไม่ได้” ศักดิ์สยาม กล่าว
เมื่อถามว่า กรณีมีกระแสข่าวในวงการผู้รับเหมาว่า มีฝ่ายการเมืองไปบอกกับผู้รับเหมาบางรายว่า ห้ามไม่ให้ไปร่วมกลุ่มกับเอกชน ‘บางกลุ่ม’ ไม่เช่นนั้นจะมีผลกระทบต่องานที่ผู้รับเหมารายนั้นๆ มีกับกระทรวงคมนาคม ศักดิ์สยาม กล่าวว่า เอกชนรายนั้นเป็นใคร และหากเป็นเรื่องระหว่างเอกชนกับเอกชน ส่วนราชการก็คงทำอะไรไม่ได้
“ถ้ามีประมูลทำถนน แล้วมีเอกชนรายหนึ่งมาบอกอย่างนี้ แล้วไม่ต้องประมูล ถ้าเป็นอย่างนั้น ประเทศไทยก็ไม่ต้องทำอะไรเลย ดังนั้น ถ้าอะไรอยู่ในหลักเกณฑ์ ก็ว่ากันไปตามนั้น และคนที่ไปให้ข่าวอย่างนี้ ยืนยันได้หรือไม่ ถ้ามี ก็ว่ามา จะได้ดำเนินการ แต่ถ้ายืนยันไม่ได้ ผมว่าอย่างนี้เป็นพวกมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ
และโครงการนี้ก็ช้ามานานแล้ว ซึ่งยิ่งช้าต่อไป ดีไม่ดี จะประกวดราคาไม่ได้ เพราะราคาจะยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ราคาพลังงานก็สูง วัสดุก่อสร้างสูงขึ้นทุกอย่าง ดังนั้น จะทำอะไรก็ตาม ผมคิดว่าต้องคิดถึงระเบียบกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และประโยชน์ของประเทศ อย่าคิดถึงแต่ตัวเอง” ศักดิ์สยาม กล่าว
(ศักดิ์สยาม ชิดชอบ)
เมื่อถามว่า เอกชนสามารถยื่นฟ้องศาลฯเพื่อขอให้ยกเลิกประมูลโครงการฯได้หรือไม่ ศักดิ์สยาม กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของเอกชนที่จะดำเนินการได้ ส่วนจะมีการทบทวน RFP โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มหรือไม่นั้น ทาง รฟม. มีคณะกรรมการกำกับโครงการฯอยู่ ก็ต้องดำเนินการตามอำนาจนั้น
“หลังจากที่เขาดำเนินการแล้ว รัฐมนตรีมีหน้าที่ตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ คือ พิจารณาว่าเขาทำถูกต้องหรือไม่ ถ้าทำถูก ก็ไปต่อ แต่ถ้าทำไม่ถูก ก็ทบทวน เหมือนอย่างการประมูลฯ (สายสีส้ม) ครั้งที่แล้ว เรื่องยังมาไม่ถึงผมเลย เขา (รฟม.) ยกเลิกไปก่อน แล้วจะให้ทำอย่างไร เพราะอำนาจของเราใน พ.ร.บ.เป็นอย่างนั้น
แต่ถ้าเกิดเราเข้าไป ก็หาว่าเราไปล้วงอีก ซึ่งเราไม่มีอำนาจ อย่างในการอภิปรายไม่ไว้วางในครั้งที่ผ่านๆมา มีสมาชิกพรรคฝ่ายค้านลุกขึ้นมากล่าวหาผม อย่างโน้นอย่างนี้ ผมเองยังสงสัยอยู่ว่า เขารู้รายละเอียดเยอะแยะ ไปรู้ได้อย่างไร ซึ่งผมเองยังไม่รู้เลย แต่เขารู้หมดว่าใครนั่งตรงนั้น ตรงนี้” ศักดิ์สยาม กล่าว
ศักดิ์สยาม ระบุว่า “ถ้าดูตามกระบวนการ และขั้นตอนตามกฎหมาย คาดว่าภายในปีนี้จะได้ตัวผู้รับเหมา ซึ่งการดำเนินการต่างๆเขามี Action plan กำหนดไว้”
พร้อมย้ำว่า “เรามีหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย เราก็ทำ แต่ผู้ประกอบการเขาก็มีสิทธิ์สงสัย มีสิทธิ์อุทธรณ์ มีสิทธิ์ทางศาลฯ ก็ว่าไป แต่ผมให้ฝ่ายกฎหมายไปดูว่า ถ้ามาทำอย่างนี้บ่อยๆ รัฐเสียหายหรือไม่ ถ้ารัฐเสียหาย รัฐมีอำนาจหน้าที่ที่จะดำเนินการกับคนที่ทำให้รัฐเสียหายหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องทำ ไม่อย่างนั้น ก็ไม่ต้องทำงานกัน ประชาชนก็เสียโอกาส”
จากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่าการเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ของ รฟม. ครั้งที่ 2 จะมีเอกชนยื่นซองประมูลกี่ราย และเอกชนกลุ่มใดจะเป็นผู้ชนะการประมูล!
อ่านประกอบ :
ศาลปค.นัดพิจารณาคดี‘รฟม.’ยกเลิกประมูลรถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’โดยมิชอบด้วยกฎหมาย 23 มิ.ย.นี้
14 เอกชน ซื้อซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ‘GULF’มาด้วย-‘รฟม.’เปิดชี้แจง RFP 15 มิ.ย.นี้
เชื่อมีผู้แข่งขันน้อยราย! กังขา RFP รถไฟฟ้าสายสีส้มฯ สกัด'รับเหมา'-BTS ส่อชวดประมูล
เปิด RFP ประมูลสายสีส้ม‘บางขุนนนท์-มีนบุรี’-ตั้งเกณฑ์ผ่าน‘ซองเทคนิค’ต้องได้ 90 คะแนน
'รฟม.' เปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม 'บางขุนนนท์-มีนบุรี' 1.28 แสนล. 'รอบใหม่' มี.ค.นี้
‘ศาลปค.กลาง’ชี้ ‘รฟม.’แก้กติกาประมูล‘สายสีส้ม’ ไม่ชอบด้วยกม.-ยกฟ้องชดใช้ ‘BTSC’ 5 แสน
ศาลปค.กลางนัดอ่านคำพิพากษา คดี ‘บีทีเอส’ ฟ้อง ‘รฟม.’แก้กติกาประมูลสายสีส้ม 9 ก.พ.นี้
‘ศาลคดีทุจริตฯ’ เลื่อนพิจารณาหลักฐาน คดีแก้ทีโออาร์รถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ เป็น 25 ต.ค.
'ศาลปค.สูงสุด' สั่งจำหน่ายคดี 'บีทีเอส' ฟ้องเพิกถอนหลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้า 'สายสีส้ม'
จี้หาคนรับผิดชอบ! 'รฟม.' รื้อ TOR รถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ ทำล่าช้า-เสียหาย 4.3 หมื่นล./ปี
‘ดีเอสไอ’ ส่งสำนวนคดี ‘รฟม.’ แก้ทีโออาร์รถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ ให้ 'ป.ป.ช.' ไต่สวนฯ
‘บีทีเอส’ ขู่ฟ้องศาลปค.เพิกถอนประกาศ 'รฟม.' ล้มประมูล ‘สายสีส้ม’ ไม่ชอบ
ศาลปค.จำหน่ายคดีฟ้องเพิกถอน TOR สายสีส้ม-'คีรี' ร้อง'บิ๊กตู่'สั่งระงับประมูลรอบใหม่
วรวรรณ ธาราภูมิ : รถไฟฟ้าสายสีส้ม เอกชนซื้อซอง TOR แล้ว รัฐเปลี่ยนเงื่อนไขได้ด้วยหรือ?
เปิดคำฟ้องศาลทุจริตฯ! ‘บีทีเอส’กล่าวหา ‘ผู้ว่าฯรฟม.-พวก’ ผิดม.157-165 แก้TORสายสีส้ม
ร้าวลึก! 'บีทีเอส-ภูมิใจไทย' ขัดแย้ง 'สีส้ม' ลามสัมปทาน ‘สีเขียว’-เบรกต่อขยาย 'สีชมพู'