‘รฟม.’ ยันกติกาประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ‘บางขุนนนท์-มีนบุรี’ เปิดกว้างให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม หลัง ‘บีทีเอส’ ยื่นหนังสือถึง DSI ร้องทุกข์กล่าวโทษ ‘รฟม.’ ปมเขียน'ทีโออาร์'กีดกันไม่ให้บริษัทฯเข้าแข่งขัน-เอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางราย
..................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ค. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม) ออกเอกสารข่าวชี้แจงข้อเท็จจริง เรื่อง การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
โดยระบุว่า ตามที่ได้มีข่าวประชาสัมพันธ์ลงวันที่ 20 ก.ค. 2565 เรื่อง ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีฮั้วประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งได้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) นั้น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอเรียนชี้แจง ดังนี้
ประเด็นคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 580/2564
ตามที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 580/2564 เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2565 ให้เพิกถอนมติและประกาศยกเลิกการคัดเลือกเอกชน นั้น คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับ จนกว่าคดีจะถึงที่สุดตามมาตรา 70 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
และปัจจุบัน รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) อยู่ระหว่างใช้สิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาตามมาตรา 73 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน คดีดังกล่าวจึงยังไม่ถึงที่สุดแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ผู้ฟ้องคดี (BTSC) ขอให้ศาลห้ามคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ใช้เอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนฉบับเดือน พ.ค.2565 นั้น ศาลพิพากษาว่า ศาลไม่อาจมีข้อสังเกตตามข้ออ้างดังกล่าวได้ เนื่องจากมิใช่ประเด็นแห่งคดี ประกอบกับศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ 354/2564 ไม่รับฟ้องในข้อหาที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ศาลพิพากษาห้ามมิให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. กระทำการที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ และคำสั่งดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว
ประเด็นการกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 24 พ.ค.2565
ในการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ เพื่อกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอดังกล่าวได้มีผู้แทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เป็นตัวแทนภาคเอกชนเข้าร่วมสังเกตการณ์ตามระบบข้อตกลงคุณธรรมด้วยทุกครั้ง ซึ่งการกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอฯ ได้พิจารณาโดยอ้างอิงจากระเบียบและกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง คุณสมบัติดังกล่าวจึงมีลักษณะเปิดกว้างเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และไม่เป็นการกีดกันหรือเอื้อประโยชน์แก่เอกชนรายใด
รฟม. เป็นองค์กรของรัฐที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงคำพิพากษาและคำสั่งของศาลที่มีผลบังคับตามกฎหมาย ทั้งนี้ หากมีการดำเนินการของผู้ใดที่มีลักษณะเป็นการขัดขวางการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ รฟม. ซึ่งกระทบต่อประโยชน์สาธารณะและความสำเร็จของโครงการ รฟม. จำต้องรักษาสิทธิ์ในการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา นายสุรมนต์ มีเมศกุล ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ยื่นหนังสือถึงพนักงานสอบสวนคดี ผ่าน พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษและขอให้ดีเอสไอสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด
กรณี รฟม. ออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ซึ่ง BTSC ได้พิจารณาแล้วพบว่า ข้อกำหนดเงื่อนไขในสาระสำคัญเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ มีเจตนากีดกันบริษัทฯ ไม่ให้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และยังเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคารายหนึ่งรายใดอย่างชัดเจน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542
BTSC ยังขอให้ดีเอสไอดำเนินการสืบสวนสอบสวนว่า มีเจ้าหน้าที่ผู้ใดรู้หรือมีพฤติการณ์ปรากฏแจ้งชัดว่า ควรรู้ว่าการดำเนินการเสนอราคาในครั้งนั้นมีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 แล้วละเว้นไม่ดำเนินการเพื่อให้มีการยกเลิกการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคาในครั้งนั้นด้วยหรือไม่
ขณะที่ พ.ต.ต.ยุทธนา ระบุว่า หลังจากดีเอสไอรับเรื่องไว้แล้ว จะนำเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาว่าเข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขหรือไม่ ซึ่งหากเข้าตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะสั่งการให้หน่วยที่รับผิดชอบไปดำเนินการตรวจสอบตามมาตรฐานการสืบสวนสอบสวน โดยอาจเรียกให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้รายละเอียดต่างๆได้ ทั้งนี้ ยืนยันว่าดีเอสไอจะให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย และดำเนินการด้วยความเป็นธรรม
อ่านประกอบ :
พลิกคำพิพากษาศาลปค.! ยก 3 ปม ก่อนชี้‘รฟม.’ใช้ดุลพินิจไม่ชอบ คดีล้มประมูลสายสีส้ม ปี 64
ใช้ดุลพินิจมิชอบ!‘ศาล ปค.’สั่งเพิกถอนประกาศฯล้มประมูล‘สายสีส้ม’-‘รฟม.’จ่อยื่นอุทธรณ์
‘ศาลปค.กลาง’ นัดชี้ขาดคดี ‘บีทีเอส’ ฟ้อง ‘รฟม.’ ล้มประมูลรถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ โดยมิชอบ
เบื้องลึก!ศึกประมูล‘สายสีส้ม’ เขียนกติกาล็อก‘รับเหมา’? ‘ศักดิ์สยาม’ปัดกีดกันเอกชนบางเจ้า
ศาลปค.นัดพิจารณาคดี‘รฟม.’ยกเลิกประมูลรถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’โดยมิชอบด้วยกฎหมาย 23 มิ.ย.นี้
14 เอกชน ซื้อซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ‘GULF’มาด้วย-‘รฟม.’เปิดชี้แจง RFP 15 มิ.ย.นี้
เชื่อมีผู้แข่งขันน้อยราย! กังขา RFP รถไฟฟ้าสายสีส้มฯ สกัด'รับเหมา'-BTS ส่อชวดประมูล
เปิด RFP ประมูลสายสีส้ม‘บางขุนนนท์-มีนบุรี’-ตั้งเกณฑ์ผ่าน‘ซองเทคนิค’ต้องได้ 90 คะแนน
'รฟม.' เปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม 'บางขุนนนท์-มีนบุรี' 1.28 แสนล. 'รอบใหม่' มี.ค.นี้
‘ศาลปค.กลาง’ชี้ ‘รฟม.’แก้กติกาประมูล‘สายสีส้ม’ ไม่ชอบด้วยกม.-ยกฟ้องชดใช้ ‘BTSC’ 5 แสน
ศาลปค.กลางนัดอ่านคำพิพากษา คดี ‘บีทีเอส’ ฟ้อง ‘รฟม.’แก้กติกาประมูลสายสีส้ม 9 ก.พ.นี้
‘ศาลคดีทุจริตฯ’ เลื่อนพิจารณาหลักฐาน คดีแก้ทีโออาร์รถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ เป็น 25 ต.ค.