‘สามารถ’ ออกแถลงการณ์ยืนยันวิพากษ์วิจารณ์โครงการรถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ บนพื้นฐานของความสุจริต-ไม่บิดเบือน-รักษาผลประโยชน์ชาติ หลัง ‘รฟม.’ กังขาเข้าข้างเอกชนรายเดียว-ใช้ดุลพินิจบิดเบือน-ไม่เป็นกลาง
.........................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ส.ค. นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ในฐานะนักวิชาการด้านวิศวกรรมขนส่ง ได้ออกแถลงการณ์ ‘กรณี รฟม. ชี้แจงการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มพาดพิง ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์’ โดยมีเนื้อหาว่า ตามที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ออกข่าวประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณชน ฉบับที่ 45/2565 วันพุธที่ 3 สิงหาคม 2565 เรื่องการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยมีข้อความพาดพิงถึงตัวข้าพเจ้าไปในทางที่เสียหายนั้น
แม้ว่า รฟม. จะไม่ระบุชื่อของข้าพเจ้าในข่าวประชาสัมพันธ์ดังกล่าวก็ตาม แต่ผู้ที่ติดตามเรื่องนี้ย่อมรู้กันโดยทั่วไปว่าหมายถึงตัวข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจึงจำเป็นต้องป้องกันสิทธิ์และชื่อเสียงของข้าพเจ้า โดยข้าพเจ้าขอยืนยันว่าการแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกรณีการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มของ รฟม. นั้น เป็นกรณีที่ข้าพเจ้าทำหน้าที่ในฐานะนักวิชาการและประชาชนคนไทยคนหนึ่ง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน บนพื้นฐานของความสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ทั้งนี้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองและประชาชนตามพยานหลักฐานที่มีอยู่จริง และเป็นไปตามหลักวิชาการ
ดังจะเห็นได้ว่าไม่เพียงแต่ข้าพเจ้าเท่านั้นที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ แต่ยังมีสื่อมวลชนอีกหลายท่านที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในทำนองเช่นเดียวกับข้าพเจ้า โดยไม่เห็นด้วยกับแนวทางการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 2 ของ รฟม. เพราะเกรงว่าจะเกิดผลเสียหายต่อประเทศชาติ
“จากกรณีดังกล่าวข้าพเจ้าขอยืนยันว่า ข้าพเจ้าได้แสดงความคิดเห็นด้วยความเป็นกลาง ไม่ได้บิดเบือนข้อเท็จจริง และไม่ได้ใช้ดุลพินิจบนฐานมุมมองของเอกชนรายใดรายหนึ่งดังที่ รฟม. กล่าวหา ดังนั้น จึงขอให้ รฟม. พิจารณาบทความของข้าพเจ้าเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มอย่างรอบคอบด้วยความเป็นธรรม และไม่กระทำการใดๆ อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อเกียรติยศหรือชื่อเสียงของข้าพเจ้า” แถลงการณ์ของนายสามารถ ลงวันที่ 3 ส.ค.2565 ระบุ
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ส.ค. รฟม.ออกเอกสารข่าว ชี้แจงข้อเท็จจริง เรื่อง การดำเนินการคัดเลือกเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์–มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยระบุว่า ตามที่ มีนักวิชาการ (อดีตนักการเมือง) ได้ให้ข่าวเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์–มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เรื่องการกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้ายื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์–มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งใช้ดุลพินิจที่บิดเบือน ไม่เป็นกลาง
และใช้ดุลพินิจบนฐานมุมมองของเอกชนรายใดรายหนึ่ง โดยไม่สนใจข้อชี้แจงใดๆ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สร้างความเสียหายต่อ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์–มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) นั้น รฟม. ขอชี้แจงดังนี้
1.การกำหนดคุณสมบัติทางด้านเทคนิค ประสบการณ์ และผลงานการก่อสร้างงานโยธา โดยกำหนดให้ใช้ผลงานที่แล้วเสร็จและเป็นผลงานที่ดำเนินการในประเทศไทย เนื่องจาก “งานก่อสร้างงานโยธาโครงการเป็นลักษณะที่รัฐให้เอกชนลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธาไปก่อนแล้วจึงชำระคืนภายหลัง ซึ่งเสมือนรัฐเป็นผู้ลงทุนจ้างก่อสร้างเอง”
โดยมูลค่าของงานร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ มีมูลค่าสูงถึงประมาณ 128,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงานโยธาถึงประมาณ 96,000 ล้านบาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 75 ของมูลค่างาน ดังนั้น ประกาศเชิญชวนจึงได้กำหนดคุณสมบัติด้านผลงานก่อสร้างของผู้ยื่นข้อเสนอโดยคำนึงถึงความสำเร็จของโครงการโดยเทียบเคียงแนวทาง ระเบียบ และกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับการประกวดราคานานาชาติ (ICB) ที่ รฟม. ใช้ประมูลงานก่อสร้างโยธาล่าสุด คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) “ซึ่งในการยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนมีทางเลือกที่หลากหลายและเปิดกว้างในการรวมกลุ่มนิติบุคคล ซึ่งสามารถจับกลุ่มหรือหาผู้รับจ้างที่มีผลงานเพื่อใช้เป็นผลงานของผู้ยื่นข้อเสนอได้ และไม่ได้กำหนดว่าผู้ยื่นข้อเสนอรายเดียวเท่านั้นที่มีผลงานก่อสร้างงานโยธากับรัฐบาลไทยครบทั้ง 3 ประเภท จึงจะสามารถยื่นข้อเสนอได้” ซึ่งเป็นปกติของการดำเนินโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐที่ย่อมมีผู้ก่อสร้างโครงการหลายรายที่จะเข้าดำเนินการร่วมกันใน 1 โครงการ เพื่อให้แล้วเสร็จตามแผนงาน
และในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าของ รฟม. ที่ผ่านมา ก็มีผู้รับจ้างก่อสร้างจับกลุ่มในการยื่นข้อเสนอและดำเนินการก่อสร้างหลายราย ดังนั้นการที่กล่าวอ้างว่าการกำหนดคุณสมบัติดังกล่าวเป็นการไม่เปิดกว้าง ทำให้เอกชนบางรายไม่สามารถจับกลุ่มยื่นข้อเสนอได้นั้นจึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้อง
2.การกำหนดคุณสมบัติด้านการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงในการคัดเลือกเอกชนครั้งนี้ ได้มีการเปิดโอกาสให้ “เอกชนผู้เดินรถจากทุกประเทศทั่วโลก ให้สามารถที่จะเข้ายื่นข้อเสนอได้ โดยอยู่บนฐานเงื่อนไขในเอกสาร RFP เช่นเดียวกัน” ดังนั้น การที่ระบุว่าบางบริษัทไม่สามารถเข้าร่วมการคัดเลือกในครั้งนี้ได้นั้น รฟม. ขอยืนยันว่า บริษัทสามารถหาพันธมิตรหรือผู้รับจ้างที่จะสามารถเติมเต็มข้อกำหนดตามประกาศเชิญชวนได้
อนึ่ง รฟม. ขอตั้งข้อสังเกต กรณีบุคคลบางท่านนำข้อมูลเพียงบางส่วนในเอกสารประกาศเชิญชวนมาใช้วิจารณ์ และคาดการณ์สถานการณ์ต่างๆ ในการยื่นข้อเสนอของภาคเอกชนนั้น ควรพิจารณานำเสนอข้อเท็จจริงให้ถูกต้องและครบถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณชน เนื่องจากการวิจารณ์บนฐานมุมมองของเอกชนรายเดียวที่ผ่านมาตลอดโดยใช้คำว่า “ประโยชน์ของประเทศชาติ” เป็นข้ออ้าง นั้น
เป็นที่น่ากังขาเกี่ยวกับความเป็นกลางในการวิจารณ์เป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ รฟม. ขอยืนยันว่า การกำหนดเงื่อนไขการคัดเลือก คุณสมบัติด้านเทคนิค ประสบการณ์ และผลงานของผู้เข้ายื่นข้อเสนอตามประกาศเชิญชวน ได้ดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน เป็นการกำหนดที่เปิดกว้าง ทำให้มีผู้ที่สามารถเข้าร่วมการคัดเลือกได้มากราย เกิดการแข่งขันที่โปร่งใส เป็นธรรม มีกระบวนการตรวจสอบจากภาคเอกชนตามระบบข้อตกลงคุณธรรม ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน
อ่านประกอบ :
แนะ‘รฟม.’ชะลอเปิดซองรถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’ รอ‘ศาลปค.สูงสุด’ชี้ล้มประมูล‘รอบแรก’ชอบหรือไม่
มาแค่ 2 เจ้า! ‘BEM-อิตาเลียนไทย’ ยื่นซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม-กลุ่ม‘บีทีเอส’ไม่ร่วม
'รฟม.'โต้'บีทีเอส'ยันกติกาประมูลรถไฟฟ้า'สายสีส้ม'เปิดกว้าง-ไม่เอื้อประโยชน์เอกชนรายใด
พลิกคำพิพากษาศาลปค.! ยก 3 ปม ก่อนชี้‘รฟม.’ใช้ดุลพินิจไม่ชอบ คดีล้มประมูลสายสีส้ม ปี 64
ใช้ดุลพินิจมิชอบ!‘ศาล ปค.’สั่งเพิกถอนประกาศฯล้มประมูล‘สายสีส้ม’-‘รฟม.’จ่อยื่นอุทธรณ์
‘ศาลปค.กลาง’ นัดชี้ขาดคดี ‘บีทีเอส’ ฟ้อง ‘รฟม.’ ล้มประมูลรถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ โดยมิชอบ
เบื้องลึก!ศึกประมูล‘สายสีส้ม’ เขียนกติกาล็อก‘รับเหมา’? ‘ศักดิ์สยาม’ปัดกีดกันเอกชนบางเจ้า
ศาลปค.นัดพิจารณาคดี‘รฟม.’ยกเลิกประมูลรถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’โดยมิชอบด้วยกฎหมาย 23 มิ.ย.นี้
14 เอกชน ซื้อซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ‘GULF’มาด้วย-‘รฟม.’เปิดชี้แจง RFP 15 มิ.ย.นี้
เชื่อมีผู้แข่งขันน้อยราย! กังขา RFP รถไฟฟ้าสายสีส้มฯ สกัด'รับเหมา'-BTS ส่อชวดประมูล
เปิด RFP ประมูลสายสีส้ม‘บางขุนนนท์-มีนบุรี’-ตั้งเกณฑ์ผ่าน‘ซองเทคนิค’ต้องได้ 90 คะแนน
'รฟม.' เปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม 'บางขุนนนท์-มีนบุรี' 1.28 แสนล. 'รอบใหม่' มี.ค.นี้
‘ศาลปค.กลาง’ชี้ ‘รฟม.’แก้กติกาประมูล‘สายสีส้ม’ ไม่ชอบด้วยกม.-ยกฟ้องชดใช้ ‘BTSC’ 5 แสน
ศาลปค.กลางนัดอ่านคำพิพากษา คดี ‘บีทีเอส’ ฟ้อง ‘รฟม.’แก้กติกาประมูลสายสีส้ม 9 ก.พ.นี้
‘ศาลคดีทุจริตฯ’ เลื่อนพิจารณาหลักฐาน คดีแก้ทีโออาร์รถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ เป็น 25 ต.ค.