‘องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ’ ออกแถลงการณ์ เรียกร้อง ‘บิ๊กตู่’ ตรวจสอบการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ หลังพบผลประโยชน์ที่เอกชนเสนอมา ‘แตกต่างกัน’ สูงถึง 6.8 หมื่นล้าน
........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ต.ค. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ได้ออกแถลงการณ์ ‘กรณี 6.8 หมื่นล้าน ในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม’ โดย ACT เรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ตรวจสอบการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เนื่องจากพบว่าผลประโยชน์ของรัฐที่ภาคเอกชนเสนอมามีความแตกต่างกันสูงถึง 6.8 หมื่นล้านบาท
สำหรับแถลงการณ์ของ ACT ระบุว่า จากกรณีสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่มีปัญหาการประมูลล่าช้ามากว่าสองปี ล่าสุดได้ปรากฏเงื่อนงำ ต่อสาธารณชนอีกว่า ราคาของผู้ชนะการประมูลเป็นราคาที่ทำให้รัฐต้องเสียประโยชน์ไปมากถึง 6.8 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับข้อเสนอของเอกชนรายอื่น
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ มีความเชื่อว่าทุกวันนี้คนไทยเบื่อหน่ายกับการเสียค่าโง่ และต้องทนเดือดร้อนจากโครงการด้านสาธารณูปโภคของรัฐ ซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยเฉพาะโครงการเกี่ยวกับระบบขนส่งมวลชน เช่น โครงการแอร์พอร์ตลิ้งค์ มูลค่า 3.3 หมื่นล้านบาท มีปัญหาไม่โปร่งใสตั้งแต่ต้นจนขาดทุนต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้โดยสารเดือดร้อนจากบริการที่ด้อยคุณภาพ ขบวนรถเสียบ่อยขาดความต่อเนื่อง โครงการโฮปเวลล์ มูลค่า 8 หมื่นล้านบาท ที่สุดท้ายล้มเลิกไป แต่รัฐถูกฟ้องร้องเรียกค่าโง่ 2.8 หมื่นล้านบาทที่เป็นเงินภาษีประชาชน รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่การบริหารโครงการตกอยู่ในมือเอกชนต่อเนื่อง แต่ไม่รู้ว่าใครไปแอบทำอะไรกัน กทม. กลับเป็นหนี้ต้องชดใช้เอกชนมากถึง 1.2 หมื่นล้านบาท
เพื่อหยุดวงจรของการโกง ไม่ปล่อยให้ประเทศไทยถูกเอาเปรียบ เสียค่าโง่ไปจนถึงลูกหลาน และสุดท้ายประชาชนคือผู้รับกรรมจากการโกง องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ จึงขอแถลงการณ์ในกรณีรถไฟสายสีส้มดังนี้
1.ขอเรียกร้องนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล สั่งให้มีการตรวจสอบว่า ผลประโยชน์ของรัฐที่เอกชนเสนอแตกต่างกันมากถึง 6.8 หมื่นล้านบาทนี้ เป็นเรื่องสมเหตุสมผลหรือไม่ โดยเปิดให้องค์กรวิชาชีพ ที่สังคมเชื่อมั่น เข้ามีส่วนร่วมตรวจสอบด้วย เช่น สภาวิศวกรฯ สภาวิศวกรที่ปรึกษาฯ แล้วเปิดเผยให้ประชาชนทราบโดยเร่งด่วน
2.ชักชวนคนไทยทุกภาคส่วนได้ร่วมกันกดดันให้ “ผู้นำ” รัฐบาล ผู้นำทางการเมืองและหน่วยงานของรัฐ และบุคคลในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) คณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี.) กระทรวงคมนาคม คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และผู้นำของทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องรถไฟสายสีส้มที่กำลังฉาวโฉ่ ต้องแสดงความรับผิดชอบ ต้องทำงานเป็นตัวแทนประชาชนในรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ให้สมกับตำแหน่งที่ความไว้วางใจที่ได้รับเลือกมา
“ทั้ง 2 ข้อเสนอนี้ จะช่วยให้ประชาชนไม่ต้องรับกรรมซ้ำซากจากการทุจริตคดโกง ช่วยให้ประเทศไทย ผุดจากหลุมพรางของการโกงชาติ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเสียงของประชาชนจะได้รับการตอบสนอง ไม่ต้องให้ประชาชนหมดหวังกับ “ผู้นำ” จนต้องลุกมาสู้โกงด้วยตนเอง” แถลงการณ์ของ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ลงวันที่ 4 ต.ค.ระบุ
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) ได้พิจารณาผลการประเมินซองข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ผลปรากฏว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินสูงสุด
โดย BEM เสนอผลประโยชน์สุทธิให้แก่รัฐ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท หรือขอรับการสนับสนุนวงเงินค่าก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ 78,287.95 ล้านบาท ขณะที่ ITD Group ซึ่งยื่นซองประมูลในครั้งนี้ด้วย ได้เสนอผลประโยชน์สุทธิให้แก่รัฐ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -102,635.66 ล้านบาท หรือขอรับการสนับสนุนวงเงินค่าก่อสร้างฯ 102,635.66 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ต่อมาวันที่ 17 ก.ย.2565 บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTSC ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS เผยแพร่เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ ว่า ในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ครั้งแรก ในช่วงปี 2563 บริษัทฯ ได้ขอรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐเพียง 9,676 ล้านบาทเท่านั้น พร้อมระบุว่า “ตัวเลขตามข้อเสนอดังกล่าว เป็นข้อเสนอที่ทำได้จริง” และสาเหตุที่ในปี 2565 บริษัทฯไม่ได้ยื่นซองประมูลนั้น บริษัทฯอ้างว่า การประมูลโครงการครั้งที่สอง มีการกระทำที่มีเจตนากีดกันบริษัทฯ และพันธมิตรไม่ให้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม
อ่านประกอบ :
BTS ยันข้อเสนอขอรัฐอุดหนุนรถไฟฟ้า 'สายสีส้ม' 9 พันล. ทำได้จริง-ย้ำประมูลส่อไม่สุจริต
‘บอร์ดคัดเลือกฯ’เคาะ BEM ชนะประมูลรถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’-ผู้ว่าฯรฟม.ยกเลิกแถลงข่าวกระทันหัน
BEM พร้อมก่อสร้าง ‘สายสีส้ม’ เมิน BTS โชว์ราคาต่ำกว่า
‘รฟม.’ประกาศ‘BEM-ITD’ผ่าน‘ซองเทคนิค’ประมูลสายสีส้มฯ-‘สามารถ’ท้วงบางเจ้าขาดคุณสมบัติ
‘ศาลปค.’สั่งยกคำร้อง‘BTSC’ขอระงับประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม-‘รฟม.’เดินหน้าเปิดซองข้อเสนอ
โต้นัว!‘สามารถ’ยันวิจารณ์รถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’สุจริต หลัง‘รฟม.’กล่าวหาใช้ดุลพินิจบิดเบือน
แนะ‘รฟม.’ชะลอเปิดซองรถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’ รอ‘ศาลปค.สูงสุด’ชี้ล้มประมูล‘รอบแรก’ชอบหรือไม่
มาแค่ 2 เจ้า! ‘BEM-อิตาเลียนไทย’ ยื่นซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม-กลุ่ม‘บีทีเอส’ไม่ร่วม
'รฟม.'โต้'บีทีเอส'ยันกติกาประมูลรถไฟฟ้า'สายสีส้ม'เปิดกว้าง-ไม่เอื้อประโยชน์เอกชนรายใด
พลิกคำพิพากษาศาลปค.! ยก 3 ปม ก่อนชี้‘รฟม.’ใช้ดุลพินิจไม่ชอบ คดีล้มประมูลสายสีส้ม ปี 64
ใช้ดุลพินิจมิชอบ!‘ศาล ปค.’สั่งเพิกถอนประกาศฯล้มประมูล‘สายสีส้ม’-‘รฟม.’จ่อยื่นอุทธรณ์
‘ศาลปค.กลาง’ นัดชี้ขาดคดี ‘บีทีเอส’ ฟ้อง ‘รฟม.’ ล้มประมูลรถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ โดยมิชอบ
เบื้องลึก!ศึกประมูล‘สายสีส้ม’ เขียนกติกาล็อก‘รับเหมา’? ‘ศักดิ์สยาม’ปัดกีดกันเอกชนบางเจ้า